Art Eye View

จิตรกรรมฝาผนังล้านนา “พระมหาชนก” วิทยานิพนธ์ ของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เนื่องจากทรงศึกษาและทรงงานไปด้วย จึงทำให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน) ทรงใช้เวลานาน 5 ปี สำหรับการศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ดังที่หลายคนเคย ทราบมาตลอดว่า ทรงมีโครงการภายใต้พระดำริหลายโครงการฯ ได้แก่ โครงการบูรณะวิหารปฏิบัติธรรม วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่,โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่,โครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองน้ำขุ่น อ.แกลง จ.ระยอง และโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ด้วยเหตุนี้จึงทรงวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ จิตรกรรมฝาผนังล้านนา เรื่อง “พระมหาชนก” จากพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผลงานออกแบบจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อวิหารปฏิบัติธรรม วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ล่าสุดผลงานวิทยานิพนธ์ ได้จัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม ณ หอศิลป์ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทรงเปิดนิทรรศการดังกล่าว

“ทรงมีดำริเบื้องต้นเลยว่า อยากจะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนาแนวใหม่ขึ้นมา เพราะทรงสนพระทัยศิลปะล้านนาที่ทรงศึกษาค้นคว้ามามากเป็นพิเศษ และในเมื่อทรงบูรณวัดและวิหารแห่งนี้เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงตัดสินใจนำ พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” มาเขียน”

อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร หนึ่งในพระอาจารย์ที่ปรึกษาบอกเล่า

และให้ข้อมูลด้วยว่า พระเจ้าหลานเธอฯ ไม่ได้ทรงนำเนื้อหาทั้งหมดในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้มานำเสนอผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ทรงคัดเลือกบทที่เปรียบบุคคลเป็นน้ำ 7 จำพวก มานำเสนอผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน โดยการลำดับเรื่องราว เริ่มจากผนังทางด้านซ้ายมือของพระประธาน แล้วเล่าเรื่องเวียนขวาตามแบบทักษิณาวรรต ไปสิ้นสุดที่ผนังด้านขวามือของพระประธาน ซึ่งออกแบบโดย เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม)

ส่วนผนังด้านหลังพระประธาน เป็นเรื่องของอดีตพระอดีตพระพุทธเจ้า และไตรภูมิจักรวาล ขณะที่ผนังด้านตรงข้ามกับพระประธานเขียนเรื่อง “พระมหาชนก” ตอน “พระมหาชนกขึ้นครองเมืองมิถิลา” กับตอน “การปลงสังเวชถึงต้นมะม่วง 2 ต้น”

นอกจากนี้เรื่องราวเกี่ยวกับ “จักรราศี” ที่เคยทรงนำเสนอในงานศิลปะนิพนธ์ ในช่วงทรงจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะเดียวกัน แต่เป็นสาขาภาพพิมพ์ ก็ยังมาปรากฎให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธาน และบริเวณเหนือขึ้นไปของจิตรกรรมด้านซ้ายและขวาของพระประธาน



ดังที่ อ.ปัญญาได้ให้ข้อมูลว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงมีดำริเบื้องต้นว่า อยากจะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนาแนวใหม่ขึ้นมา หรือ จิตรกรรมฝาผนังล้านนาร่วมสมัย นั่นก็เพราะทรง อยากจะเห็นศิลปะของล้านนามีการสืบทอด และได้รับความสนใจในหมู่เยาวชนรุ่นหลังด้วย ตรงกับที่ทรงมีรับสั่งว่า

“การเขียนจิตรกรรมฝาผนังจะไม่เขียนในลักษณะของภาพเล่าเรื่อง แต่จะใช้แนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์แบบศิลปะร่วมสมัย ทำให้ข้าพเจ้าได้เปิดโลกทัศน์ต่อการทำงานศิลปะอย่างอิสระและกว้างไกลขึ้น การใช้จินตนาการและนำเสนอแนวคิดแบบใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากจิตกรรมแบบประเพณีของศิลปะล้านนาที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นทุนเดิมนั้น ทำให้ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่า จิตรกรรมฝาผนังฝนวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการพัฒนาจิตรกรรมฝาผนังล้านนาร่วมสมัย อันจะเป็นประโยชน์ทั้งทางทางสืบทอดประเพณีและการสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศิลปะของประเทศไทยต่อไป”

อ.ปัญญา กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อ ผลงานวิทยานิพนธ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ด้วยว่า

“ผมประทับใจวิธีคิดของท่าน ที่มีความสนใจในศิลปะล้านนาเป็นทุนเดิม ก่อนที่จะนำมาสู่หัวข้อวิทยานิพนธ์นี้   ทรงเสด็จไปตามวัดต่างๆเพื่อดูว่าแต่ละวัดมีศิลปะล้านนาในรูปแบบไหน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง

จนเมื่อทรงวิทยานิพนธ์ ก็ทรงคิดสิ่งใหม่ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ทิ้งรากเหง้าเดิม ที่มีมายาวนาน ถ้าดูรายละเอียดของงาน จะเห็นได้ว่าท่านเอางานประเพณีมาใช้ แต่ถ้าดูไปที่โครงสร้าง จะรู้สึกได้ถึงความเป็นปัจจุบัน ร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อให้ผู้คนที่ได้พบเห็นในเบื้องต้นเกิดความประทับใจก่อน แต่ถ้าขยายรายละเอียด จะพบว่า ทรงรักษาความเป็นประเพณีแบบดั้งเดิมเอาไว้

และที่สำคัญทรงอยากจะให้เรื่องราวที่นำเสนอผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง สื่อให้คนเข้าใจถึงวิถีชีวิตในปัจจุบัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ที่ทรงต้องการเชื่อมโยงอดีตมาปัจจุบัน ผมว่าเป็นแนวคิดอันเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยรับสั่ง เมื่อครั้งที่ผมเคยทำงานภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก ถวาย ซึ่งตอนแรกผมคิดไม่ถึง ทรงรับสั่งว่าเรื่องพระมหาชนกไม่ใช่เรื่องโบราณนะ อาจจะมีอายุยืนถึงหมื่นปี ทรงคิดได้อย่างไร เพราะเดิมทีผมคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอดีต

ทรงรับสั่งว่า เนื้อหาในเรื่องพระมหาชนกใช้ได้ทุกยุคสมัย ทำให้ผมได้คิดว่า จะทำอย่างไร ส่งผลให้เรากล้าคิดอะไรที่มันใหม่ขึ้นมา และแสดงออกถึงความเป็นปัจจุบันมากขึ้น”

ผลงานวิทยานิพนธ์ ของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ หัวข้อ จิตรกรรมฝาผนังล้านนา เรื่อง “พระมหาชนก” จากพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เปิดแสดงระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 20 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ ฯ





นาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It