ART EYE VIEW— ผ่านพ้นไปแล้ว งานรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน พ.ศ.2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เรียกได้ว่ามีคนให้ความสนใจไปร่วมงานอย่างล้นหลาม
ส่วน มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นโต้โผในการจัดงานครั้งนี้ จะชื่นใจมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งคงยืนยันได้จากข้อความที่ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ได้โพสต์ ผ่าน facebook ก่อนที่กิจกรรมสุดท้ายของงานวันสุดท้ายจะจบลงว่า….
ใกล้จบงานรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร
1. ผมมีความหวังกับการทำงานวันข้างหน้าบนทิศทางที่เข้มแข็งของพลังคนรุ่นใหม่ที่หลั่งไหลมาร่วมงาน แม้เป็นจำนวนไม่มากมหาศาล แต่เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคมสักส่วนหนึ่ง
2. จิตวิญญาณของ สืบ นาคะเสถียร ยังอยู่เป็นเจตนา และแนวทางการขยายผลการทำงานต่อไปในสังคมไทยอย่างมั่นคง
3. เรามีมิตรภาพ และหัวใจของผู้คน ที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อรักษาคุณค่าของระบบนิเวศที่ยังเหลืออยู่
4. มูลนิธิสืบฯ ของเรามีความพร้อมของทีมงาน มีประสบการณ์ มากพอ และมีรากฐานยาวนานลึก เชื่อว่า เราพร้อมทำงานเพื่องานอนุรักษ์ เป็นองค์กรเล็กๆ ที่มั่นคง และแน่วแน่ ที่จะทำงานให้พี่สืบ
และสุดท้าย เมื่อใกล้จะจบงานนี้ผมรู้สึกว่า
5.ผมภูมิใจในน้องๆทีมงาน ทั้งคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสร้างงานที่ดีได้ขนาดนี้
ตลอด 3 วัน หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจ ไม่แพ้กิจกรรมบนเวที การแสดงดนตรี นิทรรศการภาพถ่าย “ผืนป่าและสัตว์ป่า เรื่องเล่าจากทุ่งใหญ่นเรศวร” ผลงานของ มล.ปริญญากร วรวรรณ,ชาญชัย พินทุเสน และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
คือ “นิทรรศการเสื้อยืด เราทำงานให้พี่สืบ” ซึ่งรวบรวมเสื้อยืดแบบต่างๆที่มลนิธิสืบฯ เคยจัดทำขึ้นตลอด 25 ปีผ่านมา นำมาจัดแสดงให้ผู้ที่ไปร่วมงานได้ชม ในรูปแบบที่คล้ายการจัดแสดงผลงานภาพวาดและภาพถ่าย
ทำไมต้องมีนิทรรศการเสื้อยืด ปราโมทย์ ศรีใย หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ ผู้ทำหน้าที่ดูแลนิทรรศการฯในส่วนนี้ ได้บอกเหตุผลว่า
“เพราะลายบนเสื้อยืด แต่ละตัว บอกถึงสถานการณ์ด้านอนุรักษ์ที่เคยเกิดขึ้น ตลอดจนการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในมูลนิธิสืบฯ ตั้งแต่ที่ได้มีการก่อตั้งมูลนิธิ กระทั่งถึงเวลานี้ รวมเป็นระยะเวลา 25 ปี”
โดยที่ลายของเสื้อยืดส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ เป็นผู้ออกแบบ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
-เสื้อยืดรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร ซึ่งส่วนใหญ่จะนำภาพใบหน้าของสืบฯ มาใช้ในการออกแบบ
-เสื้อยืดคอนเสิร์ต ซึ่งจัดทำขึ้น สำหรับคอนเสิร์ตหารายได้เข้ามูลนิธิสืบฯในแต่ละวาระ
โดยเสื้อยืดคอนเสิร์ตตัวที่ถือได้ว่าเก่าแก่ที่สุด และถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ คือเสื้อยืดคอนเสิร์ต ครบรอบ 8 ปีของมูลนิธิสืบฯ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในครั้งนั้นนักร้องนักดนตรีที่มาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตคือ แอ๊ด คาราบาว และหงา คาราวาน
-เสื้อยืดรณรงค์ เช่น กิจกรรมรณรงค์ไม่ให้มีการตัดถนนผ่านป่า กิจกรรมรณรงค์คัดค้านโครงการต่างๆของภาครัฐที่อาจมีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนกิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งเสื้อยืดสำหรับกิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์สัตว์ป่า บางส่วนจะใช้ภาพลายเส้นสัตว์ป่า ผลงานที่สืบเคยวาดหรือสเก็ตซ์ไว้ มาใช้ในการออกแบบ
“เป็นภาพสัตว์ต่างๆที่คุณสืบเคยไปเจอในป่า แล้ววาดไว้ สเก็ตซ์ไว้”
ตัวอย่างเสื้อยืดมากกว่า 28 ลายที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ส่วนใหญ่เลิกผลิตแล้ว ส่วนลายที่ยังสามารถสั่งซื้อมีอยู่ไม่กี่ลายคือ เสื้อยืดลายสัตว์ป่า 7 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งผืนป่าตะวันตก, เสื้อยืดลายสัตว์ป่าสงวน และเสื้อยืดลายล่าสุดอย่าง เสื้อยืด 25 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่พยายามออกแบบให้ดูเรียบง่ายแต่สามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจกิจกรรมด้านการอนุรักษ์
นอกจากนี้ปราโมทย์ยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมาเสื้อยืดลายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ไม่ว่าจะผลิตขึ้นกี่ครั้งก็จำหน่ายหมดเกลี้ยง หาใช่เสื้อยืดลายที่สวยที่สุด เป็นเสื้อยืดลายธรรมดาพิมพ์ลายตัวอักษร แต่ที่สื่อความหมายได้ชัดเจนและตรงประเด็นที่สุด จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 20 ปีของมูลนิธิสืบ ฯ เมื่อปี 2553
เป็นเสื้อยืดพื้นสีน้ำตาลเข้ม โปรยเพียงคำที่หยิบมาจากท่อนฮุกของบทเพลงที่แต่งเพื่อรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้ตัดสินใจยิงตัวตายเมื่อปีวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 “สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย”
“ปีครบรอบ 20 ปีของมูลนิธิสืบฯ เรามีกิจกรรมรณรงค์ค่อนข้างเยอะ และเราพยายามทำกิจรรมที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักมูลนิธิ เราเลยนำเอาวลีท่อนฮุกของบทเพลง ‘สืบทอดเจตนา’ ของ แอ๊ด คาราบาว มาสื่อผ่านเสื้อยืด เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่คนทั่วประเทศค่อนข้างจะรู้จักคุณสืบจากเพลงนี้”
ขณะที่เสื้อยืดลายที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือ เสื้อยืดรณรงค์คัดค้านร่างรายงานการสร้างเขื่อนแม่วงก์
“ลายบนเสื้อซึ่งเป็นภาพมือ และมีคำว่า STOP สื่อความหมายว่าเราคัดค้านการทำรายงานผลกระทบการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่มันมีการบิดเบือน เพราะแค่รายงานคุณยังบิดเบือน แล้วคุณจะสร้างเขื่อน แต่เราไม่ได้คัดค้านว่าเขื่อนดีหรือไม่ดี
เหตุที่ลายนี้ก็เป็นลายที่ขายดี เพราะเรามีกิจกรรมเดินรณรงค์ตั้งแต่แม่วงก์ถึงกรุงเทพ เป็นระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร ภายในเวลา 10 กว่าวัน โดยมี อาจารย์ศศิน เป็นผู้นำในการเดินเท้า”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.