ART EYE VIEW—นับตั้งแต่ที่จบการศึกษาไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ศิรภัค เผ่าบุญเกิด นิสิตเก่าวิชาเอกภาพถ่าย ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านนี้ แทบไม่มีโอกาสได้ทำงานศิลปะเป็นชิ้นเป็นอันตามที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากการทำหน้าที่ในฐานะนักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ศิรภัคเป็นคนเขียนบท เช่น จันดารา ที่กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร และ โอเค เบตง
ขณะภาพยนตร์ที่กำกับเช่น Almost A Love Story ,ปีศาจทองคำ (ภายยนตร์ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำที่พิจิตร) และภาพยนตร์สารคดี “น้ำ ฟ้า ป่า น่าน”
ทว่าระยะเวลาของการบวชข้ามปีตลอด 15 วัน (2 วัน ณ วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และ 13 วัน ณ สำนักสงฆ์ธรรมศักดิ์ เขาแผงม้า หมู่บ้านคลองทราย ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา) ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2559 -วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2560 (วันครบรอบแต่งงานของพ่อแม่) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
นอกเหนือจากการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ศิรภัคยังได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการแกะสลักท่อนไม้เป็นผลงานประติมากรรมชื่อ “ความเพียร” ซึ่งมีพระพัตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปรากฏอยู่
“มีเวลาเลยอยากจะทำงานสักชิ้นที่เป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน พอไปเห็นไม้แก่ซึ่งเป็นไม้ขนุน และเป็นไม้มงคล พระท่านเอาไว้ใช้ย้อมผ้าและซักจีวร เนื่องจากมีกลิ่นที่หอมมาก หอมกว่าผงซักฟอก เลยขอจากท่านเจ้าอาวาส พอได้สิ่วมา 2-3 อัน ก็เลยแกะสลักเป็นรูปพระองค์ท่าน ต่อมามีชาวบ้านมาเห็น ก็พากันหาอุปกรณ์มาให้ แต่เราก็บอกว่าจะใช้อุปกรณ์เท่าที่มีนี่แหล่ะ และเราอยากจะฝึกเรื่องความเพียร ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทศพิธราชธรรม
ผมไม่ได้เรียนจบศิลปะมาทางสายแกะสลักไม้ ต้องใช้เวลาและความอดทนมากๆ เพราะกว่าจะแกะลงไปในไม้ได้ ต้องค่อยๆใช้ฆ้อนตอกสิ่ว มีสิ่วแค่ 3 อันที่ใช้งานได้ แต่ในที่สุดก็สามารถแกะออกมาได้อย่างที่เราต้องการ
ระหว่างทำไปก็นึกถึงพระองค์ท่านไปด้วยว่า ความเหนื่อยของเรามันน้อยนิดมาก ถ้าเทียบกับสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำมาตลอดพระชนม์ชีพ”
นักเขียนบทและผู้กำกับท่านนี้บอกด้วยว่า ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่มีความรักความผูกพันต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาตนและบรรดาพี่ๆน้องๆจะมี 3 บุคคลดังต่อไปนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวใจมาโดยตลอด ได้แก่ พ่อ ,แม่ และในหลวง รัชกาลที่ 9
ดังนั้นเมื่อพระองค์ท่านสวรรคต จึงทำให้ตนมีความตั้งใจที่อยากจะบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
“ที่บ้านของผมเป็นชาวพุทธ มีแนวทางปฏิบัติตัวแบบพุทธ แต่ที่ผ่านมาผมไม่เคยคิดจะบวช คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องบวช แต่หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ท่านเสียแล้ว และต่อมาพระองค์ท่านสวรรคต ผมก็เลยบอกกับพี่ๆน้องๆและใครๆ อีกหลายคนว่า ที่สุดแล้วครอบครัวเรามีคนอยู่ 3 คนที่ครอบครัวเรารักมาก คือ พ่อ, แม่ และ ในหลวง ร.9
ที่ผ่านมาทั้งพ่อและแม่เราได้ตอบแทนบุญคุณท่านไปแล้ว แต่สำหรับ ในหลวง ร.9 ในฐานะพสกนิกรคนหนึ่งเราได้ทำอะไรให้พระองค์ท่านน้อยมาก สิ่งไหนที่พระองค์ท่านทรงทำดีแล้วเราพยายามทำตามก็อีกเรื่องนึงนะครับ เราไม่ได้ทำอะไรให้พระองค์ท่านเลย ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะบวช ถ้ามีกุศลที่เกิดจากการบวชของเรา แม้จะน้อยนิดก็ตาม จะถวายเป็นพระราชกุศลให้พระองค์ท่าน
พอบวชแล้ว ก็ได้รู้สึกว่า เป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ ในแง่พุทธศาลนา พระองค์ท่านมีธรรมะสูงมาก ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” และโดยเฉพาะหลักทศพิธราชธรรม พระองค์ท่านไม่เคยหลุดซักข้อ ความเพียรที่เราตั้งใจทำระหว่างบวช ซึ่งมันเป็นแค่ 1 ใน 10 ของหลักที่พระองค์ท่านทรงยึดถือ และ 15 วัน ในของการบวชของเรา เมื่อเทียบกับ 70 ปีของพระองค์ท่านที่ทรงครองราชย์ มันน้อยนิดมาก เราได้รู้เลยว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำตลอดพระชนม์ชีพ มันใหญ่หลวงมาก”
ล่าสุด ในฐานะนิสิตเก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิรภัคยังได้นำประติมากรรมแกะสลักไม้ชิ้นดังกล่าวที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างครองเพศบรรพชิต มาร่วมแสดงในนิทรรศการ “ทัศน์ ทัศน์ ทัศน์: ในหลวง” นิทรรศการซึ่งจัดโดย สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบของ ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบันและนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) ระหว่างวันที่ 10 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม และห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับได้เชิญชวนผู้สนใจให้ไปชมนิทรรศการครั้งนี้ด้วยว่า
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเราเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดินและพระมหากษัตริย์ แม้แต่พื้นที่ก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระมหากษัตริย์ เป็นแนวพระพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ที่ต้องการจะมีมหาวิทยาลัยให้ประชาชนได้เล่าเรียนศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง จาก รัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาถึง รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 9 ก็ทรงมีความผูกพันกับจุฬาฯ มาโดยตลอด ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ทรงปลูกต้นจามจุรีไว้ที่นี่ เราจึงตระหนักเสมอว่า จุฬาฯ อยู่ได้ด้วยกำลังทรัพย์และความเสียสละของพระมหากษัตริย์หลายๆพระองค์ ผมคิดว่าชาวจุฬาฯ ทุกคนระลึกถึงข้อนี้เสมอ และเมื่อถึงเวลาที่เราได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกจงรักภักดี ผมว่าทุกภาคส่วนอยากจะมีส่วนร่วมหมด
จะเห็นได้ว่างานนี้ไม่ใช่แค่งานของคนที่เรียนศิลปะ แต่เป็นชาวจุฬาฯทุกคนที่พร้อมใจกันส่งงานกันมา เชิญชวนนะครับทุกท่านที่รักในศิลปะ รักพระองค์ท่าน ผมเดินดูผลงานศิลปะแล้วสวยมาก ผมคิดว่าผลงานเหล่านี้ทำออกมาจากหัวใจในช่วงเวลาที่เราบีบคั้นและเศร้าที่สุดในชีวิตและเราก็แสดงออกมาผ่านงานศิลปะ ผมว่ามันเป็นอะไรหาที่สุดไม่ได้แล้ว”
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews