>>จังหวะเหมาะพอดีที่ “มาดามมอนทัวร์” (MadameMonTour) เช็กอินมาเยือนเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เมืองนี้มี “เทศกาลเล่นว่าว” (Kite Festival) หรือที่คนพื้นเมืองเรียกว่า “สังกรานติ์” (Sankranti) ซึ่งเป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนับพันปีของเมืองชัยปุระ นับเป็นเทศกาลที่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กผู้ชายต่างเฝ้ารอคอยที่จะได้ออกมาเล่นว่าวบนดาดฟ้าของบ้านเรือน หรือสถานที่โล่งกว้าง ท่ามกลางลมหนาวที่โชยชวนให้เด็กๆ ได้ออกมาปลดปล่อยอารมณ์ความสนุก
ในช่วงกลางเดือนมกราคมของทุกปี ที่เมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย จะมีเทศกาลเล่นว่าวเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อสืบสานประเพณีการเล่นว่าวที่มีมานานนับพันปี ราวกับเทศกาลลอยกระทงในประเทศไทย ในช่วงฟ้าสางที่มาดามมอนทัวร์มาเยือนเมืองชัยปุระ เริ่มมีเด็กๆ ออกมาเล่นว่าวกันบ้างแล้ว เพื่อซ้อมก่อนที่วันจริงจะมาถึง เมื่อมองขึ้นไปยังดาดฟ้าตามบ้านเรือนต่างๆ หรืออาคารสูงก็จะพบว่ามีว่าวหลากสีสันว่อนไปมาสร้างความน่าสนใจไม่น้อย
หลายร้านหันมาจำหน่ายอุปกรณ์การเล่นว่าว มีตั้งแต่โครงว่าวที่ทำจากไม้ไผ่ บ้างก็มีว่าวสำเร็จรูปหลากสีสัน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือด้ายหลากสีที่นำมาผูกกับตัวว่าวเพื่อใช้ขึงชักนั่นเอง ซึ่งเทศกาลการเล่นว่าวที่เมืองชัยปุระได้รับความนิยมขนาดมีประชาชนนำว่าวไปถวายและประดับประดาในวัดวาอารามก็ยังมี
เมื่อวันเล่นว่าวอย่างเป็นทางการมาถึง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 และวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม เสียงเด็กๆ แว่วก้องมาปลุกมาดามมอนทัวร์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง พอเข้าสู่ช่วงเวลาสายท้องฟ้าเริ่มเต็มไปด้วยว่าวหลากสีสัน โดยเด็กๆ และวัยรุ่นต่างขึ้นไปปีนป่ายบนดาดฟ้าของบ้านตนเอง บ้างไปรวมเกาะกลุ่มกันเล่นตามสวนสาธารณะ หรือพื้นที่โล่งกว้าง เพื่อให้ว่าวทะยานบนท้องฟ้าได้ดี
หลายบ้านรวมตัวกันเล่นว่าว บ้างขนลำโพงและเครื่องเสียงขึ้นมาบนดาดฟ้าเปิดประชันกัน บ้างเต้นรำทำเพลงกันอย่างครึกครื้น ยิ่งตกค่ำบรรยากาศยิ่งคึกคักกว่าเดิม เพราะร้านรวงต่างๆ ปิด พนักงานและเด็กๆ วัยรุ่นทั่วเมืองต่างออกไปรวมกันแล้วจุดประทัดดังกึกก้องไปทั่วเมือง แสงไฟจากโคมลอยเริ่มค่อยๆ ล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า สร้างความสนุกสนานและตื่นเต้นราวกับปิดเมืองกันเล่นว่าว ดอกไม้ไฟ และโคมไฟกันเลยทีเดียว
ช่วงสายมาดามมอนทัวร์ออกไปสำรวจเมืองชัยปุระ ซึ่งบนต้นไม้เต็มไปด้วยว่าวหลากสีสัน เพราะเด็กๆ ที่นี่ ถ้าเล่นแล้วมันไปพันติดอยู่บนต้นไม้ หรือไปหล่นอยู่บ้านคนอื่นก็จะปล่อยมันไป เพราะว่าวมีราคาถูกและหาซื้อได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีว่าวไว้ให้เล่นคนละไม่ต่ำกว่า 5 ตัวเลยทีเดียว หรือแม้แต่บนท้องถนนก็ยังเต็มไปด้วยด้ายว่าว ส่วนตัวว่าวที่ตกมายังพื้นถ้ามีสภาพดีอยู่ก็จะมีเด็กๆ ยากไร้ที่ไม่มีเงินซื้อของใหม่มาคอยวิ่งเก็บจนแทบไม่เหลือซาก ยกเว้นว่าวที่ชำรุดเสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาเล่นใหม่ได้
