คอลัมน์ : Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์
บ่อยครั้งที่เมื่อสัตว์ตระกูลแมวถือกำเนิดขึ้นในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผมมักจะได้รับการแจ้งข่าวจากเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เสมอครับ และผมได้รับอนุญาตและการอนุเคราะห์เป็นพิเศษในฐานะอาสาสมัครเข้าเก็บภาพพวกลูกแมวตัวน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อเก็บบันทึกการเกิดและการเจริญเติบโตของพวกมันด้วยครับ
สัตว์ตระกูลแมว เป็นกลุ่มสัตว์ที่ผมรู้สึกโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ผมจึงมีความสุขทุกครั้งที่มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดผูกพันกับพวกมัน ยิ่งเวลาที่เฝ้ามองพวกมันหยอกล้อเล่นหัวด้วยกัน ผมจะมีแต่ความเบิกบานใจ อยากจะถ่ายภาพ เก็บความไร้เดียงสาน่าเอ็นดูของพวกมันออกมาแบ่งปันให้คนอื่นได้เห็นบ้าง แต่ผมต้องขอสารภาพไว้ตรงนี้เลยนะครับ ว่าการที่จะเก็บภาพลูกแมวสองตัวให้อยู่ในกรอบเดียวกันได้นี่ ไม่ใช่งานที่ง่ายเลยจริง ๆ
สัตว์ที่อยู่ในภาพเรียกว่า“แมวดาว” (Prionailurus bengalensis) ครับ พวกมันสองตัวเกิดในคอกเดียวกัน แมวดาวไม่ได้เชื่องช้าเหมือนแมวบ้านนะครับ มันตื่นตัวและว่องไวมาก ผมไม่อยากจะเล่าให้ฟังเลยว่า ผมต้องลบภาพถ่ายของผมทิ้งไปมากมายแค่ไหน เพราะเก็บภาพอิริยาบถของพวกมันไม่ค่อยจะทัน ยิ่งตอนที่จะถ่ายภาพคู่ ยิ่งต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันทั้งวิ่งทั้งกระโดดไล่กันไม่หยุด แย่งซีนกันน่าดู
ผมเก็บภาพพวกนี้ได้ตอนที่แมวดาวคู่นี้มีอายุเพียงสองอาทิตย์ครับ หากพวกมันเติบโตกว่านี้ ผมคงจะเก็บภาพคู่ของมันได้ยากมากกว่านี้อีกแน่ ๆ เพราะมันคงจะตื่นตัวและรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม นี่ขนาดพวกมันยังดูขาดความมั่นใจอยู่บ้าง แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผมยังสังเกตเห็นว่าพวกมันพยายามดมกลิ่นสำรวจสถานการณ์โดยรอบอย่างระแวดระวัง และเมื่อรู้สึกคุ้นเคยและรู้ว่าปลอดภัยพวกมันก็จะพากันวิ่งกระโดดโลดเต้นไปจนทั่วบริเวณ
ผมตั้งชื่อคอลัมน์ในอาทิตย์นี้ว่า“เสือดาวจำลอง”เพื่อเรียกร้องความสนใจเท่านั้นครับ ผมอยากจะให้มีคนที่รู้จักแมวดาวดีอยู่แล้ว เห็นภาพพวกนี้และอ่านชื่อคอลัมน์ และเกิดความข้องใจ ว่าผมสับสนอะไรไปหรือเปล่า มันเป็นวิธีเชิญชวนให้มีคนอยากอ่านคอลัมน์ของผมเพิ่มขึ้นไงครับ
ผมรู้สึกเสมอว่า คนไทยมีวิธีแสดงน้ำใจ และแบ่งปันความรู้ให้กันอยู่เสมอ เคยมีการถอดความผิดพลาดในคอลัมน์ของผมแล้วถึงสองครั้ง และทั้งสองครั้งก็ได้รับการท้วงติงจนเกิดการแก้ไขให้ถูกต้อง ผมสัมผัสถึงความปรารถนาดีที่คนอ่านมีต่อผม ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมากและขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาตักเตือนทีมงานของผมอีกครั้งด้วยนะครับ
แมวดาวไม่มีความเกี่ยวพันกับเสือดาวเลยครับ สายพันธุ์ของพวกมันห่างไกลกันมาก แมวดาวมักจะถูกเรียกอย่างสับสนกับแมวป่าโอซะลอท(Ocelot / Leopardus pardalis) พวกมันมีรูปลักษณ์ที่เกือบจะเหมือนกัน เพียงแต่สายพันธุ์ของโอซะลอท มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้(มีบันทึกว่าพบเห็นโอซะลอทอยู่ไม่มากนักทางทิศใต้ของแท็กซัสและอริโซน่า)ส่วนแมวดาวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียเท่านั้น
