Art Eye View

ร่างกายเป็นเรือนของใจ “สมาน แสงทอน” จิตรกรและช่างปั้นแห่งด่านเกวียน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—แม้หลายด้านของชีวิตจะเป็นเรื่องยากที่จะจัดสรรให้ลงตัว แต่การตั้งหลักจัดสรรชีวิต ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องพยายามหาหนทางกันต่อไป เพื่อให้หลายด้านของชีวิตเราดำเนินไปอย่างสอดประสานกัน เกิดความสมดุลย์ทั้งในเรื่อง การงาน ร่างกาย และจิตใจ

หากว่าปีที่ผ่านๆมา ชีวิตโดยรวมของคุณยังดูคล้ายไม้หลักปักขี้เลน
ช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ มาลองตั้งหลักกันใหม่อีกสักครั้ง
จะโดยวิธีของคุณเอง หรือทดลองนำวิธีของศิลปินท่านนี้ไปปรับใช้ก็ได้

สมาน แสงทอน ตัวอย่างของศิลปินผู้หนึ่งที่ปัจจุบันสามารถจัดสรรชีวิตของตัวเองได้ค่อนข้างลงตัว และกำลังมีความสุขกับการกลับมาเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งที่รักจะทำอีกครั้ง นั่นคือ “การเขียนภาพ”

เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีเวลาทุ่มเทให้ เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาเลี้ยงชีพ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว โดยเฉพาะอนาคตของลูก


ช่างปั้นแห่งด่านเกวียน

“ผมเรียนจบมาทางด้านจิตรกรรม (คณะออกแบบ วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา)

แต่เนื่องจากตอนเรียนเราต้องหาเงินเรียนเอง ทำให้ต้องไปทำงานที่เกี่ยวกับทางด้านงานปั้น งานประติมากรรมประดับฝาผนัง

ช่วงที่เรียน ป.4 จนถึง มศ.3 ก็เรียนด้วยทุนรัฐบาล เป็นทุนเรียนดี แต่พอเราจบ มศ.3 เราไม่มีทุนที่ส่งโดยรัฐบาลแล้ว ก็เลยมาทำงานที่ด่านเกวียน ทำงานตอนกลางคืน เรียนตอนกลางวัน ทำแบบนี้จนเรียนจบ ทำให้ไม่มีเวลาเขียนภาพได้เต็มที่ เพราะต้องหาเงินเรียน

มาอยู่กับอาจารย์คนที่เขาสอนเกี่ยวกับเครื่องปั้น และมีกิจการอยู่ที่นี่ อาจารย์เค้าช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายที่เราจะไปเรียน สมมุติว่า ต้องการใช้เงินวันละ 50 บาท เราก็ทำงานเอา พอตื่นเช้ามาก็เบิกเงินไปเรียน พอเรียนเสร็จ ก็รีบกลับบ้านก่อนเลย เพื่อทำงานต่อ แล้วก็ตื่นไปเรียน ทำแบบนี้อยู่ 6 ปี จนเราเรียนจบ

พอเรียนจบก็ทำงานที่ด่านเกวียนต่อ เคยเป็นหัวหน้าช่างที่ออกแบบเครื่องปั้นดินเผาให้ช่างเขาขึ้น ทำงานที่เกี่ยวกับประติมากรรมมาตลอด จนกระทั่งส่งลูกเรียนจบปริญญาโท

และอาชีพหลักอย่างหนึ่ง แต่ก่อนผมทำงานเกี่ยวกับหน้ากากดินเผาครับ ที่เป็นชิ้นเล็กๆ เรียกงาน Mural งานประดับผนัง ที่เวลาเราทำเสร็จปุ๊บเราก็เอาไปเรียงๆ เป็นจิ๊กซอ ติดกาว ใส่กรอบติดผนัง ขายให้ชาวต่างประเทศ ทำอยู่ซักพักนึง”

ด้วยเหตุที่มีอาชีพซึ่งคลุกคลีอยู่กับชุมชนเครื่องปั้นดินเผา ต.ด่านเกวียน ของเมืองย่าโม มานาน และมีงานรับจ้างประเภทงานประติมากรรมนูนต่ำ ไปที่ติดอยู่ตามผนังวัด และอาคารทั่วประเทศ นี้เอง จึงทำให้ในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยฯ มอบปริญญา มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านประติมากรรม ให้กับเขา

