Art Eye View

สิ่งแรกที่ฉันรัก สิ่งสุดท้ายที่ฉันทำ “ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ” กฤติกา บัวบุศย์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เวลานี้ เธออาจจะยังไม่ใช่ศิลปินหญิงเจ้าของผลงานภาพวาดที่สวยที่สุด
แต่เชื่อแน่ว่า เธอคือผู้หญิงที่ชีวิตมีความสุขมากที่สุดคนหนึ่ง

ในวัย 40 กว่าปี กฤติกา บัวบุศย์ ตัดสินใจปลดระวางสิ่งพะรุงพะรังอื่นๆในขีวิต แล้วหันมาใช้เวลากับสิ่งแรกในชีวิตที่เธอรัก แต่มีโอกาสได้ทำเป็นสิ่งสุดท้ายในชีวิต นั่นก็คือ การวาดภาพ


“บัวบุศย์” ครอบครัวที่ถูกขัดเกลาด้วยศิลปะ และคุณธรรม

หลายคนอาจจะคุ้นหูกับนามสกุลของเธอ…

กฤติกาเป็นหลานสาวแท้ๆของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 45 จิตรกรแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ผู้ล่วงลับ

“คุณปู่จิตร เป็นคุณอาของคุณพ่อ หรือเป็นน้องชายของคุณปู่ดิฉัน ครอบครัวเราก็ค่อนข้างสนิทกัน ท่านเสียไปได้สักประมาณ 3-4 ปีแล้ว”

กฤติกายอมรับว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประกิต มีส่วนทำให้เธอรักในการวาดภาพมากยิ่งขึ้น แต่เธอก็ได้เล่าให้ฟังว่า อันที่จริงครอบครัวบัวบุศย์มีความสนใจในศิลปะมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด และลูกหลานทุกคนล้วนได้รับการสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่รัก และสนใจ รวมถึงศิลปะ

“ครอบครัวเราไม่ได้เริ่มต้นสนใจศิลปะในรุ่นของคุณปู่จิตรท่านเดียว คุณทวดของเรา หลวงชาญหัตถกิจ ก็เป็นศิลปิน แล้วลูกของท่านทุกคนก็มีแววทางศิลปะด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ทำศิลปะอย่างจริงจังและมีชื่อเสียง ก็คือคุณปู่จิตร หรือ คุณปู่ประกิต ซึ่งเป็นชื่อที่ท่านมาเปลี่ยนภายหลัง แต่หลายคนที่เป็นศิลปินหรือลูกศิษย์จะติดเรียกท่านว่าอาจารย์จิตรมากกว่า ลูกศิษย์ท่านเวลานี้อายุ 80 ปีแล้วก็มีนะคะ

ดิฉันชอบผลงานท่านมาตั้งแต่เล็กๆนะคะ ชอบเองด้วย พอโตขึ้นมาถึงได้มีโอกาสได้เจอท่าน เพราะก่อนหน้านี้ดิฉันไปอยู่ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่อายุ 11 ปี แต่ก็จะได้ยินเรื่องราวของท่านมาโดยตลอด

ท่านมีชีวิตที่น่าสนใจ เราซึมซับมาตลอดว่าที่โรงเรียนเพาะช่าง ท่านได้ทำผลงานไว้มากมาย และมีผลงานเผยแพร่อยู่ต่างประเทศด้วย และนอกจากท่านจะเป็นศิลปินแห่งชาติ ท่านยังเป็นราชบัณฑิตด้วย

คุณพ่อของดิฉัน (มนู บัวบุศย์) แม้จะเป็นคนที่เรียนเก่ง เรียนสายวิทย์ ท่านเรียนจบจากโรงเรียนนายเรือ และตอนหลังท่านก็เข้าทำงานที่การบินไทย แต่พอรู้ว่าลูกชอบศิลปะ ก็พยายามส่งเสริมทุกอย่าง จะซื้อสี ซื้อกระดาษ ซื้ออุปกรณ์ทำงานศิลปะให้

ทั้งที่ในยุคนั้นเป็นยุคที่คนทั่วไปจะส่งเสริมลูกให้เรียนหมอ เรียนศิลปะ หรือเรียนอย่างอื่น เพื่อที่ว่าจะได้จบมาประกอบอาชีพที่มั่นคง และการเป็นศิลปินในสายตาของคนทั่วไป ไม่ใช่อาชีพที่จะสร้างรายได้มหาศาลได้ แต่ครอบครัวเรา ถ้ารู้ว่าลูกหลานคนไหนชอบศิลปะ จะส่งเสริมกันเต็มที่ แล้วบรรดาพี่ป้าน้าอา เวลาเห็นว่าลูกหลานคนไหนชอบศิลปะ ก็มักจะทักว่า เออ..คนนี้หัวศิลป์เนาะ มีติดมากับเขาคนนึง ครอบครัวเราจะมองว่าศิลปะ เป็นสิ่งมีคุณค่า มาตั้งแต่สมัยคุณทวด

นอกจากนี้กฤติกายังบอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจ ถึงที่มาของนามสกุล “บัวบุศย์” ซึ่งตั้งโดยคุณทวดของเธอด้วยว่า

“คุณทวดของดิฉัน ‘หลวงชาญหัตถกิจ’ เดิมท่านมีชื่อว่า ‘จีน’ ท่านเป็นคนตั้งนามสกุล ‘บัวบุศย์’ ปกติคนเขาจะใช้ฐานันดร มาตั้งเป็นนามสกุล เช่นใช้นามสกุล ‘ชาญหัตถกิจ’ ไปเลย แต่คุณทวดก็คิดนามสกุลนี้ขึ้นมา

ท่านเป็นคนที่มีความเชื่อเรื่อง ‘ดอกบัว’ โดยเฉพาะ ‘บัวขาว’ ว่าสื่อถึง… ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง บริสุทธิ์ ไม่โลภ

ดังนั้นนอกเหนือจากศิลปะที่ช่วยกล่อมเกลาสมาชิกในครอบครัวของเรา ความหมายของนามสกุลบัวบุศย์ ก็คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานทางความคิดของพวกเราด้วยเหมือนกัน”

การไม่แสดงตัวตนที่แท้จริง ทำให้อายุงานสั้น

กฤติกาเรียนจบมาทางด้านแฟชั่นและสิ่งทอ จากประเทศออสเตรเลีย ทำงานอยู่ในแวดวงที่ได้ร่ำเรียนมาอยู่พักใหญ่

เคยเป็นอาจารย์สอนทางด้านการออกแบบและการผลิตสิ่งทอที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Auckland University of Technology (โอ้คแลนด์ยูนิเวอร์ซิตี้ออฟเทคโนโลยี ) ประเทศนิวซีแลนด์

เขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสาร art4, จัดสัมมนาที่เกี่ยวกับงานแฟชั่นและสิ่งทอ, เคยทำงานให้กับกรมส่งเสริมการส่งออก สมาคมสิ่งทอ

เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ ICC ,Itokin และWacoal โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหน้าร้านให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อ ในการชอปปิ้ง

“เจ้านายที่ดิฉันเคยทำงานด้วยที่ ICC ในเครือสหพัฒน์ คือ คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา

หน้าตาของผลงานออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงที่เป็นอิสระ และพยายามเล่นกับรูปทรงนั้นๆ

“เหมือนงานของญี่ปุ่นยุคสมัย 80-90 เช่นงานของ โยจิ ยามาโมโตะ ขณะเดียวกันก็ชื่นชอบงานโอต์กูตูร์ (ศิลปะตัดเย็บขั้นสูง) ของฝรั่งเศส และงานแนวพังค์ของอังกฤษก็ชอบเช่นกัน สามสิ่งอาจจะดูแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนใครเลย แต่สิ่งที่เหมือนคือ ความเนี๊ยบ ความใส่ใจ ความที่มีตัวตนชัดเจน ซึ่งอันนี้ดิฉันชื่นชอบมากๆว่า เขามีไอเดียใหม่ มีความกล้าหาญ แล้วจากตรงนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เรากล้าหาญที่จะสร้างงานของเราขึ้นมาเหมือนกัน โดยที่ไม่ไปก๊อปใคร

