ART EYE VIEW —สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 ช่างภาพ ฝีมือระดับโลก มาเยือนไทย พร้อมกับผลงานภาพถ่ายชุดพิเศษและถือเป็นมาสเตอร์พีชของพวกเขา
นั่นคือ แนนซี่ บราวน์ (Nancy Brown) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นช่างภาพในตำนานของ NIKON และ เคนโระ อิสึ (Kenro Izu) นักถ่ายภาพนิ่งแบบ Still life มือฉมังที่สุดคนหนึ่งของโลก
>>>จากนางแบบ สู่ช่างภาพ ในตำนานของ NIKON
แนนซี่ถูกเชิญมาร่วมงาน มุมมองใหม่บนภาพถ่าย ( A NEW PERSPECTIVE ON PHOTOGRAPHY) และ เวิร์คชอปถ่ายภาพ ให้กับผู้สนใจ ตามคำเชิญของ โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ และ กลุ่ม Bangkok Photographers
เธอคืออดีตนางแบบ ผู้เคยมีชีวิตอยู่เบื้องหน้า และเป็นแบบให้คนอื่นลั่นชัตเตอร์มานาน 25 ปี กระทั่งผลันตัวเองมาฝ่ายลั่นเตอร์เสียเองในเวลาต่อมา ทว่าระหว่างที่เป็นนางแบบเธอฝึกฝนถ่ายภาพมาโดยตลอด
“การถ่ายภาพสำหรับฉัน มันมีสเน่ห์ ตรงที่เราได้คิดองค์ประกอบของภาพและ หาสไตล์ที่เป็นตัวเอง ฉันชอบการได้วางแผน
และก่อนหน้านี้วงการถ่ายภาพยังมีช่างภาพหญิงไม่เยอะเท่าไหร่ เรียกว่า นับมือได้เลย ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันอยากเป็นช่างภาพ
เป็นนางแบบมานาน มันถึงจุดอิ่มตัว แต่ฉันก็ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี จึงจะสามารถหยุดทำอาชีพนางแบบมาเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัว”
แนนซี่บอกเล่า เพื่อให้เราเข้าใจว่า กว่าที่เธอจะผละมือจากกิ่งไม้หนึ่ง ไปสู่อีกกิ่งไม้หนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ตัวเอง
และด้วยความเป็นนางแบบสาวสวย เป็นที่รู้จัก แถมยังถ่ายภาพเก่งอีกต่างหาก จึงไม่แปลกอะไร เมื่อกล้อง NIKON ทราบว่า เธอใช้กล้องยี่ห้อนี้มาตั้งแต่ต้น จึงสนใจตีพิมพ์ผลงานให้เธอ และยกย่องให้เธอเป็นช่างภาพในตำนาน ในปี พ.ศ.2544
ในบรรดาผลงานภาพถ่ายเชิงพาณิชย์ที่แนนซี่ทำมาร่วม 30 ปี ทั้งที่เป็นภาพถ่ายแนวไลฟ์สไตล์และบิวตี้ สำหรับ เอเจนซี่ โฆษณา นิตยสาร หนังสือ และเภสัชกรต่างๆ เธอบอกว่ามันต่างสื่อถึงความเป็นเธอตรงที่ การเป็นผู้ที่ชอบถ่ายทอดเรื่องราวที่สวยงามและเป็นด้านบวก
“ฉันชอบอะไรที่สวยงาม ภาพครอบครัว และภาพเด็ก ถือเป็นตัวอย่างของงงานที่เป็น มาสเตอร์พีชของฉัน”
>>> Simply China
แต่ปัจจุบัน สิ่งที่เธอหลงใหล คือการถ่ายภาพในเชิงท่องเที่ยว และ Simply China หนังสือรวมภาพถ่ายเล่มล่าสุดและเป็นเล่มที่ 5 แล้ว คือหนึ่งหลักฐานยืนยัน
“ตอนแรก ฉันไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปเมืองจีนเท่าไหร่ แต่ไปเพราะมีเพื่อนสนิทอยู่ที่นั่น เมื่อถ่ายภาพเก็บเอาไว้เยอะ เพื่อนบอกว่าสวย และได้พาฉันไปรู้จักกับศูนย์ภาพถ่ายแห่งชาติของจีน ทำให้ทางศูนย์ฯ สนใจตีพิมพ์ผลงานของฉัน”
เธอไม่ปฏิเสธว่า สิ่งสำคัญเป็นเพราะภาพถ่ายของเธอถ่ายทอดในด้านที่สวยงาม และถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศจีนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เวลานี้เธอรู้สึกติดใจในประเทศที่ไม่ได้ตั้งใจไปในตอนแรกนี้เข้าเสียแล้ว
“ฉับชอบจิตวิญญาณของเมือง ในเวลาที่เดินเข้าไปตามจุดต่างๆ แม้ว่าจะไม่ได้ชอบทุกส่วนของเมือง แต่จิตวิญญาณ สีสัน อารยธรรม และภูมิประเทศ เป็นสิ่งที่ฉันชอบ