“ตอนหลังมาทำต้นแบบให้เค้า แล้วเค้าก็เอาไปทำพิมพ์ แต่มันก็ยังคืองานที่เราออกแบบให้ แล้วเค้าก็เอาไปทำ เหมือนเป็นงานของเค้าไป”

ผ่อนงานปั้นมาเขียนภาพ

สมานเล่าว่าที่ผ่านมา ความรู้สึกลึกๆ ต้องการจะเขียนภาพอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนจริงๆจังๆ เมื่อลูกเรียนจบ ได้งานทำแล้ว เขาจึงพยายามผ่อนการทำงานปั้น งานประติมากรรมที่ทำเป็นอาชีพลง แล้วหันมาทำงานเขียนภาพให้ จริงๆจังๆสักที

“ตั้งต้นเรียนรู้ใหม่ อาศัยจังหวะที่จะเขียนตอนกลางคืน มันก็เลยเกิดเป็นงานขึ้นมาเรื่อยๆ พอเราเข้าเฟซบุ๊ค มีคนอื่นๆ มีเพื่อนฝูงเข้ามาดู คนเค้าก็ชอบนะ แต่ผมก็ยังคิดว่า มันยังเป็นงานเรียนของผมอยู่นะ ยังไม่ใช่งานที่ดีนัก

พยายามเขียนอย่างที่เราอยากจะเขียน และบันทึกว่าเขียนเดือนนั้นเดือนนี้ เป็นการเริ่มต้นใหม่ครับ จากที่เราเคยตั้งใจว่าอยากจะหาเวลาเขียนภาพแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ทำมาเรื่อยๆ หลายเดือนแล้ว และนอกจากเขียนภาพ ผมก็ยังเล่นดนตรี เขียนกวี และทำงานปั้น ในแบบที่เราอยากจะทำด้วย
แต่งานหลักที่เราทำมาหากินก็ยังคืองานปั้น พูดง่ายๆ ที่ผ่านมาเราปั้นจนเราจะเบื่อแล้ว เลยอยากจะเขียนภาพ

สำหรับผม เขียนภาพเป็นการพักผ่อน แต่การปั้นเป็นงานอาชีพ พอเช้าหรือเย็น เราจะขี่จักรยานออกไป ตามทุ่งนาไปเรื่อยๆ เจอที่ไหนสวย เราก็ใช้มือถือถ่ายมา มันก็เลยเป็นทั้งการทำงานและการพักผ่อนไปด้วย

ถ่ายภาพมา เราก็มาเซฟ ไว้ๆ แล้วใช้เวลาว่างจากงาน 10-20 นาที ไปเขียน ตั้งภาพไว้บนขาหยั่งเลย แล้วก็เอามาลงเฟสบุ๊ค ดีมั้งไม่ดีมั่ง พอคนมาดู แล้วชอบ มันก็เป็นกำลังใจให้เรา

ส่วนมากคนที่มาดูงานผม เป็นรุ่นน้อง และเค้าก็บอกว่าชอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าชอบจริงๆมากแค่ไหน

เราได้เอามาให้เค้าดู บางคนเค้าก็มาทำตามเรา เริ่มเขียนภาพ และถามว่าจะเริ่มเขียนยังไง เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ”


เขียนภาพเพื่อการพักผ่อน

ภาพที่สมานเขียน ส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์ที่เขาถ่ายภาพมาจากละแวกบ้านของตัวเอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านป่าบง อันเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และทิวทัศน์บนเส้นทางการปั่นจักรยาน

“จริงๆ ก็อยากไปนั่งเขียนในสถานที่จริง หมายถึงว่าถือสี ถือกระดาษ ใส่รถจักรยานไปเขียนที่นั่นเลย แต่ยังทำไม่ได้ เพราะยังต้องทำงานปั้นอยู่ ก็เลยอาศัยเทคโนโลยี ใช้มือถือถ่ายภาพมา แล้วก็เขียน แต่เราก็ได้ไปซึมซับบรรยากาศ ขี่จักรยานไปแล้วก็ไปอยู่ในธรรมชาติจริงๆ เพียงแต่เราไม่มีเวลาไปนั่งเขียนในสถานที่จริง ทำได้แค่ถ่ายภาพมา แล้วเอาไปเขียนที่บ้าน และไม่ได้ถึงขนาดว่าพยายามลอกจากธรรมชาติหรอก มีการใส่ความรู้สึกของเราลงไปด้วย ภาพมันเลยก็ออกมาจากที่เห็น

