ART EYE VIEW—หากพูดถึง “จิต” คนส่วนใหญ่อาจไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้ แต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นั้นสามารถอธิบายออกมาผ่านตัวหนังสือเป็นพระราชนิพนธ์ เรื่อง “จิตตนคร” เป็นการยกเปรียบเทียบจิตกับเมืองที่เราอยู่อาศัย
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เล่าว่า พระนิพนธ์เรื่อง “จิตตนคร” นั้น มีการพิมพ์ออกมาหลายครั้ง แต่อาจจะรู้จักกันเพียงในวงการพระสงฆ์หรือนักอ่านหนังสือของสมเด็จพระสังฆราชฯ เท่านั้น ซึ่งช่วงหลังมานี้มีความพยายามจะนำพระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชฯ สื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้นรูปแบบการนำเสนอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงพระนิพนธ์ง่ายขึ้น
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และคิดนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบใหม่ตลอดเวลา ซึ่งยุคหนึ่งพระองค์เคยเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารศรีสัปดาห์ และทรงเคยจัดรายการ วิทยุ อ.ส. เกี่ยวกับการบริหารจิต ดังนั้นการจะนำเสนอพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชฯ ต้องดึงตัวตนของท่านออกมา โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ เรามองหลายวิธี และได้มีจิตอาสากลุ่มหนึ่งที่อ่านพระนิพนธ์ “จิตตนคร” เข้ามาปรึกษาว่าจะทำเป็นแอนิเมชันได้หรือไม่ ตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่การนำเสนอต้องไม่ให้ผิดเพี้ยน มีความกระชับและสื่อออกมาได้ไม่ขาดตอน พยายามรักษาเนื้อหาสาระให้สมบูรณ์ตามพระนิพนธ์
เมื่อทดลองทำออกมา 1 ตอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับชมและกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องการเพราะคนจะได้มีจิตสำนึกในเรื่องความดีความชั่ว จึงส่งเสริมให้ทำเพิ่ม โดยหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งด้านการผลิตแอนิเมชันได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า (SIPA) ส่วนด้านการเผยแพร่ ได้รับความร่วมมือจากกรมการศาสนา
ด้านการออกแบบตัวละครนั้น พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า เราไม่ได้ออกแบบตัวละครแบบไทยจ๋า คือใส่โจงกระเบน เพราะปัญหาคือเด็กจะให้ความสนใจหรือไม่ เราไม่ต้องการติดตรงนั้น ดังนั้นแอนิเมชันนี้ จุดมุ่งหมายไม่ใช่ส่งเสริมวัฒนธรรมแต่ส่งเสริมการเป็นสากล ธรรมมะไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีเชื่อชาติ เป็นเอเชีย เป็นยุโรป ดังนั้นการนำเสนอตรงนี้ต้องเป็นสากล การออกแบบตัวละครจึงเป็นสากลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หากเราเอาเพียงความเป็นไทยเข้ามา ก็จะได้เฉพาะคนไทย แต่พระพุทธศาสนาไม่เฉพาะของคนไทย พุทธศาสนาเป็นของสากล ไม่เฉพาะประเทศที่นับถือหรือไม่นับถือ ทั้งนี้สื่อดี ๆ อย่างนี้หายากไม่มีคนทำ จึงต้องอาศัยรัฐบาลเข้ามาช่วยเผยแพร่ ทั้งนี้การเผยแพร่เราพยายามเข้าสู่โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมและต่อยอดจากแอนิเมชัน ไปสู่เกม มาสคอต ซึ่งไม่ใช่เพื่อการค้าทางธุรกิจ แต่ทำขึ้นเพื่อความเข้าใจเนื้อหาสาระโดยเฉพาะในเรื่องของธรรมะ พร้อมกันนี้ต้องการขยายพระนิพนธ์นี้ให้เข้าถึงประชาชนทุกคน โดยการเผยแพร่จะเน้นที่ประเทศไทยก่อน จากนั้นก็จะขยายไปยังต่างประเทศ เราก็พยายามให้มีความเป็นสากลในการเผยแพร่
“ชีวิตเราทุกวันนี้อยู่ด้วยสงครามจิตวิทยา เรื่องของ “จิตตนคร” ทุกตอนจึงเข้ากับทุกคน เมื่อมีการนำมาสร้างเป็นแอนิเมชันก็เป็นการขยายช่องว่างของจิตนาการมากขึ้น โดยในต่างประเทศก็มีแอนิเมชันที่มีเนื้อหาเรื่องของจิตเช่นนี้คือ เรื่อง Inside out แต่เนื้อหายังเข้าใจยากอยู่ต่างกับของสมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านสามารถอธิบายเป็นรูปธรรมให้คนเข้าใจง่าย”
ด้าน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนและสานต่อการนำพระนิพนธ์ “จิตตนคร” มาผลิตในรูปแบบแอนิเมชัน ซิป้าก็ได้รับช่วงต่อตรงนั้น เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในด้านงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิค และจากที่ซิป้าเคยทำแอนิเมชัน เรื่อง “พระมหาชนก” แล้วได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ซิป้าจึงได้นำคนที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้เข้ามาร่วมทีมอีกครั้ง ทางซิป้าจะผลิต แอนิเมชันชุดนี้ออกมาในชื่อ “เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร” จำนวน 29 ตอน คาดว่าปลายปีนี้จะเสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้ผลิตไปแล้ว 9 ตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนทางพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ได้กรุณาตรวจสอบความถูกต้องและปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับพระนิพนธ์มากที่สุด พร้อมทั้งมีส่วนร่วมการออกแบบลักษณะของตัวละคร
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องธรรมมะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน หวังว่าแอนิเมชัน “เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร”จะเป็นชุดที่ย่อยง่ายและหากต้องการเข้าใจให้ลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น พระนิพนธ์จริง ๆ ของสมเด็จพระสังฆราชฯ ก็อ่านง่ายไม่แพ้กัน นอกจากนี้เราไม่ต้องการให้นักเรียนอยู่แต่ในตำรา แต่ต้องการให้ออกมาหาความรู้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องมีคอนเทนต์ที่ดี เพื่อให้เด็กไปหาให้เจอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าให้เขาออกไปหาแล้วไม่มีของอะไรดี ๆ วางไว้เลย โดยเราอยากให้คุณครูหรือโรงเรียนได้ให้เด็กลองดูเนื้อหาเหล่านี้มากขึ้น
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.