ART EYE VIEW — โลกในมุมมองปกติ มันคงน่าเบื่อเกินไป… ฟิลิปป์ ราแมตต์(Phillippe Ramett) ศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้ถูกนิยามว่าเป็นผู้ที่ชอบท้าทาย ทั้งกฎแห่งตรรกะและแรงโน้มถ่วง จึงได้เริ่มต้นทำงานภาพถ่ายชุด โลกตะแคง (The Upside Down World )
เหตุใดไยต้องลุกขึ้นมา ฝืนโลก? ใครบางคนตั้งข้อสงสัย ฟิลิปป์ ขออนุญาตขีดฆ่าคำว่า “ ฝืน” ก่อนบอกถึงเหตุผลว่า
“อยากให้ใช้คำว่า ทดลอง และค้นหา มากกว่า เพราะว่า การที่เราพยายามมองโลก หรือ มองชีวิต ในมุมมองที่แตกต่างออกไป มันอาจจะทำให้เรามีประสบการณ์ใหม่ๆที่น่าสนใจมากขึ้น
และจริงๆแล้ว มันเป็นสิ่งที่ศิลปินหลายๆคนพยายามคิดและทำเช่นกัน กับการค้นหาว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ชีวิตการทำงานศิลปะของพวกเขารุ่มรวยขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ศิลปินส่วนหนึ่งพยายามค้นหาก็คือ มุมมองใหม่ๆที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร เพื่อทำให้ชีวิตและผลงานน่าสนใจมากขึ้น”
การทำงานภาพถ่ายชุดนี้ เริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ฟิลิปป์ วาดภาพขึ้นในใจ และวาดลงไปในกระดาษ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า สถานที่ต่างๆที่เขาจินตนาการว่าต้องมาปรากฎอยู่บนภาพถ่ายแต่ละภาพ จะมีอยู่จริงหรือไม่บนโลกใบนี้
เขาไม่ได้เดินทางออกตามหาสถานที่นั้นๆ โดยทันที แต่ปล่อยให้ช่วงเวลาของการเดินทาง จะด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือการงานก็ตาม พาเขาผ่านไปพบสถานที่นั้นๆโดยบังเอิญ
“เมื่อไปเจอสถานที่ๆดูแล้วใกล้เคียง กับสถานที่ๆวาดไว้ในหัว ผมก็จะเริ่มทำงานในตอนนั้น และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเป็นสุขใจ เพราะไม่ได้มีอะไรมาเป็นขีดจำกัดว่า เราจะต้องออกไปดั้นด้นตามหาสถานที่ๆ เหมือนกับภาพที่เราวาดไว้ ทว่าเราตามหามัน จากสิ่งที่เราผ่านไปพบเจอในชีวิตของเราเอง”
และเมื่อไหร่ที่พบสถานที่ๆต้องการแล้ว การทำงานที่ต้องใช้เวลานานที่สุดและเหนื่อยหนักที่สุดสำหรับเขา จะเริ่มต้นขึ้น
ฟิลิปป์ นิยามกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายชุดนี้ของเขาว่าเป็นดั่ง การถ่ายทำภาพยนตร์
ก็อย่างที่เห็นในภาพ ชายที่ใส่สูทผูกไทด์คนนั้น หาใช่ใครอื่น แต่เป็นเขา ดังนั้นเขาจึงไม่ใช่คนที่ทำหน้าที่ลั่นชัตเตอร์ แต่เป็นคนอื่นๆต่างหาก ส่วนเขา นอกจากเป็นผู้ออกไอเดียสร้างสรรค์ภาพแต่ละภาพขึ้นมา เขายังต้องทำหน้าที่เป็นนักแสดงในภาพแต่ละภาพ ในขณะที่ผู้ลั่นชัตเตอร์ทำหน้าที่เป็นดั่งผู้กำกับ
“ทีมงานของผม คนที่เรียกได้ว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งก็คือ คนกดชัตเตอร์ นั่นคือ มาร์ค โดมาฌ (Marc Domage) เพื่อนของผมเอง เราทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปี เวลาที่ผมทำงานภาพถ่าย บางครั้งกระบวนการสร้างสรรค์งานเหมือนกระบวนการทำภาพยนตร์ และเพื่อนของผมคนนี้ซึ่งเป็นช่างภาพ จะเข้ามาช่วยงาน เหมือนกับอยู่ในฐานะของผู้กำกับ”