ถ้าไปดูภาพแรกๆที่ผมเริ่มกลับมาเขียน มันก็ยังเป็นงานที่เหมือนยังไม่ได้เรื่องนะ แต่ตอนหลังมันก็เริ่มพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรหรอก เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับมันทั้งวัน แต่ถือว่าเป็นการพักผ่อนไป

พูดง่ายๆคือ ผมเขียนภาพเพื่อการพักผ่อนเฉยๆ แต่ถ้ามีเวลาจริงๆ ผมก็จะอยู่กับมันทั้งวัน เหมือนเราทำงานปั้นนี่แหล่ะ เพราะบางทีผมก็ทำงานปั้นทั้งวันทั้งคืนเหมือนกัน”



วิ่ง ปั่นจักรยาน ศิลปะ และธรรมะ

นอกจากเขียนภาพและทำงานศิลปะอื่นๆตามที่อยากจะทำเพื่อการพักผ่อน ปัจจุบันสมานยังเลือกปั่นจักรยาน ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนและออกกำลังกายไปด้วยในตัว

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เลือกออกกำลังกายด้วยการวิ่ง โดยมีเหตุจูงใจ เพราะต้องการเลิกบุหรี่ และนำประโยชน์ที่ได้จากการวิ่ง นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังทำให้มีสมาธิ มาใช้ในการทำงานศิลปะ

“ผมวิ่งมาราธอนมา 29 ครั้งแล้วครับ ส่วนฮาล์ฟมาราธอน ประมาณ 40 ครั้ง และมินิมาราธอนประมาณ 50 ครั้ง

ไปวิ่งทั่วประเทศครับ กรุงเทพมาราธอน ถ้าเราว่าง ก็ไปทุกปี ตอนหลังเข่าเริ่มมีปัญหา เพราะผมวิ่งมานาน 26-27 ปี

ตอนแรกที่เราวิ่ง เพราะพอเรารู้ว่าเราจะมีลูก เราจึงอยากจะเลิกบุหรี่ เพื่อเป็นของขวัญให้ลูก เราจึงเริ่มซื้อรองเท้ามาวิ่ง เพื่อต้องการจะเลิกบุหรี่นั่นเอง
พอวิ่งไปเรื่อยๆ การวิ่งเหมือนเราทำสมาธิ พอเราได้สมาธิ เราเอาสมาธินั้นไปทำงานศิลปะ และขณะที่ทำงานศิลปะ เราก็ฟังธรรมะของหลวงตามหาบัว ไปด้วย มีวิทยุธานินทร์เล็กๆ เอาไว้ฟัง”



เรื่องเดียวกันในชีวิต

จนทุกวันนี้ กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตของสมาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานหาเลี้ยงชีพ การทำงานศิลปะ การออกกำลัง และการดูแลจิตใจ กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

“ไปๆมาๆ มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันครับ เวลาฟังธรรมะ เราก็ได้ทำสมาธิไปด้วย ในระหว่างที่เราฟัง

พอเวลาเราไปวิ่ง เราก็วิ่งสมาธิ วิ่งนับก้าวไปเรื่อย พอเราวิ่งไม่ได้ เข่ามันยังมีปัญหาอยู่ เราก็ใช้วิธีปั่นจักรยาน เพราะกีฬาที่มันเข้มข้นเท่าการวิ่ง และไม่ต้องมีอะไรยุ่งยากมาก ก็คือการปั่นจักรยาน ก็เลยใช้วิธีนี้เอา

ขี่วันละ 50 กิโลเมตร ไปเรื่อยๆ เจออะไรสวย ก็ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายมาเรื่อยๆ สวยดีเราก็เอามาเป็นแบบเขียนภาพ เขียนกวี มันก็เลยกลายเป็นเรื่องซึ่งเราสามารถทำให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ วนอยู่กับการใช้ชีวิตและการงานที่อยู่กับสมาธิและสามารถเอามาทำงานศิลปะได้”

