Art Eye View

“สีน้ำรื่นรมย์” ของผู้สูงวัยหัวใจไฮเทค

Pinterest LinkedIn Tumblr


“น้ำเสีย บัวจะเน่าแล้ว”
“ปลาจะตายมั้ยเนี่ย”
“บัวแล้งน้ำมากกว่ามั้ง”

ART EYE VIEW—เสียงหยอกล้อเคล้าเสียงหัวเราะในลักษณะนี้ มีให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ ในคลาสเรียน “วาดภาพด้วยสีน้ำ” ของบรรดาผู้เรียนที่กำลังอยู่ในวัยที่ถูกเรียกขานว่า “ผู้สูงวัย”


เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ในทุกบ่ายวันพฤหัสบดี ที่ผู้สูงวัยเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ อาทิ หมอฟัน,ตำรวจ,อดีตดีเทลยา องค์การเภสัชกรรม,อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย,นักวิจัย,นักบัญชี,เจ้าของบริษัทรับจัดเลี้ยง,เจ้าของบริษัทส่งออก,สถาปนิกฯลฯ สมัครใจมาเริ่มนับหนึ่ง เรียนรู้เรื่องการวาดภาพสีน้ำไปพร้อมๆกัน

และทุกคนต่างเป็นสมาชิกของ OPPY Club (Old People Playing Young Club) ชมรมของผู้สูงวัยหัวใจไฮเทค ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน โดย คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการท่องอินเตอร์เน็ทและการใช้อุปกรณ์ด้านไอทีต่างๆ

โดยแรกเริ่มสถานที่อบรมคือบ้านที่ซอยสวนพลูของคุณหญิงชัชนี ในเวลาต่อมาย้ายมาที่อาคารเพรสซิเด้นท์ ทาวเวอร์ ย่านราชประสงค์ แล้วย้ายมาที่อาคารสิริภิญโญ ใกล้สี่แยกพญาไท กระทั่งสถานที่ล่าสุด ณ สวนพักผ่อนหย่อนใจขนาดเล็ก บนถนน ณ ระนอง ย่านคลองเตย ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดย บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บนพื้นที่ของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน นอกจากชมรมฯ จะมีสมาชิกมากกว่า 5,000 คน เนื้อหาที่อบรมให้กับสมาชิกชมรมฯยังมีหัวข้อที่หลากหลายมากขึ้น และขยายขอบเขตไปมากกว่าเรื่องของไอที


สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ หรือ “ครูเจี๊ยบ” ครูใหญ่แห่ง OPPY
จาก “ชมรมผู้สูงวัยหัวใจไฮเทค” สู่ “คลับแห่งความสุของผู้สูงวัย”

“เราอยากจะนำผู้สูงอายุคืนสู่ธรรมชาติ ได้เรียนรู้เรื่องไอที และเรียนวาดภาพสีน้ำในบรรยากาศสวน เราย้ายมาตอนที่สวนเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆนี่เอง พร้อมๆกับที่เราเปิดอบรมเรื่องการวาดภาพสีน้ำ”

สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย OPPY CLUB บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ครูเจี๊ยบ” ครูใหญ่แห่ง OPPY ให้ข้อมูล

และบอกอีกด้วยว่า จากการเป็น “ชมรมผู้สูงวัยหัวใจไฮเทค” OPPY Club กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น “คลับแห่งความสุของผู้สูงวัย

“ที่ผ่านมาเราพยายามสอนให้ผู้สูงวัยใช้ไอทีได้ไม่ตกยุค พัฒนามาเรื่อย จนมาสู่การอบรมเรื่องการใช้สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต ไอแพดฯลฯ

เราไม่ได้เน้นเฉพาะไอที หลายกิจกรรมที่มีเพิ่มเติมไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องไฮเทค มีเรื่องของการพาผู้เรียนออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน เรามีสอนวาดภาพสีน้ำ

บางคนโทรมาถามว่า ไม่อยากเรียนไอทีได้ไหม แต่อยากเรียนวาดภาพสีน้ำ คือมันมีกลุ่มคนลักษณะนี้ที่เขาอยากเข้าชมรมเรา แต่ยังติดที่เราเคยบอกว่าเราเน้นด้านไอที และนิยามตัวเองว่าเป็นชมรมผู้สูงวัยหัวใจไฮเทค

