Art Eye View

ความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนอง : แอชลีย์ วินเซนต์

Pinterest LinkedIn Tumblr

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
South African Queen
ปี ค.ศ 2011 ผมวางแผนการณ์สำหรับการเดินทางเพื่อตามเก็บภาพสัตว์ป่าเป็นเวลาสองอาทิตย์ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป้าหมายของผมสำหรับทริปนั้น คือการเก็บภาพสัตว์ตระกูลแมวใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ครับ

ก่อนการเดินทาง ผมได้รู้จากเพื่อนชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งแล้วว่า จะหาดูพวกสัตว์ตระกูลแมวใหญ่ที่หากินเองอยู่ตามธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติกรูเกอร์ ของแอฟริกาใต้ ได้ยากกว่าที่เขตป่าสงวนมาไซมาร่า ในประเทศเคนยามาก

ผมจึงติดต่อกับเจ้าหน้าในศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าของแอฟริกาใต้ และขอเข้าพักที่เขตคุ้มครองสัตว์จำพวกแมวเป็นเวลาหกวัน และกลายเป็นว่า มันเป็นช่วงเวลาที่ผมลงทุนลงแรงได้อย่างคุ้มค่าที่สุดในการเดินทางครั้งนั้น เพราะผมสามารถเก็บภาพสัตว์ป่าสวยๆจากเขตอนุรักษ์นี่ได้หลายใบเลยล่ะครับ
Tentative Advances
Unrequited Love
ในเขตคุ้มครองสัตว์จำพวกแมวนี่ มีทั้งสิงโต เสือดาว เสือชีตาร์ และลูกแมวป่าคาราเคล เป็นนายแบบและนางแบบแสนสวยให้กับผมหลายตัวเลยครับ แต่ตัวที่สร้างความเร้าใจให้กับผมมากที่สุดคือเจ้าคิงชีตาร์ตัวเมียที่ดูอลังการมากตัวหนึ่งครับ

ผมโปรดปราน เสือชีตาร์ มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก และจนถึงปี ค.ศ. 2008 เมื่อผมได้เรียนรู้เรื่อง คิงซีตาร์ และได้เห็นภาพถ่ายของมันเป็นครั้งแรก ผมก็หลงเสน่ห์คิงชีตาร์ทันที รูปลักษณ์ของมันคล้ายกับเสือชีตาร์ทั่วไปมากครับ มีขนเป็นลายเป็นจุดเหมือนกัน ต่างกันที่คิงชีตาร์จะมีลายเป็นเส้นยาวที่เห็นชัดเจนและสวยงามกว่ามาก

ผมเคยอ่านเจอมาจากที่ไหนสักแห่งว่า “คิงชีตาร์” เป็นสัตว์ที่หาดูได้ยากมาก ด้วยเหตุและผลแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะมีโอกาสได้พบเห็นคิงชีตาร์ตัวเป็นๆ แต่ผมก็ไม่เคยปล่อยให้รูปแบบของเหตุผลมาหยุดหรือห้ามความฝันของผมหรอกนะครับ

ผมสร้างจินตนาการในใจไว้เสมอว่า สักวันหนึ่ง ผมจะต้องได้ยลความงามของคิงชีตาร์ด้วยตาของผมเอง และเมื่อถึงวันที่ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับคิงชีตาร์แบบสามารถเอื้อมมีอลูบตัวมันได้(แต่ผมไม่เคยแตะต้องเธอนะครับ) ผมจึงได้รู้ว่าความเชื่อมั่นทำให้ความฝันเป็นความจริงได้เสมอ และถ้าเราจะอยากฝันถึงอะไรสักอย่าง ก็ฝันให้มันยิ่งใหญ่ไปเลย

