>>อินเดีย หรือ ที่เราเรียกขานว่าเป็นดินแดนภารตะ นับเป็นประเทศในทวีปเอเชียที่โดดเด่นด้วยอารยะธรรมและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปี มีมนต์ขลังแห่งหนึ่งของโลก มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลกมากมาย และประติมากรรมสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่หลากหลาย ในหลายเมือง รวมไปถึงเมืองที่กำลังได้รับความนิยมสูงขณะนี้ คือ “ชัยปุระ” หรือ “นครสีชมพู” เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแสนวิจิตร อลังการ จิตวิญญาณ และวิถีชีวิตชาวภารตะแบบดั้งเดิม อาจกล่าวได้ว่าเมืองนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือนให้ได้ก่อนจากโลกนี้
หลายปีที่ผ่านมา “การบินไทย” ได้พานักท่องเที่ยวไปประเทศอินเดีย ด้วยความสะดวกสบาย ที่ บินตรงจากสนามแห่งชาติสุวรรณภูมิสู่ประเทศอินเดีย ลงที่เมืองท่องเที่ยวสุดฮิต “ชัยปุระ” ใช้เวลาเดินทางเพียงประมาณ 4 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้น (เวลาที่อินเดีย ช้ากว่าบ้านเรา 1.30 ช.ม.) กับการมอบโอกาสให้หัวใจได้สัมผัสความสุข ตื่นตาความงามสุดอัศจรรย์ใน “นครสีชมพู” ที่พร้อมจะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม โดยเฉพาะช่วงปลายปีถึงต้นปี เป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษ เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 10-17 องศา เท่านั้น
“ชัยปุระ” (Jaipur) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดในรัฐราชาสถาน (Rajastan) นครแห่งชัยชนะ เป็นราชธานีที่เคยรุ่งเรืองในแถบตะวันออก และขึ้นชื่อเรื่องการวางผังเมืองได้อย่างสวยงาม สมญานาม “นครสีชมพู” (Pink City) เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1876 ครั้งที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มหาราชาราม ซิงห์ (Maharaja Ram Singh) ผู้ปกครองเมืองได้เสด็จประพาสและสั่งให้ราษฎรทาสีเมืองทับปูนเก่าให้เป็นสีชมพูทั้งหมด เพื่อรับเสด็จเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (King Edward VII) แห่งสหราชอาณาจักร ด้วยไมตรีจิตที่ทรงหยิบยื่นแก่พระราชอาคันตุกะ นับแต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า นครสีชมพู ต่อมารัฐบาลอินเดียได้ออกกฎหมายควบคุมสิ่งก่อสร้างภายในเขตกำแพงเมืองเก่า ให้ต้องทาสีชมพูรักษาสภาพเดิม ถึงวันนี้ ซึ่งนอกจากอาคารบ้านเรือนที่เป็นสีชมพูแล้ว เมืองนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องประดับ ผ้าทอ สินค้าแกะสลัก และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลายแห่ง
ทั้งนี้ “การบินไทย” ขอแนะนำ 7 สถานที่ “มหานครสีชมพู” ที่ไม่เพียงแต่มีความวิจิตรตระการตา เท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวชวนรู้ และน่าทึ่ง ที่นักเดินทางต้องไปเช็คอิน เมื่อไปเยือนนครสีชมพู “ชัยปุระ” และรับประกันความประทับใจ ดังนี้
1. พระราชวังหลวง หรือ ซิตี้ พาเลซ (City Palace)
พระราชวังหลวงแห่งเมืองชัยปุระ หรือ ซิตี้ พาเลซ (City Palace) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 7 ของใจกลางเมือง สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1797 สมัย มหาราชาสวัย จัย ซิงห์ ที่ 2 จากนั้นก็ได้รับการดูแลต่อเติมโดยมหาราชาของชัยปุระรุ่นต่อๆ มา ที่สำคัญตอนเริ่มก่อสร้างพระราชวัง ยังอยู่ในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐราชสถานแล้ว สถาปัตยกรรมจึงมีการผสมผสานระหว่างแบบราชปุตกับโม ซึ่งพระราชวังหลวงนี้จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนพระราชวัง, พิพิธภัณฑ์ สวัย มาน ซิงห์ ที่รวบรวมสมบัติของพระราชวงศ์, ส่วนแสดงชุดศึกสงคราม และสุดท้าย ส่วนศิลปะภาพวาด และรูปถ่าย และยังมีส่วนที่เป็นพระราชวัง ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่พำนักของผู้สืบเชื้อสายมหาราชาเมืองชัยปุระ องค์ปัจจุบัน แม้ว่าทุกวันนี้จะหมดยุคมหาราชาแล้ว แต่ซิตี้พาเลซ ยังคงเป็นสมบัติส่วนพระองค์ และชาวเมืองชัยปุระจำนวนหนึ่ง ยังเคารพนับถือแม้พระองค์ไม่มีอำนาจใดๆ
พระราชวังหลวง มีค่าเข้าชม 500 รูปี แต่ถ้าอยากเข้าชมแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ต้องจ่าย 2500 รูปี ไกด์จะเล่าประวัติของพระราชวังให้เราฟัง และพาเดินไล่กันตั้งแต่ขึ้นชั้นดาดฟ้าแล้วเดินลงมาทีละห้อง ทีละชั้น จนครบ 7 ชั้น มีห้องพัก มีบริการของว่าง สำหรับเวลาการเปิดให้เข้าชม คือ 9:00-16:30 น. หากมีกล้องวิดีโอ ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบันทึกภาพด้วย ใครที่ถ่ายรูปสวยๆ ที่นี่แล้ว สามารถเดินต่อไปยัง ฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) ได้เลยเพราะใกล้กัน
2. พระราชวังแห่งสายลม ฮาวา มาฮาล (Palace of the Wind-Hawa Mahal)
พระราชวังแห่งสายลมหรือฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) ลักษณะอาคารมี 5 ชั้น เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียกับโมกุล ความสวยงามคือการมองด้านเห็นหน้าจะเห็น หน้าต่างเล็กๆ ที่มีมากถึง 953 บาน จนดูเหมือนรังผึ้ง ซึ่งนี่เองที่ทำให้ ฮาวา มาฮาล กลายเป็นสัญลักษณ์และหนึ่งในไอคอนของชัยปุระ ซึ่งเป็นตำหนักสำคัญของซิตี้พาเลซ (City Palace) ที่ย้ายมาจากพระราชวังแอมเบอร์ สร้างขึ้นใน ค.ศ.1799 โดยมหาราชาสวัย ประตาป ซิงห์ (Maharaja Sawai Pratap Singh) ออกแบบโดยลาล ชันด์ อุสตัด (Lal Chand Ustad) ซึ่งถอดแบบมาจากรูปทรงมงกุฎของพระกฤษณะ หน้าต่างขนาดเล็กตกแต่งด้วยลวดลายฉลุ เป็นทั้งช่องลมผ่าน และมีไว้เพื่อให้สตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก สามารถมองทะลุออกมาเห็นชีวิตภายนอกได้ นั่นคือที่มาของคำว่า ฮาวา ซึ่งแปลว่า สายลม พระราชวังแห่งนี้ สร้างโดยหินทรายสีชมพู และสีแดง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าใครที่ได้มาเยือนเมืองชัยปุระ ต้องห้ามพลาด สามารถเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 9:00-16:30 น. ค่าเข้าชม 50 รูปี นอกจากนี้ โดยรอบ ฮาวา มาฮาล ยังเต็มไปด้วยร้านขายสินค้าที่ระลึกมากมายให้เดินช้อปปิ้งอีกด้วย
3. ป้อมนราห์การห์ (Naharagrh Fort) หรือป้อมไทเกอร์ (Tiger Fort)
ป้อมสำคัญแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1734 สมัย มหาราชาสวัย จัย ซิงห์ ที่ 2 (Maharaja Sawei Jai Singh II) เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูแลปกป้องคุ้มครองพระนครจากการรุกรานของข้าศึกในอดีต ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา “อะระวัลลี” (Aravalli)” ห่างจากเมืองไปทางตอนเหนือ 5 ก.ม. ด้านบนจะเป็นจุดที่สามารถมองเห็นวิวเมืองชัยปุระได้อย่างชัดเจน ระหว่างทางขึ้นจะพบนกยูงออกมาเดินตามข้างทางให้เห็นกันบ่อย ๆ ปัจจุบัน เปิดบริการนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวชม และยังได้ชื่อว่าเป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง
4. ประตูปาตริกา (The Patrika Gate) วงเวียนจาวาฮาร์ (Jawahar Circle)
สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ประตูปาตริกา (Patrika Gate) คือประตูเมืองลำดับที่ 9 ของนครชัยปุระ
ตั้งอยู่บริเวณ วงเวียนจาวาฮาร์ (Jawahar Circle) ใกล้กับสนามบินนานาชาติ ชัยปุระ ด้วยความที่เป็นประตูเมืองลำดับที่ 9 ซึ่งเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ การสร้างประตู้นี้ จึงมีการระดมความคิดในการสร้างให้ตรงตามประเพณีโบราณของเมือง ทำให้ประตูปาตริกา มี 9 โดม มี 7 ซุ้มประตู แต่ละซุ้มมีภาพวาดสีสันสวยงาม บอกเล่าประวัติศาสตร์ของแคว้นราชสถานสำหรับนักท่องเที่ยว และนับเป็นจุดถ่ายรูปที่สวยมาก โดยเฉพาะช่วงเย็นดวงอาทิตย์จะสาดแสงเฉียงทำมุมกับซุ้มประตู ทำให้เกิดมิติแสงเงา เหมาะแก่การถ่ายพอร์ตเทตเป็นอย่างยิ่ง แม้จะมีแค่ซุ้มประตู แต่ลวดลายด้านในประตูสวยมาก จึงไม่ควรพลาดมาเก็บภาพที่นี่
