Art Eye View

SACICT ยกระดับหัตถศิลป์ไทยสู่สากล

Pinterest LinkedIn Tumblr


ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดสัมภาษณ์พิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ถึงภารกิจในการส่งเสริมและสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นศูนย์องค์ความรู้งานหัตถศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และภาพรวมตลอดจนทิศทางการดำเนินงานในปี 2562 พร้อมผลักดันงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

SACICT จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีการบริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชน โดยมีภารกิจหลักในการอนุรักษ์สืบสาน ส่งเสริมและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts” เพื่อสร้างการรับรู้ในคุณค่าความงามของศิลปหัตถกรรมไทยว่าสามารถประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน พร้อมยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านศิลปหัตถกรรม (SACICT Art & Crafts Hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านแนวทางในการพัฒนา 4 ด้านคือ บุคคลากร ผลิตภัณฑ์ การตลาด และ เครื่องมือ(ระบบ Archives)


อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การพัฒนาคน เป็นสิ่งแรกที่ SACICT ให้ความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 โดยจัดกิจกรรมคัดสรรและ เชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เพื่ออนุรักษ์คุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคลไม่ให้สูญหายไปและส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลาน พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของชุมชนหัตถกรรมเป็น Craft Cluster เพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและเทคนิคระหว่างกัน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอำนาจการต่อรองในเชิงพาณิชย์ รวมถึงขยายความร่วมมือไปสู่ชุมชนในต่างประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้ การบริหารจัดการที่สอดคล้องกับกระแสโลก เช่น การเพิ่มมูลค่าจากการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นต้น

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมจากความดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย ในโครงการ SACICT Craft Trend เน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด โดย SACICT เป็นผู้ชี้ทางและสร้างโอกาสให้เกิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านเรื่องราวเบื้องหลังงานฝีมือ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คน ภายใต้แนวคิด “Retell The Detail” การบอกเล่าเรื่องราวเดิม ผ่านมุมมองที่แตกต่างอย่างมีชั้นเชิงอย่างสร้างสรรค์ และยังได้จับมืพันธมิตรสร้างหัตถศิลป์ใหม่ๆ และจัดโครงการประกวดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ICA (Innovative Craft Award) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ต่อมาคือ การพัฒนาตลาด โดยสร้างเครือข่ายการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรเช่น คิง เพาเวอร์, ไอคอน สยาม และสตาร์บัค เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางแอปพลิเคชั่น SACICT SHOP และกิจกรรมการตลาดที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” , “Crafts Bangkok” , “ฝ้ายทอใจ” และ “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี” นอกจากนี้ได้ร่วมกับองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศนำงานศิลปหัตถกรรมไทยไปจัดแสดงและจำหน่าย โดยในช่วงกลางปีนี้ SACICT เป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับเชิญให้ร่วมงาน “REVELATIONS” ซึ่งเป็นงานแสดง Fine Art ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ณ ประเทศฝรั่งเศส

แนวทางที่สี่ การพัฒนาเครื่องมือ (ระบบ Archives) Big Data โดยวางระบบสืบค้นข้อมูลงานหัตถกรรมในรูปแบบจดหมายเหตุ ในระยะแรกเป็นการจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ใน 10 ประเภท ได้แก่ เครื่องหิน เครื่องดิน เครื่องโลหะ เครื่องจักสาน เครื่องไม้ เครื่องกระดาษ เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องหนัง และหัตถกรรมอื่นๆ โดยรวบรวมองค์ความรู้จากตัวบุคคลผ่านครูและทายาท รวมถึงแหล่งเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานอย่างถูกต้องตามรากภูมิปัญญาของไทย

ในการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และในปี 2562 นี้เป็น “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” SACICT ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านศิลปหัตถกรรมในอาเซียนในการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่ออนุรักษ์และสืบสานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย (Forgotten Heritage) พร้อมโครงการประกวดการออกแบบงานศิลปหัตถกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ (ASEAN Selection) โดยคัดเลือกสุดยอดนักสร้างสรรค์งานหัตถกรรมในภูมิภาคอาเซียน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรม (Craft Knowledge Exchange Program) เพื่อสร้างเครือข่ายนักสร้างสรรค์หัตถกรรมอาเซียน ก่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียนให้คงอยู่ และสามารถปรับตัวเข้ากับบริบททางสังคมและประชาคมโลก อันจะสร้างความยั่งยืนทางวัฒนธรรมของอาเซียนต่อไป






Comments are closed.

Pin It