Art Eye View

วิถีชา “ดาร์จีลิ่ง” ในภาพถ่าย “ผู้หญิงลืมยาก” อ๊อบ – ณีรนุช เอี่ยมอารยา

Pinterest LinkedIn Tumblr


“เธอคงไม่รู้ ว่าผู้หญิง ที่จริงแล้ว ลืมยาก
ถ้าลองรักใครมาก ก็มักจะฝังใจ
อยากทำให้ได้ เหมือนอย่างเธอ
ไม่รู้วันไหน ต้องรอถึงเมื่อไหร่
หรือต้องรอถึง วันตาย จะลืมเธอ”

ART EYE VIEW— ถ้าไม่ใช่คน “ลืมง่าย” เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอจดจำได้ สำหรับเนื้อเพลงท่อนนี้ ซึ่งขับร้องโดย “วงพิงค์” วงดนตรีสมาชิกหญิงล้วน ที่เคยทำให้หลายคนต้องฮำเพลงตาม ในเวลาที่บทเพลง “ผู้หญิงลืมยาก” ของพวกเธอถูกเปิดขึ้น

หลังจากที่มีเพลงออกมาแล้ว 5 อัลบั้ม และห่างหายกันไป ไม่รู้ว่าทุกวันนี้ สมาชิกแต่ละคนเบนเข็มไปทำอาชีพอะไรบ้าง

ทว่าเมื่อเร็วๆนี้ ART EYE VIEW ได้มีโอกาสพบกับ อ๊อบ – ณีรนุช เอี่ยมอารยา อดีตมือกีต้าร์ของวง ณ อ.แกลง จ.ระยอง บ้านเกิดของเธอ

ทำให้ได้รู้ว่า เวลานี้นอกจากจะเป็นหุ้นส่วนของร้านหนังสือเล็กๆชื่อ “สุนทรภู่” อ๊อบยังมีงานอีกหลายอย่างที่ทำเพื่อเป็นการขับเคลื่อนชีวิตของตัวเเอง ซึ่งดูท่าเธอจะสนุกกับงานเหล่านี้มากๆด้วย


ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีสากล เอกดนตรีคลาสสิก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา บอกเล่าว่า หลังจากที่ได้มีโอกาสทำวงดนตรี ออกอัลบั้มและเล่นดนตรีร่วมกับสมาชิกในวงอยู่ร่วม 10 ปี

ต่อจากนั้นเธอได้ใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยว เขียนหนังสือ และถ่ายภาพ ซึ่งเป็นงานอีกด้านหนึ่งที่เธอชื่นชอบมาตั้งแต่ก่อนจะเป็นนักร้องแล้ว

“เวลาที่ไปทัวร์คอนเสิร์ตตามจะหวัดต่างๆ มีช่วงว่าง อ๊อบชอบที่จะถือกล้องออกไปถ่ายภาพอยู่แล้ว

และเคยมีความฝันว่าอยากจะทำงานแบบนี้ ที่ได้ออกไปท่องเที่ยว เขียนหนังสือและถ่ายภาพไปด้วย

ช่วงที่ว่างจากเล่นคอนเสิร์ต ก็เคยได้เป็นฟรีแลนซ์เขียนเรื่องและถ่ายภาพลงคอลัมน์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ทำอย่างนั้นอยู่ประมาณ 2-3 ปี พร้อมๆกับเล่นดนตรีไปด้วย

พอรู้สึกว่าเราอิ่มกับทุกอย่างแล้ว ก็เลยไปเที่ยวอินเดีย และกลับมาเป็นครีเอทีฟ และ ก๊อปปี้ไรเตอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทำได้ประมาณเดือนหนึ่ง ก็รู้สึกว่ามันคงไม่ใช่ อาจเป็นเพราะว่าการได้เดินทางคนเดียว ใช้ชีวิตอยู่ในที่ต่างๆหลายๆสถานที่ เป็นเวลานานๆ มันทำให้ความคิดเราเปลี่ยน

การเป็นครีเอทีฟ และ ก๊อปปี้ไรเตอร์ ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่อ๊อบใฝ่ฝันนะ แต่ด้วยความที่เราได้ไปท่องเที่ยวมา ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบๆในที่ซึ่งเป็นธรรมชาติ มากๆ เรามีความรู้สึกว่าความคิดเราเปลี่ยน เลยตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านดีกว่า ทั้งที่ก็ไม่รู้จะกลับไปทำอะไรดี

