ART EYE VIEW—ยามนี้ อาจไม่มีรายการ “ศาลาริมสวน” ให้หลายคนเข้าไปหลบร้อน ฟังเรื่องราวของกล้วยไม้และพืชพันธุ์ ที่เชื่อมโยงไปถึงทุกเรื่องในจักรวาล จากผู้ดำเนินรายการ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก นักวิจัย นักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย,อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทว่าในวัย 90 ย่าง 91 ปี ของ ศ.ระพี ยังทำหน้าที่ดุจต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มเงาแก่ทุกคนเหมือนเช่นเคย
แม้ปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งทางสังคมเพียง นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ แต่ภารกิจในแต่ละวันของชีวิตของ “ผู้อาวุโส” หรือ “ปราชญ์” ท่านนี้ กลับกว้างไกลและไร้ขอบเขต
ดังที่สื่อสารให้ทุกคนได้รับทราบ ทุกความเคลื่อนไหวในชีวิต ผ่านทาง หน้าเพจ facebook ว่า
“ที่ฉันยังทำงานหนักอยู่ในทุกวันนี้ ก็เพราะว่าฉันต้องการเป็นกำลังใจให้พวกเธอ ว่าแม้ฉันจะมีอายุ 90 กว่าปีแล้วก็ยังทำงานเพื่อส่วนรวมอยู่”
ในวันที่อากาศร้อนร้าย ART EYE VIEW พาทุกคนหนีร้อนไปพึ่งเย็น ที่ บ้านระพี สาคริก ในซอยพหลโยธิน 41
เราไม่ได้ไปฟังผู้อาวุโส พูดถึง การประชุมวิชาการเรื่อง “กล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค” ซึ่งประเทศไทยจะรับเป็นเจ้าภาพในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้านี้ หรือ “การวางแผนงานวิจัยและสถิติวิเคราะห์ผลทางชีววิทยา” หนังสือเล่มใหม่ที่ใกล้จะเปิดตัว
แต่ไปรับรู้บางสิ่งที่เติมเต็มให้ชีวิตมีความสุข นอกเหนือจากการอุทิศตนทำงานเพื่อส่วนรวมและการเล่นดนตรี นั่นคือ การวาดภาพ
>>>วาดภาพความทรงจำ
“นั่นวาดเล่นๆ 2 รูป”
เจ้าของบ้านชี้ชวนให้ชมภาพวาดชื่อ “กระแสลมในฤดูแล้ง” และ “ตะวันยอแสง” ผลงานล่าสุดที่กำลังจะถูกมอบเป็นของที่ระลึกให้กับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ผลงานภาพวาดอีกเป็นจำนวนมาก เคยถูกบุคคลและหลายองค์กร ที่เคารพนับถือขอไปครอบครองไว้ในต่างที่ทาง
“วาดเยอะ แต่มีคนเอาไปหมดเลย บางทีคนมาเห็นก็หยิบไปเลย ลูกศิษย์ผมมาอยู่ที่นี่เยอะ คนมาหาเยอะ ไม่ใช่เฉพาะที่เกษตรฯ ที่อื่นก็มีเยอะนะ แต่ 2 ภาพนี้จะให้กับคณะศึกษาศาสตร์”
ศ.ระพี บอกเล่าว่า ชอบวาดภาพมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ได้เจอะจงวาดภาพอะไรเป็นพิเศษ