เคยเขียนบทความเหมือนกันนะคะว่า การก๊อป หรือการไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงของเราออกมา มันจะทำให้อายุงานของเรามันสั้น แล้วก็เราก็จะรอที่จะตามผู้อื่นเสมอ แต่ถ้าเราทำเอง รู้จักทดลองเมื่อได้ลงมือทำ เราก็จะค้นหาวิธีที่จะปรับเปลี่ยน พัฒนาไปในสิ่งที่เป็นเราจริงๆ

และสามสไตล์ที่เราชอบก็ไม่ใช่ว่ามันจะสะท้อนออกมาผ่านงานออกแบบของเราจนเป็นหัวมงกุฎท้ายมังกรก็ไม่ใช่ แต่พลังที่เขาแสดงออกผ่านงาน มันชี้ให้เราเห็นว่า ทางออกของการออกแบบ มันไม่ใช่ทางเดียว มันเป็นได้หลายทาง สิ่งที่เราชอบอาจจะมีสาม แต่ทางออกมันอาจจะมีเป็นร้อย แต่ที่เราเลือกมา ที่เราปิ๊งมากๆมันมีสาม

จริงๆแล้วแฟชั่นมันก็มีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย คนที่ทำเขาลองผิดลองถูกมาตลอด จนกระทั่งเกิดเป็น CHANEL (ชาแนล) หรือว่า Valentino (วาเลนติโน่) กว่าจะมาถึงวันนี้ กว่าจะ ได้ดีไซน์ที่เป็นคลาสสิค เขาทำมาไม่รู้กี่สิบปีแล้วกี่ทศวรรษแล้ว ถ้าเราไปก๊อป ไปสอยเอาตอนที่เขาทำสำเร็จออกมา เราจะไม่ได้เรียนรู้เลยว่ากระบวนการทางความคิด มันคืออะไร เราจะไม่ได้ไปทดสอบความสามารถเราเลย”


นักออกแบบของผืนผ้าสีคราม

แม้ปัจจุบันกฤติกาจะหยุดทำงานด้านการเป็นที่ปรึกษาและทำงานด้านการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอเหมือนที่เคยทำในอดีต แล้วหันมาวาดภาพเป็นหลัก แต่เธอก็ยังเขียนคงเขียนบทความให้กับนิตยสาร art4d ,ยังจัดสัมมนาทางด้านนี้เป็นครั้งคราว รวมถึงกำลังทำงาน ‘ออกแบบลายผ้าย้อมคราม’ ให้กับกลุ่มชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“กำลังร่วมมือกับชาวบ้านที่สกลนคร เป็นช่วงทดลองและ มีชาวบ้านอยู่กลุ่มหนึ่งที่กำลังขึ้นตัวอย่างด้วย แต่ส่วนหนึ่งเราต้องรอเค้าดำนาให้เสร็จเรียบร้อย รอเค้ากลับจากการไปออกงาน OTOP ก่อน

การจะขึ้นตัวอย่างลายที่ออกแบบแต่ละครั้งได้ ธรรมชาติมันเหมือนเวลาทำสวนที่บ้านดิฉันเลย(หัวเราะ) ต้องรอให้เค้าทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อย พอ เค้ามีเวลา มีใจก็จะทำให้ ส่วนเเราก็มีหน้าที่ออกแบบลายไปให้เขาทดลองทำขึ้น จัดลายขึ้นบนกี่ทอผ้า แล้วย้อมครามขึ้นมาตามลาย

