Art Eye View

“ศิลปะกับคนไทย ทำอย่างไรจึงจะเข้าใกล้กันมากกว่านี้” หาคำตอบก่อนแวะ “เทศกาลศิลปะและศิลปินกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ที่ ธัญญาพาร์ค”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—“ศิลปะ” เปรียบเสมือนเครื่องมืออันทรงคุณค่าที่จะช่วยขัดเกลา ยกระดับพื้นฐานจิตใจมนุษย์ เพราะผลงานศิลปะมีพลังในการสร้างสรรค์สังคม สามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ อีกทั้งยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญของประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันศิลปะกับคนไทยยังห่างไกลกันมากนัก

ก่อนที่งาน “Bangkok Artisan 2017 หรือ เทศกาลศิลปะและศิลปินกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ที่ ธัญญาพาร์ค” จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ณ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ จัดงานเสวนา โดยได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินรุ่นใหม่ รวมไปถึงคณาจารย์ด้านศิลปะ มาร่วมให้ข้อเสนอแนะภายใต้หัวข้อ “ศิลปะกับคนไทย ทำอย่างไรจึงจะเข้าใกล้กันมากกว่านี้”


นายโอรสสา ฤทธิกาญจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “เทศกาลศิลปะและศิลปินกรุงเทพฯ” กล่าวว่า

“ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานศิลปะและต้องการให้ศิลปะกับคนไทยใกล้กันมากขึ้น จึงได้เกิดแนวคิดการผสมผสานระหว่าง ศูนย์การค้าและพิพิธภัณฑ์ หรือ Mall and Museum Park เพราะศูนย์การค้าเป็นสถานที่ที่คนทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งกิน ดื่ม เที่ยว ชอปปิ้ง ดังนั้นหากเราเปิดพื้นที่ให้มีงานศิลป์มาจัดแสดง ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนก็จะได้เข้าใกล้และสามารถสัมผัสผลงานศิลปะได้ง่ายขึ้น

ล่าสุด ศูนย์การค้าฯ ได้ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน Bangkok Artisan 2017 เทศกาลศิลปะ และศิลปินกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ที่ ธัญญาพาร์ค เทศกาลที่รวบรวมงานศิลป์ร่วมสมัย จากศิลปินหลากหลายเจนเนอเรชั่น ครอบคลุมงานศิลปะแขนงต่างๆ ไว้มากที่สุดกว่า 300 ชิ้น มาจัดแสดงภายใต้แนวคิด ….ศิลปะบันดาลทุกสิ่ง Art Is Everything… เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน คนรักศิลปะ และประชาชนทั่วไปได้มาสัมผัสผลงานอันทรงคุณค่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ประจำปี พ.ศ. 2555 เล่าว่า “ในสมัยก่อนตอนที่เรียนศิลปะอยู่นั้น เวลาอาจารย์ให้ทำผลงาน เราก็ต้องไปค้นหาแรงบันดาลใจ โดยการไปศึกษาดูผลงานของศิลปินหลายๆ ท่านตามหอศิลป์หรือนิทรรศการต่างๆ ที่จัดแสดงขึ้น ซึ่งมีไม่มากนัก ทำให้มุมมองด้านศิลปะของเยาวชนสมัยนั้นยังอยู่ในมุมจำกัด มาจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีการจัดแสดงผลงานศิลปะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในบางสถานที่

จากประสบการณ์ที่อยู่วงการนี้มายาวนานพบว่า หากต้องการให้คนไทยได้เข้าใกล้ศิลปะมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนควรเปิดให้มีพื้นที่สำหรับการจัดงานแสดงผลงานศิลปะ ไม่จำกัดเพียงในตึกหรือในหอศิลป์ แต่หมายรวมไปถึง ศูนย์การค้า โรงเรียน และสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนได้เข้ามาสัมผัสงานศิลปะมากขึ้น

นอกจากนี้ในระยะยาวตัวศิลปินเองก็ควรสร้างสรรค์ผลงานให้เข้าใกล้คนมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำผลงานโดยอิงจากสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวหรือมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะหากมองกันจริงๆ แล้วศิลปะมีอยู่ในทุกที่ ทุกสิ่ง ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงค หัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนคณาจารย์ กล่าวว่า

