Art Eye View

ของฝากจาก “สวนผึ้ง” ลุงอ๋อย – ชาญชัย พินทุเสน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ต้องขออภัยผู้อ่าน ที่ไม่ได้มีโอกาสติดตามไปรับรู้วิถีชีวิตของศิลปินท่านนี้ในที่ซึ่งเขาฝังตัวอยู่มากว่า 20 ปี ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งของ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ไม่ไกลจากชายแดนพม่า ซึ่งโอบล้อมไปด้วยป่าไม้ที่เขามีส่วนร่วมรักษา

แต่เรานัดพบกับเขา ณ ห้างใหญ่กลางกรุง พื้นที่ซึ่งยากจะหาต้นไม้สักต้นใช้เป็นฉากถ่ายภาพเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตส่วนใหญ่ที่เขากำลังดำเนินอยู่

แถมในที่ซึ่งเรานั่งพูดคุยกัน ก็ก้องด้วยเสียงที่มาจากเวทีแถลงข่าวเปิดตัวอัลบัมเพลงอัลบัมใหม่ของนักร้องบางวง
แต่แล้วเราก็รู้โล่งใจเมื่อเขาบอกว่าได้ถูกถ่ายภาพในบรรยากาศแบบนี้บ้างก็รู้สึกดีเหมือนกัน…บรรยากาศของร้านไอศกรีมซึ่งมากไปด้วยสีสันลูกกวาด

ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร เพราะบ่อยครั้งที่ศิลปินวัยกว่า 60 ปีท่านนี้ ใช้ห้างใหญ่แห่งนี้เป็นที่นัดพบเพื่อทำธุระและจอดรถ ในเวลาที่ต้องมาซื้ออุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพ ณ อีกห้างฝั่งตรงข้าม


จากผู้กำกับหนังโฆษณา สู่ศิลปินนักอนุรักษ์แห่ง “สวนผึ้ง”

ชาญชัย พิณทุเสน หรือ ลุงอ๋อย ของหลายๆคน ในด้านหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ ผู้ก่อตั้งและประธาน มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อ ปี 2543 โดยเริ่มโครงการใน ชุมชนผาปกค้างคาว อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ทั้งการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้นเหตุ ด้วยการปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติ ด้วยวิธีการทางศิลปะ ช่วยพัฒนาชุมชนสร้างอาชีพ ไปจนถึงโครงการแก้ปัญหาปลายเหตุ อย่างการป้องกัน และดับไฟป่าต้นน้ำเขากระโจม

แต่ก่อนหน้าที่จะก่อเกิดมูลนิธิฯ ลุงอ๋อยได้พาตัวเองเดินเข้าสู่วิถีของนักอนุรักษ์มานานแล้ว นับตั้งแต่อำลาอาชีพสุดท้ายคือ Art Director และผู้กำกับหนังโฆษณา เมื่อปี 2534 และมี อ.สวนผึ้ง เป็นที่ปักหมุดชีวิตใหม่

  ทำไมต้องเป็น อ.สวนผึ้ง เราอดที่จะสงสัยไม่ได้ ซึ่งลุงอ๋อยผู้มีพื้นเพเป็นชาวโคราชตอบว่า อันที่จริงไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องเป็นที่นี่ เพราะที่ผ่านมาในฐานะผู้ชื่นชอบการท่องธรรมชาติ เคยไปมาแล้วหลายที่ทั่วประเทศ แต่ก็ใช่ว่าที่ซึ่งชื่นชอบเป็นพิเศษ เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่เพื่อเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้เป็นเวลานานๆ

ทว่าหมู่บ้านเล็กๆซึ่งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ ณ อ.สวนผึ้งแห่งนี้เปิดทางให้และยังได้รับการชักชวนจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ทุกอย่างจึงมาลงตัวที่นี่

ความตั้งใจแรกลุงอ๋อย ต้องการจะใช้เวลาไปกับการทำงานศิลปะตามที่ร่ำเรียนมาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร เท่านั้น ไม่เคยคิดถึงคำว่า “นักอนุรักษ์” ขึ้นในหัวเลยสักนิด

แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า ต้องไปให้เวลากับการงานที่ไม่ได้ตั้งเป้าไว้เสียหลายปีและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันซึ่งได้ให้เวลากับการทำงานศิลปะควบคู่ไปด้วย

“อยากจะไปทำงานศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองเรียนมาและชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และคิดว่าที่ตรงนั้นมีธรรมชาติ มีอะไรต่างๆนานาที่ค่อนข้างจะอิสระ และก่อนนั้นผมเคยเข้าไปยังฝั่งพม่าด้วย ไปใช้ชีวิตเป็นปีๆ

เมื่ออยากทำงานศิลปะอยากรู้จักธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้น ก็เลยตัดสินใจไม่ทำงาน อาศัยใช้เงินส่วนหนึ่งที่พอเก็บไว้ได้บ้าง และคิดว่าจะใช้ส่วนนั้นต่อยอดทีหลัง จะทำอะไรก็ว่ากันอีกที ไม่ได้มีวิธีคิดแบบหาที่ทำงานใหม่แล้วได้เงิน คิดว่าอยากจะทำอะไรเอง แต่จะทำอะไรหรือขายอะไรก็ค่อยว่ากันอีกที

แต่ตอนที่ไปอยู่แรกๆก็ไม่ได้ทำงานศิลปะเต็มที่นะ เพราะพอไปอยู่ ได้ไปเห็นอะไรบางอย่างที่น่าจะช่วยได้ ก็เลยไปให้เวลาส่วนใหญ่กับส่วนนั้นซะ

ตอนนั้นคำว่าอนุรักษ์ไม่ได้เป็นคำที่ผมสนใจนะ เพียงแต่ว่า มันเหมือนกันเวลาเราไปเห็นต้นไม้ที่เพิ่งเกิดจำนวนหนึ่ง แล้วต้นเล็กๆที่มันแตก มันงอกออกมา สวยมาก แล้วเรารู้ว่าจะมีคนเดินมาเหยียบ หรือมีรถวิ่งผ่าน มันอดไม่ได้ที่จะหาที่ๆปลอดภัยให้มัน

จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำเรื่องของงานที่คนทั่วไปเรียกว่างานอนุรักษ์ ตอนแรกทำเองก่อน เพราะว่าชาวบ้านเขาทั่วไปเขามีงานของเขาที่ต้องทำใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็น ทำไร่ ทำนา รับจ้างแรงงาน เขามาทำแบบเราไม่ได้หรอก

จากกิจกรรมที่ทำเอง ต่อมาเมื่อมีคนไปรู้จักผมที่อยู่ในป่า เขาคงเห็นดีเห็นงามด้วย บางคนก็ให้สตางค์เอาไว้ทำงาน และทำมาเรื่อยๆ เป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ตั้งไว้ แต่ได้ทำเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ไอ้เป้าหมายที่ตั้งไว้ยังไม่ได้ทำเท่าไหร่(หัวเราะ)

ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นมูลนิธิฯหรอกครับ เป็นกลุ่ม พอมีคนให้สตางค์มาบ้าง บางทีก็พันสองพัน ตอนนั้นค่าแรงที่จ้างชาวบ้านวันหนึ่ง 70 บาท เราก็จ้างเขาให้หากล้าไม้ หรือตรงไหนเป็นที่รกร้าง เราก็ไปแซมไปปลูก เงินที่เขาให้เรามา เราก็ไปจ้างคนมาทำงาน พอคนมารู้จัก แล้วไปชวนคนอื่นๆที่ยังไม่รู้จักไปเจอ ก็เลยมีการร่วมมือกันมากขึ้น”


แค่อยากให้เกิดความอิ่มใจ

สิ่งที่เป็นเหตุให้เราต้องนัดพบเพื่อพูดคุยกับลุงอ๋อยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะอยากทราบถึงเหตุที่ทำให้ต้องอำลาอาชีพโฆษณา และเรื่องของงานอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรื่องราวของบุรุษท่านนี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆมาแล้วบ่อยครั้ง และหลายคนคงจดจำได้ดีถึงประโยคหนึ่งที่อดีตคนโฆษณาท่านนี้เคยบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า

“โฆษณา ถ้าเป็นเรื่องของการทำให้รู้จักสินค้านั้นดี แต่ถ้าเป็นเรื่องของการหลอกลวงนั้นผิด”

แต่เพราะอยากมาทำความรู้จักกับลุงอ๋อยในมุมของศิลปิน โดยเฉพาะผลงานภาพถ่ายที่เจ้าของผลงานมีมาให้ชมผ่านโลกออนไลน์อยู่เรื่อยๆ โหลดภาพขึ้น Facebook เสร็จแล้วก็พลันหายไปจากหน้าจอ โดยไม่ทิ้งข้อความบอกเล่าหรือบรรยายใดๆเกี่ยวกับภาพฝากเอาไว้

“ภาพถ่ายที่นำมาลง Facebook ให้คนดูในปัจจุบัน แค่อยากให้คนได้ดูแล้วเกิดความอิ่มใจ สบายใจ ถ้าเขารู้สึกอิ่มใจ สบายใจ เห็นความงาม มันก็เป็นผลของมันอยู่แล้ว มันเหมือนเราเสพความงามของสิ่งต่างๆ ตัวความงามมันจะให้ผลของมันทันทีอยู่แล้ว และถ้าเสพบ่อยๆมันก็ไม่มีเวลาที่จะไปทะเลาะกับใคร(หัวเราะ)”

ภาพถ่ายเหล่านี้ยังไม่เคยนำไปจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการที่ไหน  นอกจากภาพถ่ายสัตว์ป่าในเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งลุงอ๋อยและช่างภาพชื่อดังอีกหลายท่าน อาทิ หม่อมเชน – ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ กำลังถ่ายให้กับโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ร่วมกับ บริษัทในกลุ่มมหพันธ์(Mahaphant) เจ้าของเครื่องหมายการค้าตรา “ห้าห่วง” และ “เฌอร่า” (ที่ได้ไปรู้จักกับลุงอ๋อย ในป่าที่สวนผึ้ง และระยะหลังได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนการทำงานศิลปะของลุงอ๋อย เพื่อให้ศิลปินที่กินน้อยใช้น้อยคนหนึ่งซึ่งอาศัยที่ทำการมูลนิธิฯเป็นที่พำนักได้มีเวลาทุ่มเทให้กับการทำงานศิลปะและทำกิจกรรมอนุรักษ์เพื่อส่วนรวม)

โดยโครงการมีกำหนดจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะมีนิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ป่าจากโครงการฯให้คนทั่วไปได้ชมในลำดับต่อไป

“เพราะการแสดงแต่ละครั้งมันต้องใช้เงินนะ ไหนจะค่าเฟรม ค่าติดตั้ง แต่ก็เคยมีหนังสือธรรมะขอภาพไปใช้ แต่ก็ไม่มาก เพราะเราก็ไม่ได้มีกิจทางธรรมอะไรเยอะ อันที่จริงแล้วภาพถ่ายที่ผมโหลดขึ้น Facebook ใครอยากจะนำไปใช้นำไปได้เลย ผมไม่ได้มีลิขสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าคนเขาเอาไปใช้ แสดงว่าเขาชอบ”


เหตุเพราะถ่ายภาพประดับหนังสือ “กาลานุกรม” ของ พระพรหมคุณาภรณ์

ลุงอ๋อยเล่าว่าจุดเริ่มที่ทำให้ให้เลือกภาพถ่ายเป็นสื่อหนึ่งในการถ่ายทอดงานศิลปะของตนในเวลาต่อมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ต่างจากศิลปินหลายๆคนที่ใช้กล้องเพื่อเป็นอุปกรณ์ช่วยในการทำงานเท่านั้น

เนื่องจากวันหนึ่งได้มีโอกาสทำงานถ่ายภาพให้กับหนังสือ “กาลานุกรม” พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก ของ พระพรหมคุณาภรณ์

“เป็นหนังสือด้านประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ที่เปรียบเทียบเรื่องของพระพุทธศาสนากับเหตุการณ์โลกในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อนของผมซึ่งสนับสนุนการทำหนังสือเล่มนี้มีไอเดียว่า ถ้าจะทำให้หนังสือน่าสนใจมากขึ้น ก็น่าจะมีภาพประกอบ เมื่อเพื่อนซื้อกล้องมาให้ ผมก็เลยมีโอกาสได้เดินทางไปถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติของพระพุทธศาสนา จึงมีโอกาสที่จะใช้กล้องแบบจริงจัง

ก่อนหน้านั้นเราก็ถ่ายแต่ไม่ได้มีเป้าหมายของการใช้กล้องที่ชัดเจน แค่เราถ่ายภาพสิ่งที่เราอยากจะจำเพื่อนำมาเขียนรูปหรือดรออิ้ง ซึ่งกล้องเป็นอุปกรณ์ประกอบส่วนย่อยมากๆ

พอมาทำงานก็ได้รู้จักกล้อง เพราะทำหนังโฆษณา ประกอบการทำงานศิลปะที่ต้องฝึกเรื่องของการมองอยู่เรื่อยๆต่อมา ก็เลยถือโอกาสใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะด้วย

  เพราะใช้เวลาไม่มาก ก็สามารถที่จะเห็นเป็นภาพได้ อีกทั้งเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดชิ้นงาน ขณะที่การเขียนภาพใช้เวลามาก แต่ว่าการถ่ายภาพสำหรับผมมันก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกเต็มอิ่มอย่างที่เราจะเขียนภาพหรอกนะ ไอ้เราเคยจับดินสอวาด จับดินปั้น มันเป็นกระบวนการที่ถ่ายทอดจากมือเราไปสู่งานเลย แต่การถ่ายภาพมันมีกระบวนการของมันอีก”



ภาพถ่ายของผู้ที่มีธรรมะเป็นไฟฉาย

ถ้ามองภาพถ่ายของลุงอ๋อยโดยรวมๆ จะเห็นว่าเป็นภาพถ่ายที่หยิบเรื่องราวของธรรมชาติมานำเสนอ แต่อะไรล่ะคือสิ่งที่ศิลปินคนหนึ่งต้องการถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายให้ผู้ชมรู้สึกตามเป็นพิเศษ ลุงอ๋อยบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่กล้าจะอธิบาย

“ผมไม่กล้าอธิบายนะ เพราะถ้าอธิบายเดี๋ยวมันจะแคบ ดูจากภาพถ่ายที่ผมโพสต์ ผมไม่มีคำอธิบายอะไรเลยนะ และด้วยโอกาสที่เรามีโอกาสไปคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ และศึกษาหลักความจริงจากธรรมะ เราก็รู้สึกว่าเรามีอิสระกับการทำหรือการมองมาก

มันต้องอิสระจริงๆ ไม่ใช่ไปกำหนดให้เกิดความอิสระ เมื่อไหร่ที่เราไปกำหนด เช่น กำหนดด้วยการพูดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ธรรมชาติมันลึกและกว้างไกลเกินคำพูด กับสิ่งที่เราเห็น และมันก่อให้เกิดความรู้สึกโอ้โหขึ้นมาเนี่ย ผมว่าพูดแค่นี้ก็พอแล้วมั้ง “โอ้โห” ถ้าพูดเกินจากนั้นไปเดี๋ยวมันจะแคบลงๆ

บางทีคำพูดมันจะไปจำกัดไอ้ความรู้สึกที่เรารู้สึกกับมันมากเกินไป ถ้าเราพูดเก่งก็ว่าไปอย่างนะ ถ้าเราพูดไม่เก่งอย่าเสี่ยง ประเดี๋ยวมันจะทำให้ธรรมชาติที่ถูกความรู้สึกส่วนหนึ่งของเราไปจับแล้วก็ถ่ายทอดออกมา ผิดไปจากที่เรารู้สึกและอยากถ่ายทอด

งานศิลปะเราก็รู้อยู่แล้วว่าส่วนหนึ่งคือธรรมชาติรอบตัว อีกส่วนหนึ่งคือจิตสำนึกของเรา มันไปมองเข้า ไปสัมผัสเข้า แล้วมันก็อยากจะถ่ายทอดออกมา

ธรรมะช่วยให้เราชัดเจนในสิ่งที่เรากำลังจะทำ บางทีเราจะทำอยู่แล้วแหล่ะ แต่มันก็เบลอๆ เหมือนตื่นมาในความมืดแล้วจะควานหาอะไรสักอย่าง แล้วรู้ประมาณว่ามันอยู่ตรงนี้ แต่พอเรามีไฟฉายขึ้นมา มันทำให้เราหยิบได้ไม่ผิดที่ ไอ้ตัวแสงไฟฉายมันเหมือนธรรมะ แต่ไอ้เจตนาที่จะไปหยิบไปไขว่คว้า เรารู้อยู่ประมาณนึงอยู่แล้ว แต่มันยังไม่คมชัด ซึ่งธรรมะเป็นตัวช่วยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เราชัดเจน

ความงามมันเป็นเรื่องลึกและไกล ถ้าเรายังจำกัดขอบเขตอะไรบางอย่างอยู่ มันก็เหมือนกับมีอิสรภาพน้อยลง
ไอ้เรื่องของความที่มีอิสระในการมอง ในการคิดอะไรต่างๆนานาพวกนี้ มันต้องปลดตัวเอง ถ้าเราปลดตัวเองได้ จะจับเราไปอยู่ในที่แคบแค่ไหน มันก็อิสระ เพราะอิสระมันเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมแบบที่จับเราไปขังในกรงแล้วคิดว่าจะขังใจเราได้”
 
เข้ากรุงเรียนธรรมะเดือนละครั้ง

เพราะมองว่าธรรมะช่วยเป็นไฟฉายให้กับการทำงานศิลปะของตนได้นั่นเอง จึงมีหนึ่งวันในหนึ่งเดือนที่ลุงอ๋อยต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อมาเรียนธรรมะกับอาจารย์ผู้สอนซึ่งเป็นฆราวาส ณ อาคารมหพันธ์ ย่านถนนตก อีกทั้งเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญเรื่องปัญญา

“ไอ้เราก็อยากเป็นคนมีปัญญา เพราะว่าปัญญามันแก้ไขปัญหาทุกอย่าง”

เมื่อการตอบคำถามสุดท้ายจบลง ลุงอ๋อยได้คว้าภาพถ่ายหลายภาพที่นำติดตัวมาด้วยจากสวนผึ้ง ซึ่งแต่ละภาพได้ถูกพิมพ์ลงกระดาษอย่างดีในขนาดที่พร้อมจะจัดแสดงเป็นนิทรรศการขนาดย่อมได้เลยมาให้ชม

ลุงอ๋อยบอกว่ากรณีที่รู้สึกกับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในเรื่องแสง จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายขาวดำ แต่หากตื่นตาตื่นใจในสีสันของสิ่งนั้น จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายสี

“อย่างที่บอกขึ้นอยู่กับจิตของเรากระทบกับสิ่งเร้าภายนอก”

ภาพถ่ายที่เคยได้ชมผ่าน Facebook ที่เคยบอกว่าชอบแล้ว พอมาได้ให้เห็นแบบที่พิมพ์ลงกระดาษแบบเต็มตา งามจนไม่อยากอธิบายให้ความงามนั้นแคบลงดังว่า

จึงขอยืมคำของลุงอ๋อยมาใช้ซ้ำในบรรทัดนี้อีกครั้งก็แล้วกันว่า….“โอ้โห”

เพียงเท่านั้นพนักงานสาวประจำร้านไอศครีมที่เรานั่งก็รีบเดินมาขอชมด้วยคน บ้างก็ถามว่า “มันคือภาพถ่ายหรือภาพวาดคะ” และบ้างก็ถามว่า “หนูขอสักภาพจะได้ไหม”

มันคือของฝากจากสวนผึ้ง แต่เป็นภาพถ่ายธรรมชาติจากหลายสถานที่ๆชีวิตของลุงอ๋อยได้มีโอกาสท่องไป และมองเห็นความงามของมัน

ขณะที่ชมทำให้นึกไปถึงคำพูดของบางคนที่มีต่อภาพถ่ายของลุงอ๋อยว่า

“ภาพป่าของลุงอ๋อยสวย แต่ดูน่ากลัว”

“อย่างงี้ที่ว่าดูแล้วยกระดับจิตใจ ให้รู้จักทำใจให้นิ่งๆเงียบๆซะบ้าง”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วชิร สายจำปา และชาญชัย พินทุเสน






















ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It