ก้าวต่อไป เราคงต้องการที่ขยายการบริการของชมรมออกไป นอกจากสอนไอที สอนวาดภาพสีน้ำ เรายังจะสอนเรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย การดูแลตัวเอง การเงินการลงทุนในวัยเกษียณ เพื่อให้เป็นคลับของเราเป็นคลับของผู้สูงวัยอย่างแท้จริง”


ห้องเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต

ในวันที่ ART EYE VIEW มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือนคลาสเรียนวาดภาพสีน้ำของชมรมฯ เป็นวันที่ อาจารย์สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล ครูสอนศิลปะ และจิตรกรไร้มือชื่อดัง ผู้เป็นวิทยากรของชมรมฯกำลังสอนให้ทุกคนเรียนรู้วิธีการวาดภาพ “บึงบัว” ด้วยสีน้ำ ภาพที่ผู้สูงวัยท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกประจำคลาส เสนอว่าอยากจะวาดมานานแล้ว

ดังนั้นนอกจากการเรียนวาดภาพสีน้ำแต่ละครั้งจะดำเนินไปตามวิธีการสอนของอาจารย์สาโรจน์ ส่วนหนึ่งยังโอนอ่อนผ่อนตามคำขอและความสุขเล็กๆน้อยๆของผู้เรียนด้วย

“ที่นี่เราไม่มีผู้สูงวัย แต่ว่าพวกเขาถูกยัดเยียด” อาจารย์สาโรจน์ ผู้ใช้หนังยางรัดมือที่มีนิ้วไม่ครบเหมือนคนทั่วไปเข้ากับพู่กัน เพื่อสอนนักเรียนของตัวเองวาดภาพ กล่าวขึ้นอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะบอกถึงเหตุผลที่เลือกสอนผู้สูงวัยกลุ่มนี้วาดภาพด้วยเทคนิคสีน้ำว่า

“คือถ้าเป็นสีอื่นมันไม่สมกับวัยเขา เห็นว่าอายุเยอะๆกันแบบนี้ ยังวัยรุ่นนะครับ ไม่ใช่คนทำงานช้านะครับ เขาก็ทำงานกันไว ดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่องนึงนะ(หัวเราะ) คือสีน้ำมันสะดวกที่สุด ไม่เปื้อน ถ้าเป็นสีน้ำมันกลิ่นจะแรง ไม่เหมาะที่จะเรียนในห้องแอร์แบบนี้ เราเป็นคลาสไฮโซ เราไม่เรียนอะไรที่มันเหม็นๆ(หัวเราะ) เพราะอันตราย อากาศไม่ถ่ายเท และสีน้ำอุปกรณ์น้อย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เผื่อว่าพวกเขาอยากจะพกไปวาดนอกสถานที่ และอีกหน่อยเราจะมีคลาสที่พาพวกเขาไปเรียนนอกสถานที่ด้วย จะไปบ้านคุณเบญ(หนึ่งในสมาชิกประจำคลาส)ที่ปากช่อง ก่อนหน้านี้เราเคยวาดแค่น้ำพุในสวน”

ขณะที่สอนวาดภาพและหยอกล้อกันไปพลาง ทั้งอาจารย์สาโรจน์และบรรดาลูกศิษย์ยังมีเรื่องราวอื่นๆในชีวิตมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนกันอยู่ไม่ขาด

จึงทำให้ห้องเรียนแห่งนี้ไม่ใช่แค่ห้องเรียนวาดภาพเพียงอย่างเดียว แต่อาจารย์สาโรจน์นิยามว่าเป็น “ห้องเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต” ไปด้วย

“เราเป็นคนให้วิชาการวาดภาพแก่พวกเขาก็จริง แต่เรื่องของประสบการณ์ชีวิต เรื่องของมิตรภาพเราได้จากเขา เพราะเขามาจากหลายอาชีพ มีประสบการณ์แตกต่างกัน บางทีเราจะไปหาหมอ ลูกศิษย์เราเป็นหมอ เขาก็แนะนำ”

