คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม
เช้าวันนี้ฉันออกไปเดินที่ทุ่งนาแต่เช้า แต่คำว่าเช้าของฉันก็ยังไม่ทันกับแสงพระอาทิตย์ เพียงแค่เดินได้รอบแรกรอบเดียวเมื่อเดินย้อนกลับหันหน้าเข้าหาทางทิศตะวันออกแสงแดดก็ฉาบฉายเกินจากอบอุ่นจนเป็นร้อน และทำให้ฉันบ่ายหน้าเปลี่ยนใจเดินกลับบ้าน
น้ำในแม่น้ำแล้งแห้งขอดคลอง ฉันไล่เดินลงไปตามบันไดดินของตลิ่งลงไปดูถึงชายน้ำ ตรงกลางแม่น้ำบางช่วงนั้นมีตอไม้ดำๆ ผุดโผล่ขึ้น ผืนแผ่นดินที่เคยจมอยู่ในน้ำเผยผิวดินปะทะกับอากาศและสายตาที่มองไป
ฉันหวนคิดถึงในวัยเด็กที่เคยเดินเลาะเลียบริมตลิ่งในยามน้ำลงเช่นนี้แล้วเฝ้ามองหาเศษกระเบื้องลายสีสวยที่เคยเป็นสิ่งที่จมอยู่ใต้น้ำ
ความรู้สึกเช่นนั้นผุดขึ้นมาในห้วงคำนึง “บางทีถ้าน้ำลงมากกว่านี้ไปอีกเรื่อยๆ ฉันจะได้ลองขุดหาสมบัติใต้น้ำกันบ้างละ”
ในความคิดของฉันปนเปไปด้วยความสนุกและสัญชาติญาณแห่งการค้นหา ยืนอยู่ริมแม่น้ำเพียงครู่ใหญ่ฉันก็กลับบ้าน ถอดรองเท้าผ้าใบสำหรับเดินออกแล้วเปลี่ยนรองเท้าแตะคว้ากระเป๋าสะพายและกุญแจรถ ฉันอยากกินผัดซีอิ๊ว
ฉันขับรถเลาะเลียบไปบนถนนสายริมแม่น้ำหน้าบ้าน น้ำในฤดูแล้งแห้งขอดลงแต่ก็วาวใสและเป็นสีเขียวสวยผิดกับในฤดูน้ำหลากหรือฤดูทั่วไปที่น้ำในแม่น้ำจะมีสีแดงๆ ขุ่นๆ ฉันนึกถึงความงามของแม่น้ำป่าสักที่มีสีเขียวและสงบนิ่งท่ามกลางแมกไม้ทั้งสองฝั่ง แม่น้ำนั้นดูสวยงามแต่แฝงเร้นไปด้วยความลึกลับในความงามแบบนิ่งงันและเย็นเยียบ
แต่แม่น้ำบ้านฉันนั้นเป็นแม่น้ำที่แยกออกมาจากแม่น้ำใหญ่ผ่านทุ่งนาบ้านเรือนในในที่ราบลุ่ม น้ำอันมีสีอันแดงคร่ำแบบสีของดินในท่ามกลางสองฝั่งริมตลิ่งที่เปิดโล่งเห็นเป็นแต่หลังคาบ้านเรือน ทำให้รู้สึกถึงวิถึชีวิตอันเรียบง่ายเปิดเผยตลอดสองริมฝั่งแม่น้ำนั้น เพียงมองแม่น้ำก็ให้ความรู้สึกเหมือนมองคน คนมีบุคลิก แม่น้ำก็มีบุคลิก ฉันคิด
ฉันขับรถไปมองไปที่ฟากฝั่งโน้น คิดถึงสมัยย่า ที่จริงฉันน่าจะมีญาติ ที่อยู่ฝั่งฟากโน้นอยู่อีกหลายต่อหลายคน เพราะในสมัยของย่าจะมีลูกพี่ลูกน้องของย่าพายเรือข้ามไปมาหาสู่กันเสมอมิได้ขาด เมื่อกาลเวลาผ่านไปคนรุ่นก่อนๆ ล้มหายตายจาก ญาติและเพื่อนสนิทมิตรสหายที่เคยประสบพบกันมาแต่ก่อนก็พาลขาดหายจากกันไปด้วย กลายเป็นคนอื่นหรือแค่คนบางเดียวกันไป
ที่ฟากฝั่งโน้นมีบ้านเรือนสร้างใหม่ใหญ่โตหลายต่อหลายหลัง เพียงมองจากถนนฝั่งนี้ก็เห็นหลังคาและรั้วบ้านอันใหญ่โตสวยงามฉันให้อดนึกสงสัยใครกันหนอมาปลูกบ้านใหญ่ๆ กันให้เต็มไปหมดริมฝั่งน้ำ ว่าแล้วก็ให้อยากไปดูเสียหน่อย
อิ่มจากอาหารแล้วฉันจึงขับรถเลาะเลียบไปบนถนนริมน้ำของอีกฟากฝั่งหนึ่ง เพื่อมองบ้านเรือนที่เห็นไกลๆ นั้น พบว่าเป็นบ้านหลังใหญ่สวยงามมากมายหลายหลังปลูกสร้างในแบบสมัยใหม่บางหลังเหมือนกับบ้านในต่างประเทศ บางหลังก็สวยงามแบบบ้านจัดสรรหลังใหญ่ราคาแพง
