Art Eye View

“ไม่ควรตดในที่สาธารณะ” บุมเปอิ โยริฟุจิ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW —แม้ไม่เคยเดินทางไปญี่ปุ่น ให้ต้องผ่านตากับ งานออกแบบกราฟฟิก บนโปสเตอร์ที่ติดตามทุกสถานีรถไฟ Tokyo Metropolitan

แต่ บุมเปอิ โยริฟุจิ ก็เป็นชื่อของนักออกแบบกราฟฟิก,นักวาดประกอบ และผู้กำกับศิลป์ ที่เราคุ้นหูกันดี

เพราะอย่างน้อยเราคงได้ผ่านตา ภาพประกอบ ในหนังสือ หัวใจอึ ที่แนะนำการดำรงชีวิต ให้อึอย่างมีความสุข ได้อย่างไม่ชวนสยอง ที่เคยถูกนำมาตีพิมพ์ในบ้านเรา

อีกทั้งโปสเตอร์ที่เขาทำให้ Tokyo Metropolitan อย่างต่อเนื่องมาหลายปีนี้ ก็เป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น และมีสื่อจากหลายประเทศติดตามไปสัมภาษณ์
บุมเปอิ  โยริฟุจิ
บางคนไปยืนถ่ายภาพคู่กับโปสเตอร์ที่เขาออกแบบ, ยืนหัวเราะร่าอยู่หน้าโปสเตอร์นั้นอยู่นานสองนาน และรอคอยชมว่า เมื่อไหร่ ตัวละคร 2 สามีภรรยา ในโปสเตอร์หลายชิ้นที่หมุนเวียนเปลี่ยนให้ชมทุกเดือน จะมีอะไรมาให้พวกเขาได้ขำและฮาอีกบ้าง

ทั้งที่สิ่งที่โปสเตอร์ต้องการจะสื่อสาร เกี่ยวกับ มารยาท หรือ ขอร้อง ไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่างบนรถไฟ

“ผมคิดว่าการที่เราจะบอกอะไรสักอย่างกับคนหมู่มาก โฆษณานั้นควรจะเป็นโฆษณาที่มีมารยาทด้วย เพราะการที่คนกลับมาจากที่ทำงานเหนื่อยๆ พอเดินผ่าน แล้วก็โดนบอกว่า ห้ามทำนู่น ห้ามทำนี่ ผมคิดว่ามันเป็นโฆษณาที่ไม่มีมารยาท และผมคิดว่า มันเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่เราควรจะ ทำให้เป็นเรื่องที่สนุก”

โยริฟุจิ บอกเล่าถึงแนวทาง ในการสร้างงานออกแบบกราฟฟิกเพื่อพื้นที่สาธารณะของตัวเอง ผ่านเสวนา “สาธารณชนกับการออกแบบ” จัดโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และ Plus Art

>>> Please do it at home

ดังนั้น ประโยคที่ถูกนำมาประกอบภาพในโปสเตอร์ที่เขาออกแบบ จึงไม่ใช่ประโยคคำสั่งที่มีคำว่า “ห้าม” หรือ “อย่า” โดยตรง แต่เลี่ยงไปใช้ประโยคแนะนำ ประมาณว่า Please do it at home , Please do it at office

และ Please do it again ในกรณีที่เปลี่ยนจากการประจานมารยาทอันไม่ควรกระทำบนรถไฟ มาเป็นการชื่นชมการกระทำที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง

หรือกรณีงานออกแบบกราฟฟิกที่เขาทำให้ JT (Japan Tobacco) บริษัทบุหรี่ในญี่ปุ่น ซึ่งยามนี้ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วเมือง และที่เขี่ยบุหรี่ตามสถานที่ต่างๆ

แม้เขาจะยอมรับว่าค่อนข้างลำบากใจกับการรับทำงานนี้ เพราะรู้ดีว่าความแตกต่างทางความคิดของคนที่สูบและไม่สูบบุหรี่ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก

แต่ท้ายที่สุดงานออกแบบของเขา ก็มีส่วนช่วยทำให้ คนสูบบุหรี่เป็นที่เป็นทางมากขึ้น จำนวนการทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นลดลง และคนไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่รู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นกับงานออกแบบของเขา

“งานของผมไม่ใช่โฆษณาที่ห้ามสูบบุหรี่ แค่บอกความจริงเกี่ยวกับบุหรี่ว่ามันคืออะไร ซึ่งการนำเสนอแบบนี้ มันก็คือการสื่อสารที่มีมารยาทแล้ว”

ดูเหมือนว่า โยริฟูจิ จะให้ความสำคัญกับเรื่องของมารยาทในการสื่อสารกับผู้คนผ่านงานออกแบบเป็นอย่างมาก

“เรื่องของมารยาท เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน อาจจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ การกระทำบางอย่าง สำหรับประเทศญี่ปุ่น สิ่งนั้นอาจจะคือมารยาท แต่สำหรับที่นี่ประเทศไทย การกระทำนั้น อาจจะไม่เรียกว่าเป็นมารยาทก็ได้ แต่ที่น่าจะเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไหนก็คือ เราไม่ควรตดในที่สาธารณะ(หัวเราะ)”

>>>เข้าใจง่าย = ชอบ

ผลงานออกแบบกราฟฟิกเพื่อสาธารณะ 2 ตัวอย่างที่ผ่านมา อาจจะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว แต่อาจจะละเลย

ยังมีตัวอย่างงานออกแบบกราฟฟิกเพื่อสาธารณะอื่นๆของเขา ที่ต้องการสื่อสารในสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งรู้มาและต้องการเอามาบอก

เช่น สถิติในเรื่องต่างๆ ที่อาจจะเป็นวิชาการ ไม่น่าสนใจอะไร แต่ถูกทำให้น่าสนใจและสนุกสนานขึ้น ด้วยผลงานออกแบบของโยริฟุจิ

เช่น จำนวนนักเรียนไฮสคูลที่เป็นผู้หญิงของแต่ละโรงเรียน ที่แปรผันตาม ความยาวของถุงเท้าที่ถูกดึงให้สูงขึ้น ซึ่งถ้าโรงเรียนไหนไม่มีนักเรียนผู้หญิงอยู่เลย จะปรากฎเป็นเส้นขนที่ยาวเฟื้อยบนลำแข้งแทนถุงเท้า

หรือ การที่เขานำเสนอสถิติ เกี่ยวกับ ความจน และ ความรวย ของประชาการในแต่ละเมือง ผ่านจำนวนของปลาคราฟที่มีครอบครอง (เพราะที่ญี่ปุ่น ถ้าเป็นคนรวยมักจะนิยมซื้อปลาคราฟมาเลี้ยง) และความยาวของท่อไอเสีย ที่บอกถึงจำนวนของนักเลงในแต่ละท้องถิ่น ฯลฯ

“การทำแบบนี้มันสามารถทำให้ข้อมูลที่เราอยากจะบอก อยากสื่อสารออกไป สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น

สำหรับผม การเข้าถึง และเข้าใจง่าย กับคำว่า ชอบ แทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน

ผมไม่สามารถที่จะฟังคนที่ไม่ชอบพูดได้นานๆ ในการสื่อสารอะไรออกไป เราต้องทำให้คนรับสาร มีความรู้สึกชอบเกิดขึ้นก่อน เขาถึงจะสามารถเข้าใจในสารที่เราต้องการจะสื่อออกไปได้

เคยพิมพ์คำว่า CEO ลงไปใน google ไหมครับ จะเห็นว่าภาพที่ได้ ทุกคนยิ้มหมด พวกคุณคิดว่า อยากจะฟังคนเหล่านี้พูดไหมครับ

ผมคิดว่า เวลาที่อยู่ต่อหน้าสาธารณะชน การที่คนๆหนึ่งยิ้ม หรือว่าถูกนำเสนอว่าเป็นคนที่ดีจังเลย ไม่ใช่ว่าจะทำให้ทุกคนชอบคุณได้”