ไม่เหมือนกับเวลาที่ต้องสอนลูกศิษย์ที่อยู่ในวัยอื่นที่สตูดิโอของตนเอง โดยเฉพาะวัยเด็ก อาจารย์สาโรจน์จะมีวิธีการสอนและการวางตัวที่แตกต่างออกไป

“เวลาเราสอนเด็ก เราได้ความเดียงสาจากเขา หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากันสอง แต่วัยนี้ วัยที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก หนึ่งบวกหนึ่งของเขาจะเท่ากับห้าหรือเท่ากับสิบ เวลาสอนเด็กเราจะต้องมีวิธีควบคุมให้เขาอยู่ในร่องในรอย เขาต้องทำงานศิลปะให้เสร็จภายในชั่วโมงหรือสองชั่วโมง แต่สอนผู้ใหญ่เขาไม่ต้องควบคุมอะไร แต่ต้องคอยย้ำในสิ่งที่เราสอน การรับรู้ของเขาไม่เท่ากัน บางคนบอกให้ลูบน้ำลงไปในภาพหนึ่งครั้งเอาอยู่ แต่บางคนต้องสองครั้ง และสามครั้ง

และการวางตัวกับเด็ก เราจะเฮฮาปาร์ตี้กับเด็กมากไม่ได้ ไม่งั้นเขาจะขึ้นมาขี่คอ เล่นหัวเรา เราต้องวางตัวให้เหมาะสม ให้เขาทำตามคำสั่ง เพราะถ้าเราปล่อยให้เขาออกนอกลู่นอกทาง งานก็จะเละ ส่วนผู้ใหญ่ ต่อไม่ให้ออก เขาก็ออกอยู่เรื่อย(หัวเราะ)”

การเรียนวาดภาพสีน้ำมีประโยชน์กับผู้สูงวัยอย่างไร? อาจารย์สาโรจน์ตอบคำถามเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับผู้สูงวัยท่านอื่นๆที่อาจกำลังสนใจแต่ยังไม่เคยมีโอกาสเรียนที่ไหนมาก่อนว่า

“อันดับแรกคือได้เรื่องความบันเทิง (หัวเราะ) บันเทิงมาก่อน ได้หัวเราะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และได้แบ่งปันความรู้รอบตัวด้วย ไม่เฉพาะวิชาศิลปะอย่างเดียว มีความหลากหลาย และสิ่งสำคัญ เขาได้ภาพสวยๆได้วิชาความรู้กลับไป แต่ละท่านซึมซับไปได้ไม่เท่ากัน บางคนได้มาก บางคนได้น้อย แต่เรื่องได้มากได้น้อยไม่สำคัญ แต่สำคัญที่เวลามาเจอกันแล้ว ได้หัวเราะ ได้แชร์ความรู้สึกของตัวเอง บางคนไปเที่ยวที่โน่นที่นี่มา บางคนไม่มีภาพจะติดบ้าน อาจารย์ไปวาดภาพให้ที่บ้านหน่อยได้มั้ย(หัวเราะ) กลายเป็นเรื่องของการได้ช่วยเหลือกันด้วย”
อาจารย์สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล  ครูสอนศิลปะ และจิตรกรไร้มือชื่อดัง
เบญจมาศและปัญญา สุขกิจเจ

อาจารย์มีแค่สองนิ้ว ทำได้ไง เราต้องทำให้ได้

เบญจมาศ สุขกิจเจ เจ้าของบริษัทรับจัดเลี้ยง รอยัล ฟู้ด เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด บอกว่า หลังจากที่รู้จัก OPPY Club ผ่านนิตยสารบางฉบับ เธอและสามี (ปัญญา สุขกิจเจ) ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ สมัยที่ชมรมฯ ยังตั้งอยู่อาคารเพรสซิเด้นท์ ทาวเวอร์

