Art Eye View

คนศิลปะร้อนบนโลกโซเชียล เมื่อ “ทิพย์” ทายาท “จ่าง แซ่ตั้ง” ถามถึงมาตรฐานคัดเลือกศิลปินไทยไป “เวนิส เบียนนาเล่” ที่อิตาลี

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—กลายเป็นประเด็นร้อนรับปี 2558 ของคนศิลปะบนโลกโซเชียล เมื่อ “ทิพย์ แซ่ตั้ง” ทายาท “จ่าง แซ่ตั้ง” ศิลปินผู้ล่วงลับ

โพสต์ข้อความผ่าน facebook ถามถึงมาตรฐานคัดเลือกศิลปินไทยร่วมแสดงผลงานใน “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่”

อันเป็นมหกรรมศิลปะที่จัดขึ้นประจำทุกๆ 2 ปี ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกและประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นประเทศสมาชิกครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2546

พร้อมกับแชร์ภาพถ่าย กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2540 ถ่ายคู่กับผลงานศิลปะชิ้นใหม่ ซึ่งทิพย์แชร์มาจาก facebook ของศิลปิน วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ ซึ่งวัฒนโชติบรรยายใต้ภาพไว้ว่า

“เสร็จสมบูรณ์ Painting ขนาด 2.00 x 7.00 เมตร สำหรับไปแสดงที่ Venice Biennale ที่ประเทศ Italy ในอีก 2 เดือนข้างหน้า”

ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการแถลงข่าวใดๆของกระทรวงวัฒนธรรมว่า ศิลปินไทยรายใดที่ผลงานจะถูกคัดเลือกให้ไปร่วมมหกรรมศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ปีล่าสุด
 
ขณะที่ข้อความทั้งหมดของทิพย์ที่โพสต์ประกอบภาพและข้อความที่แชร์มา ความว่า

“วันที่ 1 มกราคม 2558 ผมอ่านโพสท์ของพี่แป้ง Wattanachot Tungateja ลงว่า อากมล ทัศนาญชลี Tassananchaiee Kamoi เพิ่งสร้างงาน Painting ขนาด 2.00 x 7.00 เมตร เสร็จใหม่ๆ สำหรับนำไปแสดงที่ Venice Biennale ประเทศ Italy ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ข่าวคราวการคัดเลือกผลงานศิลปินไทยที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงผลงานศิลปกรรมที่งาน Venice Biennale ประเทศ Italy ปี2015 ครั้งนี้ไม่มีเลย แล้วอยู่ๆก็มีข่าวว่า อากมล ทัศนาญชลี เพิ่งสร้างงานเสร็จใหม่ๆเอียม เพื่อนำไปแสดงในงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนคนเดียวหรือยังมีอีกหลายๆคนแต่ก็ยังไม่มีข่าวออกมาชัดเจน
 
สงสัย สงสัย สงสัย……????????????????

ผมต้องขอบอกก่อนว่า อากมล ทัศนาญชลี มิได้ไม่เหมาะสมน่ะ เข้าใจตรงกันเสียก่อน แต่สงสัย…????????????? การคัดสรรค์ศิลปินที่จะเป็นตัวแทนวงการศิลปะของประเทศไทย มีมาตรฐาน วิธีการคัดเลือกอย่างไร???????????????? ผมเชื่อว่าศิลปินไทยอีกมากมาย หลายๆชีวิตก็อยากมีโอกาสไปแสดงในนิทรรศการระดับโลกครั้งนี้ การไปแสดงงานที่ Venice Biennale ประเทศ Italy ทุก 2ปี ครั้งหนึ่งใช้เงินภาษีอากรของประเทศหลายสิบล้าน (หรือล้านสองล้านก็จัดได้ช่วยตอบประชาชนโง่เขลาอย่างฉันด้วย) ซึ่งน่าจะมีคำตอบอะไรบ้างที่ประชากรในวงการศิลปไทยจะได้รับรู้ มาตรฐาน และวิธีการคัดเลือกตัวแทนศิลปินไทย เพื่อในโอกาสหน้าต่อๆไป จะได้มีโอกาสปรับทิศทางของตนเองให้ถูกทิศทาง เพื่อมีโอกาสได้ไปร่วมแสดงในงานแสดงคศิลปกรรมระดับโลกอย่างนี้บ้าง”

