ART EYE VIEW—กลายเป็นประเด็นร้อนรับปี 2558 ของคนศิลปะบนโลกโซเชียล เมื่อ “ทิพย์ แซ่ตั้ง” ทายาท “จ่าง แซ่ตั้ง” ศิลปินผู้ล่วงลับ
โพสต์ข้อความผ่าน facebook ถามถึงมาตรฐานคัดเลือกศิลปินไทยร่วมแสดงผลงานใน “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่”
อันเป็นมหกรรมศิลปะที่จัดขึ้นประจำทุกๆ 2 ปี ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกและประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นประเทศสมาชิกครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2546
พร้อมกับแชร์ภาพถ่าย กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2540 ถ่ายคู่กับผลงานศิลปะชิ้นใหม่ ซึ่งทิพย์แชร์มาจาก facebook ของศิลปิน วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ ซึ่งวัฒนโชติบรรยายใต้ภาพไว้ว่า
“เสร็จสมบูรณ์ Painting ขนาด 2.00 x 7.00 เมตร สำหรับไปแสดงที่ Venice Biennale ที่ประเทศ Italy ในอีก 2 เดือนข้างหน้า”
ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการแถลงข่าวใดๆของกระทรวงวัฒนธรรมว่า ศิลปินไทยรายใดที่ผลงานจะถูกคัดเลือกให้ไปร่วมมหกรรมศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ปีล่าสุด
ขณะที่ข้อความทั้งหมดของทิพย์ที่โพสต์ประกอบภาพและข้อความที่แชร์มา ความว่า
“วันที่ 1 มกราคม 2558 ผมอ่านโพสท์ของพี่แป้ง Wattanachot Tungateja ลงว่า อากมล ทัศนาญชลี Tassananchaiee Kamoi เพิ่งสร้างงาน Painting ขนาด 2.00 x 7.00 เมตร เสร็จใหม่ๆ สำหรับนำไปแสดงที่ Venice Biennale ประเทศ Italy ในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ข่าวคราวการคัดเลือกผลงานศิลปินไทยที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงผลงานศิลปกรรมที่งาน Venice Biennale ประเทศ Italy ปี2015 ครั้งนี้ไม่มีเลย แล้วอยู่ๆก็มีข่าวว่า อากมล ทัศนาญชลี เพิ่งสร้างงานเสร็จใหม่ๆเอียม เพื่อนำไปแสดงในงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนคนเดียวหรือยังมีอีกหลายๆคนแต่ก็ยังไม่มีข่าวออกมาชัดเจน
สงสัย สงสัย สงสัย……????????????????
ผมต้องขอบอกก่อนว่า อากมล ทัศนาญชลี มิได้ไม่เหมาะสมน่ะ เข้าใจตรงกันเสียก่อน แต่สงสัย…????????????? การคัดสรรค์ศิลปินที่จะเป็นตัวแทนวงการศิลปะของประเทศไทย มีมาตรฐาน วิธีการคัดเลือกอย่างไร???????????????? ผมเชื่อว่าศิลปินไทยอีกมากมาย หลายๆชีวิตก็อยากมีโอกาสไปแสดงในนิทรรศการระดับโลกครั้งนี้ การไปแสดงงานที่ Venice Biennale ประเทศ Italy ทุก 2ปี ครั้งหนึ่งใช้เงินภาษีอากรของประเทศหลายสิบล้าน (หรือล้านสองล้านก็จัดได้ช่วยตอบประชาชนโง่เขลาอย่างฉันด้วย) ซึ่งน่าจะมีคำตอบอะไรบ้างที่ประชากรในวงการศิลปไทยจะได้รับรู้ มาตรฐาน และวิธีการคัดเลือกตัวแทนศิลปินไทย เพื่อในโอกาสหน้าต่อๆไป จะได้มีโอกาสปรับทิศทางของตนเองให้ถูกทิศทาง เพื่อมีโอกาสได้ไปร่วมแสดงในงานแสดงคศิลปกรรมระดับโลกอย่างนี้บ้าง”
ขณะที่คนศิลปะส่วนหนึ่งแสดงความเห็นด้วยและขอบคุณที่ทิพย์จุดประเด็นนี้ขึ้นมา เป็นต้นว่า
Podduang Charoen : “ขอบคุณพี่ Thip Tang หนูเองก็อยากรู้ด้วย ผู้ใหญ่เค้าคัดเลือกกันยังไงสงสัยด้วย ^^”
Chumpon Apisuk : “ผมมีความรู้สึกที่ดี ที่ทิพย์โพสต์ถามในที่สาธารณะ เพืืื่อแสดงว่าเปิดเผย ไม่มีอะไร เพราะเห็นด้วยว่าเรื่องนี้น่าจะเปิดเผย อาจจะไม่ต้องมากมายนัก แต่ก็คงไม่ถึงกลับต้องเก็บลับอะไรกัน เพราะอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการโฆษณาประเทศนะครับ”
Ekachai Luadsoongnern : “ขอบใจมากทิพย์ที่ตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลกันเต็มที่เลยครับพี่น้อง. ถามแล้วตอบไม่มีปัญหา ถามไม่ตอบกลับย้อนแย้งเรื่องไม่จบเพราะไม่มีคำตอบ”
Len Jittima : “ขอบคุณทิพย์ที่ถามขึ้นมา เราไม่มีปัญหาอะไรไม่ว่าจะเลือกใครไป แต่ขอแสดงทัศนะนิดนึงว่าศิลปินที่จะไปถึงระดับโลกได้ต้องจบศิลปะจากต่างประเทศเท่านั้นหรือ ไม่จริงมั้ง ศิลปินไทยหลายคนที่ไม่ได้จบแม้แต่สถาบันศิลปะที่ขึ้นชื่อว่าอันดับหนึ่งของไทยหลายคน ก็เป็นที่ยอมรับระดับโลก ไม่ขอพาดพิงชื่อเพราะเดี๋ยวจะถูกโยงเข้าประเด็นถกเถียงอีก”
ด้านหนึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับศิลปินหลายคนที่เห็นว่า ทิพย์ควรจะตั้งคำถามนี้ให้กระทรวงวัฒนธรรม ช่วยตอบ และแสดงความสงสัยว่าเหตุใดทิพย์จึงลุกขึ้นมาตั้งคำถามในเวลานี้
Akamol Roja : “มันก็น่าแปลกนะที่ผ่านๆมามีศิลปินไทยหลายๆคนไปแสดงมาแล้วทำไมไม่ถามกัน ว่ากระทรวงเค้าคัดเลือกกันอย่างไร มาเจาะจงถามเอาตอนนี้ อย่าลืมนะครับปีหน้าถามอีกนะครับเอาคำตอบให้ได้นะครับ ถ้าไม่ได้คำตอบถามทุกๆปีเลยนะครับ”
รวมถึง วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ พร้อมลูกชาย ที่ได้มีความเห็นโต้ตอบว่า
Wattanachot Tungateja : “การที่ทิพย์ post. มาอย่างนี้ไม่ทราบว่ามีจุดประสงค์อะไร? รึว่าอยากดัง เพราะไม่มีอะไรจะสร้างจุดสนใจให้ตัวเอง หากอยากรู้ควรติดต่อถามทางกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นผู้คัดเลือกเอง ไม่น่ามาขึ้นคำถามเพื่อจุดกระแสให้ตัวเองสำคัญใน facebook อย่างไร้สำนึกแบบนี้ มีอะไรก็โทรมาคุยกันก็ได้”
“ทิพย์อาจอยากให้เอางานพ่อตัวเองไปแสดงแทนก็ได้ จะได้ปั่นราคาให้สูงขึ้นอีก”
Techa Tungateja : “1.หากคุณทิพย์รู้จักอาจารย์กมลดี คุณทิพย์จะรู้ว่าท่านได้สร้างสรรค์อะไรหลายๆอย่างให้กับวงการศิลปะในบ้านเรามามาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันศิลปินเด็กรุ่นใหม่ทุกๆปีให้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ศิลปะทั้งในและต่างประเทศ ให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษามานับไม่ถ้วน สร้างงานศิลปะแทบทุกวัน มีผลงานอยู่ทั่วทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ให้อะไรกับวงการศิลปะไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าไม่รู้จักดีก็ลองหาข้อมูลดูได้ครับ ผมว่าไม่น่าแปลกที่อาจารย์กมลจะได้รับโอกาสนี้ ซึ่งปีก่อนๆ ใครได้ไปบ้างก็ลองศึกษาดูได้ครับ
