ช่วงนี้เรามักจะเห็นบรรดาเซเลบริตีคนดัง หรือนักแสดงหลายคน ต่างพากันเก็บกระเป๋าเดินทาง เพื่อไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศกันมากมาย หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เพียงปฏิบัติตามมาตรการที่แต่ละประเทศกำหนด ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศในแถบยุโรปหรือแถบเอเชียก็ตาม
ที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สายการบินทั่วโลกต่างปรับลดจำนวนพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว จึงทำให้พนักงานไม่เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้า และปัญหาในการเดินทางจึงเกิดขึ้น ดังเช่น คนดังนักเดินทางที่โชคร้ายประสบปัญหาระหว่างการเดินทาง บางคนถูกมัดมือชกเรื่องน้ำหนักกระเป๋าเกิน บางคนกระเป๋าเดินทางยังตกค้างที่สนามบิน ต้องใช้เวลาตามหานานร่วมสัปดาห์ จะมีใครบ้างนั้นตามมาดูกันได้เลย
เริ่มที่รุ่นใหญ่ “แม่อุ๊-มณฑ์ลัชชา สกุลไทย” ที่ล่าสุดได้ควงลูกสาวสุดที่รัก “พะเพื่อน-ชุติมณฑน์” ไปเที่ยวที่ประเทศอังกฤษ แต่ระหว่างที่เดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินโดฮา เธอกับลูกสาวได้เจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดนให้จ่ายค่าน้ำหนักกระเป๋าเดินทางที่เกินมา ถ้าไม่เช่นนั้นสายการบินจะไม่ออกบอร์ดดิ้งพาสสำหรับเดินทางกลับไทยให้
“เหตุการณ์ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก เหมือนโดนมัดมือชกเพราะแม่กับน้องเราเตรียมพร้อมกันอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่ากระเป๋าแต่ละใบเขาให้เอาขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 23 กิโล ฉะนั้น เราจะมีเครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าพร้อม แล้วเฉลี่ยกระเป๋า ต้องพยายามไม่ให้เกิน 21 กิโลแต่ละใบ เผื่อกันเหนียวกันพลาด ตอนแรกคิดว่าจะชวนน้องไปซื้อกระเป๋าลากอีกซักใบเพื่อมาเฉลี่ยของออก แต่น้องบอกว่าไม่ต้องเพราะเราชั่งน้ำหนักทุกใบ
กระทั่งวันเดินทาง เราอุตส่าห์ไปถึงสนามบินเร็วมาก แทบจะไปถึงเคาน์เตอร์คนแรกเลยก็ว่าได้ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องเปลี่ยนไฟล์ทบิน ยกเลิกไฟลท์บิน เราก็รีบไปเช็กอิน แต่ระหว่างนั้นยอมรับว่า ทางเราเองก็คิดผิดว่า การชั่งน้ำหนักถ้ามันมีความผิดพลาดเกิดขึ้น พนักงานชั่งกระเป๋าก็จะต้องท้วงตั้งแต่บอร์ดดิ้งพาสว่า กระเป๋าเราเกินและต้องให้รายละเอียดว่าต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ถ้าน้ำหนักกระเป๋าเกิน เราก็จะเอากระเป๋าออกมาเฉลี่ยน้ำหนักแต่นี่ไม่มีการแจ้งใดๆ”
ขณะที่ คู่หูแม่ลูกสุดซี้กำลังเดินออกจากเครื่องบินที่สนามบินโดฮา เพื่อเตรียมต่อเครื่องกลับประเทศไทย เจ้าหน้าที่สนามบินก็เรียกชื่อน้องพะเพื่อนในฐานะที่เป็นผู้เช็กอินขึ้นเครื่องให้เข้าไปพบ
