ART EYE VIEW—ทันทีที่เสียชีวิตจากอาการตับเสบ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 3 กันยายน 2557 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ร่างที่ไร้ลมหายใจของ ถวัลย์ ดัชนี วัย 74 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 44 ผู้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในฐานะเจ้าอาณาจักร บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ได้ถูกนำมาทำพิธีรดน้ำศพ ในช่วงบ่ายของวันที่ 4 กันยายน 2557 ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และมีพิธีสวดอภิธรรม ในเวลา 19.00 น. ของทุกวัน ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2557 ก่อนจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 10 กันยายน 2557 เวลา 17.00 น. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร
ขอเพียงห่อร่างด้วยเสื่อแล้วเผา
ม่องต้อย – ดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทเพียงคนเดียวของถวัลย์กล่าวว่า เหตุที่นำร่างของผู้เป็นพ่อมาทำพิธีที่วัดนี้ ก็เพราะตนและทางกระทรววงวัฒนธรรม มีความเห็นร่วมกันว่า ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ถวัลย์เคยได้รับความรู้จากท่าน ในฐานะลูกศิษย์รุ่นท้ายๆของท่าน เคยอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ ดังนั้นทุกคนจึงอยากให้อาจารย์และลูกศิษย์มาอยู่ที่นี่ด้วยกัน
ก่อนที่ตนจะนำอัฐิของผู้เป็นพ่อ ไปทำบุญ 100 วัน ที่บ้านเกิด จ.เชียงราย ในลำดับต่อไป และจัดให้มีพิธีอย่างยิ่งใหญ่
แม้ว่าตลอดมา พ่อจะบอกตนเสมอว่า หากวันหนึ่งต้องเสียชีวิตลง ขอเพียงห่อร่างด้วยเสื่อ แล้วนำไปเผาก็พอ
นอกจากนี้ม่องต้อยยังบอกด้วยว่า นอกจากที่ผ่านมาพ่อจะมีชีวิตอยู่อย่างผู้ที่พร้อมจะตายได้เสมอ
ยังไม่มีความห่วงกังวลในทรัพย์สินใดๆที่มีอยู่ รวมไปถึงบ้านดำ และ ผลงานศิลปะที่สร้างฝากไว้
“ท่านไม่เคยเป็นห่วงเรื่องอะไร เพราะท่านมีหน้าที่สร้างขึ้นมา เมื่อท่านไม่อยู่มันก็หมดหน้าที่ของท่านแล้ว ผมในฐานะทายาทก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษา และสืบสานต่อไป
ส่วนบ้านดำ ผมก็คงเข้าไปบริหารจัดการให้มันเข้ารูปเข้ารอย เข้าระบบมากขึ้น เพื่อจะได้มีระบบการบริหารจัดการที่มันดีขึ้น”
และระหว่างที่ถวัลย์ล้มป่วยลง ม่องต้อยบอกว่า ตนและพ่อได้คิดโครงการหนึ่งด้านศิลปะร่วมกันอย่างลับๆ และตั้งใจว่าจะเปิดตัว เมื่อไม่มีพ่อแล้ว จากนี้ไปตนคงต้องสานต่อคนเดียว
และตั้งใจไว้ว่าหลังนิทรรศการครบรอบ 74 ปี ที่เพิ่งจัดไปเมื่อปีที่ผ่านมาก่อนที่พ่อจะเสียชีวิต จากนี้ไป จะยังจัดงานให้พ่อต่อเนื่องไปทุกปี
“ทุกๆปี จนถึงปีที่ 100 หรือ ปีที่ 100 กว่าก็ตาม ถ้าผมมีโอกาส มีลมหายใจ ก็อยากจะสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านต่อๆไป
มันไม่ใช่แค่งานครบรอบวันเกิด แต่เป็นเหมือนพิธีกรรมที่เราทำให้ท่าน อย่างเช่นงานเมื่อครบรอบ 74 ปี เราชวนศิลปิน 7 คน มาทำงานศิลปะ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากท่าน แล้วมันก็ไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อ
ยังมีศิลปินอีกหลายๆคน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากท่าน ดังนั้นผมคิดว่าเราน่าจะมีกิจกรรมศิลปะเกี่ยวกับท่านตลอดไป เพื่อระลึกถึงท่าน”
บอกรักพ่อทุกวันก่อนตาย
ม่องต้อยบอกเล่าถึงช่วงเวลาท้ายๆที่เขาและพ่อมีร่วมกันว่า
“ผมเจอคุณพ่อครั้งสุดท้าย ก็ช่วงที่คุณพ่อป่วย สิ่งที่ผมบอกคุณพ่อทุกวันก็คือ บอกข้างๆหูว่า ผมรักพ่อ บางวันแกก็ตอบได้ บางวันแกก็พยักหน้า บางวันแกก็ยิ้ม การบอกรักคือสิ่งสุดท้ายที่เราได้บอกท่าน”
และแม้ที่ผ่านมาตนและพ่อจะไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่ทุกครั้งที่เจอกัน จะต้องโผเข้ากอดกันเสมอ
จากนี้ไป เมื่อไม่มีพ่อให้กอดไม่มีคนคอยให้กำลังใจเช่นเคย ม่องต้อยบอกว่าตนจะพยายามใช้ชีวิตอยู่อย่างเข็มแข็ง ดังที่ได้เห็นตัวอย่างมาจากพ่อ
“ตั้งแต่ผมเกิด จนเติบโตมาถึงวันนี้ ผมไม่เคยเห็นคุณพ่ออ่อนแอเลย ไม่เคยเห็นน้ำตาของคุณพ่อ แม้แต่หยดเดียว เพราะฉนั้นสิ่งที่ผมพอจะทำได้ให้ท่าน ผมต้องเข้มแข็ง
ถึงแม้จะไม่มีท่านแล้ว แต่ท่านก็ยังอยู่ในใจผม อยู่ในเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ ของผมตลอดไป
ลูกก็เหมือนอนุสาวรีย์ของพ่อแม่ ดังนั้นผมคิดว่าการที่เราซึ่งเป็นลูกจะทำอะไรให้ท่านได้ดีที่สุดก็คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องนึกถึงท่าน ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ในทุกเรื่อง”
ผมชื่นชอบคนที่มีนิสัยแรง ชอบวิธีการวาดภาพของคุณถวัลย์
คนจำนวนมากต่างทยอยมาร่วมพิธีรดน้ำศพของถวัลย์อย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนั้นมี รอลฟ วอน บูเรน ดีไซเนอร์ชาวต่างชาติ ผู้ที่หลายคนบอกว่า มีส่วนสำคัญต่อการทำให้ผลงานของถวัลย์ ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ กระทั่งคนไทยที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยยอมรับ แม้ถวัลย์จะเป็นศิลปินที่มีฝีมือมากแค่ไหนก็ตาม แต่หลังจากที่เห็นว่าต่างชาติให้การยอมรับ จึงได้หันมามองและยอมรับในที่สุด และรอลฟ ยังเป็นผู้แนะนำให้ถวัลย์รู้จักกับเจ้าชายในต่างแดน จนได้ไปฝากผลงานชิ้นสำคัญไว้ในต่างแดน
รอลฟ บอกว่า เขารู้จักถวัลย์ครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน ในฐานะผู้ซื้อภาพเขีบนของถวัลย์ ก่อนจะพัฒนามาเป็นเพื่อนสนิทที่เคยท่องเที่ยวไปด้วยกันในหลายสถานที่ ทั้งทิเบตและบาหลี เนื่องจากว่าประทับใจในนิสัยบางอย่างที่ไม่ค่อยเหมือนคนไทยของถวัลย์ อาจเพราะถวัลย์เกิดเมืองไทย แต่มีโอกาสไปเรียนต่อในต่างแดน ดังที่หลายคนทราบดีว่าเขาจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม
“ผมเป็นคนที่ชื่นชอบ คนที่มีนิสัยแรง และผมชอบวิธีการวาดภาพของคุณถวัลย์ เพราะว่ามันมีความ เป็น Craft (หัตถศิลป์) ไปร่วมอยู่ในงานศิลปะ (Fine Art)
โดยเฉพาะในภาพที่วาดด้วยปากกาลูกลื่นของเขานั้น ในผีมีสัตว์ ในสัตว์มีความลึกลับซ่อนอยู่ เยอะมากๆเลย แต่หลังๆ มานี้ เขาวาดด้วยปากกาลูกลื่นไม่ได้แล้ว เพราะว่าตาไม่ดี ก็เลยใช้แต่ ทีแปรงวาดภาพ”
“ถวัลย์ ดัชนี” ดาวินชี ของเมืองไทย
ด้าน บุญชัย เบญจรงคกุล อดีตเจ้าพ่อดีแทค ที่ปัจจุบันรู้จักกันดีในฐานะ เจ้าของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย หรือ MOCA ที่ก่อนหน้านี้หลายคนเข้าใจว่า เป็นนักสะสมที่มีผลงานศิลปะของถวัลย์เก็บไว้มากที่สุด
แต่ในวันรดน้ำศพ บุญชัยได้บอกกับสื่อว่า เขามีผลงานศิลปะของถวัลย์เก็บไว้มากก็จริง แต่ไม่ใช่มากที่สุด
สำหรับเขา ถวัลย์ไม่ได้เป็นแค่ศิลปินของคนไทย แต่เป็นศิลปินของโลก เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก
“อาจารย์ถวัลย์ ไม่ได้เป็นแค่ศิลปินวาดภาพ แต่ยังเป็นนักปราชญ์ เป็นดาวินชี ของเมืองไทย ผมเสียดายที่อาจารย์มีเวลาอยู่กับเราน้อยไป คนในแวดวงศิลปะที่ทราบข่าวอาจารย์ หลายคนเสียใจ ร้องไห้ น้ำตาไหล”
บุญชัยบอกว่าระยะหลังแทบจะไม่มีโอกาสได้เจอถวัลย์ แต่มีโอกาสคลุกคลีอยู่ด้วยมากที่สุด ช่วง 3-4 ปีที่วางแผนจะเปิด MOCA
“อาจารย์ถวัลย์ได้เข้ามาส่วนช่วยให้คำปรึกษา แต่ช่วงหลังก็ไม่ค่อยได้เจอกัน ช่วงที่อาจารย์กลับไปพักผ่อนที่เชียงราย ผมก็ไม่อยากกวน
เจอกันครั้งล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ไม่ได้ฝากฝังอะไร แต่บอกว่าพอใจที่ทาง MOCA ทำห้องแสดงงานศิลปะของตนเองเฉพาะ ซึ่งเป็นห้องที่มีผนังเป็นพื้นแดง ตัดกับผลงานซึ่งเป็นสีดำ”
ระหว่างนี้ – 11 กันยายน 2557 MOCA เปิดให้เข้าชมฟรี เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ ถวัลย์ ดัชนี
คือการสูญเสียที่หลายคนสะเทือนใจ
อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณะบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร กล่าวแสดงความรู้สึกว่าหลายคนเข้าใจดีว่าการสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต คนเราเกิดมาถึงเวลาก็ต้องไป ทว่าการจากไปของถวัลย์ อาจจะสร้างความสะเทือนใจให้กับคนเยอะ
“เนื่องจากท่านเป็นศิลปินที่มีความสามารถ มีคนติดตามดูงานท่านเยอะ และท่านมีกิจกรรมที่ทำอยู่เยอะ พอท่านจากไป มันก็เลยทำให้ทุกคนค่อนข้างจะช็อค
ก่อนหน้านี้พวกเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่าท่านไม่ได้ป่วยไม่ได้เป็นอะไรเลย อยู่ๆก็มาทราบว่าเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตในที่สุด”
กมล ทัศนาญชลี “ผมสูญเสียเพื่อนคู่คิด”
การเสียชีวิตของถวัลย์ ทำให้ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 40 ต้องใช้คำว่า ตนได้สูญเสียเพื่อนคู่คิดไปตลอดกาล เนื่องจากว่าหลายปีที่มา นอกจากกมลจะคุ้นเคยกับถวัลย์ ในฐานะรุ่นพี่จากรั้วเพาะช่างที่รู้จักกันมากว่า 50 ปี
กมลยังร่วมกับถวัลย์ ทำโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในนาม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และโครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่ตนและถวัลย์ร่วมกันบุกเบิก ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับการสนับสนุนจาก สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำเยาวชนไปเข้าค่ายที่บ้านดำ แล้วคัดเลือกไปทัศนศึกษาด้านศิลปะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งกมลไปใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ที่นั่น
“อาจารย์ถวัลย์ได้ทำหลายอย่างที่ศิลปินหลายคนไม่ค่อยได้ทำ หลายคนเมื่อประสบความสำเร็จแล้วไม่เคยมาดูแลวงการศิลปะบ้านเรา แต่อาจารย์ถวัลย์ เป็นคนหนึ่งที่มีจิตสารธารณะ ซึ่งมันไม่ได้มีอยู่กับศิลปินทั่วไปทุกคน แต่อาจารย์ถวัลย์มี
ท่านมีปรัชญาตรงกันกับผม เวลาผมทำโครงการอะไรต่างๆ อาจารย์ถวัลย์ก็สนับสนุนเต็มที่ แล้วแกก็ลงมาทำด้วย ซึ่งคนระดับนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาทำแบบนี้ก็ได้ แต่แกลดตัวเองลงมา เพราะอยากเห็นวงการศิลปะบ้านเราดีขึ้น ก็เลยมาคิดทำโครงการ แล้วก็ลุยไปด้วยกันกับผม”
กมลบอกด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่รู้จักกันมา เวลาที่ถวัลย์เดินทางไปอเมริกา จะด้วยไปเที่ยวหรือไปแสดงงาน หรือไปแลกเปลี่ยนด้านศิลปะ มักจะไปพักอยู่กับตนเป็นเวลานาน และแต่ละครั้งนาน 2- 6 เดือน ทว่าครั้งสุดท้ายไปพักอยู่ด้วยได้นานแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น
“แกบอกว่า ผมมาอยู่บ้านกมล ครั้งนี้เร็วที่สุด เพราะปกติแกจะอยู่นาน อยู่อย่างสบายใจ ทำงานศิลปะ แล้วก็ทำกิจกรรมกับศิลปินนานาชาติ ไปแสดงงาน ไปแลกเปลี่ยน ไปบรรยาย ไปอะไรต่ออะไร ในเรื่องที่เรามีความเห็นเหมือนกัน และแกก็สนุก
แกเป็นคนที่มีความรอบรู้ที่อยากจะถ่ายทอดให้คนได้รู้ ไม่ใช่ว่ารู้อะไรแล้วเก็บไว้คนเดียว เป็นเอกลักษณ์ของแกที่ศิลปินคนอื่นไม่มี
ผมไปอเมริกากับแกครั้งสุดท้ายตอนทำโครงการแลกเปลี่ยน นำศิลปินต่างชาติมาเมืองไทย แสดงงานเสร็จก็นำศิลปินไทยไปแสดงที่อเมริกาต่อ แลกเปลี่ยนกัน ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 4-5 เดือนที่แล้ว
พอกลับมาแล้วก็มาทำโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร ไปตามภูมิภาคต่างๆ”
ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อยากไป “ฟูกูโอกะ
“ในช่วงระหว่างโครงการนี้ มีช่วงว่าง 10 กว่าวัน แกบอกว่าต้องการไปที่ญี่ปุ่น ไปเยือนมิวเซียมที่แกเคยได้รับรางวัลระดับโลก
13 ปีที่แล้ว ดร.สุเมธ ชุมสาย ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี 41 เป็นคนส่งชื่อและสนับสนุนให้แกได้รับรางวัลฟูกูโอกะ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนไทยเพียง 5 คนเท่านั้นมั้งที่เคยได้รับรางวัลนี้
ดังนั้นพอแกเริ่มป่วย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แกก็ขอไปที่นี่ ทางกรมส่งเสริมวัฒนาธรรม ก็เลยจัดโปรแกรมไปญี่ปุ่น พาศิลปินคนอื่นๆและพาสื่อไปด้วยมีการสัมภาษณ์กับสื่อของที่นั่นด้วย ผมก็อยู่กับแกตลอด
ทางนั้นก็เตรียมสัมภาษณ์แกเต็มที่ ขณะสัมภาษณ์ผมอยู่ด้วย แกต้องนุ่งแพมเพิสระหว่างสัมภาษณ์ เพราะควบคุมการปัสสาวะของตนเองไม่ได้ เราว่าจะไปบาหลีด้วย แต่ก็งดซะก่อน”
เหตุเพราะอาการป่วยของถวัลย์เริ่มหนัก เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทยต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ที่ไม่มีใครทราบเท่าไหร่ เพราะทางถวัลย์และทายาทต้องการปิดข่าว
ดังที่ม่องต้อย เคยกล่าวว่าพ่อมักจะพูดเสมอว่า “อยากให้เราพบกันในวันที่สวยงาม และเก็บความทรงจำดีๆนั้นไว้”
“ที่แกป่วยจนเสียชีวิตเพราะตับอักเสบ แต่ไตยังทำงาน แต่เหมอก็ต้องล้างไตด้วย
ผมเจอแกครั้งเกือบสุดท้ายคือ บินกลับมาจากญี่ปุ่นมาด้วยกัน นั่งคุยด้วยกันมาตลอด และมาเจอครั้งสุดท้ายตอนที่ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล”
“ม้า” ภาพเขียนชิ้นสุดท้าย
และขณะป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนี้เอง เป็นช่วงที่ถวัลย์ได้ทำงานศิลปะชิ้นสุดท้ายของตัวเอง เป็นภาพเขียนวาดด้วยเส้นสีแดง บวกกับมีลักษณะเป็นจุดๆ
“เจอกันครั้งสุดท้ายแกเป็นห่วงโครงการที่เราทำร่วมกันมาก อีกทั้งในส่วนของผมนอกจากทำโครงการที่เมืองไทย ผมยังทำที่อเมริกาด้วย
ผมขาดคู่คิด ขาดคู่ที่รู้ใจ แกเป็นศิลปินที่รู้ใจผมมากๆคนหนึ่ง โครงการอะไรที่ผมคิด แกก็เห็นด้วย ก็เลยไปด้วยกันได้
โครงการที่ราทำด้วยกันมา นาน10 กว่าปีแล้ว โครงการมันโตแล้ว จึงคิดว่ามันแข็งแรงพอที่กรมส่งเสริมและสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยน่าจะทำต่อ คงไม่ตัดงบ คงสานต่อ เพราะสิ่งที่เราทำ มันมีคุณค่ามาก และหลังๆเราได้ศิลปินแห่งชาติท่านใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนด้วย”
ด้าน ม่องต้อย ได้เผยให้ทุกคนได้ทราบถึงภาพวาดชิ้นสุดของพ่อให้ทุกคนได้ทราบในเวลาต่อมาว่า
ซึ่งในวันพระราชทานเพลิงศพ 10 กันยายน 2557 ภาพนี้จะถูกนำมาจัดพิมพ์จำนวนจำกัด เพื่อมอบให้ทุกคนที่ไปร่วมงานเพื่อระลึกแด่การจากไปของถวัลย์ ดัชนี
“วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 พ่อวาดภาพ “ม้า” ขึ้นที่โรงพยาบาลในขณะที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ เป็นภาพสุดท้ายที่พ่อวาดในขณะยังมีลมหายใจ เทคนิคปากกาเคมีและปากกาลูกลื่นบนกระดาษ”
ภาระกิจสุดท้ายในต่างแดน