ชัยปุระ หรือไจปูร์ (Jaipur) เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย งดงามด้วยพระราชวังและป้อมปราการต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าไสวชัยสิงห์ที่ 2 ในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ผู้คนรุ่นเก่ามักจะเรียกเมืองนี้ว่าราชสถาน หรือเมืองแห่งมหาราชา และมหาราชินี นั่นเอง ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย
หากเล่าย้อนกลับไป ชัยปุระ หรือรัฐราชสถานได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งสีชมพู (Pink City) โดยมีที่มาเนื่องจากในปี ค.ศ.1876 มหาราช ซาราม สิงห์ ได้มีรับสั่งให้ประชาชนทาสีชมพูทับบนสีปูนเก่าของบ้านเรือนตนเอง เพื่อแสดงถึงไมตรีจิตครั้งต้อนรับการมาเยือนของเจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายมกุฎราชกุมารของอังกฤษ ซึ่งภายหลังคือกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร และต่อมารัฐบาลอินเดียก็ยังออกกฎหมายควบคุมให้สิ่งก่อสร้างภายในเขตกำแพงเมืองเก่าต้องทาสีชมพูเช่นเดิม จนกลายเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาและทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ต่างพากันเดินทางมายังเมืองชัยปุระอย่างไม่ขาดสาย
ชัยปุระ ที่คนไทยเรียกขานกัน แปลว่า “เมืองแห่งชัยชนะ” สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1727 ตรงกับสมัยของมหาราชาไสวชัยสิงห์ที่ 2 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชปุต ราชวงศ์กาญจวาหา โดยมหาราชาของชัยปุระจะต้องมีคำนำหน้าว่า ไสว (Sawai) ทุกพระองค์ ซึ่งคำนี้มีที่มาจากเมื่อครั้งท่านชัยสิงห์ที่ 2 ยังไม่ได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งมหาราชต่อจากพระบิดา โดยถูกส่งเข้าไปเรียนรู้งานในราชสำนักของจักรพรรดิออรังเซบ แห่งราชวงศ์โมกุล
สำหรับกลุ่มราชปุตราชวงศ์นี้ถือเป็นราชวงศ์ฮินดูกลุ่มแรกๆ ที่ยอมสานสัมพันธ์กับกลุ่มโมกุลของจักรพรรดิอัคบาร์ โดยมหาราชามันสิงห์ที่ 1 ทรงยกน้องสาวให้อภิเษกกับจักรพรรดิอักบาร์ เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ราชวงศ์ซึ่งความร่ำรวยส่วนหนึ่งของเมืองชัยปุระก็มาจากสาเหตุนี้ด้วย
ทั้งนี้ มหาราชสะหวายชัยสิงห์ที่ 2 ทรงเป็นนักปกครองที่ทรงมองการณ์ไกลและฉลาดปราดเปรื่อง โดยพระองค์ตัดสินพระทัยย้ายราชธานีจากพระราชวังบนป้อมปราการแอมแมร์ (Amber Fort) หรือชาวพื้นเมืองเรียกว่า “อาเมร์” มายังเมืองชัยปุระ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการสู้รบปรบมือ ส่วนการออกแบบผังเมืองก็เป็นการผสมผสานระหว่างความทันสมัยและความเชื่อแบบฮินดู โดยเมืองชัยปุระถูกออกแบบให้มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน 9 ช่อง แล้วตัดด้วยถนนกว้างเป็นตารางหมากรุก และมีพระราชวังซิตี้ พาเลซ (City Palace) ตั้งอยู่ตรงกลางกินพื้นที่เกือบ 4 ส่วนใน 9 ของเมือง
ปัจจุบันเมืองชัยปุระเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ทันสมัยสุดของรัฐราชสถาน แถมยังมีประชากรหนาแน่นกว่า 3 ล้านคน อย่างที่มหาราชาไสวชัยสิงห์ที่ 2 ได้คาดการณ์ไว้ แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือผังเมืองเก่าในเมืองและสิ่งก่อสร้างดั้งเดิม รวมทั้งประตูเมืองซึ่งยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นอกจากนี้ สีชมพูของเมืองก็กลายเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้เมืองนี้เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ปัจจุบันเริ่มมีความทันสมัย เพราะมีรถไฟฟ้าสกายเทรนเชื่อมจากนอกเมืองสู่ใจกลางเมืองหลวง นอกจากนี้ ยังกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินอีกด้วย
เมื่อโฟกัสไฮไลต์สำคัญของเมืองชัยปุระจะประกอบไปด้วย “ซิตี้ พาเลซ” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่า กับอีกไฮไลต์สำคัญนั่นคือ “ป้อมปราการแอมเบอร์” ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองออกไปทางทิศเหนือของเมืองราว 11 กิโลเมตร โดยคั่นกลางด้วยทะเลสาบ ที่มีชื่อว่า “ชัย มาฮาล” (Jai Mahal) หรือพระราชวังฤดูร้อนตั้งตระหง่านอยู่กลางทะเลสาบนั่นเอง
มาดามมอนทัวร์เริ่มออกสัมผัสเมืองชัยปุระสถานที่แรกคือที่ “ซิตี้ พาเลซ” หรือพระราชวังหลวงที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบราชสถาน ตั้งอยู่บนถนนฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal Road) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 7 ของใจกลางเมืองเลยทีเดียว สร้างขึ้นในสมัยมหาราชาไสวชัยสิงห์ที่ 2 จากนั้นก็ได้รับการดูแลต่อเติมโดยมหาราชาของชัยปุระรุ่นต่อๆ มา ที่สำคัญตอนเริ่มก่อสร้างพระราชวัง ยังอยู่ในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐราชสถานแล้ว สถาปัตยกรรมจึงมีการผสมผสานระหว่างแบบราชปุตกับโมกุล
นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยอาคารอย่างลงตัว ไม่แน่นทึบ และมีทางเดินกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งของพระราชวังแห่งนี้ โดยปัจจุบันพระราชวังซิตี้พาเลซได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมในนามของพิพิธภัณฑ์ไสวมันสิงห์ แม้ยุคนี้จะไม่มีมหาราชาอีกต่อไป แต่ซิตี้ พาเลซแห่งนี้ก็ยังเป็นสมบัติส่วนพระองค์ และชาวเมืองชัยปุระบางส่วนก็ยังนับถือพระองค์อยู่ถึงแม้ว่าพระองค์ท่านจะไม่มีอำนาจใดๆ แล้วก็ตาม
ใกล้ๆ กันคือ “จันตาร์ มันตาร์” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองชัยปุระ สร้างโดยมหาราชาไสวชัยสิงห์ที่ 2 ในปี ค.ศ.1727 เนื่องจากทรงสนพระทัยและมีพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์ จึงได้สร้างหอดูดาวแห่งนี้มาพร้อมๆ กับการสร้างพระราชวังซิตี้ พาเลซ
ภายในจันตาร์ มันตาร์ มีหอนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ ซึ่งวัดเวลาได้อย่างแม่นยำ ในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในคำนวณฤกษ์เวลาในการออกรบ นอกจากนี้ มหาราชาไสวชัยสิงห์ที่ 2 ยังได้สร้างหอดูดาวในลักษณะนี้อีก 4 แห่งด้วยกัน ซึ่ง 1 ใน 4 อยู่ใจกลางเมืองเดลี และอยู่ที่เมืองอุจเจน (Ujjain) พาราณสี (Varanasi) และมาตูรา (Matura)
