>>“พวกเราไม่จนอีกต่อไปแล้ว เราสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยการทำอิฐขาย ลูกๆ เราได้ไปโรงเรียน เรามีอยู่มีกิน มีกลุ่มแม่บ้านที่ทำงานร่วมกัน และมีอนาคตที่ดี” สตรีชาวรวันดา กล่าวกับ คริสติน อามูร์-เลวาร์ เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับโครงการการกุศลของเธอ วีเมน ฟอร์ วีเมน อินเตอร์เนชันแนล ที่นำอาชีพมาให้กลุ่มแม่บ้านในชุมชน นอกจากนี้ ยังพูดให้กำลังใจ และสนับสนุนทุกอย่างที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
ทุกวันนี้ ที่นั่งในสภารวันดาถึง 64% เป็นผู้หญิง นับว่าเป็นประเทศอันดับหนึ่งของโลกที่มีผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นสตรีเลยทีเดียว
เหตุที่นักธุรกิจสาวชาวฟิลิปปินส์ คริสติน อามูร์-เลวาร์ ต้องการช่วยให้สตรีที่ด้อยโอกาสมีงานทำ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ก็เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิง
“ฉันเกิดและเติบโตในฟิลิปปินส์ ที่เต็มไปด้วยผู้หญิงที่เข้มแข็ง ประเทศเราขึ้นชื่อว่าขับเคลื่อนโดยสตรีมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับเล็กๆ อย่างสถาบันครอบครัว และธุรกิจต่างๆ หรือแม้แต่หน่วยงานราชการก็ตาม
“นอกจากนี้ ในฟิลิปปินส์ ก็เต็มไปด้วยความยากจน และความไม่เท่าเทียมกันในหลายๆ แห่ง ที่ฉันได้เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก แม่ของฉันได้ช่วยเรื่องกิจกรรมการกุศลมาตลอด และได้สอนพวกเราพี่น้องให้มีโอกาสตอบแทนสังคมในแบบเดียวกันเสมอ”
แม้ว่าจะย้ายมาทำธุรกิจอยู่ในสิงคโปร์ หากคริสตินก็ไม่ลืมคำสอนของแม่ เธอได้ก่อตั้งองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร วีเมน ออน เอ มิสชั่น ร่วมกับเพื่อนสนิท อย่าง วาเลอรี บอฟฟี และคารีน ม็อก เป็นองค์กรส่งเสริมศักยภาพสตรีด้านการกีฬาเอ็กซ์ตรีม ช่วยจัดหาทุนและส่งผู้หญิงที่มีศักยภาพเข้าแข่งขันในสนามระดับโลก
“วีเมน ออน เอ มิสชั่น ยังมีเป้าหมายในการช่วยเหลือสตรีที่รอดตายจากภัยสงคราม และสตรีที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ด้วย”
หลังจากก่อตั้งมา 2 ปีกว่าๆ คริสติน ก็เริ่มตั้งเป้าของ วีเมน ออน เอ มิสชั่น เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา ขยายฐานไปสนับสนุนศักยภาพด้านศิลปะของผู้หญิง ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตร อิมแพ็กต์ อินเวสเมนต์ เอ็กซ์เชนจ์ หรือไอไอเอ็กซ์ ในการแปลงศิลปะเป็นการลงทุนที่ช่วยสร้างงานสร้างรายได้
“สำหรับ ไอไอเอ็กซ์ ดำเนินงานมาแล้วสิบกว่าปี เป็นแหล่งเงินทุนที่มีอยู่ใน 46 ประเทศทั่วโลก จึงเป็นทางเลือกที่ดีมีประโยชน์ต่อชุมชนต่างๆ อย่างแน่นอน”
คริสติน บอกว่า สตรีทั้งโลกนี้เป็นคนที่ใกล้ชิดกับเด็กๆ รุ่นใหม่ ที่เป็นประชากรแห่งอนาคตมากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงต้องดูแลให้พวกเขามีความรู้ มีสิทธิ์ มีเสียง และสามารถพึ่งพาตัวเอง และเป็นหลักให้ครอบครัวได้
“ทุกๆ แห่งในโลกนี้ ผู้หญิงให้กำเนิตบุตร เลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโต ทำอาหาร ทำการเกษตร บริหารธุรกิจ และบริหารประเทศ ผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง แต่ในบางแห่ง คนเพศเดียวกันนี้กลับกำลังลำบากยากแค้น ต้องกระเสือกกระสนอย่างหนักที่จะให้ลูกๆ ได้มีกินมีใช้ หลายคนไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ถูกบังคับให้ขายตัว หรือไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ฯลฯ
“หน้าที่ของฉันคือ ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้คนที่ไม่มีสิทธิ์จะพูดเหล่านั้น”
หลังจากการระบาดของโรค Covid-19 คริสตินบอกว่า มีธีมรณรงค์เพิ่มขึ้นเป็น “พวกเธอช่างกล้าหาญ” ส่งเสริมความกล้าออกมาเป็นผู้นำในด้านต่างๆ รวมทั้งมีการจัดประกวดผลงานศิลปะในธีมเดียวกับ ชิงทุนการศึกษาด้านศิลปะและการเข้าฝึกอบรมอาชีพต่างๆ
คริสติน ยังเชื่อว่า การให้โอกาสสตรีจะช่วยสร้างสมดุลในสังคมและสิ่งแวดล้อม “ฉันทุ่มเทให้กับงานนี้มานานหลายปี ทั้งเข้าไปอบรมเรื่องคอมพิวเตอร์ในสลัม หรือนำเอาศิลปะเข้าไปบำบัดคนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง ฯลฯ ฉันหวังจะได้เห็นความเท่าเทียมและสันติสุขในสังคม และความสมดุลก็เป็นรากฐานของความยั่งยืน
“เป้าหมายล่าสุด ที่เราพยายามผลักดันให้สตรีก้าวออกมาเป็นผู้นำ ซึ่งก็ต้องมีการอบรมให้เขามีคุณสมบัติของความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆ ด้าน”
Comments are closed.