คนชมงานศิลปะส่วนใหญ่ทราบดีว่า บางครั้งเวลาที่เราไปชม นิทรรศการภาพถ่าย คำว่า “เจ้าของผลงาน” อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงว่าคนๆนั้นได้ทำหน้าที่เป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ด้วยเอง และเช่นเดียวกันว่า ภาพถ่ายแต่ละภาพ อาจไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ขึ้นได้ด้วยคนๆเดียว
และที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามกับผลงานภาพถ่ายชุดนี้ของฟิลลิปป์ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเขาเป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ด้วยตัวเองหรือไม่ แต่สงสัยว่า เขามีวิธีการพยุงตัวเองให้อยู่ในท่าทางต่างๆ ที่ล้วนแต่ขัดต่อกฎแห่งแรงโน้มถ่วงได้อย่างไร
ในเมื่อเขาบอกว่าภาพถ่ายส่วนใหญ่ของนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากไม่ได้อาศัยนักแสดงแทน(stand – in) แล้ว ยังไม่ได้อาศัยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ใดๆ
ใช่แล้วเขายังต้องอาศัยตัวช่วย แม้ส่วนหนึ่งเขาจะต้องพยายามบังคับกล้ามเนื้อของตัวเองไม่ให้คนจับผิดได้ว่า กำลังอยู่ในท่าที่ฝืนธรรมชาติ
“ผมมีเพื่อนอีกคนหนึ่ง ซึ่งปกติมีอาชีพเป็นดีไซเนอร์ เขาจะเข้ามาช่วยผม ในการสร้างโครงสร้างและเทคนิคบางอย่าง ที่จะทำให้ผมอยู่ในท่าที่เห็นตามรูปได้”
นอกจากภาพเขาใส่สูทผูกไทด์ยืนตะแคงบนลำต้นของต้นไม้ ภาพเขานั่งประคองตัวบนยอดตึกเป็นแนวนอนหรือแม้แต่ภาพยืนขนานผืนน้ำยึดจับขอบระเบียงที่โผล่พ้นน้ำในอ่าวฮ่องกง
เขาได้ลองยกตัวอย่างภาพถ่ายที่มีชื่อแปลเป็นไทยว่า “สรรเสริญความเกียจคร้าน” ว่านั่นคือหนึ่งภาพที่ดีไซเนอร์ผู้ช่วยของเขาต้องสร้างไม้ที่เชื่อมระหว่างฮีทเตอร์กับโต๊ะทำงานขึ้นมา เพื่อช่วยพยุงให้โต๊ะทำงานและตัวเขาซึ่งกำลังเอนกายอยู่ในท่าพิลึกพิลั่น ไม่พังครืนลงมา
และอีกภาพที่เขาสามารถเดินทอดน่อง อยู่บนผิวน้ำได้โดยไม่จมลงไป ความลับคือ
“จริงๆแล้วใต้น้ำมีนั่งร้านอันใหญ่มโหฬารอยู่ข้างล่าง และส่วนบนสุดของนั่งร้าน จะมีคล้ายๆวัตถุใส ซึ่งคนทั่วไปมองไม่เห็น และเกือบจะกลืนไปกับน้ำ อยู่ใต้น้ำลงไปนิดนึง เมื่อผมเหยียบอยู่บนวัตถุนั้น จึงทำให้ผมดูเหมือนว่าสามารถเดินอยู่บนผิวน้ำได้”
หรือแม้ขณะที่เขาดำดิ่งลงไปอยู่ใต้มหาสมุทร หลายคนสงสัยว่า ก่อนจะได้มาซึ่งภาพถ่ายเหล่านั้น เขามีกระบวนการทำงานอย่างไร
“ผมโชคดีมากที่ได้ไปเจอนักดำน้ำ 2 คน โดยที่ไม่รู้ว่า พวกเขาเป็นนักดำน้ำชื่อดังและเป็นที่รู้จักในฝรั่งเศส ผมได้เล่าให้พวกเขาฟังว่า ผมมีโครงการอย่างนี้ๆ ซึ่งพวกเขาสนใจและตัดสินใจว่าจะช่วยผม พวกเขาเป็นคนคิดวิธีถ่ายภาพใต้น้ำ และคิดเรื่องเข็มขัดตะกั่ว ที่ผมจะต้องสวมใต้เสื้อ เพื่อช่วยพยุงให้ผมอยู่ในน้ำได้โดยไม่ลอย และมีท่าทางที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ
เวลาที่เราทำงานภาพถ่ายใต้น้ำ จะค่อนข้างอันตราย หลังจากที่สวมอุปกรณ์แล้ว ผมจะตัวหนักมาก จะไม่สามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้ ดังนั้น นอกกรอบของภาพถ่ายแต่ละภาพที่ผู้ชมเห็น นอกจากจะมีทีมงานอีกหลายคน ยังจะต้องมีทีมหนึ่งคนที่จะเป็นคนคอยถือถังออกซิเจนเอาไว้ และเมื่อผมส่งสัญญาณบอกว่าผมไม่ไหวแล้ว เขาก็จะเป็นคนว่ายน้ำเอาถังออกซิเจนมาให้ผม ดังนั้นในการทำงานภาพถ่ายใต้น้ำ ผมจะต้องไว้ใจทีมงานอย่างที่สุด”
ฟิลลิปป์บอกว่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานภาพถ่ายใต้น้ำ คือช่วงเวลาที่เขารู้สึกดีที่สุด แม้จะต้องใช้เวลาในการงานค่อนข้างนาน และบางครั้งอาจมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นก็ตาม
“ ตอนถ่ายภาพใต้น้ำ เราทุกคนไม่สามารถใช้การพูดเพื่อสื่อสารกันได้ นอกจากการใช้ภาษามือ ดังนั้นเราจะไม่สื่อสารกันในเรื่องที่เหลวไหลหรือเพ้อเจ้อ จะสื่อสารเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆกับเพื่อนร่วมงานเท่านั้น
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเห็นปลาตัวหนึ่งสวยดี จึงอดไม่ได้ที่จะชี้ให้ทุกคนดูทำนองว่า เฮ้ย.. ดูสิ ปลาสวยดี แต่ทุกคนเข้าใจผิด คิดว่าผมสั่งให้เขาเปลี่ยนที่ตั้งกล้อง ต่างคนจึงต่างเปลี่ยนไปตามทิศทางที่มือของผมชี้ไปกันใหญ่ วันนั้นเราจึงต้องเสียเวลากันไปทั้งเช้า ด้วยเหตุที่ว่าผมสื่อสารผิดพลาด(หัวเราะ)”
ยังมีความสงสัยอยู่อีกว่า ทำไม เขาจะต้องลงทุน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียทั้งกำลังคน เพื่อทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ในเมื่อเขาสามารถอาศัยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์สร้างภาพในแบบที่เขาต้องการสื่อสารกับผู้ชมได้เช่นกัน
แม้จะมีบางภาพที่เขายอมรับว่าได้อาศัยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ลบบางสิ่งออกไปจากภาพนิดหน่อย แต่ก่อนที่จะได้ภาพๆนั้นมา เขาก็ต้องอาศัยให้ลูกโป่งที่บรรจุก๊าซฮีเลียม ขนาดใหญ่ พาเขาลอยขึ้นไปบนอากาศ
ฟิลลิปป์ตอบว่า “ มันเป็นความท้าทาย ที่ได้เห็นความพยายามในการสร้างสรรค์ผลงานของตังเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่องกว่าการอาศัยเทคโนโลยี”
“จริงๆแล้ว keyword ของผม นอกจากมุมมองแปลกใหม่ที่ต้องการนำเสนอต่อผู้ชม ผมอยากจะให้ทุกคนได้มองภาพแบบสบายๆ เพราะในภาพมันมีความขำขันแฝงอยู่
ให้ใช้เวลาชื่นชมผลงาน เหมือนกับที่เราใช้เวลาชื่นชมโลก แล้วคุณก็จะได้เห็นมุมมองที่ใหม่ๆ สมมุติว่าตัวเองเป็นตัวละครในภาพก็ได้ แล้วจินตนาการว่า ตัวละครในภาพนั้นได้เห็นอะไร”
นิทรรศการภาพถ่ายชุด โลกตะแคง (The Upside Down World ) โดย ฟิลิปป์ ราแมตต์ (Phillippe Ramett) อันเป็นส่วนหนึ่งของ เทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส – ไทย หรือ LAFETE (ลาแฟต) 2012
ชมฟรี … วันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 29 เมษายน พ.ศ.2555 ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สอบถาม โทร. 0-2214-6630 – 8 ต่อ 520
Text by ฮักก้า Photo by ดร.นภดล วีระกันต์ และ วรงค์กร ดินไทย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: [email protected]
>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.