เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ แห่งลุกซอตติกา เจ้าของอาณาจักรเรย์-แบน เสียีวิตที่โรงพยาบาลซาน ราฟฟาเอเลในกรุงมิลานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ความตายของเลโอนาร์โด นับว่าสั่นสะเทือนวงการธุรกิจและการเมือง รวมทั้ง ส่งผลกระทบต่อคนที่ทำงานร่วมกับเขา และทำงานให้เขา ตั้งแต่ ผู้จัดการระดับสูง ไปจนถึงพนักงานชั้นล่างสุด
“เจ้านายมาที่โรงงานแล้ว” คนงานที่ลุกซอตติกาในอะจอร์โดเล่าว่า เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ มักจะมาที่โรงงงานตั้งแต่เช้าตรู่ ตอนนั้นพี่ชายเขายังไม่ตื่นเลยด้วยซ้ำ เขามาทำงานเช้ายิ่งกว่าพนักงานเสียอีก
เลโอนาร์โด ได้รับยกย่องในฐานะผู้นำทางธุรกิจของอิตาลี รวมทั้ง เป็นคนทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และนักลงทุนผู้มีวิสัยทัศน์ “กฎของผมมีอยู่ข้อเดียวคือจะต้องดีที่สุดเสมอ” เขาเคยบอกเคล็ดลับความสำเร็จ ที่ทำให้เด็กกำพร้าอย่างเขาโตขึ้นมาเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในอิตาลี
ลุกซอตติกา ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดยได้ที่ดินฟรีๆ มาจากชุมชนในเทือกเขาอะจอร์ดินา ในเมืองเบลลูโน เพื่อที่จะได้มีผู้คนมาอาศัยในเมืองที่เคยร้าง เขาไม่ลืมที่จะมอบหุ้นส่วนใหญ่ให้ชาวเบลลูโน แต่ขอสิทธิ์บริหารงานเป็นของตัวเอง ซึ่งเวลาผ่านไป 60 ปี มูลค่าเพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ 5 แสนลีร์ ไปเป็น 25 พันล้านยูโร พร้อมด้วยฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้นำโลกในการผลิตกรอบแว่นตาและแว่นกันแดด เหมือนกับม้าที่ตะบึงอย่างรวดเร็วจากโรงงานที่เวนิสสู่การเงินที่มิลาน จากเรย์-แบนสู่โอคลีย์
เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ ยังเป็นคนทันสมัยเสมอ เขาร่วมมือกับ จอร์โจ อาร์มานี จนถึงเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผลิตแว่นรุ่นพิเศษ ไม่นับรวมการร่วมงานกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือการไปปรากฏตัวร่วมกับมิชลินสตาร์เชฟ ดาวิเด โอลดานี หรือขึ้นเวทีกับนักร้องดัง ตั้งแต่ ลอรา พอสินี ไปจนถึง ร็อบบี วิลเลียมส์
เจ้าของอาณาจักรลุกซอตติกาไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องส่วนตัวนัก เขาเคยให้เหตุผลว่า “ผมมักจะปฏิเสธคนที่มาถามผมในเรื่องชีวิตส่วนตัว เพราะในประเทศนี้ คนที่ร่ำรวยมักจะถูกมองว่าเป็นโจร” เลโอนาร์โด มักให้คนอื่นเล่าแทน ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องธุรกิจ
เขาแต่งงาน 3 ครั้ง มีลูกทั้งหมด 6 คน หลังจากหย่าขาดจาก ลูเซียนา แนร์โว ภรรยาคนแรก เขาก็แต่งงานกับ นิโกเลตตา ซัมปิลโล ถึงสองครั้ง ว่ากันว่าหลังจากเขาเสียชีวิต หุ้น 75% ในเดลฟิน บริษัทที่จดทะเบียนในลักเซมเบอร์ก จะแบ่งเท่าๆ กัน (คนละ 33.3 พันล้านยูโร) ให้ลูก 6 คน คือ เคลาดิโอ วัย 65 มาริซา (63) เปาลา (61) เลโอนาร์โด มาเรีย (27) ลูกา (21) และเคลเมนเต (18) ขณะที่อีก 25% ที่เหลือ (มูลค่า 6.66 พันล้านยูโร) จะตกเป็นของ นิโกเลตตา
ความร่ำรวย 23.12 พันล้านยูโร ส่วนใหญ่มาจากหุ้น 32% ในแอสสิลอร์ลุกซอตติกา บริษัทผลิตแว่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันเป็นควบรวมบริษัทผลิตกรอบแว่นของเขา เข้ากับบริษัทผลิตเลนส์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส
เลโอนาร์โด ยังมีหุ้นอีก 10% ในบริษัทประกันภัยอิตาลี เจเนราลี มูลค่า 2.71 พันล้านยูโร อีก 30% ในธนาคารอิตาลี เมดิโอบันกา และอีก 2% ในยูนิเครดิต กุ้นในสายการบินแห่งชาติลักเซมเบอร์ก ลักซ์แอร์ อีก 13%
เขายังมีเรือยอชต์ มูลค่า 27 ล้านยูโร โมเนอีกอส รวมทั้ง อสังหาริมทรัพย์มูลค่า 83 ล้านยูโรในโมนาโก ฝรั่งเศส และลักเซมเบอร์ก นอกจากนี้ ยังมี เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว กัลฟ์สตรีม จี650 อีกหนึ่งลำ
