ART EYE VIEW—“ดินน้ำมันถ้าเราวางทิ้งไว้ มันก็เป็นได้แค่ก้อน หรือวัสดุอะไรบางอย่างที่ก็ถูกวางทิ้งไว้อย่างนั้น
แต่ถ้าสมมุติว่า เราเอาก้อนดินน้ำมันนั้นมาปั้น มันก็จะเกิดเป็นรูปร่างตามจินตนาการของเด็กๆ”
หยิน – ฆนรส เติมศักดิ์เจริญ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กลุ่มดินน้ำมัน” บอกเล่าถึงที่มาของกลุ่ม
ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมด้านศิลปะ ร่วมกับเด็กๆในชุมชน ได้แก่ ชุมชนป้อมมหากาฬ,ชุมชนบ้านบาตร,ชุมชนวัดสระเกศ – ตรอกเซี่ยงไฮ้ และชุมชนสิตาราม
เธอต้องการเปรียบเทียบให้ฟังนั่นเองว่า เด็กๆ ในชุมชนเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากดินน้ำมัน หากไม่มีใครไปปลุกพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวของพวกเขาทุกคนให้ตื่น
พวกเขาก็อาจจะไม่มีสิทธิ์คิดฝัน หรือเป็นอะไรได้มากกว่า เด็กๆในชุมชน ที่อนาคตถูกแขวนไว้กับสภาพปากกัดตีนถีบของครอบครัว และสิ่งล่อต่อลวงใจที่นับวันจะเพิ่มทวีคูณ
ก่อนนี้หยินทำงานด้านประชาสัมพันธ์และเป็นผู้ประสานงานนิทรรศการของหอศิลป์ตาดู
ครั้งหนึ่งเธอและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสร่วมทำ “โครงการศิลปะสู่ชุมชน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในนาม หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
และชุมชนที่ทางโครงการลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมด้านศิลปะด้วย ก็คือชุมชนที่ทางกลุ่มดินน้ำมัน กำลังทำกิจกรรมด้วยในปัจจุบันนั่นเอง
เพราะหลังจากที่โครงการครั้งนั้นสิ้นสุดลง เธอและเพื่อนๆ มองเห็นถึงประโยชน์ที่เด็กในชุมชนได้รับ จนอยากจะสานต่อ จึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มดินน้ำมันขึ้นมาและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆชุมชนทุกสัปดาห์ เรื่อยมานับแต่นั้น
“การที่เราได้รู้จักกับเด็กๆ มันเหมือนมีสายสัมพันธ์ระหว่างกัน และอยากจะทำกิจกรรมต่อ เพราะว่าเรา ไม่อยากจะให้พัฒนาการของพวกเขามันหยุดอยู่แค่นั้น
เหมือนกิจกรรมที่เราเคยไปทำร่วมกับพวกเขา มันทำให้พัฒนาการทางด้านการสร้างสรรค์ของพวกเขามันดีขึ้น และทำให้เด็กๆแต่ละชุมชนในละแวกเดียวกันได้มารวมตัวกัน
จากเดิมที่เด็กๆ ชุมชนหนึ่งไม่รู้จัก หรือ ไม่กล้าคุย กับเด็กๆอีกชุมชนหนึ่ง พอมีกิจกรรมให้ได้ทำร่วมกัน มันทำให้พวกเขารู้จักกัน เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกัน
และจากการที่เราได้ไปสัมผัสพวกเขา เราสัมผัสได้ว่าเด็กทุกคนชอบศิลปะ
เราใช้ศิลปะ เป็นหมือนเครื่องมือในการที่จะทำให้เราได้รู้จักกับพวกเขา ให้พวกเขาได้รู้จักกับเรา และเราก็ได้รู้จักกับชุมชน ได้รู้ว่าในชุมชนขาดหรือชอบอะไร เราจะได้มีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนได้ถูกจุด”
แม้จะใช้ชื่อว่า “กลุ่มดินน้ำมัน” แต่กิจกรรมที่ทางกลุ่มทำร่วมกับเด็กๆในชุมชน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การปั้นดินน้ำมัน
แต่ยังรวมถึงกิจกรรมวาดภาพ เล่าเรื่องชุมชน นาฎศิลป์ไทย การเต้นร่วมสมัยและดนตรี
“เราอยากสร้างความภูมิใจให้กับเด็กๆที่มาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเรา และกระตุ้นให้พวกเขามีความฝัน
เพราะจากที่เราได้เข้าไปสัมผัสกับเด็กๆในชุมชนด้วยตัวเอง เราได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้มีโลกทัศน์ที่กว้างอะไรในเรื่องชีวิต
ดังนั้นในแต่ละครั้งที่เราไปทำกิจกรรมด้านศิลปะกับพวกเขา เราจะพยายามสอดแทรกว่า สิ่งที่พวกเขาทำ มันสามารถที่จะพัฒนาไปเป็นอาชีพในอนาคตของพวกเขาได้
ไม่อย่างนั้นเด็กๆ ก็จะคุ้นชินแต่สิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่รอบตัว หรือเผชิญอยู่ ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนบอกว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นคนขับรถขนส่งอะไหล่ ไม่ได้หมายความว่าอาชีพนี้ไม่ดี แต่ที่ตอบเช่นนั้น เป็นเพราะโลกทัศน์ของพวกเขายังแคบอยู่