ใครกันหนอมาปลูกบ้านใหม่ๆ กันให้เยอะไปหมด สงสัยจะเป็นพวกครู
ในต่างจังหวัดบ้านนอกบ้านนานั้น เมื่อเห็นใครดูดีมีฐานะหรือเป็นคนน่าเคารพนับถือ พวกเราก็จะมองกันในเบื้องต้นไว้ก่อนว่าคนเหล่านั้นน่าจะเป็นครู
เมื่อมองไปเรื่อยๆ ฉันก็กลับไปสะดุดตากับบ้านไม้แบบเก่าหลังหนึ่งที่มีภูมิทัศน์รอบบ้านรกเรื้อไปหมด แต่ลูกกรงเหล็กเส้นเล็กๆ บางๆ สีฟ้าบนระเบียงบ้านนั้นทำให้ฉันต้องหยุดรถจอดมอง ฉันชอบบ้านโปร่งๆโล่งๆ แล้วทำทางต่อเป็นแพติดต่อกันในแบบนี้เหลือเกิน ยิ่งมีลูกกรงเหล็กแบบเก่าๆ เช่นบ้านหลังนี้เข้าอีกด้วยแล้ว ทำให้ฉันหยุดมองด้วยความอยากขึ้นไปเดินบนบ้านแบบนี้เหลือเกิน
ฉันคิดถึงบรรยากาศก่อนเก่าที่มีลูกเด็กเล็กแดงและปู่ย่าตายายที่แวดล้อมด้วยกันอยู่บนบ้านเก่าๆ ลักษณะนี้
ฉันขับรถแล่นเรื่อยไปออกถนนนอกหมู่บ้าน ฝั่งตรงกันข้ามนั้นเป็นวัดชื่อ “วัดพระปรางค์” อันมีประวัติและหลักฐานอันเก่าแก่ถึงเตาเผาแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย ฉันจอดรถเข้าไปแวะเวียนดูอีกครั้ง ไปในคราวนี้ฉันได้เห็นผลิตผลอันเป็นความพยายามสืบทอดมรดกของท้องถิ่น และได้พบครูอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งมีใจรักและมาช่วยพัฒนาปรับปรุงต่อยอดมรดกของถิ่่นแห่งนี้
อาจารย์ท่านนั้นพาฉันเดินดูและอธิบายความเป็นมาของเตาเผาแห่งลุ่มแม่น้ำน้อยอย่างละเอียดถี่ถ้วน และยิ่งดีใจเมื่อได้รู้ว่าฉันเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา เพราะในแถบลุ่มน้ำอันเป็นย่านเตาเผาและดินเผาโบราณแห่งนี้หาได้มีใครยึดทำอาชีพนี้สืบต่อกันมาเลยแม้แต่ครัวเรือนเดียว หรือมันได้สาบสูญหายไปกับการเกิดสงครามรบพุ่ง
ทุกคนต่างตายกันหมดไม่มีเหลือหลอ ลูกหลานที่สืบเชื้อสายขาดช่วงมาเป็นนับร้อยๆ ปี ฉันกับอาจารย์ท่านนั้นและผู้ใหญ่บ้านผู้มีใจอนุรักษ์เดินคุยกัน
“ผมดีใจมากๆ ที่ได้พบคนทำงานแบบนี้ในลุ่มน้ำนี้” อาจารย์กล่าว
ฉันช่วยอุดหนุนสินค้าดินเผาในแบบท้องถิ่นมาสองสามอย่างแล้วจากมา
ในบ้านเรือนของฉันที่ก็อยู่ริมน้ำอันเป็นแหล่งที่ใกล้ที่สุดกับเตาเผาแม่น้ำน้อย
แต่ฉันสร้างงานดินเผาในลักษณะเฉพาะแบบของฉัน ตามอารมณ์ความรู้สึก ตามความสนใจและประทับใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มาปะทะใจในขณะนั้น แต่มิได้สร้างอะไรอันเป็นเอกลักษณ์ให้แก่ท้องถิ่น
อาจารย์ท่านนั้นฝากฝังความคิดและความหวังมากับฉัน “ผมอยากเห็นเหลือเกินคนที่เป็นคนท้องถิ่นจริงๆ แล้วทำงานดินเผา ทำงานเรื่องประวัติของหมู่บ้านเราเมืองเรา ผมหาเหลือเกินคนแบบนั้น”
ฉันยิ้มรับคำพูดของอาจารย์ที่เพิ่งได้พบเจอ แล้วตอบกลับไปแบบสบายๆ ว่า
“ก็บางทีหนูอาจจะเป็นคนรุ่นนั้นกลับชาติมาเกิดกระมังคะอาจารย์ แต่มาในชาตินี้หนูก็ทำในแบบของหนู ในความเฉพาะเจาะจงที่หนูสนใจ แต่มันก็ยังคงความมีวิญญาณของนักปั้นดิน ที่บรรพบุรุษในท้องถิ่นนี้เคยเป็นมา”