ปัจจุบัน ลูกชายคนที่สองของเขา เลโอนาร์โด มาเรีย เป็นผู้บริหารของแอสสิลอร์ลุกซอตติกา โดยลูกชายคนโต ถูกส่งไปดูแลกิจการในอเมริกาเหนือ ที่สหรัฐอเมริกา ขณะไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาวและลูกชายที่เหลือมากเท่าไหร่ และไม่รู้ด้วยว่าพวกเขามีส่วนในการบริหารงานในบริษัทต่างๆ ของพ่อบ้างหรือไม่
ดูเหมือนว่า บรรดาอสังหาริทรัพย์ทั้งหลายจะตกเป็นของทายาทของเลโอนาร์โดโดยไม่ต้องเสียภาษี อย่างที่ลักเซมเบอร์ก ที่ตั้งของบริษัท เดลฟิน จะไม่เก็บภาษีที่ดินของเจ้าของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศนี้ ขณะที่ในโมนาโก ซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่จนกระทั่งลาโลกไป ก็ไม่คิดภาษีที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดสู่ทายาท
ผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชันแว่นตา บอกว่า การเสียชีวิตของ เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ น่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจผลิตแว่นที่ปัจจุบัน ลุกซอตติกา กับ แอสสิลอร์ ครองความเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง ยิ่งมาควบรวมก็ยิ่งทำให้มีมูลค่าพุงขึ้นไปเกือบ 60 พันล้านยูโร ซึ่งไม่แน่ว่าจะครองความเป็นหนึ่ง หรือดีที่สุดตามปรัชญาของเลโอนาร์โดต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ในมือของผู้บริหารรุ่นใหม่
ลุกซอตติกา มีกรอบแว่นและแว่นกันแดดมากกว่า 20 แบบที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะทาวการออกแบบของบริษัท โดยมีแบรนด์ในเครืออย่างเรโวและเรย์-แบน นอกจากนี้ ยังบริหารร้านสาขา เลนส์คราฟเตอร์สกับเพิร์ลวิชัน รวมถึง ซันกลาสฮัท วอทช์สเตชัน และวอทช์เวิร์ลด์ กับ กลุ่มอายเมดและวิชันแคร์ พวกเขายังเป็นผู้ผลิตแว่นกันแดดทรงสปอร์ตของสหรัฐ โอคลีย์ และแว่นของจีน โมเดิร์น ไซต์ ออปติก ด้วย
ลุกซอตติกา ประกาศควบรวมบริษัทผลิตแว่นอัดับ 2 ของโลก แอสสิลอร์ ในปี 2017 ที่เน้นผลิตเลนส์สำหรับแว่นตาและแว่นกันแดดหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเลนส์ที่ช่วยถนอมสายตา ทั้งสำหรับแว่นสายตาและแว่นกันแดด
การเสียชีวิตของบอสเรย์-แบน จะช่วยให้บริษัทผลิตแว่นอันดับ 3 ของโลก อย่าง ซาฟีโล โดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้หรือไม่?
ซาฟีโล ก่อตั้งขึ้นโดยครอบครัวทาบัคคี โดยซื้อกิจการบริษัทผลิตแว่นและเลนส์เก่าแก่ของอิตาลีมาบริหาร โดยผลิตทั้งแว่นสายตา แว่นกันแดด แว่นสำหรับเล่นกีฬา และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแว่นตา พะยี่ห้ออย่างสมิท คาร์เรรา ออกซิโด บลูเบย์ โพลารอยด์ และซาฟีโล วางขายใน 130 ประเทศทั่วโลก
ด้าน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชัน แคร์ คือบริษัทผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสายตาอันดับ 4 ของโลก โดยเน้นผลิตคอนแทคเลนส์ มาตั้งแต่ปี 1959 และภายหลังหันมาเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเลสิค หรือการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ โดยพวกเขามีธุรกิจหลักในอเมริกา บราซิล สิงคโปร์ อังกฤษ และเยอรมนี
บริษัทผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับตาอันดับ 5 ของโลก คือ อัลคอน แลบบอราทอรี เดิมที่เป็นร้านแว่นเล็กๆ ในรัฐเท็กซัส ก่อนจะควบรวมเข้ากับพาวเวอร์วิชัน อิงก์. หันมาผลิตคอนแทคเลนส์เป็นหลัก ตอนนี้บริษัทมีฐานการผลิตและตัวแทนจำหน่ายอยู่ในอินโดนีเซีย จอร์เจีย เยอรมนี มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผลิตตั้งแต่คอนแทคเลนส์แบบใช้แล้วทิ้ง แบบใช้เป็นรายเดือน และคอนแทคเลนส์หลากสี
Comments are closed.