แต่พอเราไปทำกิจกรรมกับพวกเขา เราบอกพวกเขาว่า โตขึ้น พวกเขาสามารถโตไปเป็นนักออกแบบ , ศิลปิน และอาชีพอื่นๆได้ด้วย”
ที่ผ่านมา หยินบอกว่าเด็กในชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล
“ถ้าสมมุติเป็นลูกคนมีสตางค์หน่อย เสาร์และอาทิตย์เด็กๆก็อาจไปเรียนพิเศษ แต่เด็กในชุมชนเหล่านี้ พ่อแม่ของพวกเขา ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีเวลาให้ และไม่มีโอกาสที่จะได้ไปเรียนพิเศษแบบนั้น ขณะที่สิ่งล่อตาลวงใจของเขามันก็มีอยู่มากมาย รอบๆชุมชน”
ล่าสุด กลุ่มดินน้ำมัน ยังได้ร่วมกับชุมชนฯ จัด นิทรรศการ “เมืองในดิน” ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะของเด็กๆในชุมชน, อาสาสมัคร และศิลปินรับเชิญ ได้แก่ ยุทธภูมิ สุประการ,โลเล – ทวีศักดิ์ ศรีทองดี,ปิยะนุช พวงพุฒ(MONA),ปีณิฎา สุนทรรัตน์(MOKA),ปิยะนนท์ แซ่ก้วย,สิทธิธรรม โรหิตะสุข,ปุณณดา สายยศ ฯลฯ
“เมืองในดิน คือเมืองๆหนึ่งที่เราก็ไม่รู้หรอกว่า มันมีหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่เราก็แค่เดาได้ว่า มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่ก็คงมีระบบนิเวศน์ มีสิ่งมีชีวิต ในแบบของมัน และเป็นพื้นที่ๆไม่มีใครมองเห็น
เปรียบเหมือนชุมชนที่เราไปทำกิจกรรมด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีผู้คนอยู่มากมาย ซ่อนตัวอยู่หลังตึกสูง เป็นพื้นที่ๆทุกคนมองข้าม
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว รากฐานของสังคมเรา มันเกิดมาจากคำว่าชุมชน จึงเป็นที่มาของนิทรรศการ เมืองในดิน”
เพราะส่วนหนึ่งเราอยากจะรู้ว่า ถ้าเด็กๆเขาอยากจะมีโอกาสสร้างผังเมืองของตัวเอง เขาอยากจะให้บ้านของพวกเขามีอะไรบ้าง
ตัวอย่างเช่นเด็กบางคน อยากให้เมืองในดินมีโรงพยาบาล มีสนามเด็กเล่น แต่อยากให้บนดินมีแต่คุก เพราะพวกเขารู้สึกว่า ใต้ดินมันน่าจะปลอดภัย ขณะที่ปัจจุบันพวกเขารู้สึกว่าบนดินที่พวกเขากำลังอยู่ ไม่ปลอดภัย”
หากใครที่ไปชมนิทรรศการ หยินออกตัวว่า ผลงานศิลปะที่จัดแสดงอาจไม่น่าตื่นตื่นใจเท่าใดนัก แต่ทุกคนจะเข้าใจและซาบซึ้งมากขึ้น หากได้ชมภาพและอ่านเนื้อหาที่รวบรวมไว้ใน หนังสือ “เมืองในดิน” ซึ่งหนังสือเล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อแจกให้กับเด็กๆในชุมชนที่ร่วมทำกิจกรรมกับทางกลุ่ม รวมไปถึงโรงเรียนต่างๆที่อยู่ใกล้ๆชุมชน และผู้สนใจที่นำหนังสือของตัวเองที่มาแลกในนิทรรศการ
“เราอยากจะให้ทุกคนได้อ่านตัวหนังสือด้วย เพราะว่าในหนังสือ มันจะมีหลายเรื่องราวที่แอบซ่อนอยู่ ที่จะอธิบายในส่วนของเมืองในดิน เพราะว่าถ้ามาดูภาพในนิทรรศการเฉยๆอาจจะไม่ซาบซึ้งกับตัวผลงานมากนัก เพราะมันเป็นผลงานของเด็กๆ ,พี่เลี้ยงและพี่ๆศิลปินส่วนหนึ่งที่เค้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งเราเอาคำว่า เมืองในดิน ไปให้พวกเขาตีความ
ทั้งผลงานศิลปะในนิทรรศการและเนื้อหาในหนังสือ มันเป็นผลผลิตมาจากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาของเด็กๆ
และเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เราทำเวิร์คชอป เราเห็นว่าพวกเขามีพัฒนาการเรื่องการวาดภาพและการเล่าเรื่อง จึงได้รวบรวมมาเป็นหนังสือเมืองในดินด้วย
และส่วนหนึ่งเราเปิดโอกาสให้คนนำหนังสือของตัวเองมาแลกกับหนังสือเล่มนี้ เพื่อที่เราจะได้นำไปบริจาคให้กับเด็กๆ ที่อยู่ในโครงการของเรา คือเด็กๆ ในโรงเรียนละแวกชุมชนที่เราไปทำกิจกรรม
ดังนั้นนอกจากเด็กๆที่มาทำกิจกรรมกับเราจะได้รับหนังสือเล่มนี้ไป หนังสือก็จะได้กระจายไปตามจุดต่างๆของชุมชนด้วย
เราคิดว่าหนังสือมันน่าจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงเด็กๆในชุมชนได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงหรือทันสมัย ในการที่จะเปิดมันขึ้นมาดู”
นิทรรศการ “เมืองในดิน” วันนี้ – 30พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ณ ชั้น 1 อาคารนิทรรศนรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.