“กิจกรรมนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการสร้างสรรค์มูลค่าจากรถไฟความเร็วสูง ณ ประเทศญี่ปุ่นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) โดยส่วนหนึ่งเป็นการไปเยี่ยมชมนิทรรศการรถไฟของบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู ทำให้เห็นตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบรถไฟและบริการในเส้นทางสายต่างๆซึ่งช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู ที่ขาดทุนให้กลับมามีกำไรและมีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง กยอ.จึงได้ประสานกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบให้ทาบทามบริษัทรถไฟเจออาร์ คิวชู นำนิทรรศการมาจัดแสดงในกรุงเทพฯ”
เป็นคำอธิบายในส่วนของ อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ว่าทำไม ล่าสุดทาง TCDC จึงได้นำเสนอนิทรรศการ “รถไฟสายความสุข…เศรษฐกิจใหม่ จากกรางสู่เมือง”
และชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่เกิดขึ้นมา เพื่อผลักดัน “รถไฟความเร็วสูง” (โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่อ้างว่า มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงตลาดการค้า ระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน โดยมีเป้าหมายในการก่อสร้าง 4 สาย ได้แก่ สายเหนือ, สายตะวันออก, สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้)
รวมถึงผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่จะผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2556
เพราะก่อนที่วันนี้(16 มี.ค.56) จะเป็นวันแรกที่นิทรรศการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม วานนี้(15 มี.ค.56)นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงทุนเดินทางไปทำหน้าที่ประธานเปิดนิทรรศการด้วยตัวเอง และใช้เวลาอยู่ที่ TCDC หลังงานเปิดนิทรรศการอยู่นานสองนาน โดยมี นายโคจิ คาราเอเกะ ประธานบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู และนายเอย์จิ มิโตโอกะ นักออกแบบเจ้าของสตูดิโอออกแบบ ดงดีไซน์ แอซโซซิเอทส์(DDA) ผู้ทำงานให้กับเจอาร์ คิวชู เดินทางจากแดนปลาดิบมาร่วมงาน และผลงานออกแบบของเขาทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการในส่วนที่สองคือ “รถไฟสายความสุข” ขณะที่นิทรรศการในส่วนแรกว่าด้วย “เศรษฐกิจใหม่จากรถไฟ”
ก่อนจะกล่าวคำว่า อาริงาโตะ(ขอบคุณ)เป็นประโยคสุดท้ายและตัดริบบิ้นเปิดนิทรรศการ นางยิ่งลักษณ์ได้ร่ายยาวถึงความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ ซึ่งต่อเนื่องมาจาก นิทรรศการ “Thailand-2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก” (วันที่ 8 – 12 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ) เพื่อให้คนฟังได้เคลิ้มตามว่า ถ้าประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นดังญี่ปุ่นบ้าง ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าเพียงใด
“รัฐบาลได้จัดนิทรรศการภายใต้ชื่อว่า “Thailand-2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก” ซึ่งมีสาระที่จะสร้างอนาคตประเทศ ในการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน 7 ปี นับจากนี้ไป ที่ประเทศไทยเราจะพลิกโฉมในการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศซึ่งเราร้างลาจากการลงทุนมาเป็นเวลานาน ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งทางราง ระบบถนน ระบบท่าเรือและระบบด่านการค้าชายแดน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนด้วย
ซึ่งโครงสร้างการลงทุนนี้ ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจในทุกๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ภูมิภาค ประชาชน และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านประสิทธิภาพในการเดินทาง สัญจร การท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจและการลดการใช้จ่ายจากพลังงานที่เป็นต้นทุนสูงสุดและเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจ และที่สำคัญนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และโครงการนี้จะทำให้สินค้าต่างๆจากพื้นที่ต้นน้ำไปถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
การพัฒนาลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานระบบราง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งและเป็นระบบสำคัญในการที่จะพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นบานของประเทศในครั้งนี้
และวันนี้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบก็ได้นำตัวอย่างของระบบรถราง จากบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู ประเทศญี่ปุ่นมาจัดแสดงให้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และที่สำคัญก็เป็นการต่อเนื่องหลังจากที่ดิฉันได้มีโอกาสไปเยือนที่ประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสได้ไปชมรถไฟเจอาร์ คิวชู ได้เห็นว่าเป็นพัฒนาการของญี่ปุ่นที่ทำได้ดี สะท้อนวัฒนธรรม และสินค้าพื้นบ้าน ถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยี ด้วยระบบรถไฟ ถือว่าเป็นสิ่งที่บูรณาการกันได้อย่างลงตัวและน่าชื่นชมที่สุดค่ะ
และนอกจากนี้ สิ่งที่เราได้พบและประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จก็คือว่า มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การร้อยเรียงวัฒนธรรม ยังเกิดโอกาสใหม่ๆให้กับชุมชนบริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจของท้องถิ่น การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคและจังหวัดใกล้เคียง
ทุกท่านคงไม่ปฏิเสธว่ารถรางก็คือกระดูกสันหลังที่จำนำไปสู่ความเจริญที่จะพาดผ่านทุกภูมิภาคของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งวันนี้การที่จะรออีก 7 ปีข้างหน้า ดิฉันเกรงว่าเราก็อดไม่ได้ที่จะต้องนำเอาประสบการณ์นี้มาบอกเล่าแก่พี่น้องประชาชนคนไทยผ่านนิทรรศการนี้ เพื่อแบ่งกันประสบการณ์ว่า สิ่งที่ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมนั้น และพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นนั้นเกิดมาเพื่อที่จะถ่ายทอดไปสู่การพัฒนาระบบรถรางของไทย, OTOP ของไทยอย่างไร หรือผ่านสินค้าและวัฒนธรรมไทยอย่างไร ทั้งหมดก็คงจะถ่ายทอดอยู่ในนิทรรศการนี้
ดิฉันรู้สึกประทับใจสำหรับนิทรรศการนี้ที่ได้เกิดเป็นรูปธรรม ที่จะได้ให้ทุกท่านนั้นได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านี้ และรวมถึงการสร้างสรรค์ การพัฒนาระบบรถไฟของไทย เพื่อให้มีมาตรฐานเป็นสากล และต้องขอขอบคุณศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ บริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู,ดงดีไซน์ แอซโซซิเอทส์ และองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างญี่ปุ่น ที่ได้ร่วมมือในการจัดนิทรรศการรถไฟสายความสุข เศรษฐิกจใหม่จากรางสู่เมืองขึ้นในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือที่ดี และเป็นความสำพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่เรามีต่อกันมายาวนาน
ก็หวังว่านิทรรศการนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ประชาชน ที่จะได้ร่วมมือกัน ในการที่จะศึกษาและเตรียมความพร้อมในการที่จะใช้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเราจะได้ร่วมกันก้าวไปสู่อนาคตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขพร้อมๆกันค่ะ อาริงาโตะ”
นิทรรศการ “รถไฟสายความสุข…เศรษฐกิจใหม่ จากกรางสู่เมือง” วันนี้ – 26 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ชอปปิ้ง คอมเพล็กซ์
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.