คิงชีตาร์นี่ไม่ได้ถูกแยกสายพันธุ์กับเสือชีตาร์นะครับ มันก็คือเสือชีตาร์ที่มียีนถอยกลับ เลยทำให้ลายบนตัวติดกันเป็นจุดที่ใหญ่กว่า และจะมีขนดำเป็นเส้นยาวสามเส้นลากยาวผ่านตั้งแต่หลังหูไปจนถึงใกล้หางเลยล่ะครับ
Royal Rejection
บันทึกแรกที่มีการค้นพบ ระบุความแตกต่าง และตั้งชื่อ “คิงชีตาร์” เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ 1926 ในซิมบับเว หลังจากปีนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการบันทึกเป็นข้อมูลว่าเคยพบคิงชีตาร์ที่อาศัยอยู่ในป่าเพียงหกครั้ง ประเด็นนี้เคยถูกตั้งเป็นข้อสงสัยว่า คิงชีตาร์น่าจะเคยมีอยู่ในป่ามากกว่านั้น แต่เนื่องจากลายบนตัวของพวกมันที่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด ทำให้พวกมันคงพลางตัวจากศัตรูได้ยาก นักล่าอันดับหนึ่งอย่างสิงโตแอฟริกันอาจจะเป็นสาเหตุของการล้มหายตายจากของเหล่าคิงชีตาร์

ในเขตคุ้มครองเดียวกันนี้ มีเสือชีตาร์ตัวผู้สองตัวถูกเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นลูกสัตว์อยู่ แม่ชีตาร์ถูกสิงโตฆ่าตายเพราะพยายามคุ้มครองลูกเล็ก เจ้าหน้าที่ในเขตคุ้มครองช่วยกันเลี้ยงพวกมันสองตัวขึ้นมา ถึงมันจะยังมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าเหลืออยู่บ้าง แต่พวกมันก็เชื่องและคุ้นเคยกับพวกคนพอสมควรครับ

เมื่อชีตาร์โตเต็มวัย เจ้าหน้าที่ได้พาชีตาร์หนุ่มสองตัวไปปล่อยให้อยู่ใกล้ชิดกับควีนชีตาร์(คิงชีตาร์ตัวเมีย)ด้วยความหวังว่าสาวเจ้าจะยอมให้สักตัวมอบความรักให้กับเธอ ผมได้รับโอกาสหลบมุมคอยเก็บภาพอยู่ในกรงอันกว้างขวางของพวกมันด้วยถึงสามวาระ ผมสังเกตเห็นเจ้าชีตาร์หนุ่มทั้งสองคอยวนเวียนเรียกร้องความสนใจเหมือนอยากจะรู้จักตัวเมียมากขึ้นเป็นระยะ แต่สาวเจ้าก็ไม่ไยดี ไว้ตัว ปฎิเสธหนุ่มๆจนทุกอิริยาบถ หลายครั้งที่เธอขู่จนทั้งสองหนุ่มต้องถอยห่างไปตั้งหลักใหม่

ช่วงเวลาที่ผมได้อยู่ร่วมใกล้ชิดกับสัตว์โลกอันแสนงดงามพวกนี้(โดยมีหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของเขตคุ้มครองอยู่ด้วย…เกลียดจังที่ต้องรายงานตามความเป็นจริง อดเป็นพระเอกเลย 555) เป็นประสบการณ์สุดยอดของผมที่ผมจะไม่มีวันลืมเลือน

ตอนที่อยู่ในกรงกับพวกชีตาร์ ผมไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะอยากแตะต้องตัวของพวกมันนะครับ ผมให้เกียรติ์วิถีของสัตว์ป่า พวกมันก็ดูจะไม่สนเลยด้วยซ้ำไปว่ามีผมอยู่แถวนั้น ผมรู้สึกเชื่อมต่อกับพวกมันในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ร่วมโลกเดียวกัน ผมรู้สึกเห็นใจและเข้าใจว่าพวกมันและผมต่างก็ต้องดิ้นรนต่อไปเพื่อให้เป็น “ผู้อยู่รอด”

เช่นเคยครับ ขอบคุณทุกท่านมากที่สละเวลาอ่านบทความของผม ผมขอให้ทุกท่านมีความสุขมากๆ ตลอดเทศกาลสงกรานต์นี้นะครับ พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ล่าสุดผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It