เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จัก “โครงการพัฒนาดอยตุง” และหลายคนก็มีโอกาสขึ้นไปสัมผัสความงดงามของธรรมชาติที่ยั่งยืนของโครงการนี้มาแล้วเช่นกัน
แต่คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าภายในปี 2560 โครงการพัฒนาดอยตุง จะถูกถ่ายโอนการบริหารจัดการการพัฒนาและธุรกิจให้แก่ประชาชนในชุมชน ตามที่ “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำริให้โครงการพัฒนาดอยตุง สามารถเลี้ยงตนเองได้
แต่เดิมพื้นที่ดอยตุงยังเป็นสภาพป่าหัวโล้น เมื่อปี 2530 สมเด็จย่าได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรก ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่นเพื่อยังชีพ มีการค้าอาวุธสงคราม กองกำลังชนกลุ่มน้อยตามชายแดน
จากความเชื่อของสมเด็จย่าที่ว่า “ไม่มีใครเกิดมาเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดีเพราะขาดโอกาสและทางเลือก” จึงกลายมาเป็นพระราชปณิธานที่จะพัฒนาพื้นที่ดอยตุงให้มีความสมบูรณ์ดังเดิม พร้อมกันไปกับการดำเนินการพัฒนายกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ในชื่อโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อปี 2531 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 93,515 ไร่ ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน ประมาณ 11,000 คน
กว่า 24 ปี ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเข้ามารับหน้าที่บริหารจัดการโครงการ เริ่มตั้งแต่แก้ปัญหาด้านสาธารณสุขให้ชาวบ้านได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด มีถนนหนทาง มีไฟฟ้า และมีโรงเรียนในชุมชนสำหรับลูกหลานชาวเขา พอถึงช่วงปี 2537 ทางมูลนิธิเริ่มส่งเสริมการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการหาวิธีเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
จากพระราชปรัชญาในการทรงงานของสมเด็จย่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีสำนึกและพึ่งพาอาศัยกัน จึงเป็นโจทย์ที่เจ้าหน้าที่ต้องมาสานต่อว่า ทำอย่างไรคนกับป่าถึงจะพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน
โครงการปลูกป่าอนุรักษ์จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อเป็นทั้งพื้นที่ป่าและที่ทำกินของชาวบ้านไปด้วย ผลผลิตจากป่าบนเทือกเขาดอยตุงนั้น มีทั้งกาแฟพันธุ์อะราบิก้าที่ปลูกใต้ต้นแมคคาเดเมีย กาแฟที่นี่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพเยี่ยมแห่งหนึ่งของประเทศไทย จนผลิตขายไม่ทัน ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อปี ส่วนแมคคาเดเมียก็นำสายพันธุ์มาจากฮาวาย และขณะนี้กำลังทดลองปลูกชาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งที่นำรายได้มาสู่ชาวดอยตุง เหล่านี้เป็นต้นแบบของชาวบ้าน และป่าที่อยู่อย่างพึ่งพากันอย่างมีความสุข
“สา” เป็นพืชดั้งเดิมของดอยตุง มูลนิธิจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเพิ่มขึ้น พร้อมกับตั้งโรงงานทำกระดาษสา โดยนำวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาสอนเทคนิคการทำ จนปัจจุบันงานกระดาษสาของดอยตุง กลายเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายทั่วประเทศ
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสมเด็จย่าคือโรงงานทอผ้าในชุมชน ที่สร้างงานให้กับผู้สูงอายุ ที่สามารถฝึกทอผ้าเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง และที่นี่ยังเป็นที่ทำกินของหลายๆ ครอบครัวที่มีทั้งยายปั่นด้าย ลูกสาวทอผ้า และหลานเย็บผ้า ช่วยกันหารายได้ทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องอพยพลงจากเขาไปทำกินในเมือง
ทรงกลด อภิสุนทรกุล นายก อบต.แม่ฟ้าหลวง คงเป็นหนึ่งในเมล็ดพันธุ์ที่โครงการได้บ่มเพาะขึ้นมาให้มีคุณภาพ เป็นชาวเขาที่จบการศึกษาเพียงชั้น ป.6 และศึกษาต่อ กศน.จนถึง ม.6 และเป็นอาสาสมัครดอยตุงรุ่นแรกที่เข้าอบรม
เขากล่าวว่า ชาวดอยตุงจะพยายามดูแลและปกครองกันเองอย่างสงบสุข โดยมี “ผู้นำ” ของหมู่บ้านเป็นหลัก เวลามีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่บ้าน สมาชิกทุกคนจะต้องมาร่วมชุมนุมกันเพื่อตัดสินปัญหา แสดงออกถึงความมีประชาธิปไตยของหมู่บ้าน และคนดอยตุงก็ไม่สนใจนโยบายประชานิยม เพราะพวกเขาเชื่อว่าเงินที่ได้จากการขยันทำมาหากิน ด้วยแรงกายของตัวเองนั้นจึงเป็นความภาคภูมิใจในชีวิต
จากพื้นที่เขาหัวโล้นปัจจุบัน ดอยตุงกลายมาเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านอาศัยอยู่กับป่าและหากินกับป่าอย่างเป็นระบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็น “ต้นแบบ” ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกว่าจะมาถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้นั้น ก็ต้องลองผิดลองถูกมากว่า 24 ปี
คุณดุ๊ก-ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายพัฒนาโครงการ กล่าวว่าโครงการดอยตุงคือองค์ความรู้อันมีคุณค่ามหาศาล ซึ่งปัจจุบันทางโครงการได้นำมาเป็นต้นแบบในการสร้างหลักสูตร “มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต” หรือ “ดอยตุงโมเดล” ที่นำกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะต้องเข้าไปสัมผัสกับชีวิตจริง โดยมีปราชญ์ในท้องถิ่นเป็นผู้อบรมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งปัจจุบันความสำเร็จของดอยตุง โมเดลเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก และกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาไปยังแหล่งอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน อาทิ ปางมะหัน ปูนะ จังหวัดน่าน จังหวัดอุดรธานี ประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศพม่า
นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มาฝึกงานที่โครงการ นี่ไม่นับรวมถึงสื่อมวลชนจากทั่วโลก ที่สนใจขอมาทำสารคดีตลอดทั้งปี
แม้สมเด็จย่าจะสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว แต่โครงการดอยตุง ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของพระองค์ ยังสืบสานต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
Text by : ASTV ผู้จัดการรายวัน: สังคม-สตรี
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.