2.เรื่องข่าวสาร ควรสอบถามจากกระทรวงครับ ถ้าอยากได้ข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่มาโพสต์ถามลอยๆ ในแบบที่คนอ่านสามารถมองได้หลายแง่ โดยพาดพิงถึงอาจารย์กมล ซึ่งสามารถเกิดความเสียหายได้ ทั้งตัวอาจารย์ และศิลปินหลายกลุ่มที่อาจทำให้เกิดความเห็นต่างและเข้าใจไปต่างๆนานาได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกทั้งที่ก็เป็นศิลปิน รักในศิลปะด้วยกันแท้ๆ
3.คุณแป้งเคารพรักอาจารย์กมลเหมือนพ่อ เหมือนที่คุณทิพย์เคารพอาจารย์จ่าง รักและหวงแหนไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ฉะนั้นเมื่อมีการพาดพิงคนที่เรารักและเคารพ แน่นอนว่าต้องเกิดฉุนเฉียวเป็นธรรมดา คุณแป้งคงไม่พอใจที่คุณทิพย์ตั้งข้อสงสัยในการคัดเลือกอาจารย์กมล เช่นคุณทิพย์ไม่พอใจที่คุณแป้งพาดพิงอาจารย์จ่าง (ผมเห็นว่าตอนอาจารย์จ่างได้รับคัดเลือกไปแสดงผลงานที่จีน คุณแป้งก็ยังแสดงความยินดีด้วยโดยไม่ตั้งข้อสงสัยใดๆ)”
โปรดติดตามกันต่อไป สำหรับประเด็นที่คนจำนวนหนึ่งอยากให้หาคนมาตอบคำถาม และคนจำนวนหนึ่งมองว่าตั้งคำถามไม่ถูกที่ถูกคน
หมายเหตุ : มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานมหกรรมศิลปะที่มีความสำคัญเทียบเท่ามหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2438 และจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี โดยมีระยะเวลาในการจัดงานยาวนานถึง 6 เดือน มีผู้เข้าชมงานที่เป็นผู้รักศิลปะจากทั่วโลก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทอดพระเนตรการแสดงงานศิลปะดังกล่าวถึง 2 ครั้ง และทรงโปรดปรานฝีมือของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ซึ่งนับว่าเป็นศิลปินที่โดดเด่นมากในยุคศิลปะอาร์ทนูโวของอิตาลี ที่มีอิทธิพลต่อศิลปะ สิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมต่างๆในสมัยรัชกาลที่5
โดยภาพเขียนฝีมือคินี ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ในปีนั้น คือ ชุด “ประวัติศาสตร์ศิลปะข้ามกาลเวลา” ซึ่งเป็นภาพเขียนสไตล์ลิเบอร์ตี จึงได้ทาบทามให้คินีเดินทางมากรุงเทพเพื่อมารับงานเขียนภาพพระราชวังดุสิตสมัยนั้น ซึ่งก็คือพระที่นั่งอนันตสมาคม
ในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้รับเชิญเป็นทางการครั้งแรกให้เป็นประเทศสมาชิก
จากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้มีการคัดสรรศิลปินให้นำผลงานไปร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะระดับโลกนี้เรื่อยมา
ก่อนหน้านี้ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
ศิลปินไทยจำนวน 2 คนร่วมที่มีผลงานไปร่วมแสดงในมหกรรมฯ คือ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และอริญชย์ รุ่งแจ้ง
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.