ART EYE VIEW—เอ่ยชื่อ “ธง อุดมผล” หลายคนคุ้นตากับงานศิลปะของเขา ที่มักนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “สุนัข”
ซึ่งบางคนอาจคิดว่า น่าจะมีที่มีจากเพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่รักและเลี้ยงสุนัข
ทว่าในความจริงแล้ว งานศิลปะเกี่ยวกับสุนัขของเขา มีจุดเริ่มต้นมาจาก “กองขยะ”
ราวสิบกว่าปีก่อน ธงเลือกที่จะสะท้อนปัญหาสังคม ผ่านภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมัน ซึ่งเป็นภาพบรรดาสิ่งของเหลือใช้ที่พบได้ในกองขยะ
จากนั้นเขาก็ขยับมาเขียนภาพสุนัข เพราะเมื่อเหลือบมองไปรอบๆ บ่อยครั้งที่เขาพบเห็นมัน ดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของกองขยะ
นอกจากจะสะท้อนใจว่า มันก็ไม่ต่างไปจากบรรดาสิ่งของเหลือใช้หรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำทิ้ง บางเวลาเขายังรับรู้ได้ถึงความโดดเดี่ยวที่เกี่ยวโยงมาถึงชีวิตของตนเอง
“สุนัขบางตัวที่ผมเห็น เหมือนมันกำลังสิ้นแรงอยู่ข้างๆ กองขยะ สะเทือนใจไม่ต่างจากเวลาที่เราเห็นซากของตุ๊กตา หรือรับทราบข่าวของเด็กทารกที่ถูกแม่นำมาทิ้งที่กองขยะ”
จากนั้นธงจึงเริ่มต้นเขียนภาพสุนัขชิ้นเล็กๆ โดยการใช้เทคนิคในเดียวกันกับที่เคยเขียนภาพกองขยะ นั่นคือ เขียนด้วยสีน้ำมันบางๆเพื่อให้ได้ภาพที่มีลักษณะใสๆ
จิตรกรรมหมา หมา
จนในเวลาต่อมา ธงได้จัดแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะของตัวเองที่เกี่ยวกับสุนัขครั้งแรกในชื่อ นิทรรศการ “จิตรกรรมหมา หมา” ที่มีทั้งภาพครอบครัวสุนัขและสุนัขที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
“เพราะตอนนั้นส่วนตัวผมเริ่มมีความวิตกกังวลเรื่องภัยธรรมชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มันเปลี่ยนไป ดังนั้นสุนัขในภาพส่วนหนึ่งมันก็เป็นสัญลักษณ์แทนตัวผม และคนรอบข้างที่มีความวิตกกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อม
บางภาพผมเขียนภาพสุนัข ที่ดูคล้ายกำลังติดเกาะหรือติดอยู่ในซากประหลักหักพัง ล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมเมือง ผมเขียน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2554”
และการแสดงงานครั้งนั้นได้ดึงดูดคนที่รักสุนัขมาให้เขาได้พบและทำความรู้จักเป็นจำนวนมาก
“คนเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็หลงคิดไปเหมือนกันว่า ผมเริ่มต้นทำงานมาจากความที่เป็นคนรักสุนัขเลี้ยงสุนัข
อันที่จริงเรื่องความผูกพันของเรากับสุนัข มันก็มีมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบกับคนอื่นๆที่เขารักและทุ่มเททั้งชีวิตให้ เราอาจจะไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้น เพราะเราเริ่มต้นมาจากการที่เราพบเห็นมันที่กองขยะ และชีวิตมันก็สะท้อนให้เราเห็นชีวิตตัวเอง และสะท้อนสังคม”
“ภาพสุนัขถูกจับไปขาย” รับทุนสร้างสรรค์ ศิลป์ พีระศรี
เว้นช่วงไปราว 5 ปี ก่อนจะมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปะเกี่ยวกับสุนัขอีกครั้ง ระหว่างนั้น หากมีกิจกรรมเวิร์คชอปศิลปะ,ร่วมแสดงงานกับศิลปินคนอื่นๆ และได้รับทุนสร้างงานศิลปะ ธงก็ยังเลือกที่จะทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับสุนัขไปร่วมแสดง แต่เรื่องราวของสุนัขในภาพ อาจเปลี่ยนไปตามสภาวะอารมณ์และความรู้สึกของเขาที่มีต่อสิ่งต่างๆรอบตัว