เพราะพยายามทำกิจกรรมทุกอย่างในแต่ละวันของชีวิตให้เป็นเรื่องของปัจจุบันขณะอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหน จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เขาอาศัยเป็นฤกษ์ดีเพื่อที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือตั้งหลักอะไร

“ปีใหม่หรือไม่ใหม่ สงกรานต์หรือไม่สงกรานต์ สำหรับผม ไม่แตกต่างกันครับ เพราะผมจะไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรกับใครเค้าเท่าไหร่หรอก ปีใหม่ยังไง ผมก็ยังทำงานของผมอยู่อย่างนี้ สงกรานต์ก็ไม่ได้ไปเล่นน้ำสงกรานต์กับใครเค้า ไปรดน้ำผู้ใหญ่เฉยๆ

มันไม่มีความตื่นเต้นกับกิจกรรมแบบที่เค้าทำกันครับ หมายถึงว่า สงกรานต์ใครมาบ้านผม เค้าก็ยังเห็นผม ทำงานของผมอยู่อย่างนี้แหล่ะ นั่งอยู่กับบ้าน เขียนภาพไป ทำเครื่องปั้นดินเผาไป ปีใหม่เค้าก็ไปเที่ยวกัน ส่วนผมก็ไม่ได้ไป

เพราะเราทำงานกับดิน การที่เราจะไปไหนได้ เราต้องเสร็จงานจริงๆ เราถึงไปได้ เพราะไม่งั้นดินมันแข็งหมดครับ มันก็เลยกลายเป็นข้อบังคับของเราไปในตัวว่า งานเสร็จจริงๆ ถึงจะได้ไป ถ้าไม่เสร็จก็ไม่ได้ไป

ดังนั้นปีใหม่หรือไม่ปีใหม่ หรือเทศกาลอะไรต่างๆ สำหรับผม มันเป้นเรื่องไม่ต่างกันเลย

เราใช้หลักว่า ทำชีวิตปัจจุบันของเรานี่แหล่ะ ให้มันดีที่สุด ไม่ต้องรอปีใหม่ หรือเทศกาลอะไร”

ร่างกายเป็นเรือนของใจ

“แต่จุดสำคัญคือ เราจะอยู่กับปัจจุบัน เราจะทำงานยังไงให้มีความสุข

ผมจะมีหลักอยู่ง่ายๆก็คือว่า ร่างกายเราเป็นเรือนของใจใช่ไม๊ครับ ใจเราจะดีหรือไม่ดี เราก็ต้องดูแลร่างกายของเรา ถ้าร่างกายเราดี ใจเราดี เราก็จะสามารถทำอะไรได้ดีและสำเร็จตามที่เราตั้งเป้าไว้ได้

ดูแลกาย ด้วยการออกกำลังกาย ให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว แล้วจิตใจเราจะทำยังไงให้มีความสุข มันก็ต้องนิ่งๆ ด้วยการทำสมาธิ มีสติ ทำให้เราอยู่กับงานได้

เราอยู่กับจิตเรา อยู่กับใจเรา และอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งทำให้เราเย็นครับ ถ้าเราอยู่อย่างอื่น แล้วมันร้อน มันก็ร้อนไปเรื่อย ดังนั้นพาชีวิตเข้าหาสิ่งเหล่านี้ดีกว่า ใกล้ชิดอะไรที่มันไม่ทำให้เรารุ่มร้อน จนเราทุกข์ครับ

ผมจะชอบมากเวลาที่ได้ขี่จักรยานไปคนเดียวไปยังธรรมชาติที่โล่งๆ ที่ทุ่งนา มันทำให้เรามีความสุข และการที่เราเขียนภาพแล้วเอามาแบ่งปันคนอื่น มันก็พลอยให้คนอื่นเค้าพลอยมีความสุขไปด้วย”

ดูจากใบหน้าที่มีรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นอยู่เสมอ และจากภาพเขียนของสมาน
เราผู้ชมคงพอจะบอกได้ว่า รับรู้ได้ถึงความสุข หรือทุกข์ สงบ หรือรุ่มร้อน


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It