จนทำให้ฉันไปต้องเดินทางไปเมืองจีนมาแล้วถึง 6 ครั้ง เพื่อเก็บภาพ และยังอยากจะไปอีก เดี๋ยวปีหน้าจะกลับไป”
สำหรับการเดินทางมาเมืองไทยในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ของเธอ (หลังจากที่เคยมาครั้งแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว) เธอบอกว่า มีความเป็นได้ที่ในอนาคต คนที่ติดตามผลงานของเธอจะได้เห็น Simply Thailand คลอดออกมา แต่ตอนนี้ เธอขอใช้เวลาถ่ายทอดการเดินทางในทริปล่าสุด ณ ประเทศทิเบต ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
“ฉันรักเมืองไทย ในความรู้สึกของฉัน เมืองไทยมีบางอย่างที่คล้ายกับเมืองจีน มีวัด มีพระสงฆ์ มีอารยธรรมคล้ายคลึงกัน และมีประวัติศาสตร์ แต่เมืองไทยสะอาดกว่า ดูแล้วรื่นหูรื่นตากว่า”
>>>พลังแห่งหยิน
ณ ย่านบางรัก สถานที่ๆ ทำให้ได้พบกับแนนซี่ ก่อนหน้านั้น1 วัน ART EYE VIEW ก็ได้พบกับ เคนโระ อิสึ ที่ย่านเจริญกรุง และไปรับเอา พลังหยิน (YIN) ที่กระจายอยู่ทั่ว เซรินเดีย แกลเลอรี่ (วันนี้ – 16 ธันวาคม พ.ศ.2555)
เพราะภาพถ่ายแนวดอกไม้ และสรีระมนุษย์ ซึ่งถือเป็นงานที่ดีสุดของ อิสึ ถูก เชน สุวิกะปกรณ์กุล เจ้าของสถานที่ นำมาครีเอท เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับพลังหยิน หรือ พลังผู้หญิง ที่หลอมรวมอยู่ในผลงานของอิสึ หลังจากที่เคยเดินทางไปเยี่ยมเยือนอิสึและภรรยา(ยูมิโกะ อิสึ) ณ สตูดิโอ ท่ามกลางธรรมชาติของเขา ซึ่งตั้งอยู่ ริมแม่น้ำฮัดสัน รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
“แกลเลอรี่ของเราเคยมีงานที่สื่อความเป็นผู้ชายมาหลายครั้งแล้ว และแต่ละงานค่อนข้างจะ aggressive พอสมควร ครั้งนี้อยากจะให้ผู้ชม ได้ชมแบบนุ่มๆ เสนอให้สัมผัสว่าพลังหยินเป็นอย่างไร ซึ่งงานของอิสึสามารถถ่ายทอดพลังแห่งหยินออกมาได้”
>>>นักถ่ายภาพนิ่งแบบ Still life มือฉมังของโลก
อิสึ จบจาก Nihon University College of Art กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นในปี 1972 จึงเดินทางไปทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพในนิวยอร์กเป็นเวลา 2 ปี กระทั่งเปิดสตูดิโอของตัวเองขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การถ่ายภาพแบบ Still life
อะไรทำให้เขาชอบถ่ายภาพในแนวนี้ คำตอบคงคล้ายกับสิ่งที่เขาบอกกับ ART EYE VIEW ในวันที่พบกันที่ประเทศไทย
“ผมอยากจะหยุดความมีชีวิต ในแต่ละช่วงเวลาของวัฐจักรชีวิตของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไว้บนภาพถ่าย”
ซึ่งดอกไม้ถือเป็นตัวอย่างของสิ่งมีชีวิต ที่เขาสามารถเฝ้ามองและสัมผัสกับสถานะในแต่ละช่างเวลาของมันได้ง่ายที่สุด นับตั้งแต่ เติบโต เบ่งบาน กระทั่งแห้งเหี่ยว
นอกจากนี้ อิสึยังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเก็บภาพรูปสลักหินศักดิ์สิทธิ์โบราณในสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็นอิยิปต์ ซีเรีย จอร์แดน อังกฤษ สก็อตแลนด์ เม็กซิโก ฝรั่งเศส และเกาะอิสเตอร์ (ชิลี)