“วาดภาพอะไรก็ได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือภาพที่มันอยู่ในความทรงจำ ไปไหนมาวันเดียว กลับมาถึงบ้านก็วาดได้”
แต่บางภาพก็เป็นการบันทึกความทรงจำที่ผ่านมาแล้วหลายปี
“บางทีมันผ่านแล้วตั้งหลายปี ผมวาดเหมือนเลย จำได้หมด ความจำนี่สำคัญ”
ตัวอย่างเช่นภาพ “หากไม่มีวันนั้น ย่อมไม่มีวันนี้” ที่วาดขึ้นเพราะหวนนึกถึงความหลังเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาคณะเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีถ้อยอักษรบันทึกไว้ในภาพด้วยว่า
“60 ปีแห่งความทรงจำอันลึกซึ้งจากฉัน ที่สานถึงจิตสำนึกรับผิดชอบต่อคนกับการเกษตร ฉันยังจำได้ไม่ลืมว่า ช่วงนั้นยามอาทิตย์ใกล้จะอัสดง ฉันรักที่จะนั่งหลังควายกลับหอพักอย่างมีความสุขมากๆ”
หรือบางภาพที่ใช้ปากกาและความเพียร ค่อยจุดๆจนกลายเป็นภาพทุ่งนา ต้นตาลและเพิงพัก ณ ชนบถที่ไหนสักแห่ง
“อันนี้เป็นภาพความทรงจำที่อ่างทอง ต้นก้ามปูที่อยู่ซ้ายมือ ผมเคยไปนอนเล่นใต้ต้น เพราะมีชาวบ้านเขาทำร้านไว้ให้นั่งเล่นนอนเล่น”
สำหรับ ศ.ระพี การวาดภาพถือเป็นการพักผ่อนเหมือนเช่นการเล่นดนตรี แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ยังทำให้วาดอย่างต่อเนื่อง เพราะจดจำความปรารถนาดีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เคยมีรับสั่งกับตน มาไว้ในหัวใจ
“ในหลวงท่านทรงรับสั่ง ทรงสอนอยู่เรื่อยๆว่า อาจารย์..ศิลปะอย่าทิ้ง เจอะที่ไหนก็รับสั่ง ในหลวงทรงวาดภาพเก่งนะ หนูลองเปิดหนังสือที่ให้ดูสิ มีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่หลายภาพเลย ภาพที่พระชันษา 30 กว่าก็ยังมีเลย”
ศ.ระพี หมายถึงภาพประกอบในหนังสือ “ปรัชญาธรรมแห่งชีวิต ระพี สาคริก” ที่สมาคมนิสิตเก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบรรดาลูกศิษย์ จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในช่วงที่ตนเองมีอายุครบ 90 ปี บริบูรณ์
“ผมแก่กว่าพระองค์ท่าน 4-5 ปี ตอนผม 86 ปี ทรงพระราชทานน้ำสังข์ให้นะ ภาพนี้รู้สึกจะมีอยู่ในหนังสือ ผมเคยเล่นดนตรีกับพระองค์ท่าน ตั้งแต่ทรงประทับอยู่ที่ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทุกวันศุกร์ผมจะไปเล่นดนตรีที่นั่น”
ทุกคนมีศิลปะ แต่ไม่แสดงออก ศ.ระพี แสดงความเห็น และศิลปะเกิดจากวิญญาณอันบริสุทธิ์ แต่เมื่อไหร่ที่วิญญาณนั้นไม่บริสุทธิ์ จะแปรเปลี่ยนเป็นความชั่วร้าย หรือ “ผี”
