Art Eye View

ปลากัด ชัตเตอร์ตอบ “วิศรุต อังคทะวานิช”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ช่างภาพหลายคนอาจตามหานางแบบนายแบบที่เข้าตา ตามสถานที่อื่น

แต่ช่างภาพอย่าง วิศรุต อังคทะวานิช นางแบบและนายแบบของเขา มีให้ตามหาตามตลาดนัด เมื่อพินิจพิจารณาหน่วยก้านจนเป็นที่พอใจ ก็จะควักสตางค์จ่ายใส่โหลแก้วกลับมาบ้าน

บ้านซึ่งเป็นห้องชุดบนถนนสาทร ที่นอกจากจะเป็นที่พักอาศัยของเขาและภรรยา พร้อมด้วยลูกสาววัยกำลังน่ารัก 1 คน ยังเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ และที่เก็บตัวของนางแบบและนายแบบที่เขาซื้อหามา ในราคาหลักสิบไปจนถึงหลักร้อย

วันดีคืนดี จึงจะทยอย คัดตัวมาเป็นแบบเพื่อถ่ายภาพ เพียงแต่ไม่สามารถสั่งให้โพสต์ท่าได้ตามอำเภอใจ นอกจากตั้งกล้องคอยจับภาพ ในเวลาที่ชีวิตน้อยๆซึ่งมีสีสันอันสวยงามแปลกต่างกันไปนี้ แหวกว่ายไปมาในโหลแก้วตามธรรมชาติของมัน

วิศรุต เป็นช่างภาพอิสระ รับถ่ายภาพให้กับงานหลากหลายประเภท ในด้านหนึ่งยังมีชื่อเสียงในด้านการถ่ายภาพ ปลากัด(Fighting Fish)

มีผลงานได้รับการตีพิมพ์และนำเสนอ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ระดับโลกหลายสำนักในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ,อิตาลี,อาเจนติน่า,รัสเซีย,ญี่ปุ่น,จีน,เกาหลี ,ไทย ฯลฯ และล่าสุด ในเวบไซต์ National Geography ของจีน หรือถ้าลองค้นชื่อ visarute angkatavanich ผ่าน google ก็จะพบว่ามีชื่อและผลงานของเขาปรากฏอยู่ในเรื่องราวกว่า 9 หมื่นรายการ

เด็กชาย,ปลากัด และการถ่ายภาพ

“ผมเลี้ยงปลากัดมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว พอโตมาหน่อย ก็ไม่ได้เลี้ยงต่อ แต่พอมาอาศัยอยู่ที่นี่(สาทร การ์เด้น คอนโด) ก็กลับมาเลี้ยงใหม่

ตอนแรกที่เริ่มเลี้ยงปลาเหมือนว่าพ่อเอามาให้ดู มีเลี้ยงปลากัด ปลาทอง ปลาหางนกยูง เหมือนบ้านทั่วๆไป เพราะปลาเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่กินเนื้อที่ไง บ้านที่มีพื้นที่เล็กๆก็เลี้ยงได้ และอีกอย่างเราไม่ต้องรับผิดชอบ คอยพาไปเดินเล่น เหมือนสุนัข ดังนั้นบ้านทั่วๆไป เวลาจะฝึกให้ลูกเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอะไรง่ายๆก็จะให้เลี้ยงปลานี่แหล่ะ

ตอนเด็กๆ ผมเลี้ยงไม่เยอะหรอก 2- 3 ขวด และเอามาเพาะให้ได้เป็นลูกตัวเล็กๆ”

วิศรุตบอกเล่าถึงช่วงเวลาเวลาของการพบและพราก ก่อนจะกลับมาคุ้นเคยกันใหม่ ระหว่างเขากับปลากัด ขณะที่ระหว่างเขากับการถ่ายภาพ อย่างเป็นจริงเป็นจัง เริ่มต้นเพราะความจำเป็นในการทำงานหาเลี้ยงชีพ

“จริงๆแล้วผมถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกตั้งแต่ ตอนเรียน ม.ต้น พอเรียนจบมหาวิทยาลัย (สาขาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผมทำงานกราฟิกดีไซน์ก่อน และสักพักออกมาเป็นฟรีแลนซ์ทำเอง