ล่าสุดเขามุ่งความสนใจไปที่รูปสลักที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูในอินเดียและดินแดนอุษาคเณย์ ได้แก่ กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม ภาพถ่ายรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่เหล่านี้สะท้อนความงามอันล้ำลึก พร้อมกับความเสื่อมที่เป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ
“ผมชอบถ่ายภาพเมืองเก่าๆ เพื่อที่จะเก็บไว้ดูว่า เมื่อเวลาผ่านไปสถานภาพมันคืออะไร”
ดังนั้นที่ผ่านมา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่าง อังกอร์วัด ประเทศกัมพูชา เท้าของเขาจึงเคยไปเหยียบย่ำมาแล้ว รวมถึงเมืองเก่าอย่าง อยุธยาและ ศรีสัชนาลัย ของไทย
ด้วยหัวอกพ่อที่มีลูกสาวอยู่ 1 คน เมื่อได้ไปพบเห็นการเจ็บป่วยของเด็กหญิงชาวกัมพูชาที่ไม่มีเงินช่วยรักษา ที่โรงพยาบาลในประเทศ ทำให้เขาก่อตั้งองค์กร มิตรภาพไร้พรมแดน (Friends Without a Border) เพื่อระดมทุนให้แก่โรงพยาบาลเด็กในกัมพูชา
โดยรายได้จากการจำหน่ายภาพและหนังสือ Light Over Ancient Angkor (แสงส่องเมืองพระนคร) ที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายในนิทรรศการที่ประเทศไทยครั้งนี้ ก็จะถูกนำไปบริจาคเพื่อสมทบทุนเข้าองค์กรฯ นี้ ซึ่งกำลังขยายความช่วยเหลือไปที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ด้วย
กล่าวกันว่า อิสึผู้เคยได้รับรางวัล the 2007 Lucie Awards’ Visionary Photographer และมีผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารภาพถ่าย Nueva Luz ของ En Foco ยังถูกชื่นชม ในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายเองในทุกกระบวนการ
“ผมก็เลยเอางานชุดนี้ของเขามาให้ชม เพราะคนไทยไม่ค่อยจะเคยได้เห็นงานภาพถ่าย Still Life ที่ดีๆ ที่สำคัญเขาทำพริ้นเองด้วย ปกติช่างภาพคนอื่นๆ จะไปให้แลปที่นู่นที่นี่ทำให้ แต่คุณอิสึเขาทำเองทุกกระบวนการ
ที่เขาเชี่ยวชาญคือการทำแพลตินั่มพริ้น ใช้ฟิล์มขนาดใหญ่ 14×20 นิ้ว และทุกครั้งที่เขาไปถ่ายภาพ เขาต้องแบกกล้องแบกอุปกรณ์ร่วม 150 กิโลกรัม ติดตัวไปด้วย และแบกไปทั่วโลก เป็นกล้องที่ถูกทำขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับเขา เพื่อจะใช้ฟิล์มที่ใหญ่ขนาดนี้ได้
เขาสนใจชีวิตในทุกกาลเวลา ผลงานชุดต่อไปของเขาเกี่ยวกับ อินเดีย แล้วมีโครงการไปถ่ายภาพสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วเอเชีย อินเดียมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ ช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาเขาก็เลยเดินทางไปทั่วอินเดีย แบกกล้องไปมาแล้วครบทุกรัฐ และกำลังจะทำเป็นหนังสือเล่มใหม่ แต่ว่างานที่จุดประกายให้เขามีชื่อเสียง คืองานภาพนิ่งที่ถ่ายในสตูดิโอ” เชน บอกเล่า
>>>เคล็ดลับระดับโลก
ช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน และ ช่างภาพชายชาวญี่ปุ่น (ในอเมริกา) บอกถึงเคล็ดลับ ที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่า
“ต้องหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ และต้องวางแผนว่าคุณอยากจะนำเสนออะไร หรือมีมุมมองอะไรในใจ แล้วก็เก็บภาพทุกอย่าง ที่สามารถทอดมุมมองนั้น จากนั้นก็ต้องไปเสนอสำนักพิมพ์ต่างๆ” แนนซี่ บราวน์
“ให้มีความอดทนสูง รอจนกระทั่งได้ยินเสียง อย่าดูอย่างเดียว รอจนกระทั่งรู้สึก” เคนโระ อิสึ
By ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
Comments are closed.