เรื่อง How To ที่เข้ากับยุคโควิด-19 อย่างช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับตัวใช้ชีวิตติดแฮชแท็ก #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ซึ่งในครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก “คุณพลอย จริยะเวช” ผู้เขียนหนังสือ What is the Good Life? อะไรคือชีวิตที่ดี (Openbooks) สามารถติดตามเรื่องราวของเธอได้ทาง www.ploychariyaves.com และ FB Page : พลอย จริยะเวช มาบอกเล่าการปรับปรุงบรรยากาศ การปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ไม่น่าเบื่อในช่วงที่ต้องอยู่บ้านในสไตล์คุณพลอย
– การจัดบ้านเปลี่ยนมุมเพื่อสร้างบรรยากาศใหม่
· เราอาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นห้องในตึกขนาดไม่กี่ตารางเมตร พื้นที่แคบ การจัดบ้านเปลี่ยนมุมเพื่อสร้างบรรยากาศใหม่จึงอาศัยของใช้ชิ้นเล็ก หนังสือที่อ่านที่ใช้งาน กระเบื้องดินเผา เซรามิก ของจุกจิกที่เพื่อนๆซื้อมาฝาก ดอกไม้ใบไม้จากระเบียงตัดมาปักโหลแก้ว/แจกัน ช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ในแต่ละมุมในบ้านได้ โดยเฉพาะชั้นหนังสือ จัดใหม่อยู่เรื่อยๆ สลับหยิบจับของชิ้นเล็กมาวาง เล็งคอมโพสิชัน คละสีสันใหม่ๆ
· บรรยากาศใหม่สำหรับตัวเองคือความเป็นระเบียบ หลักการจัดบ้านคือเกลี่ยของทุกอย่างไว้บริเวณขอบห้อง ชิดผนังให้หมด และเหลือพื้นที่ตรงกลางไว้ให้โล่ง รู้สึกว่าเมื่อโปร่งโล่งจะเกิดพลังหมุนเวียน รกเมื่อไรก็พยายามเก็บ เกลี่ย ถ้ารกมันจะไม่ flow แปลว่าพลังใหม่ๆ ไม่เข้ามา ความเป็นระเบียบสะอาดสะอ้านจึงสำคัญเพราะมันเป็นตัวกระตุ้นพลังใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นเนื้อในของสิ่งที่เรียกว่าบรรยากาศที่ใหม่ที่ดี
· ผ้าปูลวดลายต่างๆ ช่วยสร้างความใหม่ให้ทุกมุมได้ ผ้าลายที่มีติดบ้านคือลายกราฟิกดำขาว เหมาะสำหรับเป็นพื้นแบ็กกราวนด์เวลาวางสิ่งของสีสดๆ ผ้าลายดอกก็มีแยะ ปูโต๊ะกินข้าว โต๊ะวางของ ก็จะได้อีกอารมณ์ที่แตกต่างไป
· ภาพวาด โปสการ์ด โปสเตอร์ขนาดเล็ก กระดาษสวยๆ ที่หยิบมาจากพิพิธภัณฑ์ ภาพถ่ายที่อัดลงกระดาษ สร้างบรรยากาศใหม่ให้แต่ละมุมในบ้านได้ตลอด ใส่กรอบบ้าง ไม่ต้องใส่กรอบบ้าง พิงๆ วางๆ บนชั้น หรือใช้ mt tape แปะ เวลาดึงออกพื้นผิวจะไม่เป็นรอย
– การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
· อ่านหนังสือ เพิ่งอ่าน Soil Soul Society ของสาทิส กุมาร จบ (Openbooks) เล่มนี้ชอบมาก เต็มไปด้วยภูมิปัญญาเก่าแก่ แต่กลับมาทันสมัยมากๆ ในโลกยุคนี้ พูดถึงการประสานชีวิตส่วนต่างๆ การงาน แก่นข้างใน การใช้ชีวิตอยู่ในโลก เขียนโดยผู้นำทางปัญญาสายนิเวศวิทยาเชิงลึก และตอนนี้กำลังอ่าน Homo Deus : A Brief History of Tomorrow โดย Yuval Noah Harari เล่มหนามากต่อ บทแรกๆ มีพูดถึงโรคระบาด น่าสนใจเข้ากับสถานการณ์โลกตอนนี้