โชคดีที่ได้มาเจอพี่ฐอน (รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์ หุ้นส่วนอีกคนของร้านสุนทรภู่) ซึ่งเป็นคนแกลง เช่นกัน และมีความคิดที่ไปด้วยกันได้ พี่ฐอนกำลังรับทำงานอีเว้นต์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก ต.ประแสร์ (หนึ่งตำบลของอำเภอแกลงซึ่งมีธรรมชาติงดงาม) อ๊อบก็เลยได้ทำหน้าที่เป็นคนถ่ายภาพให้เขานำไปจัดนิทรรศการ รวมถึงเป็นครีเอทีฟทำทุกอย่าง ทั้งร่วมคิดคอนเซ็ปต์งาน

ตอนนั้นอ๊อบยังอยู่ที่อินเดีย พี่ฐอนก็ถามว่ามาทำงานประแสร์ไม๊ พอกลับมาขณะที่พี่ฐอนเป็นคนเขียนแผนงาน อ๊อบก็จะไล่ถ่ายภาพ ออกแบบโบว์ชัวร์ ทำกราฟิก ออกแบบบอร์ด คัดเอ้าท์ ฯลฯ ในนิทรรศการ ดีไซน์ว่าบอร์ดอยู่ตรงไหน บางครั้งก็ต้องไปนั่งเฝ้าช่าง ให้เค้าทาสีนั้นสีนี้ ตอกตรงนั้นตอกตรงนี้ ประมาณนั้น”

รวมไปถึงงานเล็กงานน้อยอีกหลายงานและการเดินทางเพื่อไปเป็นเทรนเนอร์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สินค้าที่ระลึก ณ ประเทศภูฏาน

“พี่ฐอนคิดว่าน่าจะเป็นงานที่อ๊อบน่าจะทำได้ และอ๊อบก็ชอบงานพวกนี้ด้วย งานแฮนด์เมดของพวกชนเผ่า ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี และมองว่ามันเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง

และได้ใช้การดรออิ้ง มาเป็นประโยชน์กับการทำงาน เพราะเราจะต้องสเก็ตภาพให้เขาเห็นก่อนที่จะตัดสินใจนำไปผลิตเป็นสินค้าจริงๆ”



และหากใครที่มีโอกาสแวะไป “ร้านสุนทรภู่” ก็จะพบว่าผนังของร้านมีผลงานภาพถ่ายวิถีชีวิตคนปลูกชา ของเมืองดาร์จีลิ่ง ประเทศอินเดีย ไว้ให้ชมด้วย

เพราะนอกจากร้านจะมีคอนเซ็ปต์ Book & Tea จำหน่ายหนังสือ พร้อมกับชาที่เจ้าของร้านหอบหิ้วมาจากทั่วทุกมุมโลก

ภาพถ่ายเหล่านี้ยังถือเป็นบันทึกจากการเดินทางไปเยือนเมืองดาร์จีลิ่ง หลายครั้งหลายคราของสาวอ๊อบด้วยนั่นเอง

“เผอิญว่าอ๊อบชอบไปดาร์จีลิ่ง ไปทุกปี และที่นี่ก็ถือเป็นแหล่งปลูกของชาที่ได้รับรางวัลว่าเป็นชาที่ดีที่สุดในโลก

พอเราขายชา และชาตัวที่เด่นๆของร้านก็คือ ชาดาร์จีลิ่ง ดังนั้นเราก็ควรที่จะเอาภาพบรรยากาศของไร่ชา วิถีชีวิตคนปลูกชา มาคนที่มานั่งอ่านหนังสือและดื่มชาให้ชมด้วย

อ๊อบอยากให้พวกเขารู้สึกได้ถึงบรรยากาศ เหมือนเช่นที่อ๊อบกำลังถ่ายภาพหรือนั่งดื่มชาอยู่บนยอดเขาที่ดาร์จีลิ่ง

ในเมื่อเราไม่สามารถพาพวกเขาไปดื่มที่นู่นได้ เราก็พยายามสร้างบรรยากาศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหตุผลง่ายๆ มีแค่นี้

เพราะคนเราเวลากินหรือดื่มอะไรก็ตาม การได้รับรู้เรื่องราวของสิ่งนั้นอยู่แล้ว กับการไม่รู้ มันต่างกัน เหมือนกับความรู้สึกที่เวลาเรากินเค้กชิ้นหนึ่งแล้วเรารู้ว่า มันเป็นของ S&P หรือไม่ก็เค้กโฮมเมด ที่คนนั้นคนนี้ทำหรือซื้อมาฝาก”