โปสเตอร์ที่ทำให้กับ ADC Grand Prix กิจกรรม ประกวดผลงานโฆษณา ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้ผลงานออกแบบกราฟฟิกเพื่อสาธารณะของเขาเป็นที่ชื่นชอบ

“ภาพที่สวย ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ การใส่ไอเดียเข้าไปในภาพนั้น เพื่อบอกว่าเราอยากจะบอกอะไรสักอย่างกับผู้ชม”

และการออกแบบกราฟฟิกเพื่อกิจกรรมนี้นี่เอง ที่ส่งผลให้เขาได้มีโอกาส ทำงานสำคัญ แพร่หลายในระดับประเทศ และนอกประเทศ
บันทึกจิชิน อิทสึโมะ
>>>สะท้อนภาพแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

เพราะทันทีที่ ฮิโรคาซึ นางาตะ ประธานกรรมการ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนาม Plus Arts ผู้ทำโครงการ อิสะ! คาเอรุ คาราวาน ที่ให้ความรู้การเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ เห็นโปสเตอร์

ก็ได้พาตัวเองพร้อมข้อมูลที่ผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนกว่าร้อย ที่เคยประสบเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ฮันชิน – อาวาจิ ทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 17 ปีก่อน(พ.ศ.2538) ไปให้โยริฟุจิ ช่วยถ่ายทอดเป็นหนังสือภาพที่มีชื่อว่า บันทึกจิชิน อิทสึโมะ โอกาสครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหว ( พ.ศ.2548) เพื่อให้ผู้คนใช้เป็นคู่มือเตรียมรับภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ครั้งต่อไป

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้รวบรวมมาจากคำบอกเล่าของผู้ประสบภัยแผ่นไหว จำนวน 167 คน ที่ต้องเผชิญหน้ากับแผ่นดินไหวและผลกระทบอื่นๆที่ตามมา

ประสบการณ์ของพวกเขาได้รับการถ่ายทอดตามลำดับเวลา เริ่มต้นตั้งแต่สิ่งที่พวกเขาทำ ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวไปจนกระทั่งถึงผลกระทบด้านจิตใจ ในฐานะผู้ที่ต้องอพยพเป็นเวลานาน

ผลงานออกแบบกราฟฟิกและภาพประกอบของโยริฟุจิ มีส่วนสำคัญที่ทำให้คำบอกเล่าผ่านตัวหนังสือของผู้เคราะห์ร้ายมีชีวิตขึ้นมา

บันทึกจิชิน อิทสึโมะ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในฐานะหนึ่งในหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่กล่าวถึงแง่มุมต่างๆ ในการใช้ชีวิตเป็นผู้อพยพอย่างครบถ้วน รวมทั้งยังบรรยายถึงก ารเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้อพยพเมื่อเวลาผ่านไปอีกด้วย

โยริฟุจิ กล่าวว่า ผลงานออกแบบกราฟฟิกและภาพประกอบของเขา เน้นหนักที่จะนำเสนอว่า เวลาที่เกิดแผ่นดินไหว คนเหล่านั้น(ที่เคยประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่รู้สึกอย่างไร)

“คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวมากอยู่แล้ว แต่ ณ สถานการณ์นั้น ทุกคนล้วนอยู่ในการอาการมึนงง คิดอะไรไม่ออก และ ไม่สามารถนำสิ่งที่ตัวเองรู้มาปฎิบัติได้

ดังนั้นแทนที่งานออกแบบของผมจะบอกว่า เราควรจะทำอย่างไรเวลาเกิดแผ่นดินไหว จึงเปลี่ยนมาบอกว่าเวลาเกิดแผ่นดินไหว คุณจะตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไรและรู้สึกอย่างไรกับมัน”

เขาบอกว่าการเอาเหตุการณ์ที่มีคนเสียชีวิตเป็นอย่างมาก มานำเสนอผ่านงานออกแบบและภาพประกอบ เป็นอะไรที่ต้องอาศัยความกล้าเป็นอย่างมาก