แต่นาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมืองชัยปุระนี่เอง ด้วยความสูงถึง 28 เมตร มีความเที่ยงตรง บอกเวลาที่เมืองชัยปุระได้โดยเฉพาะ ซึ่งเวลาจะไม่ตรงกับเวลามาตรฐานของอินเดีย ซึ่งที่จันตาร์ มานตาร์ ได้รับประกาศจากองค์การยูเนสโก้ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.2010 โดยการเดินทางมาชมจันตาร์ มันตาร์ ควรมาในช่วงเวลาที่มีแดดจะได้เห็นเงาและแสงที่นาฬิกาแดดบอกเวลาได้เป็นอย่างดี
จากนั้นมาดามมอนทัวร์ใช้เวลาเดินทางมายัง “ฮาวา มาฮาล” (Hawa Mahal) หรือพระราชวังแห่งสายลม ด้วยรถตุ๊กตุ๊ก ราคาต่อรองได้ มีตั้งแต่ 30 รูปี จนถึง 50 รูปี พระราชวังแห่งนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมถนนฮาวา มาฮาล นั่นเอง สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1799 จุดเด่นของสถาปัตยกรรมแห่งนี้คือบริเวณด้านหน้าอาคารมีหน้าบันสูง 5 ชั้น และมีลักษณะคล้ายรังผึ้งอันประกอบไปด้วยหน้าต่างขนาดเล็ก ที่ตกแต่งด้วยลวดลายฉลุเป็นช่องลมจำนวน 953 บาน ซึ่งได้มีการถอดแบบมาจากรูปทรงของมงกุฎพระนารายณ์และหน้าต่างแต่ละบานนั้นมีไว้สำหรับให้บรรดาสตรีนางในที่มาชมบรรยากาศภายนอกวัง หรือชมขบวนพิธีต่างๆ รวมไปถึงการเฝ้าส่งกษัตริย์ยามมีสงครามและต้องจัดทัพออกศึก
มาดามมอนทัวร์ปิดทริปของวันนี้ด้วยการเดินขึ้นไปนั่งกินลมชมวิวบนดาดฟ้าของร้านวินด์ วิว คาเฟ่ (Wind View Café) ซึ่งเป็นร้านกาแฟ ชา และเครื่องดื่มต่างๆ ที่ได้บรรยากาศเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับฮาวา มาฮาล ทำให้สามารถนั่งชมความงดงามของพระราชวังแห่งสายลมได้อย่างตื่นตา ละเลียดไปพร้อมกับเครื่องดื่มรสชาติกลมกล่อม หรือมานั่งชิลเพื่อรอชมพระอาทิตย์อัสดงลับขอบพระราชวังก็เก๋ไปอีกแบบ แต่วันนี้กลับถูกปกคลุมไปด้วยว่าวหลากสีสันเต็มท้องฟ้าไปหมด ท่ามกลางโคมไฟที่ล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นทิวแถวระยิบระยับราวกับแสงแห่งดวงดาวที่ต่างหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน
ช่วงสายของวันอาทิตย์เสียงเด็กๆ เจื้อยแจ้วอยู่บนดาดฟ้าราวกับนกกระจอกแตกรัง พร้อมกับว่าวตัวโปรดที่ยืนชักด้ายขึ้นลงเพื่อบังคับให้ว่าวของตัวเองอยู่บนท้องฟ้าได้นานกว่าใครเพื่อน มาดามมอนทัวร์แต่งตัวสวยเดินออกจากโรงแรมที่พักซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตเมืองเก่ามากนักเพื่อมุ่งหน้าไปยัง “ป้อมปราการแอมเบอร์” โดยเริ่มนั่งรถเมล์รอบเมืองจากสี่แยกใกล้ๆ กับฮาวา มาฮาล ด้วยค่าโดยสารประมาณ 10 รูปี หรือราว 7 บาท ไปตามถนนอาเมร์ (Amer Road) ผ่านไฮไลต์สำคัญนั่นคือ “จาล มาฮาล” ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อนที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลาง “ทะเลสาบมันสการ์” (Man Sagar Lake) แต่มาดามยังไม่ได้แวะ ตั้งใจว่าขากลับจะนั่งรถเมล์มาแวะ