“ตอนแรกเราก็ไม่ได้ตกใจอะไร คิดว่าน่าจะมีการแจ้งว่าเครื่องอาจจะมีการดีเลย์ เขาคงมาเรียกลูกค้าเพื่อเข้าไปอธิบายอะไรซักอย่าง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องของน้ำหนักกระเป๋าเกิน พอไปถึงห้องเจ้าหน้าที่ก็ให้น้องอ่านเอกสารว่า ให้ไปติดต่อที่เคาน์เตอร์สายการบิน เพราะว่าน้ำหนักกระเป๋ามันเกิน 23 กิโล แต่ทางน้องก็ถามว่า ตอนที่โหลดกระเป๋าทางเคาน์เตอร์ที่ต้นทางไม่เห็นแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ก็พูดแค่ว่าไม่รู้อย่างเดียว ตอนนั้นเราก็เริ่มเครียด แล้วตอนที่ชั่งน้ำหนักเราก็คิดว่าชั่งกันมาดีแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์บอกว่า ทางสนามบินต้นทางบอกว่าต้องเสียค่าปรับกระเป๋าเกิน”
แม่อุ๊ยอมรับว่า วินาทีนั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียด เพราะตั้งแต่เดินทางมาตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยเกินแซยิด ไม่เคยพบเจอเหตุการณ์แบบนี้
“ตอนนั้นทางสายการบินเขาเสนอทางเลือกให้เราอยู่หนึ่งทาง ถ้าไม่ต้องการเสียค่าปรับเป็นเงิน 525 ปอนด์ หรือประมาณ 20,000 กว่าบาทไทย เราก็ต้องเอากระเป๋าเดินทางออกมาเฉลี่ยน้ำหนักไม่ให้เกิน ซึ่งขณะนั้นเหลือเวลาอีกไม่ถึงชั่วโมงครึ่ง อย่างไรก็ไม่ทัน แต่ถ้าเราไม่เคลียร์กระเป๋าก็ต้องเสียค่าปรับไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะไม่ออกบอร์ดดิ้งพาสสำหรับเดินทางกลับประเทศไทยให้ สุดท้ายเราจึงต้องยอมเสียเงิน 20,000 กว่าบาท เพื่อแลกกับการได้เดินทางต่อ”
แม้เงิน 20,000 กว่าบาท จะไม่ได้มากมายอะไรนักสำหรับเธอ แต่ก็ไม่ควรที่จะมาหัวเสียในเรื่องแบบนี้ ซึ่งมูลค่าในกระเป๋าของเธอนั้น มีค่ามากกว่าเงิน 20,000 บาทอยู่แล้ว
“อารมณ์นั้นมันเป็นเรื่องความเจ็บใจ มากกว่าที่ต้องมาเสียรู้ในเรื่องแบบนี้ทั้งๆ ที่เราก็เตรียมการกับเรื่องกระเป๋าเดินทางมาเป็นอย่างดี แต่ก็โชคดีที่ทริปนี้ในกระเป๋าเดินทางมีแต่ขนม ไม่ได้ซื้อของแบรนด์เนมอะไรกลับมา มีเพียงชุดแบรนด์เนมของแม่กับน้องพะเพื่อนที่นำไปจากประเทศไทย เพื่อไปใส่ถ่ายรูปที่อังกฤษ ซึ่งมูลค่ามันมากกว่าเงิน 20,000 บาทอยู่แล้ว”
แม่อุ๊ยังบอกอีกว่า ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับเธอและลูกสาว แต่ทว่าการสูญเสียครั้งนี้สามารถเอามาแชร์ให้ทุกคนรับรู้ว่า เราต้องรอบคอบมากกว่านี้ ก็ถือว่าคุ้มค่า
“รอบนี้ซื้อประสบการณ์ในการเดินทาง ซึ่งยิ่งใหญ่พอสมควร ที่เราสามารถเอามาแชร์ให้ทุกคนรับรู้ว่า เราต้องรอบคอบมากกว่านี้ ถ้าเราผิดเราก็ต้องยอมรับว่าเราผิดพลาดในระดับหนึ่ง เพราะเราไม่ได้จดในระหว่างที่มีการชั่งน้ำหนักกระเป๋า เป็นบทเรียนราคาแพง แม้จำนวนเงินมันจะไม่ได้แพงมาก แต่มันสามารถช่วยได้อีกหลายคน ที่จะได้ไม่ต้องมาเสียรู้เหมือนกับเรา”