เมื่อโตเต็มวัย แมวดาวจะมีขนาดตัวประมาณแมวบ้านครับ แมวดาวยังแบ่งแยกออกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีก12สายพันธุ์ ความแตกต่างของพวกมันจะคัดแบ่งกันที่ขนาด น้ำหนักตัว และสีบนลำตัว พวกสายพันธุ์ย่อยนี้อาศัยอยู่โดยทั่วไปในทวีปเอเชีย เริ่มตั้งแต่ตะวันออกไกลของรัสเชีย คาบสมุทรเกาหลี จีน อินโดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอร์เนียว ฟิลิปฟินส์ อินเดีย ตีนเขาหิมาลัย จนถึงตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน
แมวดาวสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในหลากหลายเขตภูมิศาสตร์ด้วยครับ พวกมันจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศจนเกิดการปรับขนาดร่างกายและปรับพฤติกรรมจนสมดุลกับสถานการณ์รอบด้าน
สายพันธุ์ของแมวดาวปรับตัวได้เก่งมาก จนได้รับการยอมรับว่า พวกมันเป็นสัตว์ตระกูลแมวพันธุ์ที่เอาตัวรอดในป่าได้อย่างประสบความสำเร็จมากที่สุด สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ(IUCN)จัดระดับให้แมวดาวเป็น“สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์”(LC)
แมวดาวเป็นสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารครับ อาหารของพวกมันประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู หนูขาว กระต่ายป่า กบ นก ปลา แมลง สัตว์จำพวกจิ้งจก และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กบ บางโอกาสพวกมันยังกินไข่และหญ้าบางชนิดเป็นอาหารอีกด้วย
แมวดาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่จะดูแลลูกของมันจนลูกน้อยดูแลตัวเองได้แล้วมันจะทิ้งลูกครับ แมวดาวชอบชีวิตโดดเดี่ยวสันโดษ และพวกมันชอบใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ แมวดาวไต่ขึ้นลงต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว พวกมันมักจะเลือกพักผ่อนและนอนหลับอยู่บนกิ่งไม้สูง ๆ มากกว่าที่จะอยู่บนพื้น
คุณอาจจะเคยพบเห็น ว่าในเมืองไทยมีบางคนเลี้ยงแมวดาวเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านด้วยความชอบส่วนตัว แต่ในหลายประเทศทางตะวันตก คุณจะต้องมีใบอนุญาตเป็นพิเศษก่อนที่จะเลี้ยงแมวดาวนะครับ ถ้าไม่อยากจะทำผิดกฎหมายซะก่อน แมวดาวสามารถผสมพันธุ์ได้กับแมวบ้านทั่วไป ลูกผสมที่เกิดมาจะถูกเรียกว่า”แมวแบงกอล”ซึ่งจะเป็นแมวที่เชื่องขึ้นมาก
ผมรู้ครับ ว่าบางคนมีใจชื่นชอบสัตว์ป่าบางอย่างเป็นพิเศษจนต้องมีไว้ในครอบครอง เช่น เลี้ยงนกบางชนิด แมวป่า กิ้งก่า งู ชะนี กระรอก หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน
ผมเพียงแต่เคยคิดแทนพวกสัตว์ป่าเหล่านั้น ว่าพวกมันคงจะรู้สึกคิดถึงบ้านมาก หากเลือกได้ มันคงอยากจะใช้ชีวิตอย่างมีอิสระในผืนป่าอย่างที่ธรรมชาติของเผ่าพันธุ์มันปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ตัวผมเองก็คงจะไม่อยากเป็นที่รักของใคร หากความรักแบบนั้นจะต้องแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของผม
ขอบคุณทุกท่านมากครับที่กรุณาติดตามเยี่ยมชมภาพถ่ายและอ่านบทความของผม หากมีเรื่องใดที่คุณต้องการติชมหรือแนะนำต่อผมและคอลัมน์นี้ กรุณาฝากคอมเมนท์ไว้ด้วยนะครับ ผมขอให้ทุกท่านมีวันและคืนที่สวยงามตลอดทั้งอาทิตย์ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ
รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์
ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย
ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012
เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”
ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์ ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.