“เป็นสมาชิกชมรมฯมานานแล้ว เข้าๆออกๆ เพราะว่าเวลามีงานก็ไม่ได้มาทำกิจกรรม วันไหนว่างถึงมา เราใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น เวลาจะใช้ก็ต้องเรียกพนักงาน บางทีเขากลับบ้านไปแล้ว เราอยากจะดูข้อมูลอะไรเราเปิดไม่ได้หาไม่เป็น จริงๆเราไม่ต้องทำเองก็ได้ เพราะเวลาจะพิมพ์งานจะส่งเมลเราก็ใช้พนักงาน หลังๆมีลูกค้าส่งเมลมาเยอะ พนักงานกลับบ้านไปแล้วเราเปิดดูเองไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ อย่างน้อยๆเราเปิดคอมพิวเตอร์เป็น รับส่งเมลได้ พอมีไอแพด มีเทคโนโลยีอื่นๆเข้ามา เราก็เลยเรียนต่อ”

ส่วนสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจลงเรียนวาดภาพสีน้ำและเรียนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราะต้องการผ่อนคลายตัวเองจากความเครียด, เบี่ยงเบนความสนใจของลูกหลานจากเกมและอุปกรณ์ไอที ตลอดจนมีความศรัทธาในตัววิทยากรผู้สอนอย่างอาจารย์สาโรจน์

“วาดภาพ ช่วยให้ผ่อนคลาย เรียนเสร็จกลับไปบ้าน ก็เอาไปเล่นกับลูกหลานได้ แรกๆเด็กๆเขาก็ชอบเล่นเกมกันใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้ พอเราเอาภาพที่เราวาดไปอวดเขา เขาสนใจ เราก็จะบอก เดี๋ยวยายทำให้ดู พอทำให้ดูบ่อยๆเข้า ในแต่ละวันเขาก็รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ๆต้องมาคุยกับเราถามเราว่า วันนี้ยายไปเรียนอะไรมา

นอกจากนี้เรายังได้สังคมได้เพื่อน ได้รู้จักอาจารย์ ดิฉันศรัทธาในตัวอาจารย์มาก อาจารย์มีแค่สองนิ้ว ทำได้ไง เราเห็นเขาทำได้ เราก็มีแรงกระตุ้นว่าเราต้องทำให้ได้ เพราะเรามีเยอะกว่าเขา”
รศ.สุภัทรา อักษรานุเคราะห์

ไม่ต้องไปนั่งสมาธิที่ไหนแล้ว วาดภาพนี่แหล่ะช่วยได้

ขณะที่อดีตอาจารย์จากรั้วจามจุรีอย่าง รศ.สุภัทรา อักษรานุเคราะห์ วัย 77 ปี บอกว่า สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกชมรมฯเมื่อ 7 ปีก่อน เพราะเห็นว่าความรู้เรื่องไอทีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนทุกเพศทุกวัยเป็นอย่างมาก ต่อมาระยะหลังเลือกลงเรียนวาดภาพสีน้ำไปด้วยเพราะอยากใช้เวลาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆไปพร้อมๆกับเพื่อนร่วมชมรมฯ

“เราเคยเป็นอาจารย์สอนนักศึกษามหาวิทยาลัย เราก็รู้อยู่แล้ว ว่าเราต้องใช้สื่อการสอนเป็น ใช้หลายๆอย่างเป็น คอมพิวเตอร์ก็ต้องเป็น (แต่ตอนนี้ไม่ต้องสอนนักศึกษาแล้ว ยังจำเป็นอยู่หรือ?) จำเป็นสิคะ เพราะเดี๋ยวนี้เวลาจองโรงแรม เขาให้จองผ่านกระดาษเหรอ แทบทุกอย่างต้องจองทางอินเตอร์เน็ททั้งนั้น จะไปแค่พัทยายังต้องจองทางอีเมลเลย

พอเขาเปิดเรียนวาดภาพ เรารู้จักกับทุกคนที่ลงเรียนวาดภาพ ก็เลยบอกว่าเราสนใจเรียนด้วย สิ่งที่ได้จากการวาดภาพนอกจากความสนุกสนานก็คงเป็นเรื่องของสมาธิ ตอนนี้ไม่ต้องไปนั่งสมาธิที่ไหนแล้ว วาดภาพนี่แหล่ะช่วยได้ และทำให้รู้ด้วยว่าถ้าไม่มีสมาธิ จะวาดภาพได้ดีเหรอ”
เปรมจิตต์ สมิตะมาน