แต่ก่อนนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตอล มีแต่ฟิล์ม เวลาจะทำงานให้ลูกค้า ต้องไปติดต่อหาช่างภาพ แล้วช่างภาพสมัยก่อนอัตราค่าจ้างค่อนข้างแพง บางทีทำราคาไปเสนอลูกค้า ต้องมาสะดุดกับค่าจ้างช่างภาพ ผมก็เลยคิดว่า ถ้างั้นถ่ายเองดีกว่า เพราะผมถ่ายภาพเป็นอยู่แล้ว ค่อยๆฝึกฝน เพื่อทำงานให้ลูกค้า”

ขณะเดียวกันเขายังมีมุมหย่อนใจอยู่กับการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกด้วยเช่นกัน “คนถ่ายภาพไม่ได้หนีจากถ่ายอะไรพวกนี้หรอก ถ่ายทิวทัศน์ ถ่ายดอกไม้ ฯลฯ”


ปลากัด ชัตเตอร์ตอบ

และยิ่งเมื่อมีภาพถ่ายไปนำเสนอผ่าน เวบไซต์ที่เป็นคลังภาพถ่ายให้เช่า ก็ยิ่งทำให้ต้องขยันถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพใหม่ๆและมีเนื้อหาหลากหลายมานำเสนออยู่เรื่อยๆ

“หา Object ถ่ายไปเรื่อย พอถึงจุดนึง จึงเริ่มกลับมาดูว่า เราสนใจอะไรจริงๆจังๆ และตอนนั้นที่คอนโดเลี้ยงปลาทอง ก็เลยลองเอามาถ่ายดู แต่ปลาทองไม่ค่อยมีสีสันอะไรมาก มีแค่สีส้ม สีขาว สีดำ วนๆอยู่ แค่นี้ ก็เลยนึกถึงปลากัด ที่แต่ก่อนเราเคยชอบมัน เพราะมีสีสันหลากหลาย ก็เลยได้ลองเอาปลากัดมาถ่ายดู ถ่ายไป ก็ได้ภาพที่แปลกตาดี เพราะว่าผมใช้การจัดแสงแบบงานโฆษณามาถ่าย

ปกติที่เราเห็นเขาถ่ายภาพปลา จะเป็นอะไรที่ถ่ายง่ายๆ ท่าทางของปลาที่ถ่ายก็จะอยู่นิ่งๆอะไรอย่างนี้ หรือเวลาค้นหาภาพปลากัดใน google จะเห็นว่าเป็นภาพแบนๆ อาศัยใช้ไฟจากตู้ปลาเพื่อถ่าย แต่สำหรับผมเวลาถ่ายปลา จะมีการจัดแสงจัดไฟ คล้ายการถ่ายงานโฆษณา และได้ภาพถ่ายปลาที่มีลีลาน่าสนใจ”


คนงามเพราะแต่ง ปลาสวยเพราะภาพถ่าย

ว่าแล้ววิศรุตก็ได้บอกเล่าให้ฟังอย่างละเอียดถึงขั้นตอนการถ่ายภาพปลากัด ก่อนจะได้มาซึ่งภาพอันน่าประทับใจหลายๆภาพ

“อย่างแรกน้ำกับตู้ต้องสะอาด คือถ้าน้ำมีฝุ่นเล็กๆ ไม่ได้กรอง หรือตู้ไม่ได้ทำความสะอาดทั้งข้างในข้างนอก เวลาถ่ายออกมาก็จะได้ภาพซึ่งเห็นเป็นฝุ่นเต็มไปหมดเลย และปลาที่ว่ายในตู้ที่ไม่ทำความสะอาด ตะกอนมันขึ้น ทำให้ภาพกลายเป็นจุดเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่ต้องทำคือ คลีนตู้และน้ำให้สะอาด

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการจัดแสง ซึ่งไฟที่ใช้ก็เหมือนจัดไฟในสตูดิโอ ผมจะไม่มีรูปแบบในการจัดไฟตายตัว การใช้แฟลซ มันจะช่วยให้เราจับแอคชั่นปลาอยู่ ถ้าเราไม่ใช้แฟลซ ถ่ายออกมา ภาพปลาจะดูไหวๆเบลอๆ

จากนั้นการถ่ายก็ไม่ยากอะไรแล้ว เพียงแต่ตอนถ่ายต้องนั่งเฝ้าดูแอคชั่นของมันที่เราอยากจะถ่าย

หลังๆผมจะใช้วิธีคือ เวลาไปดูปลาที่ร้าน ก็จะพิจารณามันเยอะหน่อย ดูว่ามันพอจะทำอะไรได้บ้าง เพราะ เวลาซื้อปลามาแล้ว เราสั่งมันไม่ได้หรอก ต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ ต้องดูมันตั้งแต่แรกก่อนซื้อ ว่ามันพอจะทำอะไรได้

เวลาพองหางมันมีคาแรคเตอร์ยังไง มันเป็นปลาที่ชอบอยู่กับที่ หรือชอบว่ายไปว่ายมาก่อนพอง ซึ่งปลาแต่ละตัวมันมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นนอกจากดูเรื่องสี เราก็ต้องดูเรื่องแอคชั่นของมัน ก่อนที่จะพากลับมาเลี้ยงที่บ้าน”


ภาพถ่ายปลา มากด้วยรายละเอียด ลีลาสวยงาม

เอกลักษณ์ในภาพถ่ายปลากัดของวิศรุต คือภาพที่นำเสนอให้เห็นรายละเอียดของปลาค่อนข้างมากและมีลีลาที่สวยงาม

“เพราะว่าผมใช้แสงที่มันค่อนข้างคม ทำให้ได้รายละเอียดของปลาค่อนข้างเยอะ และท่าทางของปลาที่มีการเคลื่อนไหว ภาพจึงดูมีไดนามิค ซึ่งถ้าเป็นภาพปลาที่เขาถ่ายทั่วๆไป ปลามันก็จะแค่พองหางและอยู่เฉยๆ แค่นั้น”

เมื่อได้เห็นตัวเป็นๆของบรรดานายแบบและนางแบบของวิศรุต ที่แหวกว่ายไปมาในโหลแก้วราว 10 ใบ ที่ตั้งอยู่บนชั้นหนังสือในห้องชุดที่เขาพักอาศัย หลายคนอาจไม่เชื่อว่าเป็นตัวเดียวกันกับบรรดาปลากัดในภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

“คนมาที่บ้านมักจะคิดไม่ถึงว่าเป็นปลากัดที่เราถ่าย เพราะดูธรรมดา ปลามันก็เหมือนคนเรานี่แหล่ะครับ ที่พอเราเอามาแต่งหน้าแต่งตัว ก็ดูสวย ดูเปลี่ยนไป

ในภาพ จะเห็นว่าปลามันดูตัวโต แต่ความจริงแล้วปลามันตัวเล็ก ไม่เกิน 2-3 นิ้ว ดังนั้นสามารถเซทเพื่อถ่ายในพื้นที่เล็กๆได้

ปกติผมก็จะมีปลาที่เลี้ยงไว้ ประมาณ 10-11 ตัว เพราะว่าบ้านผมไม่ค่อยกว้าง เลี้ยงเท่าที่เราสามารถรับผิดชอบมันไหว เพราะว่าเวลาเอามาที เราต้องคอยให้อาหาร คอยเปลี่ยนน้ำ ไม่ใช่ซื้อๆมา ถ่ายเสร็จแล้วก็เอาไปปล่อย เพราะแบบนั้นมันจะไม่รอด ดังนั้นเอามาทีก็ต้องดูแลมันไปจนตาย (หัวเราะ)”


ดังไกล ไปทั่วโลก

วิศรุตไม่อาจยืนยันได้ว่าทั่วโลกมีช่างภาพที่ทำงานถ่ายภาพปลากัดออกมาในเชิงศิลปะมากน้อยแค่ไหน และเขาเป็นคนแรกหรือไม่ที่ริเริ่ม ทราบแต่เพียงว่า การเลี้ยงปลากัดมีในหลายประเทศทั่วโลก

“จริงๆแล้ว ปลากัดเป็นปลาที่เลี้ยงกันทั่วโลกนะ เราอาจจะคิดว่ามันมีแค่คนไทยที่เลี้ยง แต่จริงๆแล้ว ปลาชนิดนี้มันมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ แล้วฝรั่งเขาก็เพาะเลี้ยง เป็นปลาที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เหมือนปลาทอง

ส่วนเรื่องภาพถ่ายปลากัด อย่างที่บอก ผมค้นหาดูใน google แล้วก็ยังไม่ค่อยเห็นว่ามีใครที่ถ่ายออกมาแล้วดูมีลีลาแบบที่ผมถ่าย หรือถ้าถามว่า ผมเป็นช่างภาพคนแรกไหมที่ถ่ายภาพปลากัดในเชิงศิลปะ ก็ไม่รู้เหมือนกัน”

ที่ผ่านมานอกจากภาพถ่ายของเขาจะถูกเผยแพร่ไปตามสื่อต่างๆให้คนทั่วโลกได้มีโอกาสชม ส่วนหนึ่งยังถูกนำไปเป็นภาพประกอบในนิตยสาร นำไปตกแต่งบ้าน หรือไม่ก็ถูกเช่าไปเพื่อใช้ประกอบการโฆษณาสินค้า เช่น อาหารปลา

ขณะที่โอกาสของการส่งภาพเข้าประกวดมีเวทีให้แข่งขันน้อยนัก

“ผมเคยส่งประกวดเมื่อสองปีก่อน แต่ก็เป็นการประกวดตามนิตยสารปลา ไม่ได้ทำให้ได้รางวัลอะไรมากนัก ได้แค่เครื่องกรองน้ำอะไรพวกนี้(หัวเราะ)

คือหัวข้อในการประกวดภาพถ่าย ที่ทำให้เราสามารถส่งภาพถ่ายปลาไปประกวด มันไม่ได้หาได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีมากกว่า

และปกติผมไม่ได้สนใจเรื่องการประกวดอะไรมาก ผมก็ถ่ายภาพของผมไปแค่นั้น เพราะว่าเราชอบ”


ทำสิ่งที่ชอบ พบความสุขได้ไม่ยาก

วิศรุตยังสนุกกับการถ่ายภาพปลากัด และยังมีอะไรให้พัฒนาได้อีกเยอะ

“ถ่ายมาสองปีแล้ว ก็คิดว่าจะถ่ายไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งถ่ายเราก็ยิ่งรู้ว่ามันมีอะไรให้ถ่ายได้อีก ถ่ายสิ่งเดิม แต่จะใช้วิธีการถ่ายที่มันยากขึ้น ท้าทายขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่ดีขึ้น

แล้วปลากัดมันก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีการแปรพันธุ์เยอะ ตอนที่เราเลี้ยงตอนเด็กๆมันมีแค่ปลากัดจีน ปลากัดลูกหม้อ ปลากัดป่า อะไรแค่นี้ใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้มันผสมพันธุ์ข้ามกันไปข้ามกันมา ทำให้มีสายพันธุ์แปลกๆเกิดขึ้นใหม่เยอะแยะ และมีสีที่แตกต่างกันไปเรื่อยๆ

คือตราบใดที่เขายังมีการพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ผมก็ยังมีอะไรให้ถ่ายได้อีกเยอะ แต่ต้องขยันไปดูตามร้านขายปลา ว่าช่วงนี้มีพันธุ์อะไรใหม่ๆออกมาบ้าง”

หากถามว่าการถ่ายภาพให้ความสุขกับเขาอย่างไร วิศรุตบอกว่า คงไม่แตกต่างกับหลายๆคนที่การได้อยู่กับอะไรที่ชอบ ย่อมนำมาซึ่งความสุขได้ไม่ยาก

“เหมือนเป็นงานอดิเรกครับ เหมือนใครชอบอะไรก็ทำไป มันได้ความสุขอยู่แล้ว เพียงแต่ผมมองว่า ถ้าเราอยากจะถ่ายอะไรให้เราถ่ายสิ่งที่เรารู้จัก สิ่งที่เราชอบ ตรงนั้นมันจะทำให้เราค้นพบวิธีของเราไปเรื่อยๆ

ไม่ใช่เห็นผมถ่ายปลากัด แล้วไปซื้อมาถ่ายมั่ง โดยที่ตัวเองไปได้รักปลา อย่างนี้ผมก็ไม่แนะนำ เพราะฉะนั้นคุณก็จะถ่ายได้อะไรออกมาที่มันผิวเผิน ปลามีกี่สายพันธุ์ หรือปลาที่สวยเป็นยังไงก็ไม่รู้

