Art Eye View

“บ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์” แหล่งรวมผลงานศิลปะหลากแขนง แห่งใหม่!

Pinterest LinkedIn Tumblr

บ้านพิพิภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์
“บ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์” แหล่งรวมผลงานศิลปะ หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น หุ่นประเภทต่างๆ เครื่องสวมศรีษะ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ งานฝีมือแบบไทย โบราณวัตถุ จิตรกรรมจากไทยประเพณีสู่งานสมัยใหม่ งานประติมากรรมไทย รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์สมัยต่างๆ ทั้งไทยและยุโรป โดยครอบคลุมหลากหลายเทคนิค ผ่านประวัติศาสตร์ ล้วนทรงคุณค่าและผ่านการคัดสรร โดยมีผลงานศิลปะจัดแสดงรวมกว่า 300 ชิ้น บนพื้นที่ 800 ตารางเมตร หวังจะให้เป็นที่รวมผลงานสะสมที่จะสืบทอดต่อไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เปิดให้ชมทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน จองเข้าชมได้ที่ www.sermkhunkunawongmuseumhouse.com เปิดให้ชมครั้งแรก วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 62

เสริมคุณ คุณาวงศ์
เสริมคุณ คุณาวงศ์ เผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 27 ปี ที่ได้สะสมผลงานศิลปะ ซึ่งผลงานที่สะสมล้วนแต่เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าจากศิลปินที่มีความโดดเด่นมีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ โดยมีแนวคิดในการสะสมแบบพิพิธภัณฑ์ มีการวางกรอบเนื้อหาทำใหคอลเล็กชั่นน่าสนใจ เรียบเรียงตามช่วงเวลาของงานศิลปะยุคโบราณจนถึงศิลปะร่วมสมัย โดยเลือกจัดการบริหารงานศิลปะในคอลเลคชั่นให้สอดคล้องกับรสนิยมของตนเองด้วย โดยมีเจตนามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม สนับสนุนงานศิลปะ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ เป็นอารยธรรมอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป จึงจัดทำบ้านพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา โดยเป็นเจ้าของร่วมกันกับลูกสาวทั้ง 2 คน คือ เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ และวาดฝัน คุณาวงศ์
สี่ชีวิตกับดวงตาฮอรัส  (ประติมากรรมบนเพดาน ในห้องโถงบทสนทนาของยุคสมัย)
“ผลงานที่สะสมทั้งหมดครอบคลุมหลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็น โบราณวัตถุ,พระพุทธรูป, จิตรกรรม, ประติมากรรม ,หุ่นประเภทต่าง ๆ เครื่องสวมศรีษะ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และงานฝีมือแบบไทย โดยการสะสมผลงานผมจะเดินทางไปพบศิลปินแต่ละท่านและพูดคุยถึงการทำงาน รายละเอียดผลงานต่าง ๆ ก่อนจะตัดสินใจ นำผลงานมาเก็บสะสมรวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น ทั้งนี้จากผลงานสะสมทั้งหมด ที่ผ่านการคัดสรร จึงนำมาจัดแสดงในบ้านพิพิธภัณฑ์รวมกว่า 300 ชิ้น บนพื้นที่ประมาณ 800 ตารางเมตร โดยจัดแสดงกับภูมิทัศน์ด้านนอกอาคาร และในอาคาร 3 ชั้น ทั้งหมดแบ่งเป็น 12 โซนย่อย แต่ละโซนจะมีแนวคิดและลักษณะศิลปะที่มีความชัดเจน” เสริมคุณ กล่าว
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ พระพุทธเหนือทุกข์และสุข ปี 2551
บ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์ เป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดงให้เห็นพัฒนาการของศิลปะไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีความหลากหลายของเทคนิค โดยมีผลงานศิลปะที่มีเทคนิคตะวันตก สะท้อนในเห็นความเจริญงอกงามของศิลปะในประเทศไทย โดยมีโซนที่น่าสนใจ อาทิเช่น โซนสวนประติมากรรมพุทธศาสนา จัดแสดงผลงานประติมากรรม บริเวณสวนด้านหน้าบ้านพิพิธภัณฑ์ ผลงานที่จัดแสดงให้ชมบริเวณนี้ สะท้อนให้เห็นแนวความคิดของพุทธศาสนา ธรรมะ ธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม โดยมีงานของศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ ผลงานเมตตาค้ำจุนโลก ของ ปัญญา วิจินธนสาร , ผลงานสัมพันธภาพ ของ นนทิวรรธน์ จันทะนะผลิน นอกจากนี้ยังมี ผลงานฝูงนกต่างพันธุ์ โดย ฉัตรมงคล อินสว่าง และงาน ฌาน ของ นพดล วิรุฬชาตะพันธ์ เป็นต้น

ห้องมรดกไทย
ภายในบ้านพิพิธภัณฑ์ ยังมีโซนที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ห้องมรดกไทย โซนนี้สะท้อนความรักในศิลปะไทยประเพณีแบบโบราณของเจ้าของบ้าน โดยจัดแสดงความงดงามของศิลปะไทยที่มีอารยธรรมมาอย่างยาวนานและเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามผ่านกาลเวลา บนผนังปรากฏงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยประเพณีสกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤต จากอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร ที่นำมาสร้างสรรค์จัดองค์ประกอบใหม่ลงบนผืนผ้าใบ ภายใต้การดูแลงานอย่างใกล้ชิดจาก อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และวัลลภิศร์ สดประเสริฐ ทั้งนี้ ในห้องยังจัดแสดงศิลปะเครื่องเคลือบสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูป ตู้พระ ชฎานาง รัดเกล้าเปลว และหีบพระธรรมคัมภีร์สมัยรัชกาลที่ 4 จัดแสดงบนตั่งไทยที่มีความประณีตงดงามในสมัยรัชกาลที่ 4-5 รวมไปถึง ในตู้หุ่น จัดแสดงผลงานหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น หุ่นและศรีษะโขน งานฝีมือชั้นครูจากหลากหลายสำนัก ผลงานที่จัดแสดงเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติซึ่งควรเก็บรักษาให้ลูกหลานได้ชื่นชมและภาคภูมิใจในอารยธรรมของเราอย่างยิ่ง
ห้องมรดกไทย
อีกโซนที่น่าสนใจ คือ โถงภาพพอร์ตเทรต โถงภาพที่ติดภาพพอร์ตเทรตและประติมากรรมบนผนัง ซึ่งเป็นผลงานที่มีเรื่องราวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาพทนายความสวมใส่ชุดครุยสีดำ สง่างาม วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ ในปี พ.ศ 2391 โดย ชูล โจเซฟ อัลเล่ ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1848 นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่น่าสนใจที่เขียนโดยช่างฝรั่ง ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนศิลปินอิตาเลียนเดินทางมาเมืองไทยและเขียนภาพคหบดีชาวจีนที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงพระบรมรูป “ทรงงาน” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ยังคงอยู่ในใจคนไทยทุกคนตราบนานเท่านาน อย่างไรก็ตามในโซนนี้ เต็มไปด้วยผลงานที่กลั่นจากหัวใจของศิลปินที่หลากหลาย เช่น คุณศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ,คุณจำรัส เกียรติก้อง ,คุณกฤษดา ภควัตรสุนทร ,คุณธนฤษภ์ ทิพย์วารี ,คุณมิร์ทิลล์ ทิแบย์แรงซ์ และศิลปินรุ่นใหม่ คุณอัชลินี เกษรศุกร์ เป็นต้น
โถงภาพพอร์ตเทรต
โถงภาพพอร์ตเทรต
นอกจากนี้ ยังมีโซนอื่นๆ อีก อาทิเช่น โถงบทสนทนาของยุคสมัย ,ห้องรุ่งอรุณของศิลปะไทย, ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต ,โดมพุทธศิลป์ ,บันไดวนศิลปะเพื่อสังคม และห้องเสริมคุณ อาร์ต สตูดิโอ เพื่อถ่ายทอด สะท้อนวิถีและมุมมองของศิลปินหลากยุคสมัย เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ชื่นชมผลงานศิลปะผ่านเรื่องราวและแนวความคิดที่น่าค้นหา
โถงบทสนทนาของยุคสมัย
โถงบทสนทนาของยุคสมัย

ทั้งนี้ในวันเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์ มีศิลปินมาร่วมแสดงความยินดี อาทิเช่น ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2554 พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต ,อาจารย์ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2556 ,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2552 ,นางลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร , นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินร่วมสมัยแนวสะท้อนสังคม และนายศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินภาพพอร์ตเทรต ที่มีชื่อเสียง เป็นต้น พร้อมร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “พิพิธภัณฑ์เอกชน อนาคต และ ทางแยก”
เสริมคุณ อาร์ต สตูดิโอ
สำหรับบ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 41-43 ในซอยลาดพร้าว 50 ผู้ที่สนใจเข้าชมบ้านพิพิธภัณฑ์สามารถจองผ่านเว็บไซต์ www.sermkhunkunawongmuseumhouse.com หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์ 061-626-4241 บ้านพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน กำหนดเปิดให้ชมครั้งแรกในวันที่ 20 เมษายน 2562 โดยมีค่าสนับสนุนบ้านพิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ราคา 400 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่แสดงบัตรประจำตัว ราคา 200 บาท และผู้เข้าเยี่ยมชมต้องมีอายุมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป
รุ่งอรุณของศิลปะไทย
รุ่งอรุณของศิลปะไทย
ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต
ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต
ห้องนั่งสมาธิ

โดมพุทธศิลป์
โดมพุทธศิลป์
ห้องศิลปะนามธรรม
ห้องศิลปะนามธรรม
เก้าอี้ Marquise Bergere ปี พ.ศ 2293 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

Comments are closed.

Pin It