เรียนไปเรื่อยๆ จนกว่าไม่เราก็ครู ตายกันไปข้าง

เช่นเดียวกันกับ เปรมจิตต์ สมิตะมาน อดีตดีเทลยา องค์การเภสัชกรรม วัย 73 ปี บางคนรอบตัวเคยคาดเดาว่าผู้สูงวัยท่านนี้ตัดสินใจลงเรียนด้านไอทีและวาดภาพสีน้ำเพราะต้องการหากิจกรรมทำเพื่อเบี่ยงเบนตัวเองเองจากความเหงา ความเศร้า ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไม่มีทายาท หลังจากที่สามีคู่ชีวิตจากไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความเป็นคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและมีหัวใจศิลปินอยู่เป็นทุนเดิม แต่ยังไม่เคยมีโอกาสไปลงเรียนที่ไหนต่างหากที่เป็นสาเหตุทำให้ตัดสินใจ เมื่อมีโอกาสผ่านมาทายทัก อยากท้าทายตัวเองว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ และทนเห็นตัวเองเป็นคนแก่นั่งหน้าเหี่ยวอยู่ที่บ้านไม่ได้ จึงไม่รีรอที่จะตัดสินใจ

“เห็นเพื่อนเขาเล่นเกมเป็นไง อยากเล่นเป็น เล่นมั่งดีกว่า ลงทุนซื้ออุปกรณ์ดีๆมาใช้เลยจะได้ไม่พังเร็วๆมีเกมให้เลือกเยอะ ลงทุนทีเดียวคุ้มมากเลย หลังจากเล่นเกมเป็น ก็เรียนทุกอย่างที่ขวางหน้า ทุกอย่างที่ชมรมฯเปิดสอน

พอต่อมาเขาเปิดสอนวาดภาพ ก็เรียนอีก เพราะเดิมทีดิฉันเป็นคนชอบวาดภาพแต่ไม่เคยไปเรียนที่ไหนเป็นจริงเป็นจัง พอได้เรียน มีเพื่อนเรียนด้วยก็สนุกสนานไปใหญ่ กลายเป็นว่าปัจจุบันชอบทั้งเรื่องไอทีและศิลปะมากพอๆกัน

เรียนโดยไม่คาดหวังอะไรเลย แค่ได้เพื่อน ได้ความรู้ แค่นั้นเอง อยากรู้ว่าจะวาดยังไง เราจะทำได้มั้ย พอวาดเสร็จ เอาภาพที่วาดไปแต่งในคอมพิวเตอร์ต่อ จะทำยังไง จากภาพที่แค่สวยๆเชยๆ ก็ทำให้มันมีความพิเศษขึ้นมาอีก ทำเสร็จก็ส่งให้เพื่อนๆทางไลน์ พร้อมข้อความ Happy Tuesday หรือ Good Morning ก็ว่ากันไป

คงเรียนไปเรื่อยๆ จนกว่าไม่เราก็ครู ตายกันไปข้าง(หัวเราะ) แต่ครูคงไม่ตายก่อนหรอก เราแก่กว่าครู”

ได้รู้อย่างนี้แล้ว มิตรสหายท่านไหนที่เคยได้รับภาพและข้อความน่ารักๆจากผู้สูงวัยท่านนี้ คงยิ้มกว้างมากขึ้นกว่าเคย เพราะมันไม่ใช่แค่ภาพที่ไปค้นหาไปบันทึกมาง่ายๆจากเวบไซต์ต่างๆ แม้ว่าบางครั้งจะไม่ได้สวยงามมากมายอะไร แต่ทุกครั้งที่ได้รับคงจินตนาการไปด้วยว่า ก่อนที่มันจะถูกส่งมาถึงคุณในเวลาชั่วพริบตา ก่อนหน้านี้ผู้ส่งได้บรรจงวาดขึ้นด้วยความรื่นรมย์ และมีความสุขกับการถ่ายภาพผลงานตัวเองเพื่อนำไปตกแต่งในคอมพิวเตอร์อีกต่อมากน้อยแค่ไหน

รายงานโดย : อ้อยอรุณ


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It