ฉะนั้นจงทำสิ่งที่เรารู้ ถ่ายสิ่งที่เรารู้ เราเข้าใจมัน หรือถ้ายังไม่เข้าใจแต่ชอบก็ไปหาข้อมูลให้เยอะๆ ก็เหมือนเวลาที่ผมทำงานรับถ่ายภาพ ถ้าผมต้องถ่ายภาพอาหาร ผมก็ต้องรู้ว่าอาหารที่ถ่ายมีความเป็นมายังไง ปรุงยังไง มันถึงมาอยู่บนโต๊ะอย่างนี้ได้ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเลย โดยที่เราไม่เข้าใจวัฒนธรรมว่ามีที่มาที่ไปยังไง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เราถ่ายได้อะไรที่มันผิวๆ ไม่ลึกซึ้ง”


สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ชื่อว่า “ปลากัด”

และในฐานะช่างภาพที่สนใจถ่ายภาพปลากัดเป็นพิเศษ ยังทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างผ่าน สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ชื่อว่า “ปลากัด” อีกด้วย

“รู้ถึงความสวยงามของมัน แต่ละตัวมีความงามไม่เหมือนกัน มันมีคาแรคเตอร์ของมัน คือถ้าคนทั่วๆไป มองสัตว์เลี้ยงพวกนี้อาจจะแค่ ปลาทองก็คือปลาทอง ปลากัดก็คือปลากัด ตัวไหนก็เหมือนๆกันหมด แต่ถ้าเราใช้เวลากับมัน เราจะรู้ว่าปลาแต่ละตัวต่อให้มันมีสายพันธุ์เดียวกัน มันก็มีนิสัยไม่เหมือนกัน ทำให้เราเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ

จริงๆแล้ว ปลากัดเป็นปลาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่มีแค่ในไทย แต่ประเทศรอบๆเราก็มี แต่ก่อนเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามท้องทุ่งท้องนา อยู่ในน้ำตื้นๆ พอมันมีการเอามาเลี้ยง มีการคัดสรรและผสมสายพันธุ์ เลยมีความหลากหลายมากขึ้น

อย่างปลากัดที่เขาเอามากัดกัน เขาจะไม่เอาปลากัดหางยาวมากัด เพราะมันไม่ดุ พวกที่เล่นปลากัด เอาปลากัดมากัดกัน เขาใช้ปลากัดหางสั้น คือปลากัดหม้อ ส่วนปลากัดหางยาว เพาะมาขายเพื่อให้คนเลี้ยงดูความสวยงาม แต่จริงๆแล้วมันก็คือปลาที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกันหมดแหล่ะ เหมือนสุนัขที่มีตัวใหญ่ตัวเล็ก

ปลากัดหางยาวลองเอามากัดกัน มันก็กัดนะ แต่ไม่ดุ ไม่เหมือนกันทุกตัว บางตัวดุมาก บางตัวดุน้อย ก็มี เพราะบางทีผมถ่ายภาพ ผมก็เคยลองเอาปลาสองตัวมาใส่ในตู้เดียวกันเพื่อถ่ายเหมือนกัน ทำให้พบว่า ปลากัดหางยาวจะแค่ขู่กัน ผมถึงบอกว่าปลาแต่ละตัวมีนิสัยไม่เหมือนกัน ก็เหมือนคน”

นอกจากชมเพื่อความสวยงาม นอกนั้นปลากัดก็ไม่ได้เป็นสัตว์ที่มีอะไรที่ผู้เฝ้ามองต้องเอาอย่าง โดยเฉพาะปลากัดไทยที่วิศรุตบอกว่ามีนิสัยเหมือนคนไทยมากๆ

“มันไม่น่าเอาอย่างหรอก เช่น นิสัยของปลากัดไทยเนี่ย นอกจากชื่อที่เหมือนคนไทยเป๊ะ(หัวเราะ) นิสัยยังเหมือนคนไทยด้วย

กับปลาอื่นมันจะไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าเป็นปลากัดด้วยกัน หรือคนไทยด้วยกัน ชอบเขม่นกัน เหม็นขี้หน้ากัน ไม่น่าเอาอย่าง กร่างกับพวกตัวเอง แต่พอไปเจอปลาข้างนอกก็ว่ายเหนียมๆ ไม่ดุ ไม่อะไร แถมไปเจอปลาตัวใหญ่ นอกจากกลัว ยังยอมโดนกินด้วยซ้ำ (หัวเราะ)”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วรวิทย์ พานิชนันท์








ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It