“ผมเคยกราบทูลถาม สมเด็จพระเทพ ว่า ผีมีจริงไหม ทรงตรัสว่า นั่นหน่ะสิ วังสระปทุมเนี่ย วังเก่าแก่ เขาว่าผีดุ แต่ไปนอนอยู่ที่นั่น นอนอยู่คนเดียว ไม่เห็นถูกผีหลอกเลย ผมก็เลยกราบทูลว่า คนเรามีศิลปะ เพราะมีวิญญาณ เมื่อมีวิญญาณก็มีจินตนาการ คิดทำอะไรต่ออะไร ถ้าจิตมันสะอาดเนี่ย มันจะมีจินตนาการอยากจะสร้างโน่นสร้างนี่ ริเริ่มทำงานอะไรต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าเมื่อไหร่จิตใจเราสกปรก ไอ้จินตนาการมันจะเปลี่ยนเป็นความหวาดระแวง นี่หล่ะ คือผีหล่ะ ที่แท้ผีมันอยู่ในตัวของเราเอง คือความชั่วร้าย แล้วมันก็หลอกตาเรา”
>>>เหนื่อยไม่กลัว กลัวไม่เหนื่อย
ระหว่างการสนทนามีโทรศัพท์เข้ามาเป็นระยะ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นการโทรเข้ามาขอความช่วยเหลือให้ไปช่วยงานทั้งสิ้น
ดังเช่นล่าสุด ได้รับเชิญจาก จุฬาราชมนตรี ให้ไปพูดที่ มัสยิดกลาง จ.สงขลา ในหัวข้อ “ปัญหาภาคใต้แก้ด้วยศาสนาได้หรือไม่?” แต่ต้องปฏิเสธเพราะติดภารกิจไปประชุมที่ต่างประเทศ จึงต้องเขียนบทความที่เขียนขึ้นใหม่ราว 5 หน้า ส่งไปให้แทน
หลังจากที่วางบางสายไป ศ.ระพี เอ่ยขึ้นว่า “เหนื่อยอีกแล้ว แต่เหนื่อยไม่กลัว กลัวไม่เหนื่อย”
กลศ หิรัญบูรณะ นิสิต ม.เกษตร เรียนเอกดนตรี ผู้ทำหน้าที่ติดตามดูแล ศ.ระพี ทุกอย่าง จึงขอขยายความว่า
“ผมมาใหม่ๆ ก็สงสัยว่า คุณพ่อไม่เหนื่อยเหรอ เพราะบางครั้งเราเองก็เพลียเต็มที่ และทุกคนที่เจอคุณพ่อจะบอกว่าคุณพ่อพักเถอะ
คุณพ่อบอกว่า ถ้าเกิดการพักมันคือการหาความสุข หาความสบาย คือการหย่อนใจ แล้วในเมื่อการทำงานของคุณพ่อ มันทำให้คุณพ่อมีความสุข มันก็คือการพักไม่ใช่หรือ ดังนั้นคุณพ่อจึงบอกทุกคนว่า เปลี่ยนความเหนื่อยให้เป็นความสุข เพราะยิ่งเหนื่อยจะยิ่งมีความสุข
ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณพ่อแข็งแรงทุกวันนี้ เพราะว่าท่านได้ทำงาน ได้แลกเปลี่ยนและไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ คุณพ่อจะบอกเสมอว่าคนที่มาสัมภาษณ์คุณพ่อ ถือเป็นครูของคุณพ่อ”
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจหากว่าบางวันแม้เวลาจะล่วงไปถึงตี 2 แล้ว ทุกคนในโลกออนไลน์ยังพบว่า หน้าเพจ facebook ของ ศ.ระพี มีการอัพเดท และ สามารถหยิบพู่กันขึ้นมาวาดภาพและเล่นดนตรีได้ไม่เลือกเวลา แม้ในยามดึกดื่น ขอเพียงไม่รบกวนใคร “เล่นแล้วไม่หนวกหูใคร”
“เวลาไม่มีตัวตนนะ ผมไม่ยึดติดตัวเวลา ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าทำแล้วสบายใจ ถ้าต้องไปถูกบังคับว่าเอาไอ้นู่นมาเป็นนายเรา เอาไอ้นี่มาขี่คอเรา ผมไม่ชอบ