ลืมเล่าไปว่าระหว่างที่ยืนรอรถเมล์แถวฮาวา มาฮาล อยู่นั้นได้มีหนุ่มๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งมีสามคนด้วยกันกำลังยืนคุยกันอย่างสนุกสนาน เมื่อสบตามาที่มาดามทุกคนก็อมยิ้มแล้วเข้ามาทักทาย จนมาทราบภายหลังว่าพวกเขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนสาขาวิศวโยธาปีสุดท้าย ซึ่งพวกเขาชวนกันมาซื้อหนังสืออ่านก่อนสอบ แต่บังเอิญมาเจอมาดามมอนทัวร์จึงถามว่าเดี๊ยนจะไปไหน เมื่อมาดามตอบไปว่าจะไปป้อมปราการแอมเบอร์ เขาจึงชักชวนให้ขึ้นรถเมล์ไปพร้อม เพราะเป็นเส้นทางเดียวกันกับที่พวกเขาจะต้องนั่งกลับบ้านพอดี
ด้วยความเป็นคนเจ้าเสน่ห์อย่างมาดาม หนุ่มๆ จึงชวนนั่งรถเลยไปแถวหมู่บ้านพวกเขาเพื่อไปดูการแข่งขันกีฬาคริกเกต ซึ่งอยู่เลยป้อมปราการแอมเบอร์ไปอีกราว 5 กิโลเมตร อิชั้นไม่ลังเลใจกล้านั่งรถไปกับพวกเขา รถเมล์พาวิ่งลัดเลาะเข้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อนารัดปุระ (Naradpura) ตามถนนที่คดเคี้ยว เมื่อไปสุดทางก็พบกับลานกว้างซึ่งเต็มไปด้วยนักกีฬาคริกเกตและเด็กหนุ่มที่มาเชียร์กีฬาอันขึ้นชื่อของประเทศอินเดีย มาดามยังไม่ทันจะได้หย่อนกายลงนั่งก็มีหนุ่มๆ และเด็กๆ เข้ามารายล้อมทักทาย พร้อมมีไมค์ยื่นมาจากผู้บรรยายการแข่งขันเพื่อมาสัมภาษณ์อิชั้นออกอากาศ ถามว่ามาจากไหน มาทำอะไร มากับใคร และรู้สึกอย่างไรกับกีฬาคริกเกต โอ้ว…เดี๊ยนจะฮอตอะไรปานนั้น!!!
มาดามใช้เวลาดูกีฬาคริกเกตอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็นั่งรถกลับ โดยปรินซ์ 1 ใน 3 หนุ่มอินเดียบอกให้อิชั้นนั่งรถเมล์คันนี้กลับ เพราะว่าจะได้ผ่านป้อมปราการแอมเบอร์เพื่อให้อิชั้นขึ้นไปชมความงดงามของพระราชวัง เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้นั่งช้างขึ้นไปชมยังพระราชวังที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ด้วยอัตราค่าขึ้นประมาณ 550 รูปีต่อเที่ยว ช้างที่นี่ดูมีสีสันเพราะควาญช้างได้แต่งองค์ทรงเครื่องให้มันอย่างวิจิตร พร้อมกับระบายสีบนใบหน้าของมันให้ดูมีชีวิตชีวา
น้องช้างเดินยวบยาบพามาดามขึ้นมาถึงตัวพระราชวังของป้อมปราการแอมเบอร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าวิจิตรและงดงามเหนือคำบรรยายจริงๆ ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบมันสการ์ สร้างโดยมหาราชามันสิงห์ที่ 1 สถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบฮินดูและศิลปะราชปุตอันเป็นเอกลักษณ์ สามารถมองเห็นได้จากระยะทางไกลเนื่องจากมีขนาดกำแพงปราการที่ใหญ่และแน่นหนาราวกับกำแพงเมืองจีน พร้อมประตูทางเข้าหลายแห่ง ถนนที่ปูด้วยหินหลายสาย ซึ่งเมื่ออยู่บนป้อมแล้วสามารถมองเห็นทะเลสาบมันสการ์ได้อย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้า
ความสวยงามของบรรยากาศป้อมปราการแอมเบอร์นั้นซ่อนอยู่ภายในกำแพงเมืองที่แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นคั่นด้วยทางเดินกว้าง ภายในเป็นหมู่พระที่นั่งซึ่งสร้างจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน ประกอบด้วย “ดิวัน-อิ-อัม” หรือท้องพระโรง, “ดิวัน-อิ-กัส” หรือท้องพระโรงส่วนพระองค์, “ชีชมาฮาล” พระตำหนักซึ่งเป็นห้องทรงประดับกระจกสำหรับมหาราชา และ “ชัย มันดีร์” ซึ่งเป็นตำหนักอยู่บนชั้นสอง, “อารัม บักห์” ซึ่งเป็นสวนสวยจัดเป็นรูปดาวแฉกแบบโมกุลคั่นกลางระหว่างอาคาร และ “สุกห์นิวาส” ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ใช้การปรับอากาศภายในพระตำหนักให้เย็นลงด้วยการทำให้ลมเป่าผ่านรางน้ำตกที่มีอยู่โดยรอบภายในพระตำหนัก ช่วยให้ภายในตำหนักนี้มีอากาศเย็นอยู่เสมอ
จากลักษณะโดยรวมอันสวยงามของบริเวณภายในป้อมปราการ จึงนิยมเรียกป้อมแห่งนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “พระราชวังอาเมร์” เคยเป็นที่ประทับของราชปุต มหาราชา และพระราชวงศ์ของอาเมร์ในอดีต นอกจากนี้ บริเวณประตูทางเข้าพระราชวังใกล้กับประตูกาเนช (Ganesh Gate) หรือประตูพระคเณศ เป็นที่ตั้งของวัดซิลาเทวี (Sila Devi) ซึ่งภายในมีศาลบูชาพระแม่ทุรคา ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม ซึ่งมหาราชามันสิงห์ที่ 1 ทรงเคารพบูชาอย่างสูง เนื่องจากพระองค์ได้ทรงพระสุบินถึงพระแม่ทุรคาทูลให้ทราบว่าพระองค์จะชนะสงครามกับมหาราชาแห่งเบงกอลในปี ค.ศ. 1604 นั่นเอง
อิ่มสำราญกับบรรยากาศภายในป้อมปราการแล้ว มาดามมอนทัวร์ก็นั่งรถเมล์กลับลงมาเข้าเมือง แต่ได้แวะพักที่สวนสาธารณะบริเวณริมทะเลสาบมันสการ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “จาล มาฮาล” หรือพระราชวังกลางน้ำ ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทะเลสาบมันสการ์ โดยพระราชวังแห่งนี้และทิวทัศน์ของทะเลสาบโดยรอบถูกต่อเติมและปรับปรุงโดยมหาราชาไสวชัยสิงห์ที่ 2
ตัวพระราชวังสร้างขึ้นอย่างสวยงามตามสถาปัตยกรรมแบบราชปุตและโมกุล ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งก่อสร้างเขตรัฐราชสถาน มีความสวยงามเนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบและโดยมีเทือกเขานหาร์การห์ตั้งอยู่เบื้องหลัง ตัวอาคารสร้างโดยใช้หินทรายสีแดง ประกอบด้วยทั้งหมด 5 ชั้น ซึ่ง 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงสุด โดยเหลือเพียงชั้นบนสุดซึ่งจะเผยขึ้นมาเหนือน้ำ
ฉัตรตรีซึ่งเป็นยอดหลังคาทรงสี่เหลี่ยมนั้นสร้างในแบบสถาปัตยกรรมเบงกอล ส่วนฉัตรตรีบริเวณสี่มุมของอาคารนั้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม เนื่องจากตั้งอยู่ในน้ำเป็นเวลาอันยาวนานทำให้ฐานของพระราชวังนั้นเริ่มทรุดโทรมลงเนื่องจากกระแสน้ำและน้ำท่วม โดยล่าสุดได้มีโครงการบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยรัฐบาลรัฐราชสถาน
และในวันนี้บริเวณรอบทะเลสาบดูจะคึกคักกว่าทุกวัน เพราะได้มีพิธีการแข่งขันว่าวด้วย โดยมีการประกวดว่าวหลากสีสัน และมีการแสดงละเล่นมากมาย บ้างมีกิจกรรมขี่อูฐรอบทะเลสาบ บ้างมีร้านรวงขายของที่ระลึก และว่าวหลากดีไซน์หลายสีสันให้เลือก
มาดามมอนทัวร์ปิดท้ายไฮไลต์สำคัญของเมืองชัยปุระด้วยการนั่งรถไปกราบไหว้พระพิฆเนศที่วัดฆเนศ (Ganesh Temple) ซึ่งพระพิฆเนศวรเป็นอีกหนึ่งที่นิยมมากที่สุด สร้างขึ้นโดยเสธอึ๊งรามปาลีวาล ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ พระวิหารแห่งนี้เปรียบเสมือนชีวิตแห่งการค้นหาความสุขนิรันดร์ ซึ่งพระพิฆเนศวรช้างหัวเทพในศาสนาฮินดูถือว่าเป็นพระเจ้าแห่งความเป็นมงคล ภูมิปัญญา ความรู้ และความมั่งคั่ง เป็นที่เคารพบูชาในวัดนี้อย่างยิ่ง
Fact Files
1.ปัจจุบันการเดินทางจากประเทศไทยสู่ชัยปุระ ประเทศอินเดีย ได้มีสายการบินไทยสมายล์ เปิดเส้นทางบินตรง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ด้วยกัน นั่นคือ วันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ ส่วนเส้นทางบินกลับชัยปุระ-กรุงเทพฯ มี 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เช่นกัน คือวันพุธ ศุกร์ และวันอาทิตย์
2.สายการบินไทยสมายล์เปิดให้บริการใน 2 ชั้นโดยสาร ได้แก่ ชั้นพรีเมียมอีโคโนมี หรือ Smile PLUS และชั้นอีโคโนมี หรือ Smile Class ราคาเริ่มต้นที่ 4,510 บาท สามารถซื้อบัตรโดยสารและชำระเงินค่าบัตรโดยสารผ่านตัวแทนได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งสะสมคะแนนกับ Royal Orchid Plus ของการบินไทยได้ด้วย
3.สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางจากเมืองชัยปุระมายังกรุงเทพฯ สามารถเดินทางต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยและต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อการบินกับเส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศของไทยสมายล์ ค้นหาข้อมูลเที่ยวบินเพิ่มเติมที่ 0-2118-8888 หรือคลิกที่ www.thaismileair.com
4.การเดินทางสู่ชัยปุระ จะต้องไปทำวีซ่าที่ตัวแทนของสถานทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2258-0684-85 หรือ www.indiavisathai.com ทั้งนี้ สามารถขอวีซ่าแบบ On Arrival ได้แต่ไม่แนะนำ เพราะจะต้องใช้เวลานานที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ภายในสนามบินนานาชาติชัยปุระ
5.สำหรับที่พักที่มาดามมอนทัวร์ขอแนะนำราคาย่อมเยาและอยู่ในเขตที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณคืนละ 350-750 บาทต่อคืน ชื่อโรงแรมแร็กแฮฟ พาเลซ (Hotel Raghav Palace) ซึ่งตั้งอยู่บนถนน SC สามารถเดินทางไปยังเขตเมืองเก่า และซิตี้ พาเลซประมาณ 15-20 นาที หรือตรงข้ามกันคือ โรงแรมอารียา นิวาส (Hotel Arya Niwas) สไตล์โคโลเนียล ราคาตั้งแต่ 750-1,700 บาทต่อคืน
6.การเดินทางจากสนามบินนานาชาติชัยปุระเพื่อเข้าเมืองซึ่งห่างกันประมาณ 13 กิโลเมตร โดยสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ได้ แต่ต้องใช้ความสามารถในการต่อรองราคา มีตั้งแต่ 200-600 รูปีต่อเที่ยว
7.การสอบถามเส้นทางการเดินทางหรือวิธีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ สามารถสอบถามจากพลเมืองของชัยปุระได้ ซึ่งเขายินดีที่จะให้ข้อมูล แต่ถ้าให้ดีจะต้องมีแผนที่ติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อให้รู้ว่าไฮไลต์สำคัญของแหล่งท่องเที่ยวอยู่ตรงจุดไหน และจะต้องเดินทางไปไหนต่อเพื่อให้พลเมืองชัยปุระเข้าใจและบอกเส้นทางเพื่อให้เดินทางต่อได้อย่างแม่นยำ