ART EYE VIEW—ห้องนอนของคนจนๆจะมีใครสนคนจนอย่างเรา… หลายคนอาจนึกอยากฮำเพลง “ห้องนอนคนจน” ของ สายัณห์ สัญญา ขึ้นมาทันใด… เพราะหากเป็นเมื่อครั้งที่จิตรกรชื่อดังอย่าง วินเซนต์ แวนโก๊ะ ยังมีชีวิตอยู่ ห้องนอนของจิตรกรจนๆและถูกหญิงเมินตลอดเช่นเขา คงยากจะมีผู้ใดสนใจอยากเข้าไปพักค้างคืน
แตกต่างจากปัจจุบัน… ในช่วงเวลาของการจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียน ห้องนอนของแวนโก๊ะ (Van Gogh's Bedrooms) ณ สถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโก (The Art Institute of Chicago) ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 10 พฤษภาคม 2559
ขณะเดียวกัน เวบไซต์จองห้องพัก Airbnb ได้มีการเปิดให้จองห้องพัก(อยู่ไม่ไกลสถาบันศิลปะฯ) ซึ่งจำลองมาจากภาพเขียน Bedroom in Arles ของแวนโก๊ะ ในราคาคืนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 368 บาท โดยห้องพักถูกออกแบบและตกแต่งนานกว่า 4 สัปดาห์ โดยทีม ศิลปินและนักออกแบบ ของ Ravenswood Studio
ในช่วงปี ค.ศ.1888-1889 วินเซนต์ แวนโก๊ะ จิตรกรชื่อดังชาวดัชท์ ได้วาดภาพห้องนอนของเขาที่เมืองอาร์ลส์ในฝรั่งเศส ไว้ 3 ภาพ โดยแต่ละภาพมีโทนสีที่ใกล้เคียงกัน
ปัจจุบันนี้ ภาพห้องนอนของแวนโก๊ะทั้ง 3 ภาพ หนึ่งภาพเป็นสมบัติของสถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโก (The Art Institute of Chicago) ,หนึ่งภาพอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์วินเซนต์ แวนโก๊ะ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม (Van Gogh Museum, Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และอีกหนึ่งภาพอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ ในกรุงปารีส (Musée d’Orsay, Paris) ประเทศฝรั่งเศส
จากบทความชื่อ “Vincent van Gogh : จิตรกรอัจฉริยะผู้อาภัพ” คอลัมน์ “โลกวิทยาการ” เขียนโดย ศ.ดร. สุทัศน์ ยกส้าน เผยแพร่ผ่านหน้าข่าววิทยาศาสตร์ เวบไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาพ Bedroom in Arles ด้วยว่า
“ขณะพักอยู่กับ Theo ผู้เป็นน้องชายที่นครปารีส แวนโก๊ะต้องพึ่งพาน้องชายมากในเรื่องเงินทอง เพราะภาพต่างๆ ที่เขาวาด ไม่ว่าจะเป็นภาพดอกไม้ ภาพนิ่ง หรือภาพทิวทัศน์ ก็ไม่มีใครซื้อ แวนโก๊ะจึงรู้สึกเครียดมาก ที่ไม่มีใครเข้าในผลงานที่แสดงออกซึ่งอารมณ์ทุกอารมณ์ของเขา
ในปี 2430 แวนโก๊ะได้นำภาพวาดของตนออกแสดงที่ภัตตาคาร La Fourche และที่โรงละคร The'atre Libre และได้แสดงผลงานร่วมกับ Toulouse Lautrec ที่คาบาเรต์ Le Tambourin แม้คนเข้าชมจะมีนับพัน แต่ก็ไม่มีใครซื้อภาพของเขาเลย แวนโก๊ะจึงได้พยายามกำจัดความทุกข์ ความซึมเศร้า ด้วยการดื่มเหล้าหนักยิ่งขึ้น และเมื่ออาการซึมเศร้าทวีความรุนแรง จึงลาน้องชายเพื่อเดินทางไป Arles ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ Provence ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431 เพราะอากาศที่นั่นอบอุ่น และค่าครองชีพถูก อีกทั้งอยู่ห่างไกลจากคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์งานของเขาในแง่ลบ
ขณะอยู่ที่ Arles แวนโก๊ะได้เช่าห้องราคาถูกอยู่ และกินอาหารแต่เพียงน้อยนิด เพราะไม่ค่อยมีเงิน ภายในห้องจึงมีแต่สิ่งที่จำเป็น เช่น เตียง เก้าอี้ และโต๊ะทำงานเท่านั้น ผลงานที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ภาพ The Postman Roulin, House of Arles และ Bedroom in Arles กับภาพดอกทานตะวันที่มีสีสดใส เพราะถูกแสงแดดสาดส่อง และเส้นวาดในภาพเหล่านี้มีพลังเพราะแสดงอารมณ์และความรู้สึกมาก ดังเช่นภาพ Night Cafe ที่ แวนโก๊ะปรารภว่าเป็นสถานที่มั่วสุมของคนที่ชอบทำลายตนเอง หรือไม่ก็เป็นที่พบปะของคนบ้า”
ขณะที่ข้อมูลจากแหล่งอื่นได้พูดถึงภาพ Bedroom in Arles เอาไว้ว่า “การได้มองดูภาพ Bedroom in Arles ก็เปรียบเสมือนการได้พักผ่อนสมอง และปลดปล่อยจินตนาการให้เพ้อฝันไกลออกไป
ภาพ Bedroom in Arles ของแวนโก๊ะ ได้กลายมา เป็นภาพที่มีชื่อเสียงในทางศิลปะ ความเรียบง่ายของภาพ แสดงให้เห็นถึง ครรลองของชีวิตที่สมถะ และเรียบง่าย หรือในอีกแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ภาพนี้ได้แสดงถึงมุมมองของ ศิลปินในยุคโรแมนติกผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อทุ่มเทให้กับงานศิลปะเท่านั้น”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.