Art Eye View

“No Country” พิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim นิวยอร์ก อวดผลงาน 22 ศิลปินเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—หลังจากที่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 พิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim ของนิวยอร์ก ภายใต้ มูลนิธิ Solomon R. Guggenheim ได้ร่วมกับ UBS ธนาคารที่มีชื่อเสียงระดับโลกของสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวโครงการ Guggenheim UBS MAP Global Art Initiative เพื่อบันทึกศิลปะร่วมสมัยในสามภูมิภาค (ตามภูมิศาสตร์) ได้แก่ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ตลอดจนมีการจัดสถาบันฝึกอบรมภัณฑารักษ์ นิทรรศการท่องเที่ยวนานาชาติ โปรแกรมการศึกษาที่ดำเนินโดยผู้ชม และการเพิ่มจำนวนผลงานศิลปะให้กับคอลเลคชันถาวรของ Solomon R. Guggenheim ภายใต้แนวคิดที่ต้องการรวมกลุ่มผู้ชมต่างๆ ได้แก่ ศิลปิน, ภัณฑารักษ์ ,นักการศึกษา ฯลฯ และ มุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดการสนทนา และการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ล่าสุดพิพิธภัณฑ์ฯ ยังได้เปิดแสดงนิทรรศการแรก ของโครงการฯ เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะ ของ 22 ศิลปินจากประเทศ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ภายใต้ชื่อ นิทรรศการ No Country: ศิลปะร่วมสมัยเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยที่มาของชื่อนิทรรศการฯ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบรรทัดแรกในบทกวีของ W.B. Yeats ที่ชื่อ Sailing to Byzantium ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1928 ซึ่งต่อมาภายหลัง Cormac McCarthy ก็ยังได้นำไปใช้ในนิยายของเขาเรื่อง No Country for Old Men ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2005 อีกด้วย

ส่วนแนวคิดของนิทรรศการ No Country ครั้งนี้ ผู้จัดต้องการแสดงถึงแนวคิดวัฒนธรรมไร้ซึ่งพรมแดน การตรวจสอบถึงความแตกต่างทางวิธีปฏิบัติของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านผลงานของศิลปินข้ามยุคสมัย ภายใต้บริบทของพรมแดนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาค และนิทรรศการนี้มีการติดตามความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในพื้นที่และกับผู้อื่นบนโลก
June Yap  ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ
June Yap ภัณฑารักษ์คนแรกประจำโครงการ Guggenheim UBS MAP ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในสิงคโปร์ กล่าวถึงผลงานศิลปะที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการว่า

“มีความหลายหลายของการทำงานศิลปะที่กว้างขวางมากในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแน่นอนว่าโครงการเพียงโครงการเดียวคงไม่อาจแสดงถึงศิลปินและงานศิลปะต่างๆ ได้ครบถ้วน ในนิทรรศการนี้ วัตถุประสงค์คือเพื่อแสดงถึงการพัฒนาด้านความสุนทรีย์ และหัวข้อที่ได้รับความสนใจในศิลปะร่วมสมัย และในขณะเดียวกันยังเป็นการท้าทายเอกสิทธิ์ของชาติและการบรรยายระดับสากล โดยใช้เป็นรากฐานของการทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติด้านความสุนทรีย์จากประเทศต่างๆ

 เราหวังว่างานศิลปะเหล่านี้จะมีส่วนในการสร้างความเข้าใจที่สำคัญในเชิงลึกของภูมิภาค ทั้งผู้ชมที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและเอเชีย จากการสนับสนุนของโปรแกรมการมีส่วนร่วมกับผู้ชมในท้องถิ่นต่างๆ และนานาชาติ No Country จึงไม่ใช่แค่นิทรรศการเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเวทีในการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นการทำลายอุปสรรคในการทำความเข้าใจร่วมกัน”