เพราะเราเชื่อว่าครามเป็นมิตรกับธรรมชาติ และในต่างประเทศ ครามกำลังจะกลับมาเป็นเทรนด์และจะเป็นเทรนด์ตลอดไปในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย เพราะว่าในกระบวนการย้อม มันทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด คือทุกอย่างที่มนุษย์ทำ มีผลกับธรรมชาติในแง่ลบไม่มากก็น้อย แต่ครามมีผลน้อยที่สุด จึงเรียกว่าเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด

แต่ที่นี้เราจะขายแต่ผ้าย้อมครามแบบที่เป็นสีน้ำเงินพื้นๆเรียบๆคนก็คงเบื่อ เพราะเราเข้าใจว่าแฟชั่นต้องการสิ่งใหม่ๆมาทดแทนสิ่งเดิมๆเสมอ คนที่บริโภคแฟชั่น เขาจะมีจุดหนึ่งที่เรียกว่าเบื่อ มันจะมีวัฏจักรที่เรียกว่าพีคสุด ฮิตสุดๆ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเห็นเยอะแล้วนะ ใครๆก็ใส่สีนี้ จนเราเบื่อแล้ว

ดิฉันก็เลยรู้สึกว่า เราต้องเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าย้อมครามด้วยการออกแบบลาย จึงทดลองทำลายขึ้นมา ลายไหนยังไม่มีเราก็ต้องลองทำให้ได้ ก็เลยทดลองทำกับชาวบ้านที่เดิมทีเขาไม่ได้ทำลายแบบนี้ เขาทำลายอนุรักษ์นิยมมาตลอด เราก็เลยบอกเขาว่าให้ลองทำลายแบบที่เรียบง่ายขึ้น หรือทำไมไม่พยายามทำลายผ้าให้มันดูน่าสนใจ

เขาขึ้นลายมาให้สองลายแล้วนะคะ เพียงแต่เวลานี้เราต้องรอเขา ว่าลายอื่นๆที่เราออกแบบให้ไป เขาจะขึ้นเสร็จเมื่อไหร่ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะทำต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ แต่เพราะเราได้ทำงานร่วมกันกับชาวบ้านกลุ่มนี้ซึ่งเขาเป็นกลุ่มที่ทำครามแท้

เพราะว่าชาวบ้านบางกลุ่มที่ทำผ้ายอมครามเป็นสินค้า OTOP บางคนเขาก็ไม่ได้ทำครามแท้ หรือไม่ได้ซาบซึ้งอะไรว่า ครามเป็นสิ่งที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ หรือบางคนก็ถามเราว่าอยากได้แบบสังเคราะห์ไหมคะ เราเฟ้นมาหลายปีเหมือนกัน จนเราเจอชาวบ้านกลุ่มนี้ ก็เลยคิดจะทำงานร่วมกับเขา และทนรอ เพราะถ้าเราไม่ทนรอ เราก็จะไม่ได้ของที่มันแท้”

ลายที่ที่กฤติกาออกแบบให้กับผ้าย้อมครามของชาวบ้านที่สกลนคร ถูกออกแบบโดยการคำนึงถึงความเหมาะสมกับข้อจำกัดของเครื่องมือในการทอระดับชาวบ้าน

“มันทำเยอะไม่ได้ เพราะมันมีข้อจำกัด ทั้งในแง่ของความกว้างของกี่ทอผ้า ซึ่งมันไม่สามารถทำได้เหมือนเครื่องจักรในโรงงานที่สามารถปรับได้ตามคอมพิวเตอร์ ดิฉันพยายามออกแบบให้มันเป็นลายที่มีความคลี่คลาย เพราะว่าประเทศไทยมีลายที่เป็นลายไทยแท้เยอะมาก เช่น ลายดอกพิกุล ลายนก ลายดอกไม้ ลายสัตว์ แต่มันมีเยอะแยะแล้ว และมันก็มีกลุ่มตลาดของมันเหมือนกัน