· จัดระเบียบเอกสาร ห้องทำงาน คัดเลือกหนังสือ แยกประเภท เพื่ออ่านไว้ใช้งาน เพื่อเก็บ เพื่อบริจาคส่งต่อให้คนอื่นอ่าน ตอนนี้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์กำลังเชิญชวนให้ร่วมบริจาคหนังสือ/นิตยสารเพื่อให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ไว้อ่านเพื่อลดความเครียด/วิตกกังวล และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในระหว่างการรักษา นำไปส่ง/ส่งไปรษณีย์ไปได้ที่ห้องสมุดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
· โยคะ พยายามทำให้ได้อาทิตย์ละ 3 ครั้ง เวลาปกติก็ออกไปเข้าคลาส ตอนนี้พยายามฝึกเองที่บ้าน มีคลิปใน YouTube มากมาย google หา : detox yoga, weight loss yoga หรือทำท่าไหว้พระอาทิตย์-สุริยะนมัสการ วนไปเรื่อยๆ โยคะเป็นสิ่งเยียวยาสุขภาพที่ดี คลายเส้น ช่วยในเรื่องการหายใจ ช่วยให้ระบบร่างกายสมดุล ทำให้เหงื่อออก ได้สมาธิ
· ใช้ google ให้เป็นประโยชน์ ตอนนี้น่าจะเหมือนกับหลายคน สนใจการปลูกผักกระถางที่ระเบียงไว้ทำกับข้าว ก็อ่านข้อมูลศึกษาเรื่องนี้อยู่ ที่ระเบียงมีผักกินได้อยู่ไม่กี่กระถางคือโหระพาและใบหูเสือ กำลังสนใจผักเคล กระเพรา และอื่นๆ อย่างใน facebook พอเพื่อนๆเราไปคลิก like อะไร เราก็จะเห็นด้วย ตอนนี้หลายคนสนใจเพจเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ผักคัดพิเศษ สำหรับปลูกใช้ ปลูกขาย ปุ๋ยมูลไส้เดือน ขึ้นมาใน feed แยะมาก ก็ตามอ่านแล้วก็ไป google ต่ออีก
· Digital Detox เขียนไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด What is the Good Life? อะไรคือชีวิตที่ดี เรื่องการล้างพิษจากโลกที่ข้อมูลท่วมท้นและไร้ประโยชน์ทำให้เราเสียอารมณ์ เสียเวลา ปีที่แล้วก็ลองทำดู ปิดการใช้โซเชียลมีเดียไปสิบวันบ้าง เจ็ดวันบ้าง อยากควบคุมสื่อโซเชียลได้ ไม่ตกเป็นทาสของการเสพติด Like หรือรีบ Share อะไรแบบไร้สติ รู้สึกดีมากเวลามือถือมันมีรายงานขึ้นมาบอกว่า สัปดาห์นี้การใช้เวลาหน้าจอของคุณลดลงเหลือ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน มันแปลว่าเรามีเวลาสิบกว่าชั่วโมงไปทำอะไรอื่นมากมายหลายอย่าง อาทิเช่นกิจกรรมตามข้อข้างต้นที่ยกตัวอย่างไป
– ทำอะไรดีให้ไม่น่าเบื่อช่วงเก็บตัว
