Advice

7 นิสัยไม่ดีถ่วงงาน! หยุดพฤติกรรมก่อนโดนเจ้านายเฉ่ง

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

นิสัยและพฤติกรรมแย่ๆ ของคุณ อาจทำให้ถ่วงงานถ่วงการ และถ่วงความสุขส่วนตัว แถมยังพลาดโอกาสงามๆ

ไม่เว้นแต่การเสพติดเฟซบุก (Facebook) บางรายถึงขั้นติดงอมแงมต้องไปเลิกวัดถ้ำกระบอก เปิดหน้าเฟซบุกค้างไว้หน้าจอ อัพเดตเรื่องตัวเองทุกนาทียิ่งกว่า Breaking News ซะอีกแน่ะ

อ๊ะ! ใครบ้างเอ่ย มีนิสัยไม่ดีถ่วงงาน เหมือน 7 ข้อต่อจากนี้บ้าง หรือท่านที่กำลังอ่านอยู่กำลังโดนเฟซบุกกลืนกินไปแล้วทั้งตัวโดยไม่รู้ตัว อุ้บส์!

พฤติกรรมถ่วงงานแรก
->เสพติดเฟซบุก ทวิตเตอร์

มันจะมีเหตุผลอะไรบ้างนะ ที่ทำให้คุณอยู่ห่างจากหน้าโลกโซเซียลเน็ตเวิร์กไม่ได้เลย ถ่ายรูปอัพขึ้นเฟซบุก แอบส่องหน้าเฟซฯ แฟน เพื่อน กิ๊ก ยิ่งกว่าสนใจงานเสียอีก

“การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจนถึงขั้นเสพติด มันจะกระตุ้นให้สมองได้รับความเคยชิน และกระทำการแบบนั้นอยู่เรื่อยๆ ” ดร.เดวิด ร็อก (David Rock) ผู้อำนวยการสถาบัน NeuroLeadership และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Your Brain at Work

“เช่นเดียวกับการกินช็อกโกแลต สมองจะหลั่งความสุขออกมา หากได้ทำสิ่งนั้น แต่บางครั้งคุณทำอะไรก็ตามมากกว่าความต้องการ เช่น การโพสต์ หรืออัพเดตเฟซบุก follow ทวิตเตอร์อยู่ตลอดเวลา มันทำให้คุณเสียสมาธิต่องานที่คุณต้องทำ และสิ่งเหล่านั้นจะหวนกลับมาเล่นงานคุณอย่างแน่นอน ประสิทธิภาพของงานคุณอาจถดถอย ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด เพราะมัวแต่เล่นเฟซบุกนั่นเอง” ดร.ร็อก กล่าว

มันทำให้เสียสมาธินะ การจดจ่อต่อสิ่งที่เราไม่จำเป็นในชีวิตมากเกินไป หรือการเล่นเฟซบุก ทวิตเตอร์ จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคุณได้ เพลาๆ ลงบ้างก็ดี เราควรลำดับความสำคัญให้ถูก ว่าอะไรมาก่อนหลัง กำหนดเวลาท่องโลกสังคมออนไลน์ คุณต้องทำจิตใจให้เข้มเเข็ง มิฉะนั้นอาจถูกดูดกลืนเข้าไปในโลกไซเบอร์อย่างไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็โดนไล่ออกจากงานซะงั้น” ดร.ร็อกแนะวิธีออกจากบ่วงหายนะเฟซบุก

ทำงานสร็จก่อนแล้วค่อยจุ้นเรื่องชาวบ้านก็ได้นะจ๊ะ ^^

พฤติกรรมถ่วงงานสอง
->พิมพ์อีเมลส่งงานแบบลวกๆ

“ข้อความในอีเมลแบบไม่ตั้งใจพิมพ์ ส่งแบบขอไปที อาจทำให้คนได้รับเกิดความสับสน โดยเฉพาะเรื่องงาน ดังนั้นหลังจากพิมพ์อีเมลเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบข้อความนั้นอย่างถี่ถ้วนก่อนจะเลื่อนเมาส์ไปคลิกกดส่ง แย่ไปกว่านั้นหากเป็นเรื่องงานอาจทำให้คุณชวดงานชิ้นโตได้ เพราะผู้อ่านอาจงง และลังเลใจต่อข้อความอีเมล”

