ART EYE VIEW—“ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่วันครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในอดีต อย่างวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ,วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และอีกหลายเหตุการณ์เวียนมาถึง เหมือนว่าคนรุ่นต่อๆมาจากรุ่นที่เคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ หรือรุ่นปัจจุบันไม่มีความทรงจำร่วม หรือมีเรื่องราวของเหตุการณ์เหล่านั้นอยู่ในหัวเลย
สังเกตได้จากการโพสต์ข้อความใน facebook หรือ social network ต่างๆ แทบไม่มีใครเลยที่พูดถึงเรื่องราวเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะพูดแค่เรื่องตัวเองไปเที่ยวที่ไหน ไปกินอะไร หรือว่าเรื่องราวของเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในอดีตเป็นแค่เรื่องสำคัญสำหรับคนบางกลุ่ม บางคนเท่านั้น คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาจจะไม่ได้รู้สึกหรือสนใจมันด้วยซ้ำ”
ชุมพล คำวรรณะ ศิลปินชาว จ.ชลบุรี วัย 43 ปี ศิษย์เก่ารั้วเพาะช่าง บอกเล่าถึงที่มาของภาพเขียนใน “เซลฟี่ ซีรีย์ (ตุลา)” นิทรรศการศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ทางการเมือง วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
ภาพเขียนที่ไม่เพียงนำภาพเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในอดีตที่เคยถูกบันทึกไว้ในภาพถ่ายมานำเสนอ แต่ยังผสมวัฒนธรรมเซลฟี (Selfie) ของคนในยุคปัจจุบันเข้าไปด้วยโดยที่ชุมพลใช้ตัวเองเป็นแบบ เพื่อสะท้อนให้คนในยุคปัจจุบันจำนวนมาก ที่เขามองว่าหมดเวลาไปกับการสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ได้หันมามองสังคม สนใจที่จะเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน
“ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์บางด้านของบางเรื่องอย่างลึกซึ้ง ผมเชื่อว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตอย่างเข้าใจตัวเอง สังคม หรือสภาพแวดล้อมรอบๆตัวเรา เมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว ผมคิดว่าสังคมเราจะน่าอยู่และใช้ชีวิตง่ายขึ้น
งานชุดนี้ผมก็เลยเอาเหตุการณ์ในอดีต กับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในโลกปัจจุบันมารวมกันในภาพของผม และผมคิดว่าการเซลฟี่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับคนทั่วโลก มันสะท้อนถึงการมองมาที่ตัวเอง ต้องการให้ตัวเองมีพื้นที่ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงหรือโลกของความเป็นจริง
เราทุกคนต้องการให้ตัวเองมีพื้นที่ยืน มีพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งมันขัดแย้งกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผมนำเอามาวาด ถ้าเรามองให้ลึก เราจะเห็นว่าคนในยุคอดีตเขาทำอะไรเพื่อส่วนรวม เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเองและผมคิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจหลัก ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ เราต้องนึกถึงส่วนรวมด้วย ถ้าเราคิดถึงแต่ส่วนตัวโลกมันน่าจะวุ่นวาย และปัจจุบันมันก็เริ่มวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสังเกต”
ขณะเดียวกันชุมพลก็ได้ตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่า การที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในอดีต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาถูกเบี่ยงเบนความสนใจ หรือถูกทำให้ลืมมันไป
“ส่วนหนึ่งมันอาจจะถูกทำให้ลืมโดยใครก็ไม่รู้ โดยโลก สังคม ระบบการศึกษา หรือผู้มีอำนาจต่างๆ และอีกเรื่องหนึ่งผมคิดว่าเราเติบโตมาในระบบที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้ง ไม่อยากเห็นความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น
ผมคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรมของสังคมเราด้วย อย่างในละคร หรือในภาพยนตร์ เราแทบไม่มีการนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นจริงทางการเมือง จะมีแค่การนำเสนอสิ่งสวยๆงามๆ พระเอกสวย นางเอกสวย แต่พอเราจะพูดเรื่องความจริงทางการเมืองมันเป็นไปได้ยาก
มันคือการหล่อหลอมวัฒนธรรมทางความคิด ความรู้สึกของคนในบ้านเมืองเรา เวลาพูดเรื่องการเมือง ทุกคนจะมองว่ามันเป็นเรื่องรุนแรง หลายๆคนอาจจะละไว้เป็นเรื่องส่วนตัว เลือกที่จะไม่พูด ยิ่งพูดใน social network แล้ว อาจจะมีผลกระทบกับตัวเองได้ เมื่อปัจจุบันไม่ค่อยมีการพูดถึงจึงทำให้เหตุการณ์สำคัญในอดีตค่อยๆถูกลืมไป”
บวกกับโลกในยุคปัจจุบันที่การแสดงออกของผู้คนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการคิดไตร่ตรองมีน้อยลงทุกที ชุมพลคิดว่า การที่จะทำให้ผู้คนผละจากตัวเองแล้วหันมามองส่วนรวม มองสังคมมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
“ต้องยอมรับว่าโลกมันหมุนเร็วมาก การที่คนจะหยุดเพื่อใช้ความคิดไตร่ตรองในเรื่องต่างๆ มันเป็นไปได้ยาก ในโลกโซเชียลบางทีคนคิดอะไรได้ก็รีบโพสต์เลย การไตร่ตรอง การคิดทบทวนแทบจะไม่มีเลย และสุดท้ายสิ่งที่โพสต์มันกลายเป็นผลกระทบต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อคนรอบข้าง โดยที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง
การจะทำให้คนในสังคมหันมาสนใจสังคมส่วนรวม ผมว่ามันเป็นไปได้ยาก มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ผมเชื่อว่าคนที่เขาสนใจเขาก็ยังสนใจอยู่ ส่วนคนที่เขาไม่สนใจ เราจะไปบอกว่าเขาผิดมันก็ไม่ใช่อีก”
คน สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนทำงานศิลปะเช่นชุมพลและถูกนำเสนอผ่านผลงานของเขามาโดยตลอด
ตัวอย่างเช่น “365 พื้นที่ความสุข” นิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยวของเขาที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชุมพลวาดภาพใบหน้าของคนหลากเพศ หลากวัย หลากการศึกษา หลากอาชีพ โดยมีพื้นหลังเป็นลายพราง ลงบนเฟรมผ้าใบที่มีความยาวของแต่ละด้านไม่เท่ากัน แต่ทุกด้านเมื่อรวมกันแล้วจะมีความยาวเท่ากับ 365- 366 เซนติเมตร หรือเท่ากับจำนวนวันใน 1 ปี
ภาพเหล่านั้นถูดวาดขึ้นในช่วงเวลาตลอดหนึ่งปีนับตั้งแต่ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก้าวเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ พร้อมด้วยนโยบาย “คืนความสุขให้กับประชาชน” นโยบายที่ชุมพลมองว่า ยังเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองที่แอบแฝงโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้นเอง
“งานชื่อพื้นที่ความสุข แต่ใบหน้าของแต่ละคนที่ผมเขียนแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ ผมต้องการจะบอกว่าจริงๆแล้วความสุขของคนเรา ไม่มีใครหยิบยื่นให้เราได้ นอกจากเราจะใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถในการตัดสิน และนำพาชีวิตของเราให้ดำเนินไปอย่างมีความสุขมากกว่า”
นอกจากนี้เจ้าของภาพเขียนซึ่งมักจะเขียนภาพด้วยสโตรกขนาดใหญ่และบ่อยครั้งที่เลือกใช้ตัวเองแบบ ทั้งในผลงานชุดก่อนหน้านี้และชุดล่าสุด ได้บอกถึงที่มาของสิ่งเหล่านี้ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในผลงานภาพเขียนของเขาว่า
“ในส่วนที่เอาตัวเองเป็นแบบในภาพเขียน ผมคิดว่ามันง่ายในการทำงาน ถ้าเราเอาตัวเองนำเสนอ เราไม่ต้อรอคนมาเป็นแบบให้เราซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะว่างเมื่อไหร่ และที่สำคัญถ้ามันมีผลกระทบ ผมรับผิดชอบเองดีกว่าที่จะให้คนอื่นมารับผิดชอบงานของผม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าการตีความของแต่ละคนเป็นยังไง เพราะความคิดของคนมันมีความหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเอาตัวเอง ผมคิดว่ามันน่าจะเวิร์คที่สุด เพราะว่าเราสามารถตอบคำถามได้หมดถึงสิ่งที่เราคิด
ส่วนเรื่องการเขียนภาพด้วยสโตรกใหญ่ๆ มันเป็นความรู้สึกภายในของผมมากกว่า ที่อยากกระแทก อยากปะทุมันออกมา มันพูดลำบาก เพราะว่าบางทีมันเป็นเรื่องของข้างใน ถ้าจะให้ผมมานั่งเกลี่ยให้เนียนๆ ผมทำไม่ได้ มันมีความอึดอัดอยู่ข้างใน แต่แบบที่เราทำ เวลาเขียน สิ่งที่อยู่ข้างใน สิ่งที่เราอยากพูด มันออกมาหมด
และบางทีมันสะท้อนถึงสภาพสังคมที่มันไม่ราบเรียบ มันมีความขรุขระด้วย”
นิทรรศการภาพเขียน “เซลฟี่ ซีรีย์ (ตุลา)” โดย ชุมพล คำวรรณะเปิดแสดงระหว่างวันที่ 1 – 30 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 10.00 น. – 21.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ พีเพิลส์ แกลเลอรี่ (P1 – P2) ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
และจะมีงานเปิดนิทรรศการ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ทางการเมือง วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นอกจากผู้ไปร่วมงานจะได้พบปะพูดคุยกับศิลปินเจ้าของผลงาน ยังมี แทน ราศนา ผู้ที่เคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ผู้ที่สนใจได้ฟังด้วย
“ผมตั้งใจว่า..จะวิเคราะห์สถานการณ์ 6 ตุลา 19 อย่างเป็นระบบ พยายามไม่เจือปนความแค้นที่อัดแน่นสุมทรวงอยู่ตลอดสี่สิบปี อยากฟังผมพูด-ระบายความในใจ ไปกันนะครับ ที่นิทรรศการจิตรกรรมของ หวาน-ชุมพล หอศิลป์กทม.พร้อมจะให้ซักไซ้ไล่เลียง ตอบทุกๆปัญหาที่คาใจนักสู้รุ่นหลังๆทุกคน..”
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.