ลับมีดให้คม มันมีข้อจำกัด แต่ลับสมองมันไม่มีข้อจำกัด ยิ่งลับยิ่งคมนะ
แล้วการเขียนหนังสือ มันช่วยให้เราสำรวจตัวเอง ฝึกให้ไม่ลืม”
งานทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สำหรับ ศ.ระพี จึงถือเป็นงานอดิเรกได้ทั้งสิ้น
“ทำงานแล้วมีความสุข มันก็เป็นงานอดิเรกทั้งนั้นแหล่ะ ทุกอย่างเป็นงานอดิเรกทั้งหมด ตอนผมทำงานราชการ มันก็เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง ผมทำแล้วผมสบายใจ ทำด้วยความสบายใจและทำเต็มที่ ถ้าไม่ใช่งานอดิเรก ไม่ใช่งานที่รักจะทำ มันจะทุ่มไปทั้งจิตใจได้อย่างไร
ผมบอกหลายคนว่าอย่าไปเครียด ผมไม่เคยเครียด คนเราถ้าไปเครียดมันก็จะรู้สึกว่า งานมันเป็นศัตรูของเรา ในโลกนี้ไม่มีศัตรู มีแต่มิตรทั้งนั้นแหล่ะ
ศิลปะการดำเนินชีวิตสำคัญ เหมือนเพลง บางทีก็เล่นเพลงแผ่วเบา บางทีก็ต้องแรงบ้าง บรรเลงเพลงชีวิตนี่สำคัญ บางครั้งก็ไม่โกรธใครหรอก บางครั้งก็ว่าเอาตรงๆ หรือบางครั้งก็ชมไปหน่อยเหมือนกัน ผมถึงบอกว่าเนี่ย ศิลปะนะ อาร์ตนะ”
>>>ไข่ลวก 2 ฟอง กับ โยเกิร์ต
ในวัยที่ชีวิตติดลบไปเรื่อยๆ ถือเป็นโชคดีที่ ศ.ระพี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนแม้แต่เพียงโรคเดียว และสามารถนอนดึกแล้วตื่นเช้าได้โดยไม่เพลีย ลองไปฟังวิธีการดูแลสุขภาพกาย ที่อาจเป็นเคล็ดลับให้กับหลายๆคน
“อาหารผมทานน้อยนะ น้อยมาก แต่ทานทุกมื้อ ไม่เลี่ยงเนื้อสัตว์ชนิดใด มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่ทานคือ ไม่ทานเผ็ด เพราะว่าลิ้นมันทนไม่ไหว”
ขณะที่อาหารที่ต้องทานทุกเช้าและทานมาเกือบ 50 ปี คือ ไข่ลวก 2 ฟอง กับโยเกิร์ต ส่วนในมื้ออื่น ผู้ช่วยรุ่นหลานได้ช่วยขยายความเพิ่มเติมอีกว่า
“อาหารไม่ได้เน้นอะไรพิเศษ คุณพ่อทานได้ทั้งหมด คุณหมอไม่ได้ห้ามเรื่องของเค็มของหวาน คุณพ่อไม่มีโรคอะไรเลย เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต ไม่มีเลยครับ บางทีท่านต้องเป็นฝ่ายดูแลผมด้วยซ้ำ (หัวเราะ)
ส่วนเรื่องออกกำลัง ถ้ายืนได้ยืน เดินได้เดิน นอกจากเวลาจะขึ้นบันได ต้องให้จับราวบันได ครั้งหนึ่งคุณพ่อเคยไปรับแขกเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากญี่ปุ่นเป็นเที่ยวบินที่ต้องมาถึงเที่ยง คุณพ่อไปยืนรอตั้งแต่สิบเอ็ดโมงครึ่ง โดยไม่ทราบว่าเครื่องบินดีเลย์ไปถึง สามโมงเย็น และยืนตลอด”
จากการไปเยี่ยมเยือนทำให้เราได้ทราบว่า ศ.ระพี ยังมีวิธีการการครองใจของตัวเอง ด้วยการมีสติ ไม่หลงใหลไปกับสิ่งภายนอกที่เป็นสิ่งสมมุติ และยึดหลักการเป็นผู้ให้
