Advice

ทำไมเราจึงตกหลุมรัก?/Dr.DEN Sexociety

Pinterest LinkedIn Tumblr

คอลัมน์ Sexociety โดย Dr.DEN

“อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” คุณคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมานานแล้ว มันเป็นการเทิดทูนความรักอย่างเต็มตัว เพราะการตกหลุมรักเป็นประสบการณ์อันแสนวิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน แต่ทำไมคนเราถึงต้องตกหลุมรักด้วยล่ะ

ศาสตราจารย์ แอรอน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค เคยสำรวจพลวัตของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนสองคนตกหลุมรักกัน ดังคำถาม-คำตอบ ต่อไปนี้

ถาม อะไรจูงใจให้คนเราแสวงหาความรัก?

ตอบ แรงจูงใจพื้นฐานของเราในฐานะมนุษย์ก็คือ การแผ่ขยายตัวตนและการเพิ่มพูนความสามารถกับประสิทธิภาพของเรา วิธีหนึ่งที่เราจะทำมันได้สำเร็จก็โดยความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น

จากงานวิจัยพบว่า มันเป็นเรื่องสำคัญในการรู้สึกว่าคุณมีความสามารถที่จะเป็นคนมีประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์

ถาม ทฤษฏีการแผ่ขยายตัวตนนี้อธิบายกระบวนการตกหลุมรักได้อย่างไร?

ตอบ ปกติเราจะตกหลุมรักกับคนที่เราเห็นว่ามีเสน่ห์และเหมาะสมกับเรา แต่บางคนก็หว่านเสน่ห์ใส่เราจนตกหลุมรักได้เช่นกัน แบบนี้เรียกว่าความรักเชิงรุกหรือการบริหารเสน่ห์นั่นเอง

มันเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้มีการแผ่ขยายตัวตน ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาหลงเสน่ห์เรา เป็นการเสนอโอกาสอันดีเยี่ยม เมื่อเรามองเห็นเช่นนี้ เราก็รู้สึกถึงแรงกระเพื่อมของความเบิกบานใจ

ถาม วิธีนี้มันได้ผลเสมอหรือ?

ตอบ ไม่หรอก ข้อยกเว้นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับกรณีนี้จะเกิดขึ้นถ้าเรารู้สึกไม่ดีกับตัวเราเอง ความคืบหน้าจะหยุดลงทันทีถ้าเราไม่สามารถเชื่อได้ว่าอีกฝ่ายหลงเสน่ห์เราจริง เหมือนที่เราไม่อยากเข้าไปเที่ยวในผับที่เราจะต้องเป็นสมาชิกเสียก่อนนั่นแหละ

พอมันมีเงื่อนไขขึ้นมา เราก็มักจะทิ้งโอกาสในการตกหลุมรัก ถ้าเราไม่รู้สึกดีกับตัวเอง

ถาม สภาวะใดดีที่สุดสำหรับการพบปะกับใครบางคนแล้วตกหลุมรักกัน?

ตอบ เมื่อคุณเจอใครบางคนภายใต้สภาวะที่มีแรงกระตุ้นสูง เช่น การชุมนุมทางการเมือง สภาพอากาศแปรปรวนขณะอยู่ในเครื่องบิน การแสดงที่ยั่วยุกามารมณ์ ฯลฯ ในช่วงที่ร่างกายถูกปลุกเร้าและตื่นเต้นนั้น มีแนวโน้มว่าเราจะประสบกับแรงดึงดูดที่ถูกยกระดับให้สูงขึ้น

ผลกระทบดังกล่าวนี้มีหลักฐานเอกสารเป็นอย่างดี แต่การอธิบายถึงมันเป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งกันอยู่ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าเรามักรวมแรงกระตุ้นของสถานการณ์อันน่าตื่นเต้นเป็นใจให้พบรักในม็อบ บนเครื่องบิน ฯลฯ เนื่องจากมีอารมณ์ร่วมในเรื่องเดียวกันนั่นแหละ

ถาม เราตกหลุมรักตอนไหน

ตอบ มันตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่คิด สถิติแสดงให้เห็นว่าคนเราตกหลุมรักกับใครบางคนที่รู้จักกันมาชั่วระยะหนึ่ง มีเพียง 1ใน3 ที่บอกว่าพวกเขาตกหลุมรักอย่างรวดเร็ว คือ หลังจากเจอกันครั้งสองครั้งเท่านั้น แน่ละ เรื่องนี้มันแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม

การตกหลุมรักเป็นเรื่องของปัจเจกก็จริง แต่บางวัฒนธรรมก็ปลูกฝังให้มีการรักนวลสงวนตัว อย่าหลงรักใครง่ายๆ มันจะเสียราคา ว่างั้นเถอะ จึงอาจจะนานสักหน่อยในการบอกตัวเองว่า “รักเขาแล้วนะ” นี่คือวัฒนธรรมที่มีอุดมคติ “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” ซึ่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมที่เชื่อว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หรือ “ช้าหมด อดแดก” แบบนี้ก็จะตกหลุมรักกันเร็วหน่อย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนก็มีการตกหลุมรักด้วยกันทั้งสิ้น

ถาม รูปร่างหน้าตาเป็นปัจจัยสำคัญของสมการ การตกหลุมรักหรือไม่?

ตอบ เรื่องนี้น่าสนใจ เราพบแล้วว่า ถ้าคุณไร้เสน่ห์โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเพราะหน้าตาอัปลักษณ์ หรือนิสัยไม่ดีเพราะความเห็นแก่ตัว หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ มันก็ยากที่คุณจะแสดงความสัมพันธ์อันโรแมนติคออกมาได้ (แสดงเท่าไหร่ก็ไม่มีใครสนใจ)

อย่างไรก็ตาม การมีเสน่ห์ไม่ได้ช่วยเรื่องการตกหลุมรักมากนักหรอก ถ้าคุณไม่ใช่แบบที่อีกคนชอบ แต่ก็แน่ละ การเป็นคนมีรูปร่างหน้าตาดี เป็นความได้เปรียบเบื้องต้นอยู่แล้ว

ถาม ช่วยอธิบายต่ออีกหน่อยได้มั้ย?

ตอบ เราพบว่าบุคลิกสำคัญ 2 อย่าง คือ ความมีน้ำใจและความฉลาด มีความสำคัญที่สุดในกระบวนการตกหลุมรัก และความมีเสน่ห์ไม่ได้เชื่อมโยงกับ 2 สิ่งนี้

คุณลักษณะ 2อย่างนี้เป็นสิ่งที่คนเราเรียนรู้ใครบางคนจากการรู้จักกันมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ความฉลาดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านความรัก แต่ความมีน้ำใจเป็นตัวชี้วัดอันเด่นชัดที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ระยะยาวที่ประสบความสำเร็จ

 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It