ดร.ร็อก แนะนำว่า “การเขียนอีเมลเป็นการบันทึกความทรงจำแว้บแรกต่อผู้ได้รับข้อความ หากคุณยังไม่แน่ใจต่อสิ่งที่คุณเขียนลงในอีเมล เอางี้! บันทึกเป็นฉบับร่างไว้ก่อน อย่าเพิ่งส่ง รอให้จิตใจ และสมองปลอดโปร่งกว่านี้ ค่อยส่งกลับมาตรวจทานก่อนในฉบับร่าง ปรับแก้ให้ถูกใจจะดีกว่า

ประโยชน์ใช้สอยของอีเมลมีมากมาย ทำให้แสดงออกความสามารทางความคิด โลกทัศน์ได้เป็นอย่างดี แต่…สำหรับกรณีผู้เขียนไม่เก่ง แนะนำให้คุยทางโทรศัพท์จะดีกว่า กริ้งเดียวเอาอยู่ การสนทนาแบบตัวต่อตัวอาจลดช่องว่างของอารมณ์หรือการคิดไปเองในข้อความทางอีเมลได้” ดร.ร็อก กล่าว

พฤติกรรมถ่วงงานสาม
->ตั้งวงเม้าท์มอยในออฟฟิศ

“โอ้ยย เมื่อวานแกเห็นฉากเลิฟซีนณเดชน์ กับญาญ่า ป๊ะ น่ารักเว่อร์ น่าจะเป็นแฟนกันเนอะ แกว่าป๊ะ แกเห็นเสื้อสีชมพูของชมพู่ อารยาดิ เดี๋ยวชั้นจะไปหาซื้อมาใส่ไปแซ่บกับแฟนแหล่ะ”

การตั้งวงสนทนาในที่ทำงานเป็นสิ่งดี กระชับความสัมพันธ์ของเพื่อนฝูงได้ เท่ากับเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิดซึ่งกันและกัน

แต่หากรู้ตัวอีกที ว่าสิ่งที่กำลังพูดไม่ได้เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแต่เป็นการเม้ามอยปาปารัสซี่เรื่องชาวบ้าน หรือแชทกันเรื่องไร้สาระ พิมพ์กันยิกๆใน MSN พิมพ์เร็วยิ่งกว่าพิมพ์งานซะอีก งั้นโปรดหยุดพฤติกรรมนั้นเสียในเวลางาน


ดร.กล่าวว่า “แทนที่เราจะใช้พลังงานในการติฉินนินทาเพื่อนร่วมงานคนอื่น แล้วเก็บไว้อุทิศให้กับงานอย่างจริงจัง มันจะช่วยส่งเสริมให้งานเราดียิ่งขึ้น การเม้าท์ผู้อื่นในเวลาการเป็นการรบกวนสมาธิในการทำงานอย่างยิ่ง ควรใจจดใจจ่อในงานก่อนจะดีกว่ามั้ย”

พฤติกรรมถ่วงงานสี่
->ไร้สมดุลเรื่องงาน-เรื่องส่วนตัว

“คุณควรจัดการชีวิตของคุณให้เป็นเรื่องง่าย เพียงปลายสัมผัส ด้วยการแบ่งสรรปันส่วนชีวิตงานกับเรื่องส่วนตัวให้ดี โดยเริ่มต้นในแต่ละวันของการทำงานโดยการจดในสมุด หรือออแกไนเซอร์ ว่า วันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง เก้าโมงเช้านัดคุยงานกับลูกค้า บ่ายโมงเอารถไปเข้าศูนย์ เช็กกิโลฯ ตามระยะ บ่ายสามเข้าออฟฟิศประชุมงาน หนึ่งทุ่มนัดแฟนดูหนัง ห้าทุ่มชวนกิ๊กไปอาร์ซีเอ” ดร.ร็อก กล่าว

หากเราจัดการเวลาได้อย่างลงตัว ชีวิตส่วนตัวก็จะไม่หายไปในแต่ละวัน และคุณจะได้รับความสุขในชีวิตทุกๆวัน ไม่ต้องมานั่งรอวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันนักขัตฤกษ์ถึงได้มีความสุข นั่นเท่ากับว่า เดือนหนึ่งมีความสุขน้อยกว่าเวลางานอีก


ที่สำคัญ ควรจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง เช่น บางอย่างทำวันนี้ไม่ได้ เพราะไม่สำคัญเท่างานนี้ เวลาไม่พอทำให้กินเวลางานอื่น ก็เลื่อนเป็นพรุ่งนี้ยังไม่สาย เพราะหากทำอะไรก็ตามที่เกินตัว เกินแรง ก็ทำลายงานของคุณได้เช่นกัน


ชีวิตสั้นนัก ควรใช้เวลาในแต่ละวันให้มีความสุข ไม่ใช่เรื่องยาก!

พฤติกรรมถ่วงงานห้า
->ทัศนคติเชิงลบ

ทัศนคติเป็นดัชนีชี้ว่า บุคคลนั้นคิดและรู้สึกอย่างไรกับคนรอบข้าง วัตถุหรือสิ่งแวดล้อมตลอดจนสถานการณ์ต่างๆ โดยทัศนคตินั้นมีรากฐานมาจากความเชื่อที่อาจส่งผลถึงพฤติกรรมในอนาคตได้ ทัศนคติ จึงเป็นเพียงความพร้อม ที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า และเป็นมิติของการประเมิน เพื่อแสดงว่าชอบหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการสื่อสารภายในบุคคล ที่เป็นผลกระทบมาจากการรับสาร อันจะมีผลต่อพฤติกรรม

“อคติหรือทัศนคติเชิงลบสามารถลดคุณภาพของความคิดและงานของคุณ” ดร.ร็อก กล่าวจริงจัง

“หากคุณยึดติดกับงานจนเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะจะเครียดจนเกินไป แน่นอนการมีทัศนคติเชิงลบ และมีอคติต่อทุกสิ่งทุกอย่างมองโลกเป็นขาวดำมากจนเกินไป อาจทำให้งานของคุณเลวร้ายลง การมองทุกอย่างในเชิงลบ จะทำให้จิตใจคุณขุ่นมัว ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้ออกมาได้ การยึดติดต่อเหตุผล และความคิดของตนเองมากเกินไป จะทำให้เกิดการปิดกั้นทางความคิด ทำให้ไม่เปิดใจยอมรับผู้อื่นได้ จิตใจแคบ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น จึงทำให้มุมมองทางสังคมไม่เปิดกว้าง ถ่วงงานให้แย่ลง ถอยหลังลงคลองเข้าไปเรื่อยๆ

หรือแม้กระทั่งความเศร้าโศกเสียใจในช่วงเวลานั้น ยกตัวอย่างเช่น คนอกหัก จะเห็นได้เลยว่า ผลงานในช่วงนั้นของเขาผิดเพี้ยนจากงานในช่วงที่จิตใจเขาดีแค่ไหน การมีทัศนคติเชิงลบจะทำให้คุณไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการทำงาน แถมทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อยากสุงสิงกับคุณ มากไปกว่านั้น อาจถูกปล่อยเกาะลอยแพให้ทำงานคนเดียว เพราะมองซ้ายมองขวาก็มองอะไรแย่ไปหมด ไม่เคยคิดอะไรในแง่บวก ดังนั้นผลงานจะออกมาในแง่ลบตลอดเวลา” ดร.ร็อก กล่าว

พฤติกรรมถ่วงงานหก
->ไม่เสมอต้นเสมอปลาย ส่งงานช้าเป็นนิจ

“ไม่ควรทำงานแบบพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เช่น อาทิตย์นี้งานดีเยี่ยมไร้ที่ติ อาทิตย์ถัดมางานย่ำแย่ เละเทะไม่มีชิ้นดี หรือเคยส่งงานตามกำหนดมาตลอด วันดีคืนดีส่งงานสายไปหลายวัน การทำงานแบบไม่เสมอต้นเสมอปลาย จะทำให้ลดความน่าเชื่อถือของตนเอง” ดร.ร็อกกล่าว

“การส่งงานล่าช้าตามกำหนดอาจทำให้เราเกิดความเคยชิน คุณควรจัดการความคิดของตนเองให้ถูก เช่น จากจุด A ไปจุด B จะใช้เวลานานเท่าไหร่ หากเรานั่งทำงานประมาณ 2 ชั่วโมงจะได้งานกี่ชิ้น รวมถึงการทำงานแบบไม่เสมอต้นเสมอปลายทำให้ประสิทธิภาพ รวมถึงผลกระทบต่องานมากขึ้น ยิ่งกว่าสึนามิซัดเสียอีก ผลที่ได้รับอาจเหมือนคลื่นใต้น้ำ โดนเจ้านายไล่ออกเพราะทนความไม่รับผิดชอบต่อการทำงานไม่ไหว

ไม่ยากครับ เราควรกำหนดเวลาไว้เลย วันนี้ควรทำอะไรบ้าง เวลานี้เราควรทำอะไรอยู่ อย่าทำตัวติสต์แตก เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง “โอ้ยวันนี้เซ็งเป็ด อากาศร้อนชะมัด ทำงานไม่ได้ละ กลับบ้านดูละครเกาหลีดีกว่า”

ดร.ร็อก มีวิธีที่ง่ายมาฝาก “วิธีที่ดีในการเตือนตัวเองว่า เวลาไหนควรทำอะไร ให้ตั้งนาฬิกาปลุกเลย ง่ายๆ แต่ได้ผลชัวร์ป้าบ”

พฤติกรรมถ่วงงานสุดท้าย
->ทำงานเพลินไม่เบรกกินข้าวกลางวัน

“คุณรู้มั้ยอาหารกลางวันมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายขนาดไหน คุณปฏิเสธที่จะไม่พักเบรกในช่วงเที่ยงเพื่อทานอาหาร แต่เลือกจมปลักอยู่กับโต๊ะทำงาน และหน้าคอมพ์ มันจะทำให้ร่างกายคุณเสื่อม โรคกะเพาะถามหา สมองไม่ปลอดโปร่ง เพราะไม่ได้พัก และร่างกายขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์

คุณควรใช้เวลาพักเที่ยงทานข้าว ดื่มกาแฟ เม้าท์มอยกรุบกริบกับเพื่อนร่วมงานย้ำว่ากรุบกริบ เพื่อผ่อนคลาย

ผลวิจัยทางการแพทย์เผยแพร่ในปี 2010 ออกมาด้วยว่า การไม่ทานข้าวกลางวันเสี่ยงต่อการตายจากโรคหัวใจอีกด้วย”

ดร.ร็อก ให้ข้อมูลน่าสนใจต่อว่า


“การพักกลางวันหลังจากที่ช่วงเช้าทำงาน ซึ่งจะทำให้สมองคุณเหนื่อยล้า หากคุณพักสักหนึ่งชั่วโมง จะทำให้การทำงานของคุณออกมาดียิ่งขึ้น เพราะสมองได้รับการผักผ่อน นั่นเท่ากับว่าผลงานของคุณที่ออกมาช่วงบ่ายจะสดใหม่ เสมือนน้ำส้มที่เพิ่งคั้นใหม่สดซิง! กับน้ำส้มที่คั้นมานานแล้วครึ่งค่อนวัน คุณอยากดื่มแก้วไหนล่ะ”

การพักกลางวันทานข้าว เหมือนได้รีเซ็ตสมองใหม่ ทำให้ความคิดแล่นปรู๊ดปร๊าดดั่งเน็ต 9 เม็ก มีแรงในการทำงานในชั่วโมงต่อไป แต่ระวังหน่อยนะ หนังท้องตึงหนังตาอาจหย่อนได้ ^^

เรียบเรียงจากไชน์

 
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It