“ผมถึงบอกว่า ขอซะทีเถอะ เรื่องที่จะเอาอะไรถึงจะไป ถ้าไม่เอาก็ไม่ไป ทำไมไม่แสดงน้ำใจกับทุกคน ผมให้กับทุกคน มีงานก็ไปช่วยเขา เดินทางตลอด และไม่เคยขอเงินรัฐบาลนะ ตลอดชีวิตมาเนี่ยไปทั่วโลก ไม่เคยขอเงินรัฐบาล เราให้ใจกับทุกคน ต่างชาติก็ให้ เราให้เขาหมดแหล่ะ ฉะนั้นมีหรือเวลาเราจะทำอะไร แล้วเขาจะไม่ให้เรา ไม่ใช่ถึงเวลาจะเอาแล้วค่อยไปให้เค้า ไม่ใช่อย่างนั้น ให้ทำเป็นปกติ อ้าปากขึ้นมา เขาก็อยากให้ทั้งนั้นแหล่ะ (หัวเราะ)”
>>>แล้วอย่ามาบ่นนะ ตายเร็ว
ภายใต้ดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงวัน เราผู้ไปเยือนได้ฟัง ศ.ระพี สีไวโอลิน เพลง “ลาวดวงเดือน” ชมภาพวาดที่ยังไม่ถูกนำใส่กรอบ เป็นการต้อนรับ และได้รับของระลึก เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า จะทำให้ใจเย็นลงได้อย่างไร ท่ามกลางอากาศร้อนร้าย และความคิดที่ร้อนแรง แตกต่างหลายองศา
“ถ้าใจเย็นซักอย่าง ทุกอย่างมันก็ใจเย็นได้ ใจร้อน ทุกอย่างมันก็ร้อน ใจร้อนเมื่อไหร่ โลกมันก็ร้อนไปด้วย ร้อนอยากเป็นโน่น ร้อนอยากได้นี่ วางเฉยเป็นไหม
ผมเนี่ยถูกไปพูดเรื่องโลกร้อนตั้ง 5-6 หนแล้ว ผมบอก เราไม่รู้ตัว โลกมันก็มีสองด้านนะ ไอ้โลกภายนอกนี่ด้านหนึ่ง มันสิ่งสมมุติทั้งนั้นแหล่ะ ไอ้โลกภายในนี่แหล่ะของจริง เราไม่รักษาโลกภายในของเราให้ดี ให้มันเข้มแข็ง
คนไทยเราเวลานี้หลงตัวเองเยอะ ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เกิดมาจากไหน แล้วก็ควรจะทำงานสนองบุญคุณใคร
สิ่งที่สำคัญที่สุด ลืมง่ายนี่สิ พอลืมง่ายมันก็หมด ฐานมันหายไป มนุษย์มีจิตใต้สำนึก ฝรั่งเรียก subconscious เกิดมามีทุกคน ข้อมูลมันอยู่ในนี้ เกิดมาก็มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราลืมตัว คนเราลืมตัวมันก็จบแล้ว จะไปหาความเข้มแข็งทีไหนหล่ะ เมื่อไม่มีความเข้มแข็ง คอรัปชั่นเต็มบ้านเต็มเมือง สิ่งที่ไม่ใช่ของตัวกูก็จะเอา หน้าตาเฉยเลย ไม่รู้จักเคารพซึ่งกันและกัน
สำนึกสักนิดว่ามันไม่ใช่ของเราอย่าไปแตะของเขา ความซื่อสัตย์สุจริตหายไปแล้วก็นึกว่าสิ่งนี้เก่ง คอยดูเถอะวันหนึ่ง คนพวกนี้จะทุกข์หนัก แล้วอย่ามาบ่นนะ ตายเร็ว”
ถ่ายภาพโดย : วารี น้อยใหญ่
“ชีวิตมันติดลบไปเรื่อยๆ เหลือเวลาทำงานน้อย เพราะฉะนั้นเวลานี้ 90 กว่าแล้ว เหลือเวลาทำงานอีกไม่นาน จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เลยรีบทำไว้ซะ”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews