Advice

นันทินี อัมระนันทน์ เตรียมรับมือ “มะเร็ง” โรคยอดฮิตของคนยุคนี้

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>โรคมะเร็ง แม้จะเป็นโรคร้ายที่ใครๆ หวาดกลัว แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโรคนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่ใครๆ คิด ไม่เชื่อลองมองไปรอบๆ ตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง รับรองได้ว่าต้องมีใครสักคนที่คุณรู้จักเป็นโรคมะเร็ง เพราะทุกวันนี้โรคมะเร็งนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ตัวเลขของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ขยับเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นทุกปี

เซเลบริตีสาวสวย “แนน-นันทินี อัมระนันทน์” เองก็ตระหนักถึงโรคนี้ไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนที่ใกล้ตัวเธอที่สุดอย่างคุณแม่ (ฮอลลี่ อัมระนันทน์) ก็เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมและผ่านการรักษามาหลายปี ทำให้เธอต้องเริ่มมองหาวิธีเตรียมรับมือกับโรคร้ายนี้อย่างเท่าทัน ซึ่งวันนี้เธอก็ได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งอย่าง “นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มาช่วยให้คำแนะนำ

Q :: โรคมะเร็งที่พบมากสุดในเมืองไทย
A :: ปัจจุบันนี้คนไทยเราตรวจพบมะเร็งปีละกว่า 1.5 แสนราย และมีอัตราการตายสูงถึง 8 หมื่นคนต่อปี โดยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ทวารหนัก แต่ถ้าถามถึงโรคมะเร็งที่น่าเป็นห่วงที่สุด ต้องดูที่อัตราของผู้ที่เป็นแล้วมีจำนวนการเสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งตับ ที่สูงถึง 92-95% ส่วนมะเร็งปอด 80-90% มะเร็งปากมดลูก 60% มะเร็งลำไส้อยู่ที่ 50-60% ส่วนมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 30-35% นั่นหมายถึงว่า มะเร็งเต้านมอาจพบอัตราการเกิดสูง แต่มีการรักษาอยู่ในระดับดี มีโอกาสหายขาดมาก

Q :: วิธีการป้องกันและรักษาตัวเองให้ไกลจากโรคมะเร็ง
A :: เนื่องจากโรคมะเร็งเกิดจากพฤติกรรม และพันธุกรรม โดยมะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรมมีประมาณ 5-10% เกิดจากสารพันธุกรรมหรือยีนที่มีความผิดปกติ ซึ่งสามารถถ่ายทอดภายในครอบครัว เมื่อลูกหลานที่ได้รับยีนผิดปกติจึงมีการแสดงออกของโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความผิดปกติของยีนมาแต่กำเนิดที่จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะเกิดความผิดปกติของยีนหลายชนิดจนมากพอที่จะทำให้เซลล์เปลี่ยนไปเซลล์มะเร็ง สำหรับใครที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ถือได้ว่ามีความเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ จึงต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมและหมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาโรคเจอตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้สูง
ส่วนทางด้าน “พฤติกรรม” เกิดจากการประพฤติตัว เช่น ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดงมากเกินไป ฯลฯ ล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันคือ ลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยง พร้อมทั้งหมั่นตรวจคัดกรองเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลงไปได้มาก

Q :: การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นหรือไม่
A :: คนไทยจำนวนมากไม่นิยมตรวจประเมินค้นหาความเสี่ยงและตรวจคัดกรองหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม เนื่องจากมีความเชื่อหรือความคิดที่ว่า กลัวตรวจแล้วเจอ เจอแล้วก็จิตตก ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ไม่ตรวจเลยจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องใจเสีย ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องรับรู้อะไร ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากมีความเสี่ยงแล้วและไม่ตรวจคัดกรองเลย อาจทำให้ร่างกายย่ำแย่เมื่อมาปรากฏอาการป่วยของมะเร็งในขั้นระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย ที่โอกาสการรอดชีวิตต่ำมาก

Q :: โรคมะเร็งที่ผู้หญิงเราควรระวัง
A :: โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 13,000 คนต่อปี หรือ 35 คนต่อวัน หรือผู้หญิงไทย 1 ใน 33 คน มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่มะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาหายขาดสูง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยถือว่าต่ำกว่ามะเร็งชนิดอื่นมาก ดังนั้นถ้าสามารถพบเจออาการตั้งแต่ระยะต้นๆ มีโอกาสรักษาให้หายได้สูงมาก ผู้หญิงทุกคนจึงควรหมั่นตรวจเช็กร่างกายตัวเอง เบื้องต้นคือคลำเต้านมเพื่อค้นหาความผิดปกติด้วยตนเอง หรือจะตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ซึ่งจะช่วยให้ค้นเจอมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือระยะก่อนลุกลามได้

Q :: วิธีการดูแลตนเองหลังการรักษา
A :: เมื่อรักษาหายจากมะเร็งแล้ว ก็ต้องมีการตรวจประเมินติดตามถึงการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี หากพ้นระยะเฝ้าระวัง 5 ปีไปแล้วก็เรียกได้ว่าโอกาสที่มะเร็งจะย้อนกลับมาเป็นซ้ำมีน้อยมาก โดยอาจมีมะเร็งบางชนิดที่ต้องเฝ้าระวังประมาณ 10 ปี ซึ่งหลังจากรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจประเมินทุกปี หรือบางชนิดมะเร็งที่รักษาหายแล้วก็ต้องมาตรวจติดตามทุก 6 เดือนตามสูตรหรือตามไกด์ไลน์การรักษา นั่นเพราะโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำอยู่ที่ 5% ซึ่งไม่แน่ใจว่าเราจะเป็นคนส่วนใหญ่ที่หายขาดในกลุ่ม 95% หรือเป็นคนที่อยู่ในกลุ่ม 5%

Comments are closed.

Pin It