>>เพิ่งผ่านเทศกาลสงกรานต์มาไม่นาน หลายคนอาจจะสนุกสนานกับการเล่นน้ำ จนลืมไปว่าในช่วงเทศกาลนี้ ยังมีวันสำคัญอีก 2 วัน นั่นคือวันครอบครัว และวันผู้สูงอายุ อีกด้วย เป็นช่วงเวลาที่คุณควรให้ความสำคัญครอบครัว และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน เพราะท่านคือคนสำคัญในชีวิตที่เราอาจหลงลืมไป ดังนั้นวันนี้คอลัมน์ Living จึงขอเอาใจผู้สูงอายุด้วยเทคนิควิธีการออกแบบบ้านเพื่อให้เป็นเหมาะกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ
เพราะสังคมไทย อยู่กันเป็นครอบครัวขยาย มีคนหลากหลายเจเนอเรชั่นอยู่รวมกัน ตั้งแต่คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ไปจนถึงหลาน เหลน ดังนั้นการจะสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย ไม่ใช่จะเอาใจแต่เพียงกำลังสำคัญของบ้านอย่างคนวัยทำงาน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสบายของคนหลายรุ่น ยิ่งสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ด้วยวัย สุขภาพร่างกาย และการเคลื่อนไหวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ รูปแบบการก่อสร้างจึงต้องมีความพิเศษออกไป
ภายใต้แนวคิดนี้ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล้อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย กับบริษัท ดีไอ ดีไซนส์ จำกัด จึงได้ออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยของคน 3 เจเนอเรชั่น หลักการออกแบบที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของคนทุกวัย โดยเน้นที่ให้ความสบายกับผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้อย่างสะดวกปลอดภัย ดูแลง่าย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะทุพพลภาพหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต เพราะอุบัติเหตุที่พบมากที่สุดสำหรับคนวัยนี้คือ การลื่นหกล้ม
โดยภาพรวมแล้วพื้นที่ใช้สอยสำหรับที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่ควรคำนึงถึง
– เริ่มจากพื้นบ้าน พื้นควรเรียบเสมอกัน ไม่มียกพื้นต่างระดับหรือธรณีประตู วัสดุพื้นผิวต้องไม่ลื่น
– แสงสว่างต้องเพียงพอต่อการมองเห็นชัดเจน
– มีทางลาดให้รถเข็นขึ้นลงอย่างสะดวก หากบ้านเรามีผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น ทางเดินต้องมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัว
– เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โต๊ะ เตียง ตู้ ควรวางอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีส่วนใดยื่นออกมาเกะกะ
– สีทาบ้านที่เหมาะสมควรเป็นสีที่สดใส นุ่มนวล เนื่องจากมีผลต่อความกระชุ่มกระชวยของผู้สูงอายุ
– ผู้สูงอายุบางคนไม่ได้อยู่กับคู่สมรส เนื่องจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะย้ายจากบ้านเดิม ทำเลที่ตั้งบ้านจึงต้องไม่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ใกล้สถานพยาบาล และญาติมิตรสามารถเดินทางไปมาหาสู่ได้อย่างสะดวก
– ห้องนอนจึงควรจะอยู่ชั้นล่าง ช่วยลดการเดินเหินขึ้นลงบันไดที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ มีขนาดกำลังเหมาะ ควรมองเห็นและเข้าถึงห้องน้ำได้สะดวก
– ส่วนห้องน้ำควรมีการแยกระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้งเพื่อกันน้ำกระเด็นลื่น แต่ต้องไม่แบ่งพื้นที่จนเข้าถึงยากจนเกินไป
– ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่ในห้องนั่งเล่น รองลงมาคือห้องนอน ทั้ง 2 ห้องนี้ควรมีช่องรับแสงทางทิศตะวันออก เพื่อรับแสงยามเช้า ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุรับรู้การเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา รู้สึกกระชุ่มกระชวยกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ลดปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย
– การตกแต่งตลอดจนการเลือกอุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ เช่น เตียงนอน ลูกบิดประตู พื้นบ้าน หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ควรสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัยของผู้อยู่อาศัย
– ผู้สูงอายุมักใช้เวลากับการนั่งมากกว่าการทำกิจวัตรอื่นๆ เนื่องจากกระดูกและข้อเสื่อมลงทำให้สูญเสียการทรงตัว ช่องแสงหรือบานหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก เพื่อให้แสงเข้าได้ดี และสามารถมองเห็นทิวทัศน์นอกบ้านได้
– ภายในห้องนอนควรจะมีหิ้งพระเล็กๆ ไว้ เพื่อให้ท่านได้กราบพระก่อนนอน นั่งสมาธิ ซึ่งดีต่อสุขภาพจิตและส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย
สำหรับบ้านใครที่มีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย พักอยู่ด้วย ลองกลับไปสำรวจดูว่าที่บ้านคุณมีรายละเอียดเหมาะสมดังที่กล่าวมาไหม หรือควรปรับปรุงส่วนใดบ้าง เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้กับเหล่ากลุ่มคนสำคัญที่สุดของคุณกลุ่มนี้ :: Text by FLASH
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net หรือ App Store ได้แล้วที่ celeb online ipad edition