ดังนั้นในการที่เราจะขยายตลาด เราก็คงทำอะไรที่มันเรียบง่ายกว่าเดิม เราดึงเอาบางส่วนของลายไทยแท้เหล่านั้นมาจัดวางให้มันไม่แน่นจนเกินไป อย่างนั้นมากกว่าค่ะ และเหตุผลหนึ่งที่ดิฉันดึงเอาบางส่วนของลายเหล่านั้นมาออกแบบ เพราะว่าจากประสบการณ์ ผู้ทอ เขาทอเป็นแล้ว เราแค่บอกว่าลองทอให้ลายไม่แน่นได้ไหม เพราะถ้าลายมันแน่นเกินไปมันจะกลายเป็นลายผ้าซิ่น ลายผ้าถุง ลายสก๊อต เป็นต้น ซึ่งมันก็จะมีความเป็น ผ้าขาวม้า มากเกินไป แล้วถูกจำกัดการใช้งานอยู่แค่ตรงนั้น แต่ถ้าลายสก๊อตถูกนำมาประยุกต์เป็นลายอีกแบบหนึ่ง มันก็จะกลายเป็นสากลขึ้นมา และมีกลุ่มตลาดที่เราสามารถขยายฐานได้มากยิ่งขึ้น”



ดอกไม้เริงระบำ

แต่เวลานี้สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขมากที่สุด คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้ใช้เวลาในทุกๆวัน ไปกับการวาดภาพ และล่าสุดได้นำออกมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชมเป็นครั้งแรก

“พื้นฐานเดิมดิฉันถนัดทางด้านวาดภาพ เป็นสิ่งแรกในชีวิตที่รัก แต่เป็นสิ่งสุดท้ายที่ทำ(หัวเราะ) ดังนั้นทุกวันนี้ จึงคิดว่าชีวิตที่เหลืออยู่ จะทุ่มเทให้กับตรงนี้ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ชอบมาตลอด ภาพวาดของดิฉันจะออกมาคล้ายๆ มีรูปคนและธรรมชาติอยู่ร่วมกัน อย่างกลมกลืน”

รูปคนในนิทรรศการแสดงภาพวาดครั้งแรก ของตัวเอง กฤติกาเลือกนำเสนอรูปของนักเต้นระบำปลายเท้าเป็นหลัก

“มีทั้งภาพนักเต้นระบำปลายเท้าอยู่ในบรรยากาศของสวนพฤกษชาติ หรือไม่ก็ตัวนักเต้นระบำใส่เครื่องแต่งกายที่เป็นดอกไม้ คือเอาดอกไม้มาประยุกต์เป็นเครื่องแต่งกาย หรือคอสตูม ภาพวาดดิฉันว่าไปแล้วก็ไม่พ้นไปจากพื้นฐานเดิมที่ตัวเองเป็น คือการเป็นนักออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ เป็นภาพวาดที่นำเสนอในเชิงแฟนตาซี มีการเล่นสเกล บางภาพนักบัลเล่ย์ อาจจะดูตัวเล็กมากๆ ตัวเท่าดอกไม้ บางภาพก็หดตัวนักบัลเล่ย์ลงไปอยู่ในสภาพที่ตัวเล็กนิดเดียว อยู่กลางดอกไม้ที่ไซต์ใหญ่มากๆ เป็นภาพวาดในเชิงจินตนาการ

