หากจะมีใครสักคนมองเห็นความตายในแง่มุมที่งดงามและลึกซึ้งที่สุดหนึ่งในนั้นคงเป็นหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร จะเห็นได้จากภาพเขียนฝีพระหัตถ์ที่ฉาบฉายอยู่บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ และประโยคสั้น ๆ ที่ทรงตรัสไว้ว่า “ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา”
คนที่มีโอกาสได้ชื่นชมผลงานศิลปะจากปลายพู่กันของท่านหญิงมารศีฯ จะรู้สึกราวกับต้องมนต์เมื่อได้เห็นจินตนาการอันลึกล้ำของศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ ผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน จนถึงเทคนิคการวาดรูปและลงสีที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร
นิทรรศการของพระองค์จัดแสดงในเมืองไทยถึง 3 ครั้งในชื่อ ‘MARSI’ (2553) ‘L’art de Marsi’ (2556) และล่าสุด ‘Beauty and Ugliness: Aesthetic of Marsi’ (2561) ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ภัณฑารักษ์ ได้รวบรวมภาพเขียน ภาพร่างบนกระดาษไข ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ และหนังสือส่วนพระองค์ ตลอดจนภาพยนตร์สารคดีหาชมยาก มาจัดแสดงในห้องที่ทาบทาด้วยสีแดงเลือดนก ผสมผสานกับดอกไม้และสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรากฎให้เห็นบนภาพเขียนของพระองค์ขับให้ผลงานศิลปะทั้งโดดเด่นและเต็มไปด้วยพลัง ทั้งยังสร้างความประทับใจให้ผู้ชมเป็นอย่างมาก และหากคุณอยากชื่นชมผลงานของพระองค์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ร่วมกับ Google Arts & Culture นำนิทรรศการ‘Beauty and Ugliness: Aesthetic of Marsi’ ที่ตราตรึงกลับมาแสดงอีกครั้งในรูปแบบดิจิทัลบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชัน Google Arts & Culture ทั้งบนระบบ iOS และ Android ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สำคัญจากทั่วโลกมาจัดแสดงไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หนึ่งในนั้นคือผลงานของหม่อมเจ้ามารศีฯ ศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงและความภูมิใจให้กับคนไทยมากว่าทศวรรษ
จากห้องหนึ่งไปยังอีกห้อง นิทรรศการออนไลน์ที่จัดแสดงเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ‘หม่อมเจ้ามารศี ฯ เป็นใคร’ ‘ความรื่นรมย์ของสัตว์เลี้ยง นก และดอกไม้นานาพันธุ์’ ‘ความงามและความน่าเกลียด’ และ ‘ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย’ พาผู้ชมออกสำรวจโลกแห่งจินตนาการและตัวตนของหม่อมเจ้ามารศีฯ อย่างเงียบสงบ ทว่าเปี่ยมด้วยอรรถรสและรายละเอียดมากมายที่ซ่อนไว้ในภาพเขียนฝีพระหัตถ์ ให้ความรู้สึกราวกับกำลังท่องไปในนิทรรศการพร้อมกับภัณทารักษ์ส่วนตัว รวมถึงเริ่มต้นทำความรู้จักชีวิตและตัวตนของหม่อมเจ้ามารศี ฯ ผ่าน 5 ผลงานที่วิจิตรบรรจงเหล่านี้
The Ball (2532) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาด 130 x 195 ซม. หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของหม่อมเจ้ามารศี ฯ ที่สร้างสรรค์ด้วยสีสันสดใสตระการตา และได้รับรางวัลชนะเลิศจากกรรมการเยาวชนในเทศกาลศิลปะโปรวองซ์-อาร์ (Provence-Arts) เมื่อปี พ.ศ. 2534 การเต้นรำที่สนุกสนานของเหล่าสรรพสัตว์ภายในภาพเชิญชวนให้ผู้ชมพินิจรายละเอียดใกล้ ๆ ในทุกจุด
The Wall (2528) หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของหม่อมเจ้ามารศี ฯ บนผืนผ้าใบขนาด 114 x 146 ซม. ได้แรงบันดาลใจมาจากความฝันของท่าน แสดงภาพกำแพงสูงอันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างความเป็นและความตาย ด้านหนึ่งของกำแพงเต็มไปด้วยผู้คนที่อยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความรักและความสุขเมื่อได้เคียงคู่กับคนรัก ขณะที่อีกฟากของกำแพงแสดงภาพการพลัดพรากของคนที่เคยเคียงคู่ และการหวนคิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความอาวรณ์ ทั้งยังสะท้อนสัจธรรมของชีวิตว่า “ความเป็นและความตายไม่อาจแยกจากกันได้” นั่นเอง
The Mystical Marriage of Prince Noui Noui at Vellara (2546) เมื่อสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดทรงเลี้ยงตัวโปรดเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ก่อนที่หม่อมเจ้ามารศีฯ จะทรงจัดงานแต่งงานให้นั้น ท่านจึงทรงเนรมิตพิธีแต่งงานที่สวยงามอลังการนี้ขึ้นบนภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าขนาด 130 x 195 ซม. เพื่อระลึกถึงความรักและความผูกพันที่มีต่อ Noui Noui
Noah's Ark (2535) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาด 130 x 209 ซม. ถ่ายทอดเรื่องราวของเรือโนอาห์ในพระคัมภีร์ไบเบิล เมื่อพระเจ้าทรงปกป้องโนอาห์ ครอบครัว รวมทั้งสรรพสัตว์นานาชนิดจากอุบัติภัยน้ำท่วมโลก ท่านหญิงมารศี ฯ ทรงวาดภาพสัตว์น้อยใหญ่ที่ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับงดงามวิจิตรบรรจง ทั้งยังเปี่ยมด้วยบุคลิกโดดเด่นเฉพาะตัวและสะท้อนรสนิยมของศิลปินไว้อย่างลงตัว
Give me your Hand (2538) หม่อมเจ้ามารศี ฯ ทรงใช้สีน้ำเงิน ultramarine ซึ่งเป็นสีที่มีราคาแพงและดีที่สุดในยุคเรอเนอซองส์ ศิลปินในอดีตมักแต่งแต้มเสื้อคลุมของพระแม่มารีด้วยสีน้ำเงิน ultramarine เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์และอ่อนน้อมถ่อมตน (ในอดีตสีน้ำเงินเฉดนี้เคยมีราคาสูงมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2369 มีการประดิษฐ์สีสังเคราะห์ขึ้น) เพลิดเพลินกับภาพเขียนฝีพระหัตถ์และจินตนาการของท่านหญิงมารศี ฯ ผ่านนิทรรศการออนไลน์ได้ที่ https://artsandculture.google.com/partner/marsi-foundation?hl=th หรือทำความรู้จักกับชีวิตและผลงานของพระองค์ได้ที่ http://marsifoundation.org/home/
Comments are closed.