Art Eye View

“มนุษย์ปากคลองฯ” ภาพถ่ายสะท้อน ระบบนิเวศขนาดใหญ่ ของผู้คนที่อาศัยอยู่ใน “ปากคลองตลาด” ตลาดดอกไม้ใหญ่อันดับ 4 ของโลก

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ความมีชื่อเสียงของ “ปากคลองตลาด” ในฐานะตลาดดอกไม้ขนาดใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร และติดอันดับต้นๆของโลก ที่หลายคนคุ้นเคย บวกกับข่าวคราว “การจัดระเบียบ ปากคลองตลาด” ของกรุงเทพมหานคร ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่บางกระแสทำให้เชื่อด้วยว่า ไม่ใช่แค่การจัดระเบียบ แต่คือการไล่รื้อ เพื่อหวังพัฒนาพื้นที่ใหม่ ทำนองว่าในอนาคตจะไม่มีปากคลองตลาดให้ไปเดินเลือกซื้อหาดอกไม้อีกต่อไปแล้ว

ทำให้นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รายวิชาการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและการพัฒนาชุมชน หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 6 คน ได้แก่ เดชพงษ์ จิตรพงษ์,ปริญญา มรรคสิริสุข,ป่านธันวา พัฒนกุลชัย,ศศมน รัตนาลังการ,สันติ กมลนรากิจ และ Chanththanom Soukhaseum(นักศึกษาชาวลาว) โดยมีที่ปรึกษา ได้แก่ ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์,ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ และรศ.ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล เลือกลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกภาพเกี่ยวกับ “ปากคลองตลาด” จนล่าสุดนำมาสู่นิทรรศการภาพถ่าย  Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ ซึ่งขณะนี้กำลังจัดแสดงให้ชม (ระหว่าง 6-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559) ณ ท่าเรือด่วนยอดพิมาน


นอกจากภาพถ่ายแต่ละภาพ ซึ่งถ่ายโดย ศศมน รัตนาลังการ (ผู้เคยมีผลงานภาพถ่ายที่บันทึกภาพโรงเรียนทางเลือก จำนวน 24 แห่ง ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร a day) จะบันทึกภาพความหลากหลายของผู้คนที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในปากคลองตลาด ตลอดจนผู้คนภายนอกที่แวะเวียนไปยังปากคลองตลาด ด้วยเหตุผลต่างๆ

ตัวอักษรที่โปรยไว้บนภาพถ่าย ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาเหล่านั้นกับปากคลองตลาดในด้านต่างๆ และสะท้อนความเห็นของพวกเขาด้วยว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างหากไม่มีปากคลองตลาด ตัวอย่างเช่น

“ขายตั้งแต่สมัยมีรถราง ตอนเป็นเด็กก็วิ่งอยู่แถวนี้ วิ่งขายของนะ ไม่ได้วิ่งเล่น” ป้าดา ปากคลอง

“ผมทำงานกับแม่ ตี 5 ถึง 9 โมงเช้า ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย” ดิว

“พี่พบรักกับสามีที่นี่ เค้าขายเทปอยู่หน้าโรงหนังเอ็มไพร์” ทองสาย นวลนุกูล

“มาลัย 1 พวง มีอะไรบ้าง? ดอกรัก ก็กระทบสวนดอกรัก มะลิ ก็กระทบสวนมะลิ สวนดาวเรือง สวนกุหลาบ โบว์ที่ผูก ก็คนที่อยู่อยุธยาที่ยากจน ทำนาเสร็จเขาก็เย็บโบว์” ป้าเยาว์

“มาซื้อดอกไม้ไปงานปัจฉิมฯ ปกติหนูใช้ชีวิตอยู่แต่แถวสยาม ไม่รู้ว่าจะมีของเยอะขนาดนี้“ เบนซ์ กุ๊บกิ๊บ ศิริรัตน์

“แม่ค้าในปากคลองฯใส่เสื้อพี่นี่แหล่ะ พี่เลือกแบบเอง เราต้องรู้ด้วยว่าลายอะไรที่เค้าชอบ” คนขายเสื้อ

“ดูสิ แบงค์ที่ปากคลองมีเยอะมาก เพราะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ มีตั้ง 11 แบงค์ ถ้าปากคลองตลาดหายไป ไม่มีคนขาย ไม่มีคนฝากแบงค์ จบเลยนะ” ป้าต้อย

“ฝรั่งเค้าไม่ได้มองว่ามันรก เค้าถือว่าเป็นเสน่ห์” พี่สมบูรณ์(ไกด์)

“ไม่รู้ ไม่ผูกพันอะ ไม่รู้จะพูดอะไร พูดภาษาไทยไม่ค่อยเป็น” เพ็ญ คนงานเขมร

ในวันเปิดนิทรรศการฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ป่านธันวา พัฒนกุลชัย ตัวแทนนักศึกษาทั้ง 6 คน ให้ข้อมูลกับ ART EYE VIEW ว่า ปัจจุบันสถานะของปากคลองตลาดคือ ยังไม่ได้มีการไล่รื้อตามที่หลายคนเข้าใจ ทว่ามีการจัดระเบียบ เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยไม่ให้มีการค้าขายดอกไม้บริเวณริมทางเท้าทั้งสองฝั่งถนน ในช่างกลางวัน แต่อนุญาตให้ขายได้ตามเดิม ในเวลา 20.00 – 04.00 น.

หลังจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกภาพ ข้อมูลที่น่าสนใจของปากคลองตลาดในสายตานักศึกษาทั้ง 6 คน มากกว่าการเป็น “ตลาดค้าดอกไม้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก” คือการเป็นพื้นที่ ที่มีผู้คนหลากหลายอาชีพใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบนิเวศ และ ถือเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อีกแห่งหนึ่งของประเทศ

“มีคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ อาศัยและทำมาหากิน แบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ที่นี่ มีแม่ค้าที่ต้องขายประจำอยู่ที่แผงตลอด เพราะปากคลองตลาดเป็นตลาดที่เปิด 24 ชั่วโมง มีอาชีพคนเดินขายเสื้อผ้าตามแผง เพราะแม่ค้าไม่มีเวลาไปชอปปิ้ง มีคนส่งอาหารตามสั่ง มีคนเข็นดอกไม้ เข็นผัก ฯลฯ”


นอกจากนี้ความเห็นของคนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบปากคลองตลาด ผ่านการเก็บข้อมูลของนักศึกษากลุ่มนี้ สะท้อนว่าปากคลองตลาดเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด

“ส่วนใหญ่เห็นว่าถ้าจะมีการจัดระเบียบพวกเขาก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม เช่น การเปิดพื้นที่ให้คนสัญจรได้สะดวก หรือแม้แต่ไม่ยอมให้ขายช่วงกลางวัน แต่อย่าถึงขนาดไล่พวกเขาไปอยู่ที่อื่นเลย และบางส่วนก็มองว่า การจัดระเบียบอาจจะส่งผลดีในระยะยาว

(พวกเขายอมรับไหมว่า การค้าขายดอกไม้ริมถนนแบบแต่ก่อนมีส่วนทำให้รถติด ?) มีบ้างเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่พวกเขาก็ยังอยากให้มันมีอยู่เหมือนเดิม แม้แต่เวลาที่เราถามจากคนนอก ที่ไม่ใช่แม้ค้าหรือคนที่อาศัยอยู่ที่ปากคลองฯ แต่เป็นคนที่มาจากที่อื่น พวกเขาบอกว่าตรงนี้มันเคยมีเสน่ห์ เขาไม่อยากให้มันหายไป”

นักศึกษากลุ่มนี้ ออกตัวว่า การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล บันทึกภาพ และจัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มใดโดยเฉพาะ ทั้งคนที่สนับสนุนและคนที่คัดค้านการจัดระเบียบปากคลองตลาด แต่ต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดปัจจุบันและอนาคตของปากคลองตลาด

“เราแค่แสดงให้คนที่มาชมนิทรรศการได้เห็นว่ามันเป็นพื้นที่ๆน่าสนใจ เป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่ง เราไม่ต้องการชี้ว่าแบบไหนถูกผิด หรือเข้าข้างใคร เราเสนอข้อมูลให้คนได้คิดต่อมากกว่าว่า ปากคลองตลาดควรจะเป็นไปในรูปแบบไหน”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ










ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It