แล้วเรื่องของนักเต้นระบำปลายเท้า มีที่มาจากสมัยที่ดิฉันเป็นวัยรุ่นอยู่ออสเตรเลียด้วย ที่มักจะมีเพื่อนของคุณพ่อคนหนึ่ง ซึ่งมีตั๋วฟรีเพื่อการแสดงบัลเลท์ มักจะชวนเราว่าจะไปดูด้วยกันไหม ถ้าจะไปเขาเป็นสมาชิกอยู่ เราก็เลยได้เข้าไปชมกับเขาทุกปี และเป็นโปรแกรมการแสดงดีๆทั้งนั้น เช่น Swan Lake และโปรแกรมบัลเลท์ที่มีชื่อเสียงที่มาเล่นที่โรงละคร โอเปร่า ทั้งบัลเลท์ในแนวโมเดิร์น ที่เล่นกระยึกกระยือ หรือบัลเล่ย์คลาสสิคที่เป็นที่คุ้นหูกัน พอ ได้ชมดิฉันรู้สึกทึ่ง ทั้งในเรื่องของฉาก การแต่งกาย มันค่อนข้างเหมือนในฝัน เพราะว่ามันมีแสงสีเสียง และเพลงก็เป็นเพลงคลาสสิคเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราได้ซึมซับทั้งในเรื่องเพลงและการทุ่มเทให้กับการเต้นระบำ ซึ่งกว่าจะออกมาสวยได้ ท่าทุกท่า ต้องมีความเนี๊ยบพอสมควรในการจัดท่า และดิฉันก็เคยลองไปเรียนบัลเลท์อยู่รอบหนึ่ง รู้สึกว่า วิธีการแสดงออกด้วยมือ เพื่อที่จะสื่ออารมณ์เศร้า ห่วงหาอาทร การทิ้งมือ หรือทำให้มือห้อยลงมา หรือยื่นมือออกไป หรือการตั้งมุมองศาเดียว มันก็มีผลแล้ว คือคุณครูจะมาจับที่มือที่เท้าอยู่ตลอดว่า คุณต้องเอี้ยวแค่นี้นะ คือรู้สึกว่ามันยากที่จะทำให้มันได้เนี๊ยบอย่างที่มาตฐานของบัลเลท์ต้องการ ดังนั้นดิฉันจึงต้องการสื่อสารอารมณ์ของบัลเลย์ผ่านภาพวาดของตัวเอง”



ขณะที่บรรดาดอกไม้ต่างๆที่ปรากฏเป็นส่วนประกอบหนึ่งในภาพวาด นอกจากเป็นสัญลักษณ์แทนธรรมชาติที่มนุษย์จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมอย่างกลมกลืน ยังสะท้อนถึงชีวิตในปัจจุบันของกฤติกาที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม และมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง ผ่านการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติรอบๆตัว

“เพราะเวลานี้ดิฉันมาใช้ชีวิตอยู่บ้านที่เขาใหญ่อย่างถาวรแล้ว แต่เราซื้อบ้านนี้มาประมาณ 8 ปีแล้ว

เราหลงรักบ้านนี้ตรงที่ว่าในพื้นที่ผืนเล็กๆของเรา มันเป็นพื้นที่สีเขียวจริงๆ แล้วดิฉันจากคนที่ทำสวนไม่ค่อยจะเป็น ไม่อยากมือเปื้อน ก็กลายเป็นว่าเราได้คลี่คลายความกระด้างในตัวเราเอง ทำให้เราได้รู้ว่าในความกระด้างที่เราเป็น จริงๆแล้วเราก็สามารถจับดิน ขุดดิน หรือไปอยู่กลางแดดได้ เพื่อที่จะได้มาซึ่งต้นไม้ต้นใหม่ๆ ซึ่งเราไปซื้อมาลงดินปลูก และดอกไม้ที่เรารอให้ถึงฤดูกาลที่มันจะบานได้

ทำให้เราได้รู้จักความสัมพันธ์ ของฤดูต่างๆกับธรรมชาติ ซึ่งมันต้องรู้จักรอ ไม่ไปเร่ง ไม่ไปทำให้มันสังเคราะห์ เหมือนกับชีวิตของคนเมืองทั่วไป หรือคนในยุคสมัยที่ทุกอย่างรอไม่ได้เลย ทำให้เรารู้จักโอนอ่อนผ่อนตาม ความเป็นธรรมชาติ และเวลาที่เหมาะของมัน

หรือบางปีมันไม่ผลิดอกออกไปให้เราสัมผัส เพราะว่าองค์ประกอบต่างๆมันไม่อำนวย เช่น ฝนทิ้งช่วงมากเกินไป ก็ทำให้ดอกไม้ผลไม้ ไม่ออกดอก ไม่ออกลูก หรือถ้าตัดกิ่ง เล็มกิ่งมันมากเกินไป ผลไม้มันจะไม่ออกลูก มันอาจจะประท้วงอาจจะหนึ่งปีหรือสองปี เราก็ต้องรอ หรือมด แมลง นก อะไรที่อยู่ในสวน ถ้ามันมาทำรัง เราก็ต้องยอม

เราได้กลั่นกลองสิ่งที่อยู่ในใจตัวเอง จากการที่ได้สัมผัสธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และรู้สึกว่าที่ๆดอกไม้ควรจะอยู่ที่สุดคือ อยู่บนต้น มากกว่าจะไปซื้อหามา แล้วพอเราปลูกเองและออกดอก เราจะรู้สึกว่า มันมีคุณค่าแม้กระทั่งดอกไม้ที่ธรรมดามากๆเช่น ดอกพู่ระหง ดอกเข็ม ดอกบัวดิน จะรู้สึกว่า มันให้รางวัลกับเรา มันสื่อสารกับเราทุกครั้งที่มันเบ่งบานออกมา มันสร้างความประหลาดใจให้กับเรา อุ้ย.. ทางนั้นก็สีชมพู ทางนี้ก็สีแดง

แล้วต้นไม้บางอย่าง ที่คนเขาบอกว่าปลูกกันยาก เดี๋ยวจะมีหนอน เดี๋ยวจะมีอะไร…ไม่น่าปลูกหรอก ปราบเซียน แต่เราก็ปลูกได้ เพราะว่าเราเริ่มเป็นคนที่สนใจศึกษาเรื่องอาหารของต้นไม้ ว่าต้นไม้ชนิดนี้ น้ำต้องพอ ต้องอยู่ในร่ม ต้องอยู่ใกล้แดด เราเริ่มเข้าใจธรรมชาติของมันมากขึ้น ว่าต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ มันไม่เหมือนกัน และได้ทดลองปลูกกุหลาบดู เขาบอกว่ายากนะ แต่เมื่อเราลองปลูกแล้วมันก็ออกดอกให้เราชื่นชม ก็เลยรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรที่ยากเกินไปเพียงแต่ว่าเราต้องสังเกต ต้องฟัง ต้องยอมในทุกเรื่อง มันก็จะเบ่งบานให้เราเห็นว่าชีวิตนั้นมันก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์แม้กระทั่งต้นไม้ที่เราเคยมองว่า ต้องปลูกเฉพาะตามสถานที่ราชการ หรือโรงเรียน พอเราลองเอามาปลูกเอง เราก็รู้สึกว่า มันไม่ธรรมดาอย่างที่เราคิดเลย”



ชีวิตที่เหมือนถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ

กฤติกาใช้ชีวิตอยู่กับสามี Michel Testard (มิเชล เทสสตาร์ด) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีอาชีพเขียนหนังสือ ช่วยจัดสัมมนา และทำงานฝีมือ

“ จะเรียกว่าเป็นอาชีพก็คงไม่ใช่ เพราะเขาทำเพราะใจรักมากกว่า และค่อนข้างใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้”

ยูเรธา อเทลิเยร์ (Euretha Atelier) ชื่อสตูดิโอของเธอ Euretha มีที่มาจาก Europe กับ Thai สื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เธอและสามีใช้ทำงานศิลปะร่วมกัน ขณะที่ Atelier หมายถึงสตูดิโอหรือห้องทำงานศิลปะดังที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว

กฤติกาบอกว่าชีวิตในปัจจุบันของตัวเอง ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับ “ชีวิตที่เหมือนถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ”

“เพราะว่าเรามาทำงานศิลปะตอนที่เราพร้อมแล้ว บ้านพร้อม สตูดิโอพร้อม สิ่งแวดล้อมพร้อม ไม่มีใครมาตามทวงงาน หรือไม่มีปัญหาเรื่องจุกจิกในชีวิต เหตุและปัจจัยมันพร้อมแล้ว ทั้งที่ตอนนี้ก็อายุสี่สิบกว่าแล้วนะคะ

แต่อยากจะบอกว่า ชีวิตมันเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ถ้าเรายังแข็งแรงพอ ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน เริ่มต้นในวัยนี้อาจจะไม่เหมือนตอนที่เราเริ่มต้นในวัยรุ่น เราคงมองโลกคนละแบบ คงมีวิถีชีวิตคนละอย่าง ในคนๆเดียวกัน มันก็เปลี่ยนไป

และเราก็คิดว่า ตอนนี้เราสมบูรณ์กว่า เพราะว่าเราได้มองศิลปะในหลายๆแนว จากที่เราเคยมองในเชิงแฟชั่นหรือสิ่งทอ หลังจากนั้นพอมาเป็นนักวิชาการ หรือสอนมหาวิทยาลัย เราก็มองในมุมที่ได้เขียนบทความถึงมัน ดิฉันเขียนบทความให้ art4d มาสิบกว่าปีแล้ว เขียนเกี่ยวกับเรื่องแฟชั่นและสิ่งทอ และได้มีโอกาสไปดูงานศิลปะเหมือนกัน ก็เลยได้เขียนให้เขา สิ่งไหน ถ้าเราสามารถเล่าได้คุยได้ เราก็เขียนให้ แล้วมันก็ทำให้เราได้เห็นว่า

บางคนเขาทุ่มเทให้กับงานศิลปะมาตั้งแต่เรียนจบเลย แล้วเขาก็มีความกล้า พอมามองย้อนดูตัวเอง แล้วทำไมเราไม่ทำมั่ง อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นแรงบันดาลใจอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่จิตใจเรา เราชอบศิลปะอยู่แล้ว เราชอบวิเคราะห์ เราชอบมองชอบการจัดวาง ว่าในภาพหนึ่งภาพที่เป็นสี่เหลี่ยม เราจะวางอย่างไรให้มันเกิดอารมณ์ ให้มันเหมาะเจอะ จะใช้สีอะไรให้มันมีชีวิตชีวาขึ้นมา อะไรอย่างเนี้ย จะสร้างพื้นผิวสัมผัสอย่างไร ให้คนจินตนาการตามเราได้

สุดท้ายแล้ว คนจะสนใจหรือไม่สนใจงานของเรา มันขึ้นอยู่กับว่า มันไปกระทบส่วนใดในใจของเขา อันนี้เป็นเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ การสื่อสารระหว่างเรากับคนแต่ละคน มันไม่ใช่งานมวลชน มันเป็นงานที่สื่อสารระหว่างใจต่อใจผ่านสื่อที่เรียกว่าสองมิติ

แต่สิ่งนี้ มันเป็นคุณค่าของชาติพันธุ์ ถ้าจะมองไปในโลกกว้างว่า เราสะท้อนอะไรในปัจจุบัน ของชีวิตเรา ชีวิตของศิลปินคนหนึ่ง แล้วตรงนี้ในภาพใหญ่ มันเป็นยังไง คนอื่นเขาเป็นอย่างเราหรือไม่เป็นอย่างเรา

สุดท้ายเราก็อยากสร้างความเป็นปัจเจกขึ้นมานะคะ แล้วก็วางไปเลย ก็คือส่งสู่สาธารณะ ส่งไปถึงจักรวาล แล้วก็จบตรงนั้นไป แล้วก็สร้างงานใหม่ไปเรื่อยๆ”

Floral Choreography : ดอกไม้เริงระบำ นิทรรศการแสดงเดี่ยวภาพวาดสีน้ำของ กฤติกา บัวบุศย์ วันที่ 27 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม พ.ศ.2558 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ












ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It