5. พานนา มีนา กา คุนด์ สเต็ปเวล (Panna Meena Ka Kund Step Wells)
ที่นี่คือบ่อน้ำโบราณแบบขั้นบันไดใจกลางเมือง ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับแอมเบอร์ฟอร์ต (Amber Fort) นั่งรถประมาณ 5 นาที ก็พบบ่อน้ำโบราณแห่งนี้ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนอินเดียโบราณ ในการทำบันไดแคบๆ เป็นแนวทะแยงซ้าย-ขวา จากปากบ่อลงไปด้านล่างก้นบ่อ นับเป็นสถาปัตยกรรมสวยงาม ที่เป็นเมือนอัญมณีที่ซ่อนอยู่ (Hidden Gem) ของนครชัยปุระ พานนา มีนา กา คุนด์ (Panna Meena Ka Kund) สร้างขึ้นเพื่อใช้กักเก็บและตักน้ำบาดาลมาใช้ ที่นี่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงไปถ่ายภาพได้ และรับรองว่าจะได้ภาพที่มีมิติและออกมาสวยมาก
6. ป้อมปราการแอมเบอร์ (Amber Fort) และพระราชวังแอมเบอร์ (Amber Palace)
แอมเบอร์ฟอร์ต (Amber Fort) และพระราชวังแอมเบอร์ (Amber Palace) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชัยปุระ โดยป้อมปราการตั้งโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบเมาตา (Maota) สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล เพราะมีแนวกำแพงที่ใหญ่และแน่นหนา คล้ายกำแพงเมืองจีน (แต่ขนาดเล็กกว่า) ความยาวกว่า 13 ก.ม. นับเป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุต (Rajput) ประกอบด้วยพระราชวังใน และพระราชวังนอก เคยเป็นที่ประทับของราชปุตมหาราชาและพระราชวงศ์ ความอลังการของพระราชวัง คือ มีกำแพงเมืองล้อมรอบถึงสี่ชั้น แสนงดงามตระการตา และจากป้อมปราการแอมเบอร์ฟอร์ต ที่อยู่บนยอดเขานี้ สามารถมองลงมาเห็นวิวทะเลสาบเมาตา (Maota) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้หล่อเลี้ยงพระราชวังแอมเบอร์ในอดีต และยังได้ชมวิวทิวทัศน์นครสีชมพูที่อยู่เบื้องล่างได้ในมุมกว้าง ความที่ตั้งอยู่บนสันเขา ทำให้ต้องเดินทางขึ้นไปด้วยช้าง หรือรถจิ๊ป หรือหากชอบถ่ายภาพระหว่างทาง ก็เดินขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ พระราชวังเปิดให้ชม เวลา 8:00-17:30 น.
7. จันทาร์ มานทาร์ (Jantar Mantar)
จันทาร์ มานทาร์ (Jantar Mantar) เป็นหอดูดาวที่ใหญ่ และค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญของนครชัยปุระ สร้างโดย มหาราชาสวัย จัย ซิงห์ ที่ 2 (Maharaja Sawei Jai Singh II) เมื่อ ค.ศ.1727 เนื่องจากทรงสนพระทัย และมีพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์ จึงได้สร้างหอดูดาวแห่งนี้ขึ้นมา พร้อมๆ กับการสร้างพระราชวังซิตี้พาเลซ ภายใน จันทาร์ มานทาร์ มีหอนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ ซึ่งบอกเวลาได้อย่างแม่นยำ ในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือสำคัญใช้คำนวณฤกษ์ยาม
ในการออกรบ ที่สำคัญยังได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี 2010
สำหรับใครที่สนใจบินไปพักผ่อนท่องเที่ยวปีใหม่ยังมหานครสีชมพู ที่ครั้งหนึ่งต้องไปสัมผัส “เมืองชัยปุระ” วันนี้ สามารถ “บินสบาย จองง่าย จ่ายสะดวก” กว่าที่คิด เพราะมีบินตรงจากกรุงเทพฯ วันละ 1 เที่ยวบิน ออกเดินทางตั้งแต่ 22.05 ถึง 01.15 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง 40 นาที ตรงสู่สนามบินนานาชาติชัยปุระทุกวัน โดยไม่ต้องรอต่อเครื่อง ที่พร้อมบริการแบบ Full Sevier ด้วยราคาบัตรโดยสารไป-กลับ เริ่มต้นเพียง 13,535 บาท/ท่าน ให้บริการโดยสายการบินไทยสมายล์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมสำรองที่นั่ง เพียงคลิก https://bit.ly/2Q6I4BQ