ART EYE VIEW—ชาวพุทธรู้จัก 'ธรรมจักร' ในฐานะ 'กงล้อ' ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ย่อมเกิดสติปัญญา นำพาชีวิตไปสู่ด้านสว่าง หรือ ดีงาม
ตรงข้ามกับ 'กงล้อแห่งทางสายดำ' ในภาพวาดของ นิพนธ์ จังกินา คือกงล้อที่หากใครหลงเชื่อและคล้อยตาม ย่อมขาดสติ นำพาชีวิตไปสู่ด้านที่มืดดำ หรือ ตกต่ำ
นิพนธ์ต้องการให้ภาพวาดชุดนี้ของเขาสะท้อนว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยศาสนา เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์
“ตัวเราไม่ได้มีเจตนาทำร้ายศาสนา แต่ด้วยความที่เราคลุกคลีอยู่กับวัดมาตั้งแต่เด็ก ในด้านหนึ่งเราก็ได้สัมผัสในสิ่งที่นำศาสนาไปสู่ความเสื่อม อาศัยศาสนาเป็นช่องทางในการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์บางสิ่งบางอย่าง บิดเบือนพระธรรมคำสอน ชักจูงให้คนลุ่มหลงในอภินิหาร เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ อวดอุตริ ทำผิดกฎของสงฆ์ ไม่ปฏิบัติตนอยู่ในศีล 227 ข้อ แม้แต่ศีล 5 ยังรักษาไม่ครบ”
คนกลุ่มนี้สำหรับนิพนธ์จึงเปรียบเหมือน บัวเหล่าที่ 4 ที่ติดอยู่ในโคลนตม ไม่สามารถโผล่พ้นน้ำ เพราะตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา ราคะ ความโกรธ ความโลภ และความหลง
“คนกลุ่มนี้ในภาพวาดของผม จึงมีศีรษะเป็นรูปดอกบัว เพราะไม่มีตา หู จมูก ปาก ไม่ว่าใครจะสอนธรรมให้อย่างไรก็ไม่สามารถรับได้”
ภาพวาดแต่ละภาพของนิพนธ์ นำเสนอด้วยโทนสีเหลืองคล้ายสีของจีวรพระ เพราะนอกจากจะเป็นสีที่สื่อถึงพุทธศาสนา ยังเป็นสีที่นิพนธ์เห็นว่า ผู้ชมน่าจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่รุ่มร้อน คล้ายกำลังดิ้นรนต่อสู้ และมีความทุกข์พลุ่งพล่านอยู่ข้างใน
นิพนธ์เป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และขณะนี้ใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ที่ จ.ภูเก็ต
ต่อจากภาพวาดชุด 'กงล้อแห่งทางสายดำ' สะท้อนเรื่องราวของกลุ่มคนซึ่งเปรียบเหมือนบัวเหล่าที่ 4 นิพนธ์ได้วางแผนสร้างสรรค์ผลงานชุดต่อไปอีกสองชุดเอาไว้แล้ว
“ภาพวาดชุดต่อไปของผมชื่อชุดว่า ‘เส้นทางสู่นิพพาน’ สะท้อนเรื่องราวของกลุ่มคนซึ่งเปรียบเหมือน บัวเหล่าที่ 3และ2 ที่แม้จะโผล่พ้นน้ำแล้ว ก็ยังมิวายโดนพวกมาร กิเลส ตัณหา ราคะ มาคอยก่อกวน และอีกชุดคือ ‘นิพพาน’ สะท้อนเรื่องราวของกลุ่มคนซึ่งเปรียบเหมือน บัวเหล่าที่ 1 (เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที)”
กงล้อแห่งทางสายดำ (Wheel of a dark soul)นิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปะ โดย นิพนธ์ จังกินา วันนี้ – 23 มกราคม พ.ศ.2559 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เชิญผู้สนใจไปชมและหาคำตอบด้วยตัวเองว่า อะไรที่ทำให้ภาพวาดเทคนิคสีน้ำมันชุดนี้ ซึ่งถือเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของนิพนธ์ ถูกนักสะสมจับจองไปแล้วทุกภาพ ระหว่าง การเลือกเรื่องราวมาสื่อสารได้ตรงใจผู้ชม หรือ องค์ประกอบทางศิลปะที่เจ้าตัวสามารถนำเสนอได้อย่างร่วมสมัยและมีพลัง
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.