“ในยุคสมัยนี้ผลงานของศิลปินรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงคนดูได้รวดเร็ว เพราะการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ศิลปินสามารถแชร์ผลงานลงออนไลน์ให้คนเข้ามาดูได้ทันที แต่ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่เข้ามาดูยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเท่านั้น

ดังนั้นศิลปินก็ต้องพัฒนาฝีมือของตนเองให้เข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้มากขึ้น ซึ่งยุคปัจจุบันเป็นยุคของการเชื่อมโยง เราสามารถนำศิลปะในแขนงต่างๆ มาผสมผสานเชื่อมโยงให้เกิดผลงานใหม่ที่มีความน่าสนใจและนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายให้คนได้ชม ส่วนเรื่องพื้นที่การจัดแสดงผลงานก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยให้ศิลปะกับคนไทยใกล้ชิดกันมากขึ้น ในจุดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพื้นที่จัดแสดง การประกวด เป็นต้น”

ทางด้าน นายฐกฤต ครุธพุ่ม ศิลปินกราฟฟิตี้ OCTOBER29 เล่าว่า “ศิลปะแนวกราฟฟิตี้ก็นับว่าเป็นงานศิลปะประเภทจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งยุโรปและอเมริกา เป็นการสร้างสรรค์ผลงานตามกำแพงบ้าน กำแพงรั้ว ซึ่งในสมัยก่อนคนไทยส่วนมากมีมุมมองในด้านลบกับงานศิลปะประเภทนี้ มักจะคิดว่าเป็นการทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนเริ่มเข้าใจคำว่ากราฟฟิตี้เพิ่มมากขึ้นและมองว่าเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ เข้าถึงคนได้มากขึ้น เพราะมักปรากฏในสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่ได้รับการอนุญาตให้สร้างสรรค์ผลงาน และเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเสพงานศิลปะประเภทกราฟฟิตี้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้จึงอยากให้คนไทยเปิดโอกาสยอมรับในความสวยงามของศิลปะประเภทดังกล่าว และอยากให้หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนเปิดสถานที่ให้ศิลปินเข้าไปสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมการสร้างผลงานศิลปะดีๆ ให้กับสังคม”

สำหรับงาน “Bangkok Artisan 2017 เทศกาลศิลปะและศิลปินกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ที่ ธัญญาพาร์ค” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ณ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ มีไฮไลท์สำคัญ ได้แก่

โซนนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ผสานศิลป์ ผนึกใจ ธ สถิตในใจนิรันดร์” ซึ่งรวบรวมผลงานจากศิลปินทั่วประเทศไทย ถ่ายทอดผ่านมุมมองต่างๆ กว่า 89 ผลงาน อาทิ ผลงานชิ้นเอก “มิ่งขวัญชาวไทย” โดยศิลปินสีน้ำระดับมาสเตอร์ของโลก “ลาเฟ – ศรัทธา หอมสวัสดิ์”

โซน Art is living แสดงผลงานศิลปะในรูปแบบ ศิลปะจัดวาง(Installation art) โดย “โด่ง – พงษธัช อ่วยกลาง” และ “ผศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต”

หรือจะแวะชมผลงานหาชมยากกว่า 100 ผลงาน ที่ โซน Art is Touching อาทิ ผลงานภาพวาดสีน้ำมันจากศิลปินแห่งชาติชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี และ ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู

รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงาน Art Wall บนสวนลอยฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย ความยาวกว่า 34 เมตร โดยกลุ่มศิลปิน กราฟฟิตี้ชื่อดัง และอีกมากมาย

นอกจากนี้ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ จะมีโซนการแสดงศิลปะทางด้านดนตรีในแนวเพลงต่างๆ อาทิ แจ๊ซ บลูส์ ฟิวชั่น ป๊อบ ร็อค ที่บรรเลงโดยกลุ่มนักศึกษา วง Silpakorn Student Ensemble จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเปิดสอนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อาทิ การวาดภาพสีน้ำ ศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์ ฯลฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It