การจะทำหนังสือสักเล่มให้มีคุณภาพ เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาที่ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้านนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย วันนี้จึงขอยกตัวอย่าง หนังสือ “ลักษณะไทย” ซึ่งเป็นหนังสือชุด (จำนวน 4 เล่ม) ที่เรียบเรียงและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในทุกด้าน ตั้งแต่ความเป็นมาของชนชาติไทย ที่แสดงออกในรูปของศิลปวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ ดนตรี ตลอดจนศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือที่ครอบคลุมเรื่องราวความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์แบบ และสะท้อนถึงความวิริยะอุตสาหะของนักวิชาการในการศึกษาค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียง ทำให้ใช้เวลาในการจัดทำยาวนานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งตอนนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับหน้าที่บรรณาธิการท่านแรก จนถึง พ.อ.หญิง นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รับช่วงต่อจนหนังสือสำเร็จเรียบร้อยในปัจจุบัน (พ.ศ.2552)
หนังสือ “ลักษณะไทย” เกิดจากความคิดของ บุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี,อดีตขุนคลัง และอดีตเอ็มดีธนาคารกรุงเทพ เพื่อเป็นอภินันทนาการในโอกาสเปิดสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม โดยเลือก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการ และทางธนาคารได้เชิญนักวิชาการจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งนักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพอที่จะยึดถือเป็นหลักฐานได้ มาร่วมเขียนบทความทางด้านวัฒนธรรมแต่ละแขนง ที่แต่ละท่านมีความสนใจและเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ผู้เขียนส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำการค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ และได้เขียนขึ้นด้วยตนเองเป็นเวลาหลายปี และด้วยทุนสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ ทำให้นักวิชาการแต่ละท่านสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม และจัดทำภาพประกอบแนวความคิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับหนังสือ “ลักษณะไทย” ชุดพิเศษเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น4 เล่มใหญ่ (แต่ละเล่มมีความยาวประมาณ 600 หน้า) ดังนี้
เล่มที่ 1 “พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” เขียนโดย รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เนื้อหาจะอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะตามแนวทางของตะวันตก ซึ่งถือว่ายุคสมัยทางประวัติศาสตร์มีความสอดคล้องกับยุคสมัยทางรูปแบบของศิลปะ โดยเฉพาะ ในการศึกษาเรื่องพุทธศิลป์ เพราะพระพุทธปฏิมาเป็นรูปจำลองของพระพุทธรูปองค์ต้นแบบ ซึ่งจำลองสืบต่อกันเรื่อยมา ไม่ได้ขึ้นกับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ แต่ขึ้นอยู่กับกระแสนิยมของแต่ละยุคสมัย
เล่มที่ 2 “ภูมิหลัง” เขียนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ ,ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา และ ศ.โชติ กัลยาณมิตร เนื้อหาประกอบด้วยประวัติความเป็นมาของชาวไทยและสังคมไทย โดยเฉพาะ ด้านศิลปะและวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของสังคมไทย และการจัดระเบียบทางการเมือง ตั้งแต่การตั้งหลักแหล่งในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ จะเน้นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และพุทธศาสนา ที่มีบทบาทควบคู่กันมาโดยตลอด
เล่มที่ 3 “ศิลปะการแสดง” เขียนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, อ.มนตรี ตราโมท, ศ.ดร.มัทนี รัตนิน ฯลฯ เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค โดยภาคที่ 1 เริ่มตั้งแต่กำเนิดของการฟ้อนรำไทย โขน ละครนอก ละครใน ตลอดจนพัฒนาการของนาฏศิลป์ไทยและการแสดงละครสมัยใหม่ ไล่เรียงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนภาคที่ 2 เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสานเหนือ และอีสานใต้
เล่มที่ 4 “วัฒนธรรมพื้นบ้าน” เป็นการบันทึกภาพผ่านมุมมองของ รศ.แสงอรุณ รัตกสิกร เกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้าน และงานช่างฝีมือชาวไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เขียนโดย ดร.นิจ หิญชีระนันทน์, อ.จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, ฉวีงาม มาเจริญ, บุญหลง ศรีกนก, เบญจมาศ แพทอง ซึ่งได้รวบรวมประเพณี คติ ความเชื่อ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของบรรพบุรุษและสืบต่อบางเรื่องมาถึงปัจจุบัน ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
หนังสือชุดนี้สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวในอดีตได้อย่างครบครัน แม้ว่าจะไม่มีวางจำหน่าย แต่ก็สามารถหาอ่านได้ในwww.bangkokbank.com
โดย : หยกดารินทร์
Comments are closed.