“รู้สึกถูกใจมาก ถ้าไม่ถูกใจมาก คงไม่นั่งอยู่ที่นี่จนถึงสี่โมงเย็น”
ป้านิด – อรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู กล่าวแสดงความรู้สึกเมื่อถูกเชิญไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน บางลำพู ไม่ลำพัง (Banglamphu : Alone but not Lonely) ที่ได้ฤกษ์เปิดงานไปเมื่อ วันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 2 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องเอนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ป้านิดได้เปิดบ้านในย่านบางลำพูให้เข้าไปเยี่ยมเยือนและอำนวยความสะดวกให้อาจารย์และนักศึกษาด้านสถาปัตย์ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษามรดกทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น บ้านในบางลำพู,วิถีชีวิตชาวตรอก ตลอดจน ของกินของใช้ในย่าน จนนำมาสู่การจัดงาน ณ หอศิลป์ใกล้ย่านในที่สุด
บางลำพูที่คนจำนวนมากต่างรู้จัก ซึ่งได้ยืนหยัดรักษามรดกทางวัฒนธรรมอย่าง โดดเดี่ยว (alone) ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา และเป็นการดำรงอยู่อย่าง ไม่ลำพัง(not lonely) เมื่อถูกจำลองมาอยู่ในนิทรรศการเล็กๆยังทำให้แม้แต่คนที่รู้จักบางลำพูเป็นอย่างดี อย่างป้านิด รู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการชมขนาดนี้ ไม่นับรวมถึงบรรดานักท่องเที่ยวหลากเชื้อชาติที่บังเอิญแวะเวียนไปชมนิทรรศการในวันนั้นพอดี ก็ต่างไม่ยอมละสายตาไปจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆภายในนิทรรศการโดยง่าย
ดังนั้นเชื่อแน่ว่า คนนอกรายอื่นๆ เมื่อได้ไปชม ย่อมจะถูกใจและหลงรักนิทรรศการนี้ด้วยเช่นกัน เพราะมันจะทำให้คุณอยากจะไปเดินทอดน่องมองย่านบางลำพูอย่างที่มันเป็นอีกครั้ง และอีกครั้ง
หรือถ้าบังเอิญคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักบางลำพูหรือรู้จักไม่ดีพอ นิทรรศการนี้ก็จะทำให้คุณคุ้นเคยกับบางลำพูมากขึ้น เพราะสิ่งที่นิทรรศการให้กับผู้ชม มีตั้งแต่เรื่องราวของ บางลำพูอยู่ไหน มีความเป็นมาอย่างไร,บางลำพู ไม่ลำพัง มีความเป็นมาอย่างไร,ทำไมบางลำพู จึงไม่ลำพัง,พูดถึงบางลำพูคุณนึกถึงอะไร,ย่านอาหารและการค้า,แผนที่อาหารย่านบางลำพู,บ้านในบางลำพู ฯลฯ
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของนิทรรศการชื่อ ชีวิตงาม ที่บางลำพู ก็เป็นอีกครั้งที่ เราจะได้ชมผลงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความงามของชีวิตในชุมชน นั่นก็คือ การทำแบบจำลองจากภาพถ่ายและการแกะรอยภาพถ่าย โฟโตโม และ โฟโตเทรซ ซึ่ง ผศ.กรินทร์ กลิ่นขจร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำทีมนักศึกษานำเสนอให้เห็นมาแล้วครั้งหนึ่งที่ชุมชนสามแพร่ง
ซึ่งครั้งนี้ ผศ.กรินทร์ และอาจารย์อีกหลายท่าน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ อ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ บางลำพู ไม่ลำพัง เพื่อทำให้งานในครั้งนี้สมบูรณ์มากขึ้น ในฐานะผู้ที่มีหัวใจอยากอนุรักษ์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของเมืองเก่าเช่นกัน
อ.ดร.วิมลรัตน์ หรือ อ.ยุ้ย เรียนจบปริญญาเอกด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชน จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งก่อนจบเธอได้เลือกทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “หน้าที่ของชุมชนในเมืองเก่ากับการอนุรักษ์และใช้งานมรดกวัฒนธรรม” โดยเลือกศึกษาพื้นที่ย่านบางลำพูโดยเฉพาะ
ชาวย่านบ้านหม้อ เช่น อ.ยุ้ย หลงรักย่านบางลำพูมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังเรียนปริญญาตรีที่ ม.ศิลปากร ช่วงเวลาที่บางลำพูเริ่มมีร้านรวงเล็กๆน่ารักๆของคนหนุ่มคนสาวเกิดขึ้นและชาวประชาคมบางลำพูและอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็เริ่มตื่นตัวกับการอนุรักษ์ชุมชนของตัวเองเอาไว้ ต่อมาเมื่อได้ลงพื้นที่เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก กระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาสถาปัตย์ ทว่ายังมีเรื่องของการอนุรักษ์อีกหลายอย่างที่อยากสานต่อ เธอจึงเลือกย่านบางลำพูที่ผูกพัน ทำโครงการล่าสุดนี้ขึ้น
“ชุมชนบางลำพูเป็นเหมือนแบบจำลองโครงสร้างของสังคมไทย เพราะเป็นชุมชนที่มีทั้ง วัด ครอบครัวของตระกูลเก่าชาววัง ร้านอาหาร ย่านคนจีน คนมุสลิม มีความหลากหลาย ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเป็นองค์กรขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ และแต่ละหน่วยก็ได้ทำหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ตนเอง
ตอนที่ยุ้ยเคยลงพื้นที่ ประชาคมบางลำพูก็เป็นประชาคมที่รวมตัวกันได้แข็งแรงมาก เหนียวแน่นและทำงานเรื่องการอนุรักษ์ชุมชนมา 10 ปี ทำไมประชาคมบางลำพูถึงยังเหนียวแน่น ยังทำงานอนุรักษ์ชุมชนอยู่ได้ อันนี้เป็นจุดที่ยุ้ยประทับใจและเลือกบางลำพูเป็นพื้นที่ศึกษา”
หนึ่งเสียงของ อ.ยุ้ย ชักชวนให้คนทั่วไปไปชมนิทรรศการ บางลำพู ไม่ลำพัง ที่จะมีจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 9 เมษายนนี้เท่านั้นว่า
“งานนี้คุณจะได้เห็นบางลำพูในอีกมิติหนึ่ง เห็นความงามของบ้านไม้สวยงาม อายุ 90 ปี รู้จักมัสยิดที่ยังมีลานกว้างให้ชาวชุมชนมาใช้งาน และรู้ว่าร้านอาหารอร่อยๆอยู่ตรงไหนบ้าง ผ่านการพรีเซ้นต์งานของนิสิต ตลอดจนโมเดลน่ารักๆ และภาพวาดที่สวยงาม
และไม่เพียงคุณจะได้เห็นถึงความน่ารักและสวยงามของย่านบางลำพู แต่คุณจะรู้สึกว่ากรุงเทพฯยังมีอีกหลายชุมชน อีกหลายตรอกซอกซอยที่มีชีวิตชีวา น่าค้นหา น่าเดินเที่ยวชม”
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: [email protected]
Comments are closed.