ด้านผู้สื่อข่าวบางรายก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า ในทริปที่เดินทางไปญี่ปุ่น อาการป่วยทำให้บางเวลาถวัลย์ต้องพักอยู่ที่พัก ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับทางคณะได้ในทุกสถานที่ที่บรรจุไว้ในโปรแกรม
“เวลาไปตามสตูดิโอของศิลปินชั้นนำของญี่ปุ่น ก็มักจะมีศิลปินคอยถามว่า คุณถวัลย์ไปไหน เพราะทุกคนอยากเจอ
ก่อนที่จะกลับมาเมืองไทย อาจารย์ก็เคยบอกว่า อยากจะสนับสนุนให้ศิลปินญี่ปุ่นมาสร้างงานที่บ้านดำ
ตอนไปญี่ปุ่นคือเมื่อเดือนมิถุนายน อาจารย์ค่อนข้างไม่ค่อยสบาย อาจารย์เน้นไปที่พิพิธภัณฑ์ฟูกูโอกะที่เดียว การไปญี่ปุ่นครั้งนั้น เรียกว่าเป็นภาระกิจสุดท้ายของอาจารย์ในนามศิลปินไทยที่ได้ไปเผยแพร่ความรู้ที่ญี่ปุ่น พอกลับมาปุ๊บ อาจารย์ก็เข้าโรงพยาบาล”
ฝากฝังโครงการ “ถ่ายทอดศิลปะให้กับครู”
เพื่อไม่ให้องค์ความรู้ในด้านศิลปะที่ถวัลย์ไปถ่ายทอดไว้ตามสถานที่ต่างๆสูญหาย
ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริม วัฒนธรรม กล่าวว่า ทางกรมส่งเสริม จะมีการนำองค์ความรู้เหล่านั้น มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ และ DVD เพื่อนำมาแจกจ่ายให้คนทั่วไปได้รับความรู้จากสิ่งที่ถวัลย์เคยถ่ายทอดไว้
“ขณะเดียวกัน อาจารย์ถวัลย์ก็เคยฝากโครงการถ่ายทอดงานศิลปะให้กับครูไว้ เพราะอาจารย์ถวัลย์บอกว่าครูมีความสำคัญต่อการสร้างเด็กในอนาคต และโครงการนี้ทางกรมจะเดินหน้าต่อไป”
คนเชียงรายระดมความคิด จัดงาน100 วัน อย่างยิ่งใหญ่
สมลักษณ์ ปันติบุญ ประธานกองทุนศิลปินเชียงราย กล่าวว่า หลังจากนี้ไปจะมีการระดมความคิดของศิลปินเชียงรายและคนเชียงรายในหลายๆส่วน เพื่อจัดงาน 100 วัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงถวัลย์อย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ และแน่นอนว่าต้องไม่ทิ้งกลิ่นไอของศิลปะ
“ต้องประมวลความคิดจากคนเชียงราย เพราะคนเชียงรายรักพี่หวันอย่างที่คนทั้งประเทศรัก พี่หวันเป็นปูชนียบุคคล
ในอุดมคติลึกๆ ของศิลปินเชียงรายทุกคน จะมีพี่หวันอยู่ข้างใน ไม่ว่าใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญคือเรื่องของการปฏิบัติ ลุงหวันเป็นตัวอย่างของศิลปินที่ดี ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้”
กมล คาดว่าสถานที่จัดงานน่าจะเป็นที่บ้านดำ อันเปรียบเป็นมหาวิหารชีวิตของถวัลย์
“เพราะจุดประสงค์ที่แกสร้างบ้านดำ สร้างมหาวิหารเหล่านี้ขึ้น เพราะแกเคยตั้งใจที่จะตายที่ตรงนั้น
และแกพูดกับผมเสมอว่า อยากให้คนซื้อบัตรมาดูการตายของแกที่นี่ มหาวิหารก็สร้างเสร็จแล้ว ขายตั๋วเต็มหมดแล้ว ทั้งตั๋วนั่ง ตั๋วยืน ตั๋วตะแคง เพิ่มรอบก็แล้ว แต่แกก็ยังไม่ตายซะที”
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วรวิทย์ พานิชนันท์,กฤษฎางค์ อินทะสอน และชาญชัย แซ่ฉั่ว
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.