กว่าสองศตวรรษที่พื้นที่ของ พระราชวังบวรสถานสุทธาวาส หรือ วังหน้า ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร เป็นแหล่งถ่ายทอดศาสตร์ด้านการแสดงนาฏศิลป์ และดนตรี ของสุดยอดบรมครูแห่งแผ่นดิน จนทำให้ประเทศไทยมีมรดกด้านศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า โดยเฉพาะ โขน ละครซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาเมื่อพื้นที่แห่งนี้ ได้กลายเป็น สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตวิชาชีพเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และทัศนศิลป์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้พระราชทานนามว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
และล่าสุด สถาบันฯได้ทำการปรับปรุงอาคารซึ่งเคยเป็นห้องประชุมให้กลายเป็น หอศิลป์และโรงละครวังหน้า เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปชมงานด้านทัศนศิลป์ และการแสดง ซึ่งแสดงโดยคณาจารย์และนักศึกษาของสถาบันฯ
หลังจากที่ทำการเปิดหอศิลป์และโรงละครไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 54 โดยมี ต่อมา ต้นเดือนเมษายน 54 ในส่วนของ หอศิลป์วังหน้า ซึ่งอยู่บริเวณชั้น1 จึงเปิดแสดงนิทรรศการชุดแรก บันทึกไว้ด้วยลายเส้น แสดงภาพวาดลายเส้นของ อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ผู้เคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนช่างศิลป์ ณ ช่วงเวลาที่ยังตั้งอยู่ภายในพื้นที่วังหน้า
อ.นภพงศ์ กู้แร่ ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และหนึ่งในคณะกรรมการของหอศิลป์ กล่าวว่า อธิการบดีของสถาบันฯ คือ อ.กมล สุวุฒโฑ ต้องการให้ หอศิลป์แห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาชมงานศิลปะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดว่าต้องแสดงเฉพาะผลงานของคณาจารย์และศิลปินที่จบจากสถาบันฯเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ศิลปินทุกคนส่งผลงานมาให้พิจารณาเพื่อจัดแสดงได้ และหอศิลป์จะจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนด้วย
เมื่อนิทรรศการ บันทึกไว้ด้วยลายเส้น ซึ่งเพิ่มเวลาจัดแสดงไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม สิ้นสุดลง คิวต่อไปในต้นเดือนมิถุนายนจะเป็นการแสดงผลงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และมหาวิทยาลัยโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น
นิทรรศการเคยถูกจัดแสดงมาแล้วครั้งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่น วาระนี้จึงถึงคราวเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงที่ประเทศไทย ก่อนที่จะหอศิลป์จะถูกใช้สำหรับนิทรรศการชุดต่อๆไป
จากนั้นขึ้นไปบริเวณชั้น 2 คือพื้นที่ของ โรงละครวังหน้า โรงละครขนาด 250 ที่นั่ง ที่มีความพิเศษตรงที่ผู้ชมทุกที่นั่ง สามารถชมการแสดงบนเวทีได้อย่างชัดเจน มีทั้งการแสดงในแนวอนุรักษ์และสร้างสรรค์เพื่อให้มีความร่วมสมัย ควบคุมโดย ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปี 48 และคณบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
โรงละคร เปิดการแสดงชุดแรก รักษ์ศิลป์แผ่นดินทอง ซึ่งเป็นการแสดงรอบการกุศล ไปเมื่อวันที่ 1- 2 เมษายน 54 เพื่อนำรายได้ทั้งหมดช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ณ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม
ตลอดระยะเวลา 70 นาที นอกจากผู้ชมจะรู้สึกได้ถึงความงดงามอ่อนช้อยของท่ารำประกอบเพลงที่บรรเลงจากเครื่องดนตรีไทยทั้ง 4 ภาคและเพลิดเพลินไปกับวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตท้องถิ่นในแต่ละภาคของไทย ยังเป็นหนึ่งการแสดงที่นักแสดงและผู้มีส่วนร่วมสืบทอดต้องการให้ผู้ชมรู้สึกว่า
“มากรุงเทพฯแล้ว ต้องมาดูการแสดงที่โรงละครวังหน้า”
เนื่องจาก สถาบันบันฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถานที่ซึ่งเปิดสอนด้านศิลปะหลายแขนง อีกทั้งยังตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม อ.นภพงศ์ จึงเห็นว่า เป็นเรื่องถูกที่ถูกเวลาที่ชาววังหน้า บนเกาะรัตนโกสินทร์ จะมีหอศิลป์และโรงละครเป็นของตัวเอง
“เดิมทีพื้นที่ตรงนี้ก็อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอยู่แล้ว ถ้าทำเป็นหอศิลป์ เป็นโรงละคร ก็น่าจะเหมาะสม คนจะได้รู้จักสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และรู้จักศิลปะมากขึ้นด้วย”
หอศิลป์และโรงละครวังหน้า ตั้งอยู่บน ถนนราชินี (เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร.0-2224-4704 ต่อ 101,808
**หอศิลป์ เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 17.00 น. ชมฟรี!!
**โรงละคร มีการแสดงทุกวัน วันละ 1 รอบ เวลา 19.30 น. บัตรราคา 1,000,800 และ 600 บาท www.wangnatheater.com
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: [email protected]
Comments are closed.