พลันเสียงหัวเราะก็เกิดขึ้น ฉันให้กำลังใจต่ออาจารย์ผู้มีใจอนุรักษ์ทรัพย์มรดกของชาติและท้องถิ่นให้มีกำลังใจต่อไป เราคุยกันอีกเล็กน้อย ก่อนจากลามาด้วยมิตรภาพอันเป็นความเชื่อมโยงมาจากเตาเผาและเครื่องปั้นดินเผา แห่งลุ่มแม่น้ำน้อย ที่บ้านของฉัน
หนังสือหลายต่อหลายเล่มถูกจัดวางไว้บนชั้นหนังสือ เล่มโปรดในขณะนี้ที่ถูกหยิบออกมาวางได้แก่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องเพศในวัฒนธรรมจีน ฉันโปรดปรานเมื่อได้อ่านและหยิบยกเอาอารมณ์ความรู้สึกในนั้นออกมาเป็นงานปั้น ตอนนี้ฉันปั้นหมวยน้อยๆ ออกมาได้สองชิ้นแล้ว
ต้องยอมรับว่าฉันมีวิญญาณของความเป็นนักปั้นดินที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกและความชอบของตนเอง มันมีมากจนไม่สามารถจะกลายไปเป็นสิ่งอื่นได้ สิ่งหนึ่งที่จะมีคนรับรู้ในงานของฉันเมื่อกาลเวลาผ่านไปและฉันจากโลกนี้ไป คือลักษณะอันเฉพาะในชิ้นงาน และเรื่องราวที่ฉันเขียนผ่านจากเรื่องเล่า ฉันปรารถนาให้คนรุ่นหลังสามารถสืบค้นหาฉันได้
ฉันไม่อยากให้เหมือนกับงานหลายต่อหลายชิ้นที่สวยงามมีมาแต่อดีตที่ปรากฏอยู่ แต่ทว่าหาคนทำคนสร้างสืบค้นมิได้เลย
แม้จะขาดช่วงของกาลเวลาไปนานสักเพียงไรและไม่มีคนสืบทอดก็ตาม หญิงสาวของฉันคงจะบอกเรื่องราวของเธอได้เองจากอารมณ์ความรู้สึกในชิ้นงาน
ความสุข ความเศร้า ความเหงา และความรัก
อันเป็นคุณสมบัติทางอารมณ์ที่มีกันอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ทุกยุคทุกสมัย
ถ่ายภาพโดย : ชาญชัย แซ่ฉั่ว
รู้จัก… องุ่น เกณิกา สุขเกษม
จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสยาม เคยทำงานเป็นสาวแบงค์ นาน 7 ปี
ปี 2540 เป็นต้นมา หันมาจับเศษดินปั้นเป็นหญิงสาวมากจริต จนได้รับการยอมรับ และรู้จักในฐานะประติมากรหญิงผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะจากรั้วสถาบันใด
ขณะนี้องุ่นใช้ชีวิตและทำงานประติมากรรม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของบ้านริมแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี
เป็นชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สบายๆ แม้ไม่ได้สบายด้วยวัตถุ ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ ART EYE VIEW เมื่อหลายปีก่อนว่า
“สบายด้วยอากาศ ด้วยต้นไม้ และมีอิสระ ทุกวันนี้ทำงานปั้นดิน และเผาเองทุกชิ้น ส่วนชิ้นไหนที่เห็นเหมาะเห็นชอบ ก็จะนำไปหล่อที่โรงหล่อ
รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากเลย เวลาที่ทำงาน เพราะอะไรที่มันเป็นชีวิตเรา เป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา พอได้ทำเป็นงานออกมาแล้วมีความสุข
ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทำงานปั้น มันเหมือนชีวิตเราหมดคุณค่า และอัดอั้น เพราะเรามีความรู้สึกที่ต้องระบายออกมา”
ติดตาม คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.