แต่เขาคิดว่า มันเป็นหนทางที่จะทำให้คนที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์ เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพราะหากนำภาพถ่ายเหตุการณ์จริงที่ทุกคนรู้ดีว่ามันเลวร้ายและน่าสะเทือนใจมากแค่ไหน มานำเสนอ คนก็อาจจะปิดตาไม่อยากดู แล้วเปิดไปดูภาพอื่น อีกทั้งไม่ใส่ใจข้อมูลที่อยากจะบอก

เช่นเดียวกัน เขาคิดว่ามันเป็นวิธีการนำเสนอที่มีมารยาทกับผู้ชม

“การที่จะเอาภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจริง แล้วเอาข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เคยประสบเหตุมาเขียนกำกับไว้หน้าเดียวกัน ในความคิดผม มันเหมือนเป็นการพูด เพื่อสื่อบอกคนอื่นกลายๆว่า คุณไม่ใช่คนที่ประสบภัย คุณไม่รู้อะไรหรอก

การที่บอกอะไรให้คนเข้าใจ สิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าให้สิ่งที่คุณนำเสนอ บอกคนที่รับสารว่า คุณไม่รู้อะไรหรอก หรือว่าคุณไม่เข้าใจ

มันอาจจะเป็นสิ่งที่คุณสามารถพูดได้ เวลาที่คุณพูดกับแฟน หรือเวลาที่คุณทะเลาะกัน (หัวเราะ)

ที่มักจะจบด้วยคำที่ว่า คุณไม่เข้าใจอะไรหรอก คุณไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกฉันหรอก ซึ่งการพูดอย่างนั้น มันก็จะทำให้สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารไม่สามารถเข้าถึงผู้รับได้”

>>>บทเรียนแผ่นดินไหว สู้ภัยน้ำท่วม

ล่าสุดกิจกรรมส่วนหนึ่งของ โครงการ อิสะ! คาเอรุ คาราวาน ที่ องค์กร Plus Arts นำเสนอเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6,000 คน) ผ่านกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะผ่านงานออกแบบและงานสร้างสรรค์ (และบางส่วนเคยถูกไปนำเสนอในหลายประเทศที่มักประสบเหตุแผ่นดินไหว)

ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการ ท่วม อยู่ ได้ ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง (ALWAYS PREPARE : living with Changes) ในส่วนที่ 3 ของนิทรรศการ(คนและการเรียนรู้) ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC)

เพื่อให้คนไทยนำไปปรับใช้ หากว่าปีนี้จะเกิดเหตุการณ์ “เอาอีก”

แน่นอนว่า ผลงานของโยริฟุจิ มีมาให้ชมในนิทรรศการด้วย ไม่แต่เพียงผลงานหนังสือภาพ ที่เป็นคู่มือรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งขายดิบขายดีในญี่ปุ่น และมีการตีพิมพ์ถึง 3 เวอร์ชั่น แต่ยังมีผลงานออกแบบอื่นๆของที่เขาร่วมมือกับอีกหลายกิจกรรม ภายใต้โครงการเดียวกันของ Plus Arts ด้วย

นางาตะ ประธานกรรมการ องค์กร Plus Arts ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโครงการ เชื้อเชิญให้ผู้สนใจไปชมว่า

“ไฮไลท์ ที่อยากจะแนะนำให้คนไทยรู้จักก็คือ ไอเดียต่างๆของนักออกแบบรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น ที่ได้รับรางวัลจากการประกวด ซึ่งเราได้นำมาแสดงที่ TCDC เพื่อเป็นการให้กำลังใจนักออกแบบรุ่นใหม่ และเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นงานที่นำเอาการออกแบบมารับใช้เรื่องของที่ภัยพิบัติ”

By ฮักก้า
ฮิโรคาซึ นางาตะ  ประธาน Plus Arts และ มาซาชิ โซคาเบะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น

นิทรรศการ ท่วม อยู่ได้: ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง (ALWAYS PREPARE : living with Changes)

วันนี้ – 6 มกราคม 2556 เวลา 10.30 – 21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) ณ ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) โทร. 0-2664- 8448 ต่อ 213, 214

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

Comments are closed.

Pin It