ศิลปินทั้ง 22 คน ที่มีผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการ ได้แก่ Amar Kanwar (เกิดปี 1964 นิวเดลี อินเดีย),Araya Rasdjarmrearnsook (เกิดปี 1957 ตราด ไทย),Arin Dwihartanto Sunaryo (เกิดปี 1978 บันดุง อินโดนีเซีย),Aung Myint (เกิดปี 1946 ย่างกุ้ง พม่า),Bani Abidi (เกิดปี 1971 การาจี ปากีสถาน),Ho Tzu Nyen (เกิดปี 1976 สิงคโปร์),Khadim Ali (เกิดปี 1978 เควตตา ปากีสถาน),Navin Rawanchaikul (เกิดปี 1971 เชียงใหม่ ไทย),Norberto Roldan (เกิดปี 1953 โรซัสซิตี้ ฟิลิปปินส์),Poklong Anading (เกิดปี 1975 มะนิลา ฟิลิปปินส์),Reza Afisina (เกิดปี 1977 บันดุง อินโดนีเชีย),Shilpa Gupta (เกิดปี 1976 มุมไบ อินเดีย),Tang Da Wu (เกิดปี 1943 สิงคโปร์),Tayeba Begum Lipi (เกิดปี 1969 ไกบันธา บังกลาเทศ),The Otolith Group (ประมาณปี 2002 ลอนดอน สหราชอาณาจักร),The Propeller Group (ประมาณปี 2006 โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม และลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย),Tran Luong (เกิดปี 1960 ฮานอย เวียดนาม),Truong Tan (เกิดปี 1963 ฮานอย เวียดนาม),Tuan Andrew Nguyen (เกิดปี 1976 ไซงอน เวียดนาม),Vincent Leong (เกิดปี 1979 กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย),Wah Nu (เกิดปี 1977 ย่างกุ้ง พม่า), Tun Win Aung (เกิดปี 1975 Yalutt, พม่า) และ Wong Hoy Cheong (เกิดปี 1960 ยอร์จทาวน์ มาเลเซีย)


เมื่อนิทรรศการที่นิวยอร์กสิ้นสุดลง นิทรรศการ No Country: ศิลปะร่วมสมัยเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเดินทางไปจัดแสดงที่สถาบันเอเชียโซไซตีที่ฮ่องกงตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2556 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557

นอกจากนี้ คาดว่านิทรรศการนี้จะถูกนำไปจัดแสดงที่สิงคโปร์อีกด้วย และอาจมีงานศิลปะบางส่วนเพิ่มเติมเข้ามาซึ่งเป็นผลงานที่ไม่ได้แสดงที่นิวยอร์ก แต่เป็นผลงานที่ถูกรวบรวมไว้ในคอลเลกชันของ พิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim โดยเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ฯ จะประสานงานกับทางภัณฑารักษ์และนักศึกษา ณ สถานที่จัดแสดงนิทรรศการเพื่อดัดแปลงการนำเสนอผลงานให้ตรงกับความสนใจและความต้องการเฉพาะด้านของผู้ที่เข้าชมนิทรรศการในฮ่องกงและสิงคโปร์

นิทรรศการ No Country: ศิลปะร่วมสมัยเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้ – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ณ Solomon R. Guggenheim Museum, 1071 Fifth Avenue, New York ชั้น 2 Annex และโรงละคร New Media Theater

ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม : ผู้ใหญ่ 22 ดอลลาร์, นักเรียน/ผู้อาวุโส (65+) 18 ดอลลาร์, สมาชิกและเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี
นิทรรศการจัดให้มี แอพแบบอินเทอร์แอคทีฟของ Guggenheim รุ่นใหม่ให้ใช้ฟรี หรือสามารถดาวน์โหลดลงในอุปกรณ์ของคุณได้ แอพนี้จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเข้าชมนิทรรศการให้กับผู้ชม ภายในแอพจะประกอบไปด้วยสื่อมัลติมีเดียที่จัดทำขึ้นเฉพาะสำหรับ No Country: ศิลปะร่วมสมัยเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประกอบด้วยสื่อเสียงซึ่งจะบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับผลงานศิลปะและศิลปิน มีทัวร์ชมนิทรรศการที่บรรยายภาพด้วยคำพูด (verbal imaging tour) สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ทัวร์สำหรับเด็ก ตลอดจนการเข้าชมผลงานกว่า 900 ชิ้นในคอลเลกชันถาวรของ พิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim และข้อมูลเกี่ยวกับอาคารที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright

ชั่วโมงทำการของพิพิธภัณฑ์: อา-พ 10.00 น – 17.45 น., ศ 10.00 น. – 17.45 น., ส 10.00 น. – 19.45 น.( ปิดทุกวันพฤหัสบดี) ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 212 423 3500

นอกเหนือจากข่าวคราวของนิทรรศการครั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim ของนิวยอร์ก ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขอซื้อผลงานจาก Kamin Lertchaiprasert (เกิดปี 1964 ลพบุรี ไทย), Simryn Gill (เกิดปี 1959 สิงคโปร์), Sopheap Pich (เกิดปี 1971 พระตะบอง กัมพูชา) และ Vandy Rattana (เกิดปี 1980 พนมเปญ กัมพูชา) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนจัดซื้อของ Guggenheim UBS MAP

ผลงานต่างๆ เหล่านี้ประกอบด้วยภาพถ่าย งานแกะสลัก งานปั้น และผลงานบนกระดาษ ซึ่งพิพิธภัณฑ์จะนำไปจัดแสดงแก่ผู้ชมหลากหลายกลุ่มต่อไปในอนาคต



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It