“ตัวอย่างเมื่อสองปีที่แล้วที่ผมแสดงผลงานร่วมกับอาจารย์สมพร แต้มประสิทธิ์ ผ่านนิทรรศการ ชีวิตสัตว์โลก (Life- Animals) สุนัขในภาพก็จะเป็นสุนัขที่มีความเพ้อฝัน เป็นงานในลักษณะแฟนตาซี เขียนสุนัขเป็น Angel บ้าง เป็น Devil บ้าง และบางภาพก็มีการหยิบยืมเอางานศิลปะของศิลปินคนสำคัญๆระดับโลกมาล้อเลียน”
และเมื่อปีที่แล้ว ผมเป็นหนึ่งในผู้ได้รับ “ทุนสร้างสรรค์ ศิลป์ พีระศรี” ซึ่งงานศิลปะที่ผมเสนอไปและทำให้ได้รับทุนนี้ เป็นภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมันชิ้นใหญ่สะท้อนภาพชีวิตสุนัขถูกจับไปขาย และอัดแน่นอยู่ในกรง ซึ่งสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมคือ เรื่องราวของสุนัขที่ผมรับรู้ผ่านสื่อ”
สังคมสุนัข ไม่ต่างจากสังคมมนุษย์
ล่าสุด นิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปะกับเกี่ยวกับสุนัขชุด “เสียงเห่าหอน สะท้อนสังคม” นอกจากจะมีภาพเขียนของสุนัขในรูปแบบเดียวกับที่ทำให้ได้รับทุนสร้างสรรค์ ศิลป์ พีระศรี มาจัดแสดง
ธงยังมีภาพสุนัข ซึ่งเป็นงาน Drawing ผสม Painting บนกระดาษหนังสือพิมพ์ มาร่วมแสดง เนื่องจากเป็นช่วงที่เขาทดลองนำวัสดุเหลือใช้อย่างหนังสือพิมพ์มาทำงานศิลปะ และหากเดินทางไปแสดงงานในต่างประเทศ ก็จะพยายามหาหนังสือพิมพ์ของประเทศนั้นๆมาใช้เป็นวัสดุในการทำงาน
ส่วนเรื่องราวของสุนัขในงานศิลปะเทคนิคนี้ของเขา ต้องการสะท้อนว่าสังคมสุนัข ก็ไม่ต่างจากสังคมมนุษย์ที่มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิง มีการแสดงออกตามสัญชาตญาณ และบางส่วนของภาพยังปรากฎตัวหนังสือที่สอดคล้องกับเรื่องราวและเหตุการณ์ในสังคมที่กำลังเป็นอยู่
นอกจากนี้ธงยังมีภาพสุนัข ซึ่งเป็นงาน Drawing และภาพเขียนเทคนิคสีน้ำ ชิ้นเล็กๆจำนวนหลายชิ้นมาร่วมแสดงในนิทรรศการด้วย ซึ่ง งานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่ทำในช่วงเวลาที่ต้องการผ่อนคลายตัวเอง และทำเพื่อคั่นเวลา ก่อนจะลงมือทำงานชิ้นใหญ่
“เพราะก่อนจะทำงานชิ้นใหญ่ เราจะมีการสเก็ตซ์งานก่อน แต่งานชิ้นเล็กๆเหล่านี้ มันเป็นมากกว่างานสเก็ตซ์ของเรา
คือเราพยายาม Drawing และทำให้มันมีสีสันขึ้น ด้วยการลองเขียนด้วยสีน้ำดูบ้าง”
มุมโศกเศร้าเคล้าน้ำตาของ “สุนัข”
โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง …เสียงนี้อาจไม่ดังออกมาจากชิ้นงานให้เราได้ยินด้วยหู ในเวลาที่ชมงานศิลปะชุดนี้ของธง
แต่เขาก็ปรารถนาว่า ภาพที่ทุกคนเห็นผ่านตาจะสามารถสะเทือนไปถึงใจ รับรู้ได้ถึงด้านที่เจ็บปวดของสัตว์ที่หลายคนยกให้เป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ของมนุษย์
“อยากให้งานของของผมเป็นตัวแทนของการรับรู้และได้ยินเสียงอันนั้น และปลุกจิตสำนึกของแต่ละคนว่าเราควรจะทำอย่างไร ถ้าเรามีสัตว์เลี้ยงอยู่ที่บ้าน และในเวลาที่เจอสัตว์เหล่านี้อยู่นอกบ้านและกำลังถูกกระทำ เราควรจะตระหนักไม่ร่วมสร้างปัญหา หรือร่วมแก้ปัญหาอย่างไร”
ขณะเดียวกันอยากให้ผู้ชมลองเปิดใจชมงานศิลปะในลักษณะที่ชวนหดหู่สิ้นหวัง หรือชวนให้เศร้าหมองดูบ้าง เพราะมันเป็นอีกทางเลือกในการเสพศิลปะ
“ ขณะที่ส่วนหนึ่งเราได้เคยชมภาพเขียนที่มันให้ความสดชื่นแก่เรา อย่างภาพดอกไม้หรือภาพอย่างอื่นที่มันมีความสวยงาม เราก็ลองมาชมงานในลักษะณะนี้ดูบ้าง มันก็คงไม่ต่างจากบางอารมณ์ที่เราก็อยากจะดูละครที่มันชวนให้โศกเศร้าเคล้าน้ำตา”
นิทรรศการ “เสียงเห่าหอน สะท้อนสังคม” โดย ธง อุดมผล วันนี้ – 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.