อ๊อบเล่าว่าเธอหลงใหลในเสน่ห์แห่งชามานาน นับแต่ช่วงเวลาที่ร้านขายกาแฟและชา เริ่มได้รับความนิยม เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบไปนั่งเขียนต้นฉบับในร้านเหล่านั้นและเลือกที่จะสั่งชามาดื่ม แม้จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันมากเท่าไหร่ก็ตาม

“อ๊อบคิดว่าคนอ่านหนังสือ กับคนดื่มชา มันจริตเดียวกัน เวลาดื่มชาเราจะค่อยๆดื่ม เหมือนกับที่เราเปิดอ่านหนังสืออ่านไปทีละหน้า

และการทำชา มันไม่ค่อยมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนการทำกาแฟ ถ้าเราได้ชามาจากแหล่งผลิตที่ดี แล้วเรามีขั้นตอนในการทำก่อนที่จะดื่มให้ใกล้เคียงกับแหล่งที่มารสชาติที่ได้ก็จะไม่ต่างกัน

สำหรับอ๊อบ ชาเป็นอะไรเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยเสน่ห์

พอวันหนึ่งได้มีโอกาสไปที่ดาร์จีลิ่ง ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เลยได้เริ่มซึมซับและสงสัยว่าทำไมเขาปลูกกันทั้งภูเขาขนาดนี้

พอได้รู้ว่าดาร์จีลิ่งเป็นแหล่งส่งออกชาไปทางยุโรป จากนั้นก็ได้ไปเที่ยวไร่ชา นอนบ้านคนที่เขาปลูกชา และทำชา ทั้งที่เป็นโฮมเมด ทำไว้ดื่มเองภายในบ้าน และโรงงาน

ด้วยความที่ไปอยู่ในครั้งแรกนานตั้ง 6 เดือน ก็เลยซึมซับมาเยอะ รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ดีนะ เวลาเราเข้าบ้านใคร แล้วเขาจะต้อนรับเราด้วยชา สมมุติว่าวันนี้เราไปบ้านเพื่อน 5 คน เราก็ต้องมีเวลานั่งดื่มชากับเขาก่อน

และแต่ละบ้านก็มีวัฒนธรรมในการดื่มชาที่แตกต่างกันไป อ๊อบคิดว่ามันมีเสน่ห์ดี”


“บันทึกการแสดงสดของความรู้สึกในช่วงเวลานั้น” คือนิยามที่อ๊อบมีให้กับภาพถ่ายวิถีชีวิตคนปลูกชาแห่งดาร์จีลิ่ง แต่ละภาพ ของตัวเอง

“เหมือนการวาดรูป ตาเราเห็นตั้งเยอะสิ่งต่างๆตรงหน้า แต่ทำไมเราเลือกที่จะวาดแค่ตรงสิ่งนั้น แสดงว่า ณ ตรงนั้น เรารู้สึกอะไรบางอย่างกับสิ่งนั้น

เหมือนตอนที่อ๊อบวาดภาพลายเส้น First Drop of Snow ที่ภูฏานชิ้นที่นำมาร่วมแสดงในนิทรรศการ 10 คนแกลงแสดงศิลป์ ครั้งล่าสุด

ที่ภาพมันออกมาอย่างที่เห็น เป็นเพราะขณะที่นั่งวาดอยู่อ๊อบหนาวจนมือสั่น และรีบมาก เพราะหิมะมันเริ่มตกหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

การถ่ายภาพก็เหมือนกัน มันเป็นช่วงเวลาแป๊ปเดียวที่เราจะเล็ง แล้วเราก็ถ่าย

อย่างคนกำลังเดินผ่านหน้าเราไป เรามองอยู่ พอจังหวะหนึ่งรู้สึกชอบ เราก็รีบคว้ากล้องมาถ่าย”

เวลาผ่านไปดูเหมือนความหลงใหลในเสน่ห์ของเมืองดาร์จีลิ่งจะไม่เคยลดน้อยลง แถมอ๊อบยังยกให้ที่นั่นเป็นบ้านหลังที่สองของตัวเองด้วย

