Art Eye View

ผศ.ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ แนะแนวสร้าง “ภาพจากเพลงของพ่อ”

Pinterest LinkedIn Tumblr


เพื่อเทิดพระเกียรติ ในพระอัจริยภาพด้านดนตรีและศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปีที่ 6 ของการประกวดศิลปะชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฟ้นหาดาวมาประดับวงการศิลปะบ้านเรา ของ บริษัท นานมี จำกัด จึงมีหัวข้อการประกวดว่า “ภาพจากเพลงของพ่อ”

โดยให้ผู้เข้าประกวดที่แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาตอนต้น รับฟังและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 1 ใน 9 บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ 1. แสงเทียน 2. ใกล้รุ่ง 3. ยิ้มสู้ 4. แผ่นดินของเรา 5. เกาะในฝัน 6. เมนูไข่ 7. ความฝันอันสูงสุด 8. H.M.Blues และ 9. Still on My Mind

ผศ.ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพลงพระราชนิพนธ์ หนึ่งในนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ (วงดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) และเป็นบุตรชายของ เรืออากาศตรี ศ.(พิเศษ) ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกวดในครั้งนี้ว่า

“เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงของคนไทยทุกคน ไม่ได้เป็นสิ่งที่ฟังยากหรือเป็นเพลงที่อยู่ไกลตัวของผู้คนในสังคม และที่น่าภาคภูมิใจที่สุดคือเป็นบทเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่พสกนิกรของท่าน ให้ประชาชนคนไทยได้ร่วมรับรู้และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ท่าน ให้ได้ฟัง ได้สนุกได้มีความสุข เกิดอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน

เพลงพระราชนิพนธ์ยังเป็นเพลงที่มีความหลากหลาย มีทั้งเป็นสุข เศร้า มีอารมณ์ของความรัก การให้กำลังใจ การปลุกใจให้สู้ ซึ่งหากเยาวชนคนไทยได้ร่วมมองผ่านบทเพลงศึกษาให้ลึกไปยังยุคสมัยที่ในหลวงทรงพระราชนิพนธ์ จะเห็นว่าแต่ละเพลงมีประวัติศาสตร์ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ บ่งบอกเรื่องราวของผู้คนและสังคมในสมัยนั้นๆได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เพลงพระราชนิพนธ์ยังเป็นเพลงที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ ด้วยเพราะเป็นดนตรีแจ๊ซ ที่มีอิสระในการบรรเลงค่อนข้างสูง เพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานนั้น ทรงกำหนดทำนอง คอร์ด และเนื้อร้องเท่านั้น

ซึ่งเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานเพลงของพระองค์ให้กับผู้เล่นดนตรี สามารถใส่ความคิด ความรู้สึก จินตนาการ และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของผู้เล่นออกมาให้ผู้ฟังได้อย่างเป็นอิสระ ซึ่งแตกต่างจากเพลงลักษณะอื่นที่ผู้เล่นมักจะถูกกำหนดให้เป็นไปตามรูปแบบที่ผู้ประพันธ์ต้องการ”

สำหรับเยาวชนที่จะถ่ายทอด “เพลงของพ่อ” ออกมาเป็นภาพนั้น ผศ.ดร. ภาธร ให้คำแนะนำว่า

“ เมื่อเลือกสรรบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ต้องการแล้ว ควรทำความเข้าใจกับเพลงนั้นๆอย่างถ่องแท้ และฟังเพลงนั้นๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันหลายๆเวอร์ชั่น เพื่อให้ได้เกิดมุมมองและความรู้สึกที่ตัวศิลปินได้สัมผัสได้ ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นภาพ”

“ภาพจากเพลงของพ่อ” สามารถส่งผลงาน ด้วยตนเอง หรือ ทางไปรษณีย์ วันนี้ – 31 ตุลาคม 2554 ที่ บริษัท นานมี จำกัด เลขที่ 146 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทร. 0-2648-8000 หรือ www.nanmee.com

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: [email protected]

Comments are closed.

Pin It