· ทำใจว่าควรทำอะไร เบื่อไม่เบื่ออยู่ที่ใจ คิดว่าถ้ามีเวลาเบื่อแปลว่าเราสบายเกินไปไหม? ถึงมีเวลาว่างมานั่งเบื่อ เป็นคนทำงานที่บ้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งก็โดนเลย์ออฟ ต้องออกมาเป็นฟรีแลนซ์ทำงานที่บ้าน ไม่เคยเบื่อ เพราะตอนนั้นขวนขวายอยากหางานทำหลายๆ อย่างเพื่อให้ได้เงินเดือนเท่ากับงานประจำที่เคยได้ และการอยู่บ้านมันมีงานให้ทำแยะมาก กวาดบ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน เช็ดถู จัดระเบียบข้าวของ มีอะไรให้ทำแล้วไม่ทำแล้วมานั่งเบื่อมันน่าอายทั้งตัวเอง และอายคนที่ลำบากที่มีภาระหนักจนไม่มีเวลามานั่งว่างคิดเบื่อ
· ลองเครื่องมือใหม่ๆ แทบทุกคนน่าจะมี Passion มีงานอดิเรก หรือมีอะไรนึกอยากทำ มีกิจกรรมที่ชอบทำอยู่บ่อยๆ อาจลองใช้เครื่องมือใหม่ๆ กับกิจกรรมเดิมๆ ทักษะเดิมแต่เครื่องมือใหม่ก็สนุกขึ้น อย่างเราชอบวาดรูปด้วยพู่กันจุ่มหมึก ตอนนี้กำลังทดลองการวาดด้วยถ่าน (Charcoal) มีน้องเป็นศิลปินส่งมาให้ลอง ก็สนุกตื่นเต้นขึ้น ทุกคนไม่จำเป็นต้องวาดรูป อย่างบางคนชอบปัก เคยใช้แต่ด้ายเส้นเล็ก มาลองไหมพรมเส้นใหญ่บ้าง ลองเครื่องมือใหม่ๆ ในสิ่งที่ทำประจำ
· ศึกษาขยายขอบเขตความรู้ให้กว้างและลงลึก สำหรับความสนใจที่จริงแท้ นอกจากลองเครื่องมือใหม่ๆ อาจศึกษาเรื่องที่สนใจให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก หรือลองอะไรที่ขั้นยากกว่า ไม่คิดว่าจะทำได้ อย่างอ่านหนังสือที่เคยคิดว่ายาก กรณีที่อยากขยายขอบเขตความรู้ ก็ลองทำความรู้จักกับอะไรใหม่ๆ ดู เห็นหลายคนสมัครเรียนคลาสออนไลน์ในสิ่งที่สนใจหรืออยากลองทำความรู้จัก เพราะคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ต่อไป
– ข้อคิดดีๆ ในการพัฒนาสกิลเพื่อสู้หลังวิกฤตนี้
การพัฒนาสกิล สำหรับเราคือการทำซ้ำบ่อยๆ จนมันดีขึ้น อย่างตอนนี้ลองอบเค้กกล้วย กูเกิลสูตร Banana Bread มาจากอินเทอร์เน็ต หาสูตรที่ง่ายสุด แปลสูตรมาแปะฝาตู้เย็นไว้ ลองทำไปห้าครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดที่ทำรู้สึกได้เลยว่าอร่อยขึ้น เข้าใจทุกกระบวนการทำมากขึ้น เรียกว่า skill ได้รับการพัฒนาจนมันดี ใครจะรู้หลังวิกฤตเราอาจจะทำ Banana Bread ขายก็ได้
ช่วงนี้ก็น่าจะได้ทบทวน ทำความรู้จักกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ ว่าเราชอบอะไรแบบไม่ได้อยากทำเพราะตามกระแส อะไรคือทักษะ ความถนัดที่แท้ของเรา อะไรคือสกิลที่น่าพัฒนา จากการเป็นคนทำงานอิสระทำงานที่บ้านมายี่สิบกว่าปี คิดว่าวินัยสำคัญมาก การสร้างสมาธิใช้สติบังคับตัวเอง ก็จะตั้งเวลาไว้เหมือนตอนทำงานองค์กร มีเวลาเริ่มงาน พักเที่ยง วินัย ความอดทน การลงมือทำจริงบ่อยๆ หรือที่เรียกว่าฝึกฝน เป็นพื้นฐานจำเป็นในการพัฒนาสกิล