“ไปบ่อยจนคนในพื้นที่พาเข้าไปชมในโรงงานเลย เพราะปกติ เค้าจะไม่ให้ใคร พาเข้าโรงงานได้ง่ายๆ แต่นี่เค้าพาเข้าไป แล้วก็พาไปชิมชา

เจ้าของสถานที่ๆนั่น เหมือนเค้ามองว่าเราเป็นเด็ก แล้วเค้าก็เอ็นดูเรา อยากให้ความรู้เรา เราก็เลยโชคดี”

ทว่านับวันบันทึกการแสดงสดของความรู้สึกเกี่ยวกับที่นั่น มีติดตัวกลับมาเมืองไทยน้อยลงเรื่อยๆ

“ตอนไปครั้งแรก ถ่ายทุกอย่างเลย ตอนนั้นเคยเขียนลงหนังสือ Travel Guide ด้วย เกี่ยวกับเรื่องของเมืองดาร์จีลิ่งโดยเฉพาะ

อ๊อบเคยได้อ่านข้อความหนึ่งเกี่ยวกับศิลปะนะคะว่า การที่เราจะวาดอะไรออกมาได้ดี เราต้องทำเหมือนกับว่าเราไม่เคยเห็นสิ่งนั้นมาก่อน อ๊อบว่ามันจริง เพราะเราจะเก็บรายละเอียดได้เยอะมาก

เหมือนครั้งแรกที่อ๊อบไปดาร์จีลิ่ง ช่วงเวลา 6 เดือน ที่อยู่ที่นั่น อ๊อบพกกล้อง เดินออกจากบ้านทุกวัน พยายามที่จะทำความรู้จักกับสถานที่ ถ่ายเก็บทุกอย่าง

พอตอนหลังภาพถ่ายเกี่ยวกับดาร์จีลิ่งของอ๊อบน้อยลงเลยนะ เพราะอ๊อบมีความรู้สึกว่าเรารู้จักกับมันแล้ว เราไม่ได้ตื่นเต้นเหมือนครั้งแรก

เหมือนกันกับที่คนเราเวลาเจอกัน เจอกันครั้งแรกเราก็ตื่นเต้น อยากทำความรู้จัก

มันเหมือนความรักมั้งคะ รักกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องมานั่งถ่ายภาพกันทุกวัน แต่ครั้งแรกที่พบกัน มันเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากเก็บความทรงจำร่วมกันไว้

แต่ไม่ใช่ว่าการที่เราไม่ได้ถ่ายมันเยอะแล้ว เราไม่ชอบมันแล้ว แต่มันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง”

ความผูกพันที่อ๊อบมีต่อเมืองดาร์จีลิ่ง ล่าสุดเป็นแรงบันดาลใจให้ผลิตสินค้าแฮนด์เมดขึ้นมา ภายใต้แบรนด์ My hometown และกำลังรวบรวมภาพถ่ายวิถีชีวิตคนปลูกชา ของตนเอง มาเพื่อขายและประมูลหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวคนงานเก็บชา ที่เมืองดาร์จีลิ่ง

อย่างไรก็ตามถึงเวลานี้อ๊อบยังไม่ขอเรียกตัวเองว่าช่างภาพหรือคนทำงานศิลปะเต็มตัว แม้จะเป็นสิ่งที่เธอรักและทำควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ,ครูสอนดนตรี,กราฟิกดีไซเนอร์,ผู้ฝึกอบรมการออกแบบผลิตภัณฑ์,ผู้ออกแบบโปรแกรมสอนศิลปะให้กับเด็กๆ ฯลฯ รวมถึงการเข้าไปเป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อน “สภาศิลปะเมืองแกลง”

“อ๊อบว่างานทุกอย่างที่เราทำ มันน่าจะเรียกรวมกันว่างานครีเอทีฟมากกว่า อ๊อบมองว่าอย่างนั้น

มันเหมือนเราขาย Vision ของเรา เหมือนว่าคนที่เขาจ้างเราทำงาน ก็เพราะว่าเขาชอบในงานของเรา เขาเชื่อในกลิ่นไอของงานที่เรานำเสนอ”

ได้รับทราบข่าวคราวเพียงเท่านี้ ทั้ง “คนลืมง่าย” และ “จำนาน” น่าจะพอหายคิดถึงอดีต “ผู้หญิงลืมยาก” คนนี้
 
 
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ  Photo :ปัญญพัฒน์ เข็มราช และ ณีรนุช เอี่ยมอารยา

















ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It