ขณะที่คนศิลปะส่วนหนึ่งแสดงความเห็นด้วยและขอบคุณที่ทิพย์จุดประเด็นนี้ขึ้นมา เป็นต้นว่า

Podduang Charoen : “ขอบคุณพี่ Thip Tang หนูเองก็อยากรู้ด้วย ผู้ใหญ่เค้าคัดเลือกกันยังไงสงสัยด้วย ^^”

Chumpon Apisuk : “ผมมีความรู้สึกที่ดี ที่ทิพย์โพสต์ถามในที่สาธารณะ เพืืื่อแสดงว่าเปิดเผย ไม่มีอะไร เพราะเห็นด้วยว่าเรื่องนี้น่าจะเปิดเผย อาจจะไม่ต้องมากมายนัก แต่ก็คงไม่ถึงกลับต้องเก็บลับอะไรกัน เพราะอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการโฆษณาประเทศนะครับ”

Ekachai Luadsoongnern : “ขอบใจมากทิพย์ที่ตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลกันเต็มที่เลยครับพี่น้อง. ถามแล้วตอบไม่มีปัญหา ถามไม่ตอบกลับย้อนแย้งเรื่องไม่จบเพราะไม่มีคำตอบ”

Len Jittima : “ขอบคุณทิพย์ที่ถามขึ้นมา เราไม่มีปัญหาอะไรไม่ว่าจะเลือกใครไป แต่ขอแสดงทัศนะนิดนึงว่าศิลปินที่จะไปถึงระดับโลกได้ต้องจบศิลปะจากต่างประเทศเท่านั้นหรือ ไม่จริงมั้ง ศิลปินไทยหลายคนที่ไม่ได้จบแม้แต่สถาบันศิลปะที่ขึ้นชื่อว่าอันดับหนึ่งของไทยหลายคน ก็เป็นที่ยอมรับระดับโลก ไม่ขอพาดพิงชื่อเพราะเดี๋ยวจะถูกโยงเข้าประเด็นถกเถียงอีก”

ด้านหนึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับศิลปินหลายคนที่เห็นว่า ทิพย์ควรจะตั้งคำถามนี้ให้กระทรวงวัฒนธรรม ช่วยตอบ และแสดงความสงสัยว่าเหตุใดทิพย์จึงลุกขึ้นมาตั้งคำถามในเวลานี้

Akamol Roja : “มันก็น่าแปลกนะที่ผ่านๆมามีศิลปินไทยหลายๆคนไปแสดงมาแล้วทำไมไม่ถามกัน ว่ากระทรวงเค้าคัดเลือกกันอย่างไร มาเจาะจงถามเอาตอนนี้ อย่าลืมนะครับปีหน้าถามอีกนะครับเอาคำตอบให้ได้นะครับ ถ้าไม่ได้คำตอบถามทุกๆปีเลยนะครับ”

รวมถึง วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ พร้อมลูกชาย ที่ได้มีความเห็นโต้ตอบว่า

Wattanachot Tungateja : “การที่ทิพย์ post. มาอย่างนี้ไม่ทราบว่ามีจุดประสงค์อะไร? รึว่าอยากดัง เพราะไม่มีอะไรจะสร้างจุดสนใจให้ตัวเอง หากอยากรู้ควรติดต่อถามทางกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นผู้คัดเลือกเอง ไม่น่ามาขึ้นคำถามเพื่อจุดกระแสให้ตัวเองสำคัญใน facebook อย่างไร้สำนึกแบบนี้ มีอะไรก็โทรมาคุยกันก็ได้”

“ทิพย์อาจอยากให้เอางานพ่อตัวเองไปแสดงแทนก็ได้ จะได้ปั่นราคาให้สูงขึ้นอีก”

Techa Tungateja : “1.หากคุณทิพย์รู้จักอาจารย์กมลดี คุณทิพย์จะรู้ว่าท่านได้สร้างสรรค์อะไรหลายๆอย่างให้กับวงการศิลปะในบ้านเรามามาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันศิลปินเด็กรุ่นใหม่ทุกๆปีให้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ศิลปะทั้งในและต่างประเทศ ให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษามานับไม่ถ้วน สร้างงานศิลปะแทบทุกวัน มีผลงานอยู่ทั่วทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ให้อะไรกับวงการศิลปะไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าไม่รู้จักดีก็ลองหาข้อมูลดูได้ครับ ผมว่าไม่น่าแปลกที่อาจารย์กมลจะได้รับโอกาสนี้ ซึ่งปีก่อนๆ ใครได้ไปบ้างก็ลองศึกษาดูได้ครับ

2.เรื่องข่าวสาร ควรสอบถามจากกระทรวงครับ ถ้าอยากได้ข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่มาโพสต์ถามลอยๆ ในแบบที่คนอ่านสามารถมองได้หลายแง่ โดยพาดพิงถึงอาจารย์กมล ซึ่งสามารถเกิดความเสียหายได้ ทั้งตัวอาจารย์ และศิลปินหลายกลุ่มที่อาจทำให้เกิดความเห็นต่างและเข้าใจไปต่างๆนานาได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกทั้งที่ก็เป็นศิลปิน รักในศิลปะด้วยกันแท้ๆ

3.คุณแป้งเคารพรักอาจารย์กมลเหมือนพ่อ เหมือนที่คุณทิพย์เคารพอาจารย์จ่าง รักและหวงแหนไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ฉะนั้นเมื่อมีการพาดพิงคนที่เรารักและเคารพ แน่นอนว่าต้องเกิดฉุนเฉียวเป็นธรรมดา คุณแป้งคงไม่พอใจที่คุณทิพย์ตั้งข้อสงสัยในการคัดเลือกอาจารย์กมล เช่นคุณทิพย์ไม่พอใจที่คุณแป้งพาดพิงอาจารย์จ่าง (ผมเห็นว่าตอนอาจารย์จ่างได้รับคัดเลือกไปแสดงผลงานที่จีน คุณแป้งก็ยังแสดงความยินดีด้วยโดยไม่ตั้งข้อสงสัยใดๆ)”

โปรดติดตามกันต่อไป สำหรับประเด็นที่คนจำนวนหนึ่งอยากให้หาคนมาตอบคำถาม และคนจำนวนหนึ่งมองว่าตั้งคำถามไม่ถูกที่ถูกคน

หมายเหตุ :  มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานมหกรรมศิลปะที่มีความสำคัญเทียบเท่ามหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2438 และจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี โดยมีระยะเวลาในการจัดงานยาวนานถึง 6 เดือน มีผู้เข้าชมงานที่เป็นผู้รักศิลปะจากทั่วโลก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทอดพระเนตรการแสดงงานศิลปะดังกล่าวถึง 2 ครั้ง และทรงโปรดปรานฝีมือของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ซึ่งนับว่าเป็นศิลปินที่โดดเด่นมากในยุคศิลปะอาร์ทนูโวของอิตาลี ที่มีอิทธิพลต่อศิลปะ สิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมต่างๆในสมัยรัชกาลที่5

โดยภาพเขียนฝีมือคินี ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ในปีนั้น คือ ชุด “ประวัติศาสตร์ศิลปะข้ามกาลเวลา” ซึ่งเป็นภาพเขียนสไตล์ลิเบอร์ตี จึงได้ทาบทามให้คินีเดินทางมากรุงเทพเพื่อมารับงานเขียนภาพพระราชวังดุสิตสมัยนั้น ซึ่งก็คือพระที่นั่งอนันตสมาคม

ในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้รับเชิญเป็นทางการครั้งแรกให้เป็นประเทศสมาชิก

จากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้มีการคัดสรรศิลปินให้นำผลงานไปร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะระดับโลกนี้เรื่อยมา

ก่อนหน้านี้ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

ศิลปินไทยจำนวน 2 คนร่วมที่มีผลงานไปร่วมแสดงในมหกรรมฯ คือ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และอริญชย์ รุ่งแจ้ง

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It