มาถึงคู่หูคนดังตัวติดกัน “บาส-นิติ สว่างวัฒนไพบูลย์” และ “ออ-อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา” ที่มักจะเดินทางไปต่างประเทศด้วยกันอยู่เสมอๆ ก็เจอประสบการณ์หัวจะปวดกับเรื่องกระเป๋าเดินทางด้วยเช่นกัน เพราะกระเป๋าเดินทางตกค้างอยู่คลังสินค้าระหว่างเดินทางไปชมแฟชั่นโชว์ YSL ที่มาราเกช ประเทศโมร็อกโก
“ก่อนที่จะไปชมแฟชั่นโชว์เราสองคนไปเที่ยวที่บาร์เซโลนา แล้วพอวันที่เราต้องเดินทางไปชมแฟชั่นปรากฏว่า กระเป๋าเดินทางไม่ได้ตามมาด้วย ซึ่งวินาทีนั้นเราสองคนตกใจมาก เพราะเราแพ็คกระเป๋ากันมาเป็นอย่างดี เพื่อจะไปทริปแฟชั่นโชว์ของ YSL เราเตรียมตัวกันมาอย่างดี แต่สุดท้ายก็มาพลาดกับสายการบินที่เขาเคลมว่าดีที่สุดในโลก วินาทีนั้นเราสองคนพยายามตั้งสติแล้วติดต่อประสานทุกช่องทางเพื่อตามหากระเป๋าเดินทาง แต่สุดท้ายทุกคนก็โยนกันไปมายอมรับว่าตอนนั้นผิดหวังและเสียใจกับสายการบินนี้มาก” บาสเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง
ในความโชคร้ายก็ยังได้น้ำใจกลับมา เพราะในระหว่างที่ทั้งคู่ยังตามกระเป๋ากลับมาไม่ได้ ทาง YSL ก็ดูแลเขาทั้งสองคนเป็นอย่างดีตลอดทริป แถมยังช่วยประสานกับสายการบิน เพื่อตามกระเป๋าเดินทางกลับมาให้อีกด้วย
“ขอบพระคุณ YSL ที่ดูแลเราสองคนอย่างดีมาตลอดทั้งทริป ไม่ว่าจะเป็นของใช้จำเป็น เสื้อผ้าสำหรับทำกิจกรรม “the show must go” และช่วยติดตามกระเป๋าเดินทางมาให้เรา ในฐานะที่เขาเป็นคนพื้นถิ่น ซึ่งผมประทับใจการดูแลจากแบรนด์ของเขามาก แม้จะได้กระเป๋าเดินทางคืนเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย 3-4 วันแล้วก็ตาม”
ขึ้นชื่อว่าเป็นเซเลบระดับเอลิสต์ของซูเปอร์แบรนด์ดังระดับโลก บาสเล่าถึงกระเป๋าเดินทางที่พลัดหลงกันนั้นว่า “ของในกระเป๋าเดินทางมันไม่สามารถประเมินมูลค่าได้เลยครับ เพราะส่วนใหญ่เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซทั้งนั้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรวมๆ แล้วก็ประมาณ 5 ล้านบาท”
แม้จะได้กระเป๋าเดินทางกลับคืนมาแล้ว แต่บาสบอกว่าประสบการณ์การเดินทางรอบนี้ สอนให้เขาทั้งคู่ต้องรอบคอบมากขึ้น ในการโหลดกระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่อง
“ผมว่ากระเป๋าเดินทางทุกใบต้องติดแอร์แพด เพื่อไว้ใช้ติดตามว่าตอนนี้กระเป๋าเดินทางเราอยู่ตรงไหน เมื่อมีการสูญหายระหว่างเคลื่อนย้าย เราก็จะช่วยเจ้าหน้าที่สนามบินตามได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น อย่าใช้โทรศัพท์ประสานงาน ต้องให้คนในพื้นที่ช่วยประสานงานให้ ซึ่งของผม YSL ก็ช่วยประสานให้อย่างเต็มที่ และข้อสุดท้ายคือ เราต้องเก็บรวบรวมทุกบันทึกการติดต่อกับสายการบินไว้ เพื่อนำไปแสดงให้ทางสายการบินทราบว่า เราได้ดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว” บาสอธิบายปิดท้าย
Comments are closed.