ART EYE VIEW—มองโลกในแง่บวก มีความสุขได้แม้ชีวิตจะติดลบ ค้นพบความฝันของตัวเอง และมีความกระตือรือร้นที่จะมอบโอกาสให้ผู้อื่น
หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เอกชัย วรรณแก้ว ศิลปินหนุ่มผู้เคยมีชีวิตติดลบทั้งด้านร่างกาย ฐานะ และโอกาส
ถูกให้ฉายาว่าเป็น “มนุษย์เพนกวิน” ด้วยบุคลิกร่างกายอันเกิดจากความพิการที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ไร้แขนทั้งสองข้าง และมีขาสั้นกว่าคนทั่วไป
แต่ความเป็นมนุษย์ผู้มีหัวใจแกร่งก็ได้พิสูจน์ให้ใครต่อใครได้เห็นแล้วว่า ชีวิตติดลบเช่นเขา สามารถทำอะไรได้มากมายเพียงใด
หลังจากที่เมื่อหลายปีก่อนเรื่องราวของเขา บัณฑิตหนุ่มจากรั้วเพาะช่าง ผู้ใช้ปากวาดภาพ และมีฐานะยากจน ถูกเผยแพร่ผ่านรายการ คนค้นฅน กระทั่งมีผู้ให้ความช่วยเหลือ มอบโอกาสให้มากมาย
และเมื่อเรียนจบจากคณะจิตรกรรมสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ด้วยทุน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เอกชัยเคยประกอบอาชีพเป็นครูสอนศิลปะ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี อยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาออกมาเพื่อเตรียมตัวศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ทำงานศิลปะ และแสดงผลงาน ดังที่หลายคนเคยได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ต่อด้วยการเป็นวิทยากรนักสร้างแรงบันดาลใจ เขียนหนังสือ นักแสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และพิธีกรรายการโทรทัศน์
“เพราะมีหลายๆคนแนะนำว่า เอกเลือกทำงานศิลปะดีแล้วลูก แต่จะให้ดีมากกว่านี้ เอกต้องพูดให้แรงบันดาลใจคนอื่นๆไปด้วย คนที่อาจกำลังท้อแท้
ต่อมาก็เลยได้เป็นวิทยากรพูดสร้างแรงบันดาลใจ เขียนหนังสือ มีโอกาสเล่นละคร เช่นละครเรื่อง น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ หลวงตามหาชน แสดงภาพยนตร์เรื่อง กรรไกร ไข่ ผ้าไหม ของพี่บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ และเป็นพิธีกรรายการ ตะลอนศิลป์ ทางช่อง Thai PBS”
แต่สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากในชีวิต นอกเหนือจากเมื่อครั้งเรียนจบในระดับปริญญาตรี ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คือการเป็น 1 ใน11 คน ที่เดินเท้าขึ้นไปพิชิตยอดเขาคิลิมันจาโร ยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปแอฟริกา ด้วยความสูง 5,895 เมตร พร้อมทั้งวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2559 และเมื่อพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต เขายังได้ใช้ความสามารถทางด้านศิลปะที่มี ร่วมทำกิจกรรมเพื่อถวายความอาลัย
ล่าสุดในปี 2561 นี้ ก่อนที่เอกชัยจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ด้วยทุนพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เขายังริเริ่ม “โครงการบ้านศิลปะเอกชัย วรรณแก้ว ศิลปะเพื่อผู้ด้อยโอกาส“ และได้ลงพื้นที่ไปมอบโอกาสให้กับผู้ที่สนใจมาแล้ว 2 ครั้ง ณ ชุมชนบ้านปูน ย่านสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“โครงการนี้คิดไว้เมื่อ 2-3 ปี แล้วครับ มีแรงบันดาลใจมาจากเมื่อก่อนผมเป็นคนด้อยโอกาส และโดนปิดกั้นโอกาส พอได้รับโอกาสจากหลายๆคนที่ให้โอกาสผม ผมก็เลยอยากจะให้โอกาสให้กับคนด้อยโอกาสที่รักศิลปะ
และจังหวะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ พระองค์ตรัสว่า ทำอย่างนี้ดีแล้วลูก เพื่อให้คนอื่นที่เขาไม่มีโอกาส ได้โอกาสจากเรา และ ถ้าเราไม่รู้จักให้ เราก็อย่าไปรับ
ดังนั้นเพื่อมอบโอกาส ผมจะออกไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนด้อยโอกาสตามชุมชน ไปแนะแนวให้เขารู้ว่า งานศิลปะคืออะไร และมีหลายครั้งที่ผมเจอพี่ๆหลายๆคนที่เขามีฝีมือ จนผมทึ่ง ทั้งที่เขาไม่เคยเรียนศิลปะในสถาบันใดมาก่อน เราก็อยากจะให้โอกาสคนเหล่านี้ด้วย คนที่มีฝีมือแต่ไม่มีโอกาสได้แสดงผลงาน
ผมไปต่างประเทศมาหลายๆประเทศ ศิลปะถือเป็นปัจจัยที่ 6 แต่บ้านเราถือว่าเป็นอะไรที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ต้องเป็นคนอีกระดับหนึ่งถึงจะเสพงานศิลปะ เราไม่คิดเลยว่าเราเกิด โต และตายไปกับศิลปะ ผ้าอ้อมที่ห่อตัวเราตอนเราเกิด เพลงที่แม่กล่อมให้เรานอน ลายการ์ตูนที่อยู่บนเสื้อผ้าของเรา ของเล่น ฯลฯ แม้แต่ตอนที่เราตาย ลายรดน้ำ โลงที่ใส่เรา เสียงสวดของพระ ก็คือศิลปะ แต่เรากลับมองไม่เห็น คิดว่าศิลปะอยู่ห่างตัวเราตลอด”
โครงการบ้านศิลปะเอกชัย วรรณแก้ว ศิลปะเพื่อผู้ด้อยโอกาส เป็นโครงการฯที่ต้องติดตามผลในระยะยาว เพราะในการลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆในแต่ละครั้ง นอกจากกิจกรรมจะประกอบไปด้วย การพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการทำงานศิลปะ ยังมีการคัดเลือกผู้ที่มีพรสวรรค์ไม่จำกัดวัย มาต่อยอดเพิ่มพูนทักษะ ช่วยหาพื้นที่ให้นำเสนอผลงาน กระทั่งพวกเขาเหล่านั้นมั่นใจว่า สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการทำงานศิลปะ และสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับโอกาสจากโครงการฯ ได้กลายเป็นผู้ให้โอกาส ผู้ด้อยโอกาสกาสรายอื่นๆต่อไป
ในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ เอกชัยยังคงต้องใช้ทุนส่วนตัวเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรม แต่เพื่อให้สิ่งที่เป็นความตั้งใจดีของเขาบรรลุผล เขาจึงถือโอกาสนี้แจ้งมายังผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการฯ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ให้รอติดตามข่าวว่า กิจกรรมในครั้งต่อไปของโครงการฯจะมีเกิดขึ้นที่ชุมชนใด
“เพราะว่าถ้าเราไปคนเดียว ด้วยทุนของตัวเอง เราจะไปไม่ได้นาน แต่ถ้าเราไปด้วยกัน มีคนให้โอกาสสนับสนุน กิจกรรมที่เราทำ มันจะต่อยอดไปได้เยอะ”
แม้ปัจจุบันจะแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาทำโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส แต่เอกชัยยังไม่ละทิ้งความฝันที่อยากจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ
“ผมอยากให้คนรู้จักผลงานศิลปะของผม เหมือนกับรุ่นพี่หลายๆคนที่เป็นไอดอลของผม เช่น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอยากให้คนต่างประเทศได้ประหลาดใจว่า คนไทยไม่น่าทำได้ แต่ทำได้”
“อย่ามองสิ่งที่คุณขาด จนพลาดสิ่งที่คุณมี” คือเคล็ดลับของการเป็นคนมองโลกในแง่บวก มีความสุขกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และมีความกระตือรือร้นที่จะออกไปทำอะไรดีๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในทุกวันนี้ของเอกชัย
“ผมจะไม่มองคนที่สูงกว่าผม แม้ผมจะพิการ ผมลำบาก แต่ยังมีอีกหลายๆคนที่พิการและลำบากมากกว่าผม และไม่มีโอกาสเหมือนผม หลายคนยังต้องนอนพิการให้พ่อแม่ป้อนข้าว หลายคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หลายคนที่ยังทำอะไรไม่ได้ แต่เขาก็ยังมีความหวังว่าสักวันเขาจะได้รับโอกาส ขณะที่ผมตายังมองเห็น เดินได้ สมองก็ยังมี
เวลาผมไปเป็นวิทยากร ผมจะบอกกับหลายๆคนเสมอว่า คุณอย่ามองสิ่งที่คุณขาด จนพลาดในสิ่งที่คุณมี คุณยังมีอะไรอีกเยอะแยะ แต่คุณกลับมองไม่เห็น และผมก็มีความหวังว่าผมจะก้าวไปสู่สิ่งที่ผมฝันเอาไว้ให้ได้
1 ปี มี 365 วัน มันต้องมีสักวันที่เป็นวันของผม ใน 1 ปี มันจะไม่มีวันของเราเลยเหรอ
แล้วโอกาสที่ใครให้มา ผมจะไม่พยายามปฏิเสธ ผมจะทำให้เต็มที่ แม้ว่าผมจะทำได้หรือไม่ได้ ผมจะบอกกับตัวเองว่า ผมพยายามทำเต็มที่แล้ว
มันก็มีนะที่ผมมีความทุกข์ แต่ผมจะพยายามแปลงมันให้เป็นโอกาส เช่น งานที่ผมไม่เคยทำ ผมจะบอกตัวว่า เร็วๆลองทำดู เขาให้โอกาสเราแล้ว เราลองทำดูก่อนสิ ทำให้เต็มที่ก่อนสิ
มีหลายๆคนทิ้งโอกาส บอกกับตัวเองว่า ทำไม่ได้ ไม่ทำ ไม่ถนัด แล้วคุณลองทำหรือยังล่ะ คุณยังไม่ลองทำเลย คุณจะรู้ได้ไง ว่าคุณทำได้หรือไม่ได้
คนที่เขาทำได้ เขาเก่งกว่าคุณตรงไหน เขาไม่ได้เก่งกว่าคุณ แต่เขาเปิดโอกาสให้กับตัวเอง เขาถึงประสบความสำเร็จ”
รายงานโดย : อ้อยอรุณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.