ART EYE VIEW—สะท้อนมุมมองที่มีต่อคำว่า “ศิลปะ” และการบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินที่ใช้ตัวเองเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะการนำเสนอ “พื้นที่ตรงกลาง” ระหว่างวัฒนธรรมสองขั้วจากสองซีกโลกที่ศิลปินได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ ท่ามกลางยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกันผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
คือสิ่งที่ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินรุ่นใหม่แห่งยุคดิจิตอลผู้มีชื่อเสียงในนิวยอร์ก และ 1 ใน 25 ศิลปินไทยที่มีผลงานไปจัดแสดงในนิทรรศการ Thailand Eye ณ หอศิลป์ Saatchi กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ( ซึ่งขณะนี้นิทรรศการถูกนำมาจัดแสดงให้ชมที่ประเทศไทย ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ต้องการสะท้อนผ่าน ผลงานวิดีโอจัดวาง 3 ภาค ของตัวเอง ในนิทรรศการ “2012-2555,2556,2557” อันเป็นผลงานซึ่งเคยจัดแสดงในต่างประเทศมาก่อนและครั้งนี้เป็นการจัดแสดงครั้งแรกในประเทศไทย
จากกิจกรรมเสวนาพิเศษ หรือ Artist Talk ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน สถานที่จัดแสดงนอกจากผู้ชมจะได้พบปะ แลกเปลี่ยนมุมมองกับกรกฤต ศิลปินเจ้าของผลงานอย่างใกล้ชิด กรกฤตแห่งยังได้มาบอกเล่าถึงรายละเอียดและที่มาของผลงาน วีดีโอจัดวางทั้ง 3 ภาค ของตัวเองด้วย
เริ่มจาก ผลงานภาคแรก “2012-2555” เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงที่กรกฤตกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
จากความคิดที่กรกฤตเห็นว่า “วัตถุดิบของศิลปินอาจไม่ใช่ตัวงานศิลปะ หากแต่เป็นตัวศิลปินเอง” ผนวกกับความคิดถึงบ้านที่ประเทศไทยและความห่วงใยในอาการป่วยของคุณตา ได้จุดประกายให้เขาสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ประเทศไทยเป็นพื้นเรื่องหลัก มีคาแรคเตอร์หลักคือ “จิตรกรผ้ายีนส์” ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานวิดีโอที่สะท้อนถึง“ความผันเปลี่ยน ในชีวิต” ของเขา อาทิ สนามหญ้าในบ้านที่กำลังจะกลายเป็นบ้านพักคนชราของคุณตาและคุณยาย
ต่อด้วยผลงานภาคที่สอง “2556” ในช่วงต้นของผลงานวิดีโอชิ้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางของเขาเมื่อครั้งเดินทางไปสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกับศิลปินอีก 65 คน ณ เมืองแห่งหนึ่งที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ใช้อย่างจำกัด คล้ายกับว่าตัวเขาได้ตัดขาดจากโลกภายนอกเสมือนอยู่ในโลกหลังความตายที่ไม่สามารถกลับมายังโลกมนุษย์ได้ จากนั้นได้ตัดสลับมายังโลกปัจจุบันที่ “ดิจิตอล” เข้ามามีอิทธิพลอันทรงพลัง โดยเฉพาะคลิปวิดีโอการแสดง Body Painting ของ ดวงใจ จันทร์สระน้อย ที่หลายคนเคยชมผ่านรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเล้นท์ ซึ่งเป็นคลิปอื้อฉาวที่ต่อมาได้นำไปสู่การสนทนาระหว่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กับพิธีกรชื่อดังในประเด็นความหมายของ ศิลปะที่ดีหรือไม่ดี ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ซึ่งเหตุการณ์นี้เองได้ดึงให้กรกฤตเข้ามาสนใจในเรื่องการหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างสิ่งสองขั้วที่แตกต่างบนพื้นฐานของคำว่า “ศิลปะ”
ขณะที่ผลงานภาคที่สามอย่าง “2557 (Painting with history in a room filled with men funny names 2)” เป็นการเดินเรื่องต่อเนื่องจากวิดีโอในภาคที่สอง จากการตีความนิยามศิลปะของ Body Painting มาสู่เรื่องราวของ “วัดร่องขุ่น” โดยกรกฤตได้หยิบยกเนื้อหาของสิ่งสองขั้วที่แตกต่างกันมาทำลายกรอบการแบ่งแยก จนได้เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึง “ความเหมือนในความแตกต่าง” โดยเฉพาะนิยามที่แท้จริงของศิลปะและความหมายของคำว่า “ศิลปะที่ดี” และ “ศิลปะที่ไม่ดี”
กรกฤตนำเสนอออกมาในรูปแบบ Road Trip Movie หรือการเดินทางระหว่างเขาและพี่ชายฝาแฝด กรพัฒน์ อรุณานนท์ชัย เพื่อไปสู่เส้นทางระหว่างวัฒนธรรมป๊อบปูล่าร์และจิตวิญญาณ โดยใช้การไปเที่ยววัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เป็นตัวเดินเรื่อง และท้ายที่สุดท้ายได้ตั้งคำถามว่า
“หากพุทธศาสนาเปรียบเป็นจิตใต้สำนึกของเมืองไทยและอุตสาหกรรมทางเพศเปรียบเหมือนกับจิตไร้สำนึก หากจะนำเอาสำนึกทั้งสองส่วนมาเจอกันโดยใช้ผลงานจิตรกรรมเป็นพื้นที่ตรงกลางจะได้หรือไม่”
นิทรรศการวิดีโอจัดวาง “2012-2555,2556,2557” โดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย วันนี้ – 10 กันยายน พ.ศ.2559 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน โทร. 0-2612-6741
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.