ART EYE VIEW—แวดวงศิลปะอาลัยกับการจากไปของ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนภาพเหมือนบุคคลอันดับต้นๆของเมืองไทยและอาจารย์สอนศิลปะแห่งรั้วเพาะช่าง
อ.ปัญญา เกิดที่ จ.สมุทรสาคร ความสนใจในศิลปะเริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งเรียนมัธยมเนื่องจากมีโอกาสเรียนกับ ดำรง เล็กสวาสดิ์ ครูสอนศิลปะแห่งโรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่าเพาะช่าง และส่วนหนึ่งมีความประทับใจในความสวยงามของลายดอกกุหลาบที่พิมพ์อยู่บนจานชามที่บ้าน จนทำให้อยากวาดภาพ
ทำให้ในเวลาต่อมาตัดสินใจศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ที่โรงเรียนเพาะช่าง และ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร กระทั่งสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่รั้วเพาะช่าง ในปี พ.ศ.2515
ตลอดชีวิตของการเป็นศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะที่รั้วเพาะตั้งแต่เริ่มบรรจุกระทั่งเกษียณอายุราชการ เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ชื่อของ อ.ปัญญาจะเป็นที่กล่าวถึงในแง่ของการเป็นครูผู้ทุ่มเทและมีความเมตตากับลูกศิษย์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีฐานะยากจน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนศิลปะและทำงานศิลปะต่อไปได้ อ.ปัญญามักจะเจียดรายได้ส่วนหนึ่งของตัวเองมาช่วยเหลือ อีกทั้งความเป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ทำให้เป็นที่เคารพรักของนักศึกษาทั่วไป แม้จะไม่เรียนศิลปะกับ อ.ปัญญา โดยตรง
นอกจากนี้ในแง่ของการเป็นศิลปิน อ.ปัญญายังมีชื่อเสียงในด้านการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคสีชอล์ก โดยเบื้องต้นได้แรงบันดาลใจและศึกษาจากผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต อาทิ จำรัส เกียรติก้อง,เฉลิม นาคีรักษ์ ฯลฯ
ตัวอย่างผลงานชิ้นสำคัญของ อ.ปัญญา อาทิ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์สาร,ภาพเหมือนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งขณะนี้ภาพชิ้นนี้ติดประดับไว้ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, ภาพเหมือนเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ,พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร,รวมถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากทางวัดให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวช,ภาพเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช,พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บนหนังสือที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เล่มสีเหลือง ซึ่งแจกโดยกรุงเทพมหานคร ฯลฯ
และหากใครที่มีโอกาสเข้าไปในห้องโถงอาคารอำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ก็จะเห็นภาพเขียนสีชอล์กผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารของโรงเรียนเพาะช่างทุกพระองค์และทุกคนนับแต่ที่โรงเรียนเพาะช่างก่อตั้งเมื่อปี 2456 ซึ่งภาพเขียนหลายภาพเขียนโดยของ อ.ปัญญา รวมถึงพระบรมสาทิสลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระผู้สถาปนาโรงเรียนเพาะช่างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ผลจากการอุทิศตนรับใช้สังคมทั้งทางด้านศิลปะและพระพุทธศาสนา ทำให้ในปี พ.ศ.2545 มูลนิธิ ม.ล.ปิ่น มาลากุล มอบรางวัล “ศาสตรเมธี” สาขาศิลปกรรมศาสตร์ด้านจิตรกรรมศาสตร์ ให้แก่ อ.ปัญญา และต่อมาในปี พ.ศ.2556 ยังได้รับ “รางวัลต้นธารศิลป์” จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
“ภาพเหมือนที่ผมชอบเขียนที่สุดคือภาพพระสงฆ์เพราะเขียนได้ง่ายและท่านนำจิตใจเราไปสู่ความดี กิเลสลดลง” ความรู้สึกส่วนหนึ่งของ อ.ปัญญา ที่มีต่อผลงานภาพเหมือนบุคคลของตนเอง
หมายเหตุ : อ.ปัญญา มีโรคประจำตัวที่เป็นมานานหลายปีคือ โรคเบาหวาน ในช่วงเช้าของวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2559 มีผู้พบเห็น อ.ปัญญามีอาการช็อคหมดสติภายในรั้วเพาะช่าง กระทั่งเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายหลังจากที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ อ.ปัญญา หรือ “ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู” จัดให้มีขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2559 เวลา 17.00 น. และสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 1 กันยายน พ.ศ.2559 เวลา 18.30 น. ณ ศาลา 10 วัดโสมนัสราชวรวิหาร จากนั